ข้ามไปเนื้อหา

พระยาพิชัยดาบหัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี)
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก
หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
เกิดพ.ศ. 2284
บ้านห้วยคา เมืองพิชัย อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา
เสียชีวิต7 เมษายน พ.ศ. 2325 (41 ปี)
เมืองธนบุรี อาณาจักรธนบุรี
สัญชาติสยาม
ชื่ออื่นจ้อย, นายทองดีฟันขาว
อาชีพขุนนางฝ่ายทหารในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, เจ้าเมืองพิชัย
ยุคสมัยพ.ศ. 2310 – 2325
ผลงานเด่นขุนศึกสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการร่วมกอบกู้เอกราชหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310 - 2313), เจ้าเมืองพิชัย (พ.ศ. 2313-2325), ออกสู้รบกับกองทัพโปสุพลาจนดาบหักเป็นสองท่อน (พ.ศ. 2316), สละชีวิตตนเองเป็นราชพลี (พ.ศ. 2325)
ตำแหน่งขุนนางชั้นพระยาพานทองในสมัยธนบุรี
คู่สมรสพระนางสะวิสุตา (ลำยง)
หมวดหมู่:ขุนนางในสมัยกรุงธนบุรี

พระยาพิชัยดาบหัก เป็นขุนนางในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรี ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารเนื่องจากเป็นทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นผู้มีส่วนกอบกู้เอกราชของชาติไทยหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีชื่อเสียงอย่างยิ่งจากความกตัญญูกตเวทีและความกล้าหาญ[1] หนึ่งในสี่ทหารเสือของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แก่ หลวงราชเสน่หา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท), หลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก), พระยาเชียงเงิน (พระยาสุโขทัย), หลวงพรหมเสนา (เจ้าพระยานครสวรรค์)[2]

เดิมท่านชื่อ จ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถและชื่อเสียงอย่างยิ่งทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ จนได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ

ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงได้รับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"

ประวัติ

[แก้]

วัยเยาว์

[แก้]

พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดในปี พ.ศ. 2284 ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้อง 4 คน แต่เสียชีวิตไป 3 คน เด็กชายจ้อยมีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย บิดาได้พร่ำสอนเสมอ ถ้าจะชกมวยให้เก่งต้องขยันเรียนหนังสือด้วย เมื่ออายุได้ 14 ปี บิดานำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย จ้อยสามารถอ่านออกเขียนได้จนแตกฉานและซ้อมมวยไปด้วย

ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตร (ชื่อเฉิด) มาฝากที่วัดเพื่อร่ำเรียนวิชา เฉิดกับพวกมักหาทางทะเลาะวิวาทกับจ้อยเสมอ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากวัดขึ้นไปทางเหนือโดยมิได้บอกพ่อแม่และอาจารย์ เดินตามลำน้ำน่านไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักตามวัด ที่วัดบ้านแก่ง จ้อย ได้พบกับครูฝึกมวยคนหนึ่งชื่อ เที่ยง จึงฝากตัวเป็นศิษย์แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี ครูเที่ยงรักนายทองดีมากและมักเรียกนายทองดีว่านายทองดี ฟันขาว (เนื่องจากท่านไม่เคี้ยวหมากพลูดังคนสมัยนั้น) ด้วยความสุภาพเรียบร้อย และขยันขันแข็งเอาใจใส่การฝึกมวยช่วยการงานบ้านครูเที่ยงด้วยดีเสมอมา ทำให้ลูกหลานครูเที่ยงอิจฉานายทองดีมาก จนหาทางกลั่นแกล้งต่างๆ นานา นายทองดี ฟันขาว เห็นว่าอยู่บ้านแก่งต่อไปคงลำบาก ประกอบครูเที่ยงก็ถ่ายทอดวิชามวยให้จบหมดสิ้นแล้วจึงกราบลาครูขึ้นเหนือต่อไป[3]

ชื่อเสียง

[แก้]

เมื่อเดินถึงบางโพได้เข้าพักที่วัดวังเตาหม้อ (ปัจจุบันคือวัดท่าถนน) พอดีกับมีการแสดงงิ้ว จึงอยู่ดูอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นายทองดี ฟันขาว สนใจงิ้วแสดง ท่าทางหกคะเมน จึงจดจำไปฝึกหัดจนจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมดสามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืนได้อย่างสบาย จากนั้นก็ลาพระสงฆ์วัดวังเตาหม้อขึ้นไปท่าเสา ขอสมัครเป็นลูกศิษย์ครูเมฆซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวย ครูเมฆรักนิสัยใจคอจึงถ่ายทอดวิชาการชกมวยให้จนหมดสิ้น[4]

