ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอพระประแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อ.พระประแดง)
อำเภอพระประแดง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phra Pradaeng
สะพานกาญจนาภิเษก
คำขวัญ: 
ป้อมแผลงไฟฟ้า ราชานุสาวรีย์ ประเพณีสงกรานต์ หมู่บ้านชาวมอญ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ งามตระการวัดหลวง มะม่วงน้ำดอกไม้ ติดใจข้าวเม่าทอด สุดยอดกะละแม
แผนที่จังหวัดสมุทรปราการ เน้นอำเภอพระประแดง
แผนที่จังหวัดสมุทรปราการ เน้นอำเภอพระประแดง
พิกัด: 13°39′30″N 100°32′2″E / 13.65833°N 100.53389°E / 13.65833; 100.53389
ประเทศ ไทย
จังหวัดสมุทรปราการ
พื้นที่
 • ทั้งหมด73.370 ตร.กม. (28.328 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด181,414 คน
 • ความหนาแน่น2,472.59 คน/ตร.กม. (6,404.0 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 10130
รหัสภูมิศาสตร์1104
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอพระประแดง ถนนนครเขื่อนขันธ์ ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

พระประแดง เป็นอำเภอที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ ในอดีตมีฐานะเป็นศูนย์กลางของจังหวัดพระประแดง แต่ต่อมาถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการดังเช่นปัจจุบัน

ที่มาของชื่อ

[แก้]

คำว่า "พระประแดง" บ้างว่ามาจากคำว่า "ประแดง" หรือ "บาแดง" แปลว่า คนเดินหมายหรือ คนนำข่าวสาร แต่เดิมเมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น จะต้องแจ้งข่าวสารไปให้เมืองหลวง (ละโว้) ทราบโดยเร็ว[1]

ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า "พระประแดง" มาจากชื่อ "พระแผดง" ซึ่งเป็นชื่อเทวรูปสำคัญที่ขุดพบสององค์ที่คลองสำโรงต่อคลองทับนางเมื่อปี พ.ศ. 2061 ซึ่งคำว่า "แผดง" มาจากคำของขอมโบราณว่า "เผฺดง" ที่ใช้เรียกเทวรูปหรือตำแหน่งยศขุนนาง โดยเชื่อว่าชื่อเมืองน่าจะเรียกตามศาลพระแผดงที่พวกขอมเคยสร้างไว้[2]

ส่วนรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล สันนิษฐานว่า "พระประแดง" มาจากคำว่า "กมารเตง" ที่หมายถึงเทวรูปศักดิ์สิทธิ์สององค์ดังกล่าว[3]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

พระประแดงเดิมตรงคลองเตย

[แก้]
1
2
แผนที่โดยเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ พ.ศ. 2223
1
ตำแหน่งพระประแดง (เดิม) บริเวณท่าเรือคลองเตย
2
ตำแหน่งนิวอัมสเตอร์ดัม ปากคลองบางปลากด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วินิจฉัยว่า พระประแดงเป็นเมืองโบราณสมัยขอมมีชื่อเรียกว่า "พระประแดง" แต่ประเด็นนี้ก็พิสูจน์ได้ยาก[4]

ตำแหน่งที่ตั้งเมืองพระประแดงเดิม ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือคลองเตย กรุงเทพมหานคร[3] เหตุผลที่สนับสนุนที่ตั้งเดิมนี้ คือ มีปรากฏในจดหมายเหตุเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ ได้ลงตำแหน่งเมืองพระประแดง (Prapedain) อยู่บริเวณคุ้งแม่น้ำตรงบริเวณคลองเตยในปัจจุบัน[5] และในโคลงนิราศชุมพรแต่งโดยพระพิพิธสาลี ซึ่งเชื่อว่าท่านมีอายุอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 1 เมื่อท่านได้ล่องเรือผ่านช่องนนทรี จากนั้นถึงบางเตยซึ่งก็คือตำแหน่งคลองเตยในปัจจุบัน แล้วจึงกล่าวถึงศาลพระแผดง (ศาลพระประแดง) แล้วจึงเป็นพระโขนง[6]

