ข้ามไปเนื้อหา

ป้อมแผลงไฟฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ป้อมแผลงไฟฟ้า
ประตูป้อมแผลงไฟฟ้า
ประเภทป้อมปราการ
ที่ตั้งตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย
สร้างเมื่อพ.ศ. 2357
สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
การใช้งานดั้งเดิมป้อมยุทธนาวี
บูรณะพ.ศ. 2436
บูรณะโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถานะสวนสาธารณะ, ยังมีอยู่
สถาปัตยกรรมตะวันตก
ผู้ดูแลเทศบาลเมืองพระประแดง
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนป้อมแผลงไฟฟ้า
ขึ้นเมื่อ15 เมษายน พ.ศ. 2523
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตจังหวัดสมุทรปราการ
เลขอ้างอิง0000200

ป้อมแผลงไฟฟ้า เป็นป้อมปราการ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพระประแดง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติ[แก้]

ป้อมแผลงไฟฟ้าสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2357 โดยสร้างขึ้นบนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึก พร้อมกับ ป้อมมหาสังหาร ป้อมราหูจร ป้อมปีศาจสิง ป้อมวิทยาคม ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงป้อมแผลงไฟฟ้า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2436 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นป้อมทหารเรือ สำหรับกองโรงเรียนทหารเรือที่ 3[1] และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้บูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง

ต่อมา พ.ศ. 2514 เทศบาลเมืองพระประแดงได้ตกแต่งซ่อมแซมให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ได้นำปืนใหญ่ขึ้นมาตั้งบนกำแพงอยู่ตรงกลาง 1 กระบอก และมุมกำแพงด้านขวา 1 กระบอก แนวกำแพงด้านขวาและด้านซ้ายมีอุโมงค์ก่ออิฐถือปูน มีทางเดินถึงกันได้[2] ป้อมแผลงไฟฟ้าเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 59 วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2523

สถาปัตยกรรม[แก้]

ป้อมแผลงไฟฟ้า มีกำแพงล้อมรอบตัวป้อมทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ด้านทิศใต้ มีกำแพง 2 ชั้น ถมดินอัดแน่นระหว่างชั้นนอกและชั้นในเพื่อป้องกันกระสุนปืนที่ยิงตกลงมา[3] ป้อมและกำแพงก่ออิฐถือปูนตัวป้อมทรงสี่เหลี่ยมปาดมุม ทางด้านทิศเหนือมีกำแพงต่อออกไปล้อมพื้นที่ภายในป้อม มุมกำแพงเป็นมุมมน ด้านนอกฉาบปูนจับเป็นบัว ด้านในก่อลดระดับ ตรงกลางกำแพงด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูทรงสี่เหลี่ยม ด้านบนมีตัวอักษรบอกชื่อป้อมและปีที่สร้าง เจาะช่องประตูเป็นช่องโค้ง กำแพงทางด้านทิศตะวันออกบริเวณมุมที่ต่อกับตัวป้อมมีแนวกำแพงก่อยื่นออกไป

บริเวณภายในป้อมมีกำแพงป้อมชั้นในตรงกลางกำแพงมีทางลาดขึ้นลงเป็นที่ชักลากปืนใหญ่ขึ้นไปบนกำแพงป้อมทางทิศใต้ ซึ่งมีดินถมอัดแน่นระหว่างกำแพงชั้นนอกและกำแพงชั้นใน มีปืนใหญ่ตั้งอยู่มุมกำแพงด้านซ้ายมือซึ่งมีอยู่เดิม

ประตูป้อมมี 3 ด้าน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือด้านหน้าป้อม ซุ