ขณะนั้นนายทองดี ฟันขาว อายุได้ 18 ปี ต่อมาได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล นายถึกไม่สามารถป้องกันได้ ถูกเตะสลบไปนานประมาณ 10 นาที ครูนิลอับอายมากจึงท้าครูเมฆชกกัน นายทองดี ฟันขาว ได้กราบอ้อนวอนขอร้อง ขอชกแทนครูเมฆและได้ตะลุยเตะต่อยจนครูนิลฟันหลุดถึง 4 ซี่ เลือดเต็มปากสลบอยู่เป็นเวลานาน ชื่อเสียงนายทองดี ฟันขาว กระฉ่อนไปทั่วเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และเมืองฝาง นายทองดีอยู่กับครูเมฆประมาณ 2 ปี ก็ขอลาไปศึกษาการฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก ด้วยความฉลาดมีไหวพริบ เขาใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็เรียนฟันดาบสำเร็จเป็นที่พิศวงต่อครูผู้สอนยิ่งนัก หลังจากนั้นก็ไปเที่ยวเมืองสุโขทัยและเมืองตากระหว่างทางได้รับศิษย์ไว้ 1 คน ชื่อบุญเกิด (หมื่นหาญณรงค์)[5][6] โดยเมื่อครั้งที่บุญเกิดถูกเสือคาบไปนั้น ทองดีได้ช่วยบุญเกิดไว้โดยการแทงมีดที่ปากเสือ จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว[7]

รับราชการ

[แก้]

เมื่อท่านเดินทางถึงเมืองตาก ขณะนั้นได้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่เจ้าเมืองตาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดให้มีมวยฉลองด้วย นายทองดี ฟันขาว ดีใจมากเข้าไปเปรียบมวยกับครูห้าวซึ่งเป็นครูมวยมือดีของเจ้าเมืองตากและมีอิทธิพลมาก นายทองดี ฟันขาว ใช้ความว่องไวใช้หมัดศอกและเตะขากรรไกรจนครูห้าวสลบไป เจ้าเมืองตากจึงถามว่าสามารถชกนักมวยอื่นอีกได้หรือไม่ นายทองดี ฟันขาว บอกว่าสามารถชกได้อีก เจ้าเมืองตากจึงให้ชกกับครูหมึกครูมวยร่างสูงใหญ่ ผิวดำ นายทองดี เตะซ้ายเตะขวา บริเวณขากรรไกร จนครูหมึกล้มลงสลบไป[8]

เจ้าเมืองตากพอใจมากให้เงิน 3 ตำลึง และชักชวนให้อยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ตั้งแต่บัดนั้น เป็นที่โปรดปรานมากและได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการ ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างใกล้ชิดและเป็นเวลาเดียวที่พม่ายกทัพล้อม กรุงศรีอยุธยา[8]

พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสา และทหารเข้าสู้รบกับทัพพม่าหลายคราวจนได้รับชัยชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการต้อนรับจากประชาชนและยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรีและได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสา เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์[9]

ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย[10]

ในปี พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย "ศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน ณ สมรภูมิบริเวณ วัดเอกา จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316)[8]

ชีวิตคู่ครอง

[แก้]

พระยาพิชัย สมรสกับสตรีท่านใดไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ แต่มีความเชื่อจากคำบอกเล่าและร่างทรงในยุคร่วมสมัย ว่าพระยาพิชัยดาบหักเมื่อได้ขึ้นปกครองเมืองพิชัย ได้สมรสกับนางลำยง[11]

ท่านมีลูกหลานที่สืบทอดวงศ์ตระกูล มาจนถึงปัจจุบัน โดยในสมัย ร.6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานนามสกุล "วิชัยขัทคะ" ให้ลูกหลานของท่าน มีความหมายโดยอนุโลมว่า ดาบวิเศษ นับเป็นเชื้อสายสกุลไทยที่เก่าแก่อีกสกุล ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[12]