โคลงนิราศพระยาตรังผลงานพระยาตรังได้แต่งขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในโคลงบทที่ 29 ถึงช่องนนทรี แล้วกล่าวถึงศาลพระแผดงและในโคลงบทที่ 31 กล่าวถึงบางขนง (พระโขนง) และในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ แต่งขึ้นในรัชกาลที่ 1 เมื่อท่านผ่านบริเวณบ้านบางระจ้าวหรือบางกะเจ้าในปัจจุบัน แล้วเอ่ยถึงศาลพระประแดง[7]

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเมืองพระประแดงปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) พ.ศ. 2040 แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ว่า

... ขณะนั้นคลองสำโรงที่จะไปคลองศีรษะจระเข้ คลองทับนางจะไปปากน้ำ เจ้าพญาตื้น เรือใหญ่จะเดินไปมาขัดสน จึงให้ชำระขุดได้รูปเทพารักษ์ 2 องค์หล่อด้วยสัมฤทธิ จารึกองค์หนึ่งชื่อพญาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังฆกรในที่ร่วมคลองสำรงกับคลองทับนางต่อกัน จึงให้พลีกรรมแล้วออกมาปลูกศาลเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง ...

[8]

ขณะที่ในกำสรวลสมุทรในบทที่ 71 ซึ่งเป็นวรรณคดีอยุธยายุคต้น (พ. ณ ประมวญมารค สันนิษฐานว่าแต่งระหว่าง พ.ศ. 2025–2034) ไม่กล่าวถึงพระประแดงเลย[9] จึงสันนิษฐานว่าเมื่อครั้งที่ประพันธ์กำสรวลสมุทรบริเวณเมืองพระประแดงยังไม่น่ามี ทำให้ข้อสันนิษฐานว่าพระประแดงมีมาตั้งแต่สมัยขอมดูยังไม่หนักแน่น[4] เมืองพระประแดงยังเคยใช้เป็นที่รับรองราชทูต ดังปรากฏหลักฐานในบันทึกบาทหลวงตาชาร์ด ที่เดิน ทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2228[10] แต่อย่างไรก็ตามเมืองพระประแดงในสมัยอยุธยาไม่น่าที่จะมีบทบาทสูงมาก เพราะเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญสูงในบริเวณปากน้ำ คือเมืองธนบุรี ดังจะเห็นได้จากมีการก่อป้อมขนาดใหญ่ที่เมืองธนบุรี รวมถึงในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระที่เจ้าเมืองธนบุรีเป็นแม่กองเกณฑ์หัวเมืองขุดคลองเกร็ดน้อย และยังมีส่วนช่วยเจ้าฟ้าอภัยชิงราชสมบัติ[11]

ปากพระประแดง

[แก้]

เมืองพระประแดงในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้เลื่อนมาลงอยู่ที่บริเวณอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนจะเลื่อนลงมาเมื่อใดไม่ทราบ และเมื่อเมืองพระประแดงมาอยู่ตำแหน่งใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้ในเอกสารเรียกแม่น้ำ เจ้าพระยาช่วงนี้ว่า ปากพระประแดง

จากจดหมายเหตุพระอุบาลีไปลังกาทวีปครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พ.ศ. 2295 กล่าวว่า

... ลงไปถึงตึกวิลันดา ณ บางปลากด ณ วันอังคาร เดือนยี่ ขึ้น 6 ค่ำ เพลาเช้า 3 โมง แลมรติงนายกำปั่น ให้ทอดบรรทุกฝาง 6 วัน ณ วันอังคาร เดือนยี่ขึ้น 12 ค่ำ ถึงเมืองพระประแดง...

[12] จากข้อความดังกล่าว ระบุว่าเมืองพระประแดงอยู่ใต้คลองบางปลากด สอดคล้องกับพระราชสาส์นไปเมืองจีนครั้งกรุงธนบุรีที่ชี้ว่า เมืองพระประแดงเป็นเมืองสุดท้ายก่อนออกทะเลและใกล้กับแหลมฟ้าผ่า พระราชพงศาวดารธนบุรีฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งชำระในต้นรัชกาลที่ 1 กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2311 ว่า

... วันจันทร์ แรมสิบสี่ค่ำ เดือนสาม มีข้อราชการเมืองกัมพูชาธิบดีเมืองปากน้ำ พุทไธมาศบอกเข้ามา จึงทรงพระกรุณาให้พระกรมท่าไปทำค่ายปากน้ำ พระประแดง ท่าจีน แม่กลอง...

