ไม้ยมก
อักษรไทย | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ๆ | |||||||
รูปพยัญชนะ | |||||||
ก | ข | ฃ | ค | ฅ | ฆ | ง | จ |
ฉ | ช | ซ | ฌ | ญ | ฎ | ฏ | ฐ |
ฑ | ฒ | ณ | ด | ต | ถ | ท | ธ |
น | บ | ป | ผ | ฝ | พ | ฟ | ภ |
ม | ย | ร | ล | ว | ศ | ษ | ส |
ห | ฬ | อ | ฮ | ||||
รูปสระ | |||||||
ะ | –ั | า | –ํ | –ิ | ' | " | |
–ุ | –ู | เ | โ | ใ | ไ | –็ | |
อ | ว | ย | ฤ | ฤๅ | ฦ | ฦๅ | |
รูปวรรณยุกต์ | |||||||
–่ | –้ | –๊ | –๋ | ||||
เครื่องหมายอื่น ๆ | |||||||
–์ | –๎ | –ฺ | |||||
เครื่องหมายวรรคตอน | |||||||
ฯ | ฯลฯ | ๆ | |||||
๏ | ๚ | ๛ | ┼ |
ๆ | |
---|---|
ไม้ยมก | |
ไม้ยมก หรือ ยมก เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ในการเขียนภาษาไทย มีลักษณะคล้ายเลขไทย (๒) ที่หางชี้ลงล่าง แต่เดิมนั้นไม้ยมกกับเลข ๒ เขียนอย่างเดียวกัน ไม้ยมกใช้ได้ กำกับหลังคำที่ ข้อความ ต้องการอ่านซ้ำ เช่น "มาก ๆ" อ่านว่า "มากมาก"
การใช้ไม้ยมก
[แก้]วิธีใช้ไม้ยมก เมื่อประมวลจากการใช้ พอจะสรุปได้ดังนี้
- ซ้ำคำ
- "นี่ไม่ใช่งานง่าย ๆ" อ่านว่า "นี่ไม่ใช่งานง่ายง่าย"
- "รู้สึกเหนื่อย ๆ" อ่านว่า "รู้สึกเหนื่อยเหนื่อย"
- ซ้ำวลี
- "เขาตะโกนขึ้นว่าไฟไหม้ ๆ" อ่านว่า "เขาตะโกนขึ้นว่าไฟไหม้ไฟไหม้"
- "ในแต่ละวัน ๆ" อ่านว่า "ในแต่ละวันแต่ละวัน"
กรณีที่ไม้ยมกไม่สามารถใช้ได้
[แก้]- เสียงซ้ำ แต่เป็นคำคนละชนิดหรือต่างหน้าที่
- "ซื้อมา 2 ผล ๆ ละ 5 บาท" ควรเขียนว่า "ซื้อมา 2 ผล ผลละ 5 บาท" (สมัยโบราณนิยมเขียนแบบประโยคแรก)
- "นายดำ ๆ นา" ควรเขียนว่า "นายดำดำนา" ดำคำแรกเป็นวิสามานยนาม ดำคำที่สองเป็นกริยา
- "คน ๆ นี้" ควรเขียนว่า "คนคนนี้" คนคำแรกเป็นสามานยนาม คนคำที่สองเป็นลักษณนาม
- คำที่รูปเดิมเขียนซ้ำพยางค์ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คำ ได้แก่ นานา, จะจะ, ชิวชิว, เบเบ, ป็อมป็อม, วินวิน
- ในคำประพันธ์ หรือบทร้อยกรอง เช่น
- หวั่นหวั่นจิตรคิดคิดหวนครวญครวญหา (ไม่ควรเขียน "หวั่น ๆ จิตรคิด ๆ หวนครวญ ๆ หา")
- ยกเว้น กลบทบางประเภทที่กำหนดให้ใช้กับไม้ยมก
การเขียนไม้ยมก
[แก้]พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้งฉบับ พ.ศ. 2525 และฉบับ พ.ศ. 2542 เขียนไม้ยมกโดยเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังไม้ยมก เช่น "สิ่งที่เป็นเส้น ๆ หุ้มยวงขนุน" และ "ติด ๆ กัน" [1] [2]
หนังสือ หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ระบุหลักเกณฑ์การเว้นวรรคไว้ว่า "ให้เว้นทั้งข้างหน้าและข้างหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมกหรือยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ" หากแต่การเรียงพิมพ์ในเล่มกลับเว้นวรรคเฉพาะหลังไม้ยมก เช่น "หน่วยราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม" รวมทั้งชื่อหนังสือเอง ซึ่งชิดหน้า เว้นหลัง ("เครื่องหมายอื่นๆ") [3] อย่างไรก็ตาม ใน หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนฯ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าให้ "เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ..." และการเรียงพิมพ์ในเล่มสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น "วันหนึ่ง ๆ เขาทำอะไรบ้าง" [4]
ปัจจุบันเราพบว่าสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในอินเทอร์เน็ต พิมพ์ไม้ยมกในลักษณะต่าง ๆ กัน ดังนี้
- ไม่เว้นวรรคเลย เช่น "ต่างๆกัน" ซึ่งผิดหลักเกณฑ์
- เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังไม้ยมก เช่น "ต่าง ๆ กัน" ซึ่งถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และ
- เขียนไม้ยมกติดคำหน้า แต่เว้นวรรคด้านหลัง เช่น "ต่างๆ กัน" ซึ่งผิดหลักเกณฑ์
อนึ่ง ไม้ยมกไม่ใช่อักษร แต่มักจะจัดรวมไว้ในหมวดหมู่อักษรไทย เพื่อความสะดวกในการดูภาพรวมของอักษรและเครื่องหมายที่ใช้ในการเขียนหนังสือไทย
ไม้ยมกในภาษาอื่น
[แก้]ภาษาอื่นที่ใช้ไม้ยมกคือภาษาเขมร (ៗ) และภาษาลาว (ໆ) ใช้ซ้ำคำเหมือนกับภาษาไทย ภาษาจีน ก็มีการใช้เครื่องหมายซ้ำคำหลายชนิดเช่นกัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.-พิมพ์ครั้งที่ 5.-กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2533.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.-พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม).-กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2548.