ถวายชีวิตเป็นราชพลี

[แก้]
พระปรางค์วัดราชคฤห์วรวิหาร สถานที่บรรจุอัฐิของพระยาพิชัยดาบหัก

เมื่อปี พ.ศ. 2325 หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษ[13] สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีฝีมือและซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่ แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่งด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และถือคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสำเร็จโทษตนเป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[14] ซึ่งทายาทของพระยาพิชัยดาบหัก ก็ได้รับราชการสืบมา โดยท่านเป็นต้นตระกูลของนามสกุล วิชัยขัทคะ วิชัยลักขณา ศรีศรากร พิชัยกุล ศิริปาลกะ ดิฐานนท์ เชาวนปรีชา[15]

หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงได้มีรับสั่งให้สร้างพระปรางค์นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งพระปรางค์นี้ก็ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน[16]

พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญ รวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป[17]

อนุสรณ์

[แก้]

พระยาพิชัยดาบหัก นับเป็นวีรชนของชาติ ผู้ร่วมกู้เอกราชของชาติไทยในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและเป็นชาวอุตรดิตถ์ ดังนั้นจึงได้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน รวมถึงการนำนามของท่านไปใช้ตั้งชื่อสถานที่ราชการสำคัญเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของท่านขึ้น ตัวอย่างของอนุสรณ์สถานและสถานที่เหล่านี้ เช่น

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
พิธีสมโภชอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก‬ ใน พ.ศ. 2513

เพื่อระลึกถึงเกียรติในเรื่องความองอาจ กล้าหาญ รักชาติ และเสียสละของท่าน ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักแห่งแรก เพื่อประดิษฐานหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งต่อมาอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้เป็นภาพจำตัวแทนบุคคลของพระยาพิชัยในวัฒนธรรมร่วมสมัย

ภาพพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก ในพิธีปลุกเศกเหรียญพระยาพิชัยดาบหัก‬ ณ ปรำพิธีหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2513

โดยอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์มาช้านาน ต่อมาในสมัยนายเวทย์ นิจถาวร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีพ่อค้า ประชาชน ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นทุนก่อสร้าง โดยไม่มีงบประมาณแผ่นดินของทางหน่วยงานราชการมาเกี่ยวข้อง ทุนทรัพย์ทั้งหมดเกิดจากกำลังศรัทธาของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพิธีอัญเชิญโกศดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก (แทนอัฐิ) ตามโบราณประเพณี เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2510 มีพิธีวางแผ่นศิลาฤกษ์แท่นฐานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2511 โดยมี นายถวิล สุนทรศารทูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธี

สำหรับองค์พระยาพิชัยดาบหักนั้น ปั้นโดยกรมศิลปากร โดยมีอาจารย์สนั่น ศิลากร เป็นประติมากร และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี[18]

นายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก ณ ปรำพิธีหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2513

ในระหว่างวันที่ 7 - 13 มกราคม ของทุกปี จังหวัดอุตรดิตถ์ได้กำหนดให้มีการจัดงานเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของท่าน ถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดอุตรดิตถ์ เรียกชื่องานว่า "งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด" โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ถือเอาวันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันเปิดงานพระยาพิชัยดาบหักฯ โดยอ้างอิงตามพระราชพงศาวดาร ที่ระบุวันซึ่งพระยาพิชัยออกสู้รบกับกองทัพโปสุพลาจนดาบหักสองท่อนตามปฏิทินสุริยคติ

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก อ.พิชัย

ในปี พ.ศ. 2545 ประชาชนได้ร่วมใจกันจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ปางนั่งครองเมือง ประดิษฐานด้านหน้าสถูปทรงปรางค์ ณ พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก แห่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอำเภอพิชัย ในหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรำลึกถึงเมื่อครั้งที่ท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี นอกจากนี้ในวันที่ 7 เมษายน หน่วยงานราชการพร้อมทั้งประชาชนชาวพิชัยจะมีการจัดพิธีสักการะบวงสรวงดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อรำลึกถึงวันที่พระยาพิชัยดาบหักถูกประหารชีวิตเมื่อครั้งสิ้นแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย[19]

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี อ.เมืองอุตรดิตถ์
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักสูงที่สุดในประเทศไทย ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี จ.อุตรดิตถ์