[13]

จากหลักฐานทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าเมืองพระประแดงในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยามาก อีกทั้งเอกสารในช่วงนี้เรียกแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้ว่า ปากพระประแดง และยังแสดงให้เห็นได้ว่า ในช่วงระยะต้นสมัยธนบุรีบริเวณคลองเตยไม่ใช่ปากแม่น้ำแล้ว เพราะปากน้ำอยู่ใต้เมืองสมุทรปราการปัจจุบัน เมืองพระประแดงที่คลองเตยเริ่มหมดความสำคัญลง ประกอบกับมีประชากรที่เบาบางเพราะผลกระทบของสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) จึงส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2314 มีการรื้อเอาอิฐกำแพงเก่าเมืองพระประแดงมาก่อกำแพงและป้อมที่ธนบุรี[14]

พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม กล่าวถึง ปี จ.ศ. 1169 (พ.ศ. 2350) ว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทูลเกล้าถวายพระราชพงศาวดาร เนื้อหาในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้กล่าวถึง ปากน้ำพระประแดง ในสมเด็จพระบรมโกศ (พ.ศ. 2275–2301) ว่า

บางทีลงที่นั่งใหญ่ ใช้ใบล่องออกปากน้ำ พระประแดง ชมชเลและมัจฉา

[15]

เมืองนครเขื่อนขันธ์

[แก้]
จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าเกด เป็นภาพวิถีชีวิตชาวมอญ วัดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2
ป้อมแผลงไฟฟ้า สร้างในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2357

เนื่องจากได้ย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงเทพ ซึ่งลงใกล้ปากน้ำมากขึ้น ขณะเดียวกันเมืองรายทางจากปากน้ำมาถึงกรุงเทพมีเพียงเมืองเดียวคือ สมุทรปราการ ซึ่งได้สร้างความกังวลเรื่องรับศึกทางทะเล ดังนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงได้กราบบังคมทูลขอสร้างเมืองขึ้นที่ปากลัด เนื่องจากมีที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่เหมาะแก่การตั้งป้อมปืนใหญ่และสามารถควบคุมเส้นทางบริเวณปากคลองลัดโพธิ์ได้ แต่ยังไม่สำเร็จเนื่องจากเกิดศึกกับพม่าก่อน

จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ลงไปทำเมืองที่บริเวณปากลัด ตัดเอาแขวงกรุงเทพมหานครและแขวงเมืองสมุทรปราการ พระราชทานชื่อเมืองว่า นครเขื่อนขันธ์[16] ตำแหน่งของเมืองนครเขื่อนขันธ์ตั้งอยู่ระหว่างคลองลัดโพธิ์กับคลองลัดหลวง[17] จน พ.ศ. 2358 จึงให้มีการพระราชพิธีฝังอาถรรพณ์ยกเสาประตูตั้งป้อมที่ปากลัด[18]

เมื่อแรกสถาปนานครเขื่อนขันธ์โปรดเกล้าฯ ให้มอญพวกเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) มาเป็นพลประจำเมือง ในปีรุ่งขึ้นมอญจากเมาะตะมะอพยพเข้ามา 3 ทาง คือ กาญจนบุรี อุทัยธานี และตาก เข้ามาสมทบที่นครเขื่อนขันธ์[19] เมื่อแรกสถาปนาเมือง ยังไม่ปรากฏในพระไอยการนาทหารพลเรือนในกฎหมายตราสามดวงว่าเมืองแห่งนี้น่าจำสังกัดกับกรมใด แต่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ทรงมากำกับการก่อสร้าง เมื่อพระองค์ทิวงคต สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเมื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 3 และพระองค์ก็น่าจะได้กำกับเมืองนครเขื่อนขันธ์ถึงเสด็จทิวงคต จากนั้นสันนิษฐานว่าหม่อมไกรสรได้กำกับเมืองนครเขื่อนขันธ์ต่อเพราะเมื่อ พ.ศ. 2385 โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมไกรสรไปกำกับเลกทำอิฐสร้างเมือง[20] อีกทั้งยังมีหลักฐานว่าหม่อมไกรสรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตั้งเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์[21] รวมถึงเรื่องที่ท่านถูกกล่าวโทษว่าทำตัวเทียมพระเจ้าอยู่หัวก็เกิดขึ้นที่นครเขื่อนขันธ์[22]

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เซอร์จอห์น เบาว์ริง ได้เข้ามาสนธิสัญญา กล่าวไว้ใน ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เมื่อท่านผ่านบริเวณนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งท่านเรียกว่า ปากลัด และได้กล่าวถึงป้อมที่ปากลัดว่ามีป้อมอยู่ 2 ฟากแม่น้ำ ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ มีโซ่ขวางแม่น้ำ เป็นโซ่เหล็กและเสาไม้ขนาดใหญ่มิให้เรือรบแล่นทวนขึ้นกรุงเทพได้ ป้อมมีทหารจำนวนไม่มาก นอกจากนั้นยังระบุว่า เมืองปากลัดเป็นเมืองที่ส่งฟืนเข้ามากรุงเทพและยังระบุว่าประชากรในเมืองนี้เป็นมอญ[23] ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้นกับกรมกลาโหม[24] โดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) สมุหกลาโหมมีหน้าที่ดูแลเมืองนครเขื่อนขันธ์ ขณะที่บิดา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กำกับเมืองสมุทรปราการ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย จากนั้นวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2437 กระทรวงนครบาลกำกับ

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองพระประแดง[3]

การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง

[แก้]

ตรงนี้เป็นประวัติศาสตร์รายปี

  • พ.ศ. 2464 ตั้งจังหวัดพระประแดง
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2470 แก้ไขเขตจังหวัดพระนคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดพระนคร (1,2)[25]
    • (1) โอนพื้นที่ตำบลช่องนนทรี ตำบลบางโพงพาง ของอำเภอพระประแดง ไปขึ้นอำเภอพระโขนง และโอนอำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง มาขึ้นกับจังหวัดพระนคร เป็น อำเภอพระโขนง จังหวัดพระโขนง
    • (2) โอนพื้นที่ตำบลบางนา ตำบลสำโรงเหนือ ตำบลสำโรงใต้ ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลบางหัวเสือ ของอำเภอพระประแดงจังหวัดพระประแดง มาขึ้นกับอำเภอสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
  • พ.ศ. 2475 ยุบจังหวัดพระประแดง ทำให้อำเภอพระประแดง ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ
  • วันที่ 15 มีนาคม 2480 จัดตั้งเทศบาลเมืองพระประแดง ในท้องที่บางส่วนของตำบลเชียงใหม่ ตำบลทรงคนอง และตำบลตลาด (ในปัจจุบันรวมกันเป็นตำบลตลาด)[26]
  • วันที่ 1 มกราคม 2486 จังหวัดสมุทรปราการได้ยุบลงเนื่องจากขณะนั้นในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอพระประแดง จึงย้ายไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร
  • วันที่ 10 พฤษภาคม 2489 ตั้งจังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้อำเภอพระประแดง กลับมาขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ เหมือนเดิม[27]
  • วันที่ 20 กันยายน 2505 ตั้งตำบลบางกระสอบ แยกออกจากตำบลบางน้ำผึ้ง และตำบลทรงคนอง[28]
  • วันที่ 22 สิงหาคม 2506 จัดตั้งสุขาภิบาลพระประแดง ในท้องที่ตำบลบางพึ่ง ตำบลบางครุ ตำบลบางจาก ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลบางหัวเสือ และตำบลสำโรงใต้[29]
  • วันที่ 6 พฤศจิกายน 2531 ตั้งตำบลสำโรง แยกออกจากตำบลสำโรงใต้[30]
  • วันที่ 1 กรกฎาคม 2533 ตั้งตำบลสำโรงกลาง แยกออกจากตำบลสำโรงใต้ [31]
  • วันที่ 13 มีนาคม 2535 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลพระประแดง ใหม่ โดยให้ สุขาภิบาลพระประแดง ครอบคลุมในท้องที่ตำบลบางพึ่ง ตำบลบางครุ และตำบลบางจาก และ ให้จัดตั้งสุขาภิบาลสำโรงใต้ ในท้องที่ ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลบางหัวเสือ ตำบลสำโรงใต้ ตำบลสำโรงกลาง และตำบลสำโรง[32]
  • วันที่ 24 เมษายน 2537 จัดตั้งเทศบาลตำบลลัดหลวง โดย ยกฐานะจากสุขาภิบาลพระประแดง[33]
  • วันที่ 16 มีนาคม 2540 จัดตั้งเทศบาลตำบลสำโรงใต้ โดย ยกฐานะจากสุขาภิบาลสำโรงใต้ [34]
  • วันที่ 21 กันยายน 2545 จัดตั้งเทศบาลเมืองลัดหลวง โดย ยกฐานะจากเทศบาลตำบลลัดหลวง[35]
  • วันที่ 20 สิงหาคม 2552 ยกฐานะจากเทศบาลตำบลสำโรงใต้ เป็น เทศบาลเมืองสำโรงใต้ [36]
  • วันที่ 17 กันยายน 2553 เปลี่ยนชื่อเทศบาลเมืองสำโรงใต้ เป็น เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย [37]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอพระประแดงแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 15 ตำบล 177 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[38]
1. ตลาด Talat
ยกเลิกระบบหมู่
8,454
2. บางพึ่ง Bang Phueng
19
22,498
3. บางจาก Bang Chak
9
21,404
4. บางครุ Bang Khru
15
24,126
5. บางหญ้าแพรก Bang Ya Phraek
22
19,357
6. บางหัวเสือ Bang Hua Suea
15
12,683
7. สำโรงใต้ Samrong Tai
10
10,896
8. บางยอ Bang Yo
10
11,108
9. บางกะเจ้า Bang Kachao
9
4,983
10. บางน้ำผึ้ง Bang Namphueng
11
5,096
11. บางกระสอบ Bang Krasop
11
2,642
12. บางกอบัว Bang Ko Bua
13
6,865
13. ทรงคนอง Song Khanong
13
7,270
14. สำโรง Samrong
10
15,731
15. สำโรงกลาง Samrong Klang
10
10,711