เพื่อระลึกถึงวีรกรรมและความกล้าหาญของท่าน ที่ได้เคยร่วมรบเคียงคู่พระวรกายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักแกะสลักจากไม้ตะเคียนโบราณองค์แรก ประดิษฐานบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาหันหน้าสู่ทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เพื่อรำลึกถึงอดีตเมืองสวางคบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งเคยเป็นพื้นที่ ๆ ท่านได้มาฝึกมวยกับครูเมฆแห่งบ้านท่าเสา-คุ้งตะเภา ในวัยเด็ก และเป็นพื้นที่เกิดวีรกรรมการปรามชุมนุมเจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรี เป็นชุมนุมสุดท้ายในสมัยธนบุรี รวมถึงยังเป็นสถานที่ท่านได้รับเลื่อนยศเป็นพระยาพิชัยผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย รับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพระราชพงศาวดาร[20]

ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีบวงสรวงวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี

โดยอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนและผู้เคารพศรัทธาในความกล้าหาญของท่านมาช้านาน ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พร้อมใจกันจัดพิธีเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก (แทนอัฐิ) ตามโบราณประเพณี และมีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ฯ โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ต่อมาประชาชนได้นำไม้โบราณมาแกะสลักเป็นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักจากไม้ตะเคียนองค์แรกขนาดเท่าครึ่งเพื่อประดิษฐานในบริเวณดังกล่าวให้ประชาชนผู้เคารพศรัทธาได้ระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญเสียสละของท่าน ในปี พ.ศ. 2561[21] และเททองหล่อประดิษฐานในปี พ.ศ. 2563 ในวาระครบรอบ 250 ปี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลื่อนยศให้ท่านเป็นพระยาพิชัยครองเมืองพิชัยบ้านเกิด

ศาลพระยาพิชัยดาบหัก ณ เมืองพิชัย

ในอำเภอพิชัยซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหักในสมัยอยุธยาตอนปลาย และเป็นเมืองที่ท่านเคยผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ประชาชนชาวอำเภอพิชัยต่างยังคงมีความเคารพศรัทธาในวีรกรรมและความกล้าหาญของท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการสร้างศาลเพื่อระลึกถึงพ่อพระยาพิชัยดาบหักในสถานที่ต่าง ๆ

อย่างไรก็ดีศาลที่มีความเก่าแก่และสำคัญกับชาวพิชัยมายาวนานมี 2 แห่ง คือ ศาลท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ณ วงเวียนหลังสถานีรถไฟพิชัย อำเภอพิชัย สร้างเป็นมณฑปจตุรมุขเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน และศาลท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ณ หน้าวัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย ทั้งสองแห่งมีความเก่าแก่และเป็นที่เคารพนับถือของชาวพิชัยมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างมาก่อนปี พ.ศ. 2513

พิพิธภัณฑ์

[แก้]
พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
พิพิธภัณฑ์อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

ในบริเวณด้านข้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย โดยงบประมาณภาครัฐบางส่วน และบางส่วนจากจิตศรัทธาของประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2539 ด้านซ้ายของอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก สร้างอาคาร "พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก" โดยจัดสร้างและแสดงดาบเหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักลาย และด้านขวาของอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก สร้างอาคาร "พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย" ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลองสนามรบ และวิถีชีวิตผู้คนเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ โดยสถาปัตยกรรมภายนอกนั้นเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ โดยมีจุดเด่นที่กรอบซุ้มประตูทางเข้านำมารูปแบบมาจากวิหารวัดดอนสัก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นวิหารเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก อ.พิชัย

แม้ในตำนานประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก จะระบุบ้านเกิดของท่านว่าอยู่ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย แต่ก็ไม่เหลือร่องรอยตำแหน่งบ้านเกิดของท่านแล้วในปัจจุบัน ทำให้ต่อมาเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 หน่วยงานภาครัฐและประชาชนที่เคารพศรัทธาในวีรกรรมของท่าน จึงได้พร้อมใจกันสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก ในเนื้อที่สาธารณประโยชน์ ประมาณ 326 ไร่ บนพื้นที่ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ภายในพื้นที่จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนทรงไทย มีการจัดแสดงชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหักและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีการจัดสร้างสถูปทรงปรางค์ที่จำลองจากพระปรางค์ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานอัฐิของท่านในวัดราชคฤห์ กรุงเทพมหานคร[22]

แม้ปัจจุบัน จะมีการอัญเชิญเถ้าอัฐิของท่านจากวัดราชคฤห์กลับบ้านเกิดท่านที่อุตรดิตถ์แล้ว แต่เป็นการอัญเชิญทางพิธีนามเท่านั้น ด้วยว่าเจดีย์ที่บรรจุเถ้าอัฐิ ทางวัดราชคฤห์ไม่อนุญาตให้ขุดค้น

นามสถานที่

[แก้]
  • โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  • ม.พัน.7 ค่ายพิชัยดาบหัก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  • สนามกีฬาพระยาพิชัยดาบหัก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

คาถาบูชาท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก

[แก้]

หลังการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ได้มีการแต่งคาถาขึ้นเพื่อใช้เป็นบทสวดบูชาเพื่อระลึกถึงท่านจนเป็นที่แพร่หลายในวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยคาถาที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าอาจารย์พิเชษฐ์ แก้วเกตุ เป็นผู้เรียบเรียง[a] ต่อมาศาลและอนุสาวรีย์ที่จัดสร้างโดยผู้ศรัทธาในสถานที่ต่างๆ ได้ใช้คำบูชาแตกต่างกันไป จังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้จัดประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับคำบูชาพระยาพิชัยดาบหัก ในปี พ.ศ. 2566 เพื่อให้ได้คำกล่าวที่สอดคล้องทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย และได้ประกาศใช้คำกล่าวบูชาฉบับปี พ.ศ. 2566 (วิชะยะคุณะปูชาคาถา) และมีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้พิจารณานำคำกล่าวบูชาที่แต่งใหม่ไปใช้ประโยชน์อีกด้วย[26]

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
“วิชะโย นามะ เอกัคโค สินะราชัสสะ วีระโก
จัตตะกาโย จะ ทัยยานัง กะตัญญู โหติ ภัตติโก
ตัสเสวะ อุปะการัญจะ วิญญาณัญจะ นะมามิหัง
เอตัสสะ อานุภาเวนะ สัพพะทุกขา จุปัททะวา”
อันตะรายา วินัสสันตุ สะทา สิทธี ภะวันตุ เม”
สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ ลาโภ ชะโย ภะวันตุ เม ฯ”

ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหักผู้เป็นทหารเอก ผู้กล้า ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สละชีพเพื่อชาติไทย เป็นผู้กตัญญู และจงรักภักดี ข้าพเจ้าขอรำลึกถึง อุปการะคุณ และขอนอบน้อมแด่ดวงวิญญาณท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก