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

อำเภอพระประแดงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองพระประแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตลาดทั้งตำบล
  • เทศบาลเมืองลัดหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางพึ่ง ตำบลบางจาก และตำบลบางครุทั้งตำบล
  • เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางหญ้าแพรก ตำบลบางหัวเสือ ตำบลสำโรงใต้ ตำบลสำโรง และตำบลสำโรงกลางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางยอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางยอทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกะเจ้าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางน้ำผึ้งทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระสอบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกระสอบทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกอบัวทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทรงคนองทั้งตำบล

การคมนาคม

[แก้]

อำเภอพระประแดงมีถนนสายหลัก ได้แก่

นอกจากนี้ยังมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง

สำหรับการคมนาคมในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ แพขนานยนต์ และ เรือโดยสารข้ามฟาก ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เภตรา และ บริษัท นาวาสมุทร จำกัด เรือโดยสารข้ามฟาก และ เรือหางยาวบริเวณวัดบางน้ำผึ้งนอก (ฝั่งตรงข้ามกับวัดบางนานอก เขตบางนา กรุงเทพมหานคร) เรือหางยาวบริเวณปลายถนนเพชรหึงษ์ (ฝั่งตรงข้ามกับท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร)

สะพานภูมิพล 1 (ขวา) และสะพานภูมิพล 2 (ซ้าย) ขวามือเป็น ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]
ป้อมแผลงไฟฟ้า
ป้อมแผลงไฟฟ้า

ประเพณี

[แก้]

ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ

[แก้]

ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ กำเนิดขึ้นใน จ.สมุทรปราการ ชาวพระประแดง (มอญปาก-ลัด) ปกติมักมีขึ้นในช่วงเวลา วันที่ 13 เมษายนของทุกปี หรือวันสงกรานต์ ความเป็นมาหรือสาระสำคัญของประเพณีไทยแห่หงส์ ธงตะขาบ ก็เพื่อเป็นการระลึกถึง และเป็นการบูชา รวมไปถึงการเฉลิมฉลองให้กับครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงจากชั้นภพดาวดึงส์ เป็นการถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนปัจจุบันนี้ โดยการร่วมงานเฉลิมฉลองประเพณีไทยนี้ ผู้คนต่าง ๆ มักจะนำเสาหงส์ และ ธงตะขาบ มาใช้คู่กัน

สถานศึกษา

[แก้]

สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 6

[แก้]

สถานศึกษาระบบเอกชน

[แก้]