ด้วยอานุภาพของท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก นั้น ขอความทุกข์ทั้งหลาย อุปสรรค และอันตรายทั้งปวงจงพินาศไป ขอความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวง จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ขอสิริมงคล อายุ ชื่อเสียง ลาภ ยศ และชัยชนะ จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ[27]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. อาจารย์พิเชษฐ์ แก้วเกตุ เป็นผู้เรียบเรียงคาถาบูชาที่เป็นที่แพร่หลาย (ที่ใช้ทั่วไปก่อนปี พ.ศ. 2566) "วันทิตวา ราชาวิยะเต นะโมนมัสการ ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก เอหิราชา เอหิวิญญาณัง ขอดวงวิญญาณในสรวงสวรรค์ ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก จงมาประสาทประสิทธิ พระพรชัยให้ศิษย์และลูกหลานทุกคน จงมีแต่ความสุข ความเจริญ มีโชค มีลาภ มีความสำเร็จ ปราศจากทุกข์โทษโพยภัยพระยันต์อันตรายทั้งปวง เอหิมะมะ มามามาเรโส ธายะ มาเรโส ธายะ ประสิทธิ ภะวันตุเม"[25]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. (2512). ที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หน้าศาลากลาง จังหวัดอุตรดิตถ์ 20 กุมภาพันธ์ 2512. พระนคร : โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์. หน้า 3
  2. วีรบุรุษผู้สละเลือด!! เปิด "๔ ทหารเสือ" ขุนพลแก้วคู่พระทัย สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สู่ "วันชนะศึก" ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา กลับคืนสู่แผ่นดินไทย Springnews สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2560
  3. พระยาพิชัยดาบหัก ผู้กล้าแห่งเมืองอุตรดิตถ์ Dooasia
  4. ทรงพล นาคเอี่ยม. (2550). การเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายในเชิงศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวไทย : กรณีศึกษามวยไทยสายพระยาพิชัยดาบหัก. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. (พลศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  5. รับตำแหน่งหลวงพิชัยอาสา - Watrajkrueh::วัดราชคฤห์
  6. หมื่นหาญณรงค์ นักรบคู่ใจ - Watrajkrueh::วัดราชคฤห์
  7. อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เก็บถาวร 2022-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แหล่งท่องเที่ยว 77 จังหวัด
  8. 8.0 8.1 8.2 Knowledge : ประวัติทหารเอก ๕ ท่านของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก Huexonline First revision: April 14, 2014 Last revision: July 01, 2014
  9. เปิดประวัติ "พระยาพิชัย" ทหารเอกพระเจ้าตากสู้ข้าศึกจนดาบหัก อีกหนึ่งวีรบุรุษไทย ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561
  10. อุตรดิตถ์เตรียมจัดงานพระยาพิชัยดาบหัก ส่งเสริมการท่องเที่ยว บ้านเมือง สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2564
  11. ตื่นขุดหาร่างเมีย พระยาพิชัยดาบหัก อายุกว่า 200 ปีฝังอยู่ใต้ต้นโพธิ์ Sanook สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2557
  12. รู้หรือไม่?‘‘พระยาพิชัยดาบหัก’’ ทหารเอกพระเจ้าตาก มีลูก-หลานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน Teenee
  13. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548, หน้า 230
  14. วัดหมอนไม้จ.อุตรดิตถ์จัดสร้างเหรียญ-พระกริ่ง'พระยาพิชัยดาบหัก' ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2554
  15. oknation. (2563). ๗ เมษายน ๒๓๒๕ ● ประหารชีวิต .."พระยาพิชัยดาบหัก ..!!"'. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
  16. “พระนอนหงาย” กับตำนานเรื่อง “พระยาพิชัยดาบหัก” ร่วมปฏิสังขรณ์ ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2564
  17. สู้ด้วยใจจนดาบหัก!! ครบรอบ ๔๙ ปี "อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก" เชิดชูวีรกรรม รักชาติ กล้าหาญ สมกับเป็นทหารเอกคู่พระทัยแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสิน ข่าววาไรตี้ สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2561
  18. กระทรวงมหาดไทย. (2513). หนังสือที่ระลึกพิธีปลุกเศกเหรียญพระยาพิชัยดาบหัก‬ ณ ปรำพิธีหน้าศาลากลาง จังหวัดอุตรดิตถ์ 31 มกราคม 2513. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.)
  19. คมชัดลึก. (2561). ลูกหลานชาวพิชัยสำนึกรักษ์ ถิ่นกำเนิด'พระยาพิชัยดาบหัก'. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
  20. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  21. สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3. (2561). อุตรดิตถ์-นำต้นตะเคียนแกะสลักเป็นรูปพระยาพิชัยยืนถือดาบคู่ใจ. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link[ลิงก์เสีย]
  22. คมชัดลึก. (2561). ลูกหลานชาวพิชัยสำนึกรักษ์ ถิ่นกำเนิด'พระยาพิชัยดาบหัก'. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
  23. “ดาบหักพิฆาต” ประธานสโมสรอุตรดิตถ์ เอฟซี ลั่น ต้องเลื่อนชั้นไทยลีก 4 ขึ้นไทยลีก 3 เก็บถาวร 2022-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Northernnewsthailand สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2020
  24. "ชมลีลาแอกชันสุดซี้ด! ของ "บัวขาว" จากหนัง "นายทองดีฟันขาว"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-06. สืบค้นเมื่อ 2016-02-23.
  25. ชมรมพิชยรักษ์. (2565). วิเคราะห์บทพระคาถาบูชาพระยาพิชัยดาบหัก. อุตรดิตถ์ : ม.ป.ท.. หน้า 1
  26. อุตรดิตถ์ หารือคาถาบูชาท่านพ่อ”พระยาพิชัยดาบหัก เก็บถาวร 2023-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Northernnewsthailand สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2023
  27. ประกาศผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง คำบูชากล่าวบูชาพระยาพิชัยดาบหัก ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]