บุคคลที่มีชื่อเสียงของเมืองพระประแดง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ภาคผนวก ตามหาเมืองพระประแดงในพงศาวดาร". 3king.lib.kmutt.ac.th/. สืบค้นเมื่อ 5 December 2014.
  2. จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556, หน้า 414-415
  3. 3.0 3.1 3.2 รุ่งโรจน์ อภิรมย์อนุกูล (2556). "เมืองพระประแดง: จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์จบที่อำเภอพระประแดง". ดำรงวิชาการ. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. "เมืองพระประแดง : จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์ จบที่อำเภอพระประแดง" (PDF).
  5. E. Kaempfer, A description of the Kingdom of Siam (Bangkok: Orchid Press, 1998), 77.
  6. พระพิพิธสาลี, โคลงนิราศชุมพร โคลงนิราศพระพิพิธสาลี (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542), 74–75.
  7. สุนทรภู่, นิราศเมืองแกลง ชีวิตและงานของสุนทรภู่ (กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, 2534), 62.
  8. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2533), 18. พระราชพงศาวดารฉบับนี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ สันนิษฐานว่าเป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง
  9. มานิต วัลลิโภดม, "ตามเรือใบขทิงทอง" กำสรวลสมุทรศรีปราชญ์ นิราศนรินทร์ (กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา , 2502), 521–522.
  10. บาทหลวงตาชาร์ด, จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2528), 29.
  11. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 (กรุงเทพฯ: โอเดียน สโตร์ , 2505), 195–204.
  12. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2531 ที่ระลึกสมโภชหิรัณยบัฎ พระธรรมปัญญาบดี 24 เมษายน 2531), 92.
  13. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร , 2503), 28. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสงวน นพวงศ์ ณ อยุธยา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยราม
  14. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 346
  15. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ประชุม พงศาวดารภาคที่ 82 (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537), 319.
  16. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2, ชำระโดย นฤมล ธีรวัฒน์ , (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548), 49.
  17. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "จากปากน้ำถึงสมุทรปราการ เมืองหน้าด่านชายทะเล". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-06-10.
  18. ประชุมหมายรับสั่งภาคที่ 3 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำประวัติศาสตร์, 2528) , 79–85.
  19. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2, ชำระโดย นฤมล ธีรวัฒน์, 49,58.
  20. ประชุมหมายรับสั่งภาคที่ 4 ตอน 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์, 2537), 86.
  21. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2 (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2530), 110–111.
  22. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2 (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2530), 110–111.
  23. Sir J. Boering, The Kingdom and People of Saim Vol. I (Kuala Lampu
    Oxford University Press, 1969), 22.
  24. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 (กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร, 2507), 223. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางอนงค์ เฑียรฆราษ
  25. [1]พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง แก้ไขเขตจังหวัดพระนคร ธนบุรี พระประแดง สมุทรปราการ และมีนบุรีในมณฑลกรุงเทพ ฯ กับธัญบุรี ในมณฑลอยุธยา
  26. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พุทธศักราช 2480" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 54 (0 ก): 1878–1881. 14 มีนาคม 2480. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.
  27. "พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (29 ก): 315–317. 9 พฤษภาคม 2489. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.
  28. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 79 (90 ง): 2080–2084. 2 ตุลาคม 2505.
  29. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (90 ง): 2099–2101. 10 กันยายน 2506.
  30. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 105 (พิเศษ 234 ง): 65–68. 27 ธันวาคม 2531.
  31. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 107 (พิเศษ 174 ง): 17–24. 16 กันยายน 2533.
  32. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลพระประแดงและจัดตั้งสุขาภิบาลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (พิเศษ 126 ง): 85–88. 30 กันยายน 2535.
  33. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลลัดหลวง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2537" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 111 (10 ก): 62–65. 25 มีนาคม 2537.
  34. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2540" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (2 ก): 1–4. 14 กุมภาพันธ์ 2540.
  35. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองลัดหลวง พ.ศ. 2545" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 119 (93 ก): 4–6. 20 กันยายน 2545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.
  36. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเทศบาลเมืองสำโรงใต้" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 126 (พิเศษ 145 ง): 21. 1 ตุลาคม 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.
  37. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อเทศบาลเมืองสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 127 (พิเศษ 128 ง): 27. 5 พฤศจิกายน 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2013-08-15.
  38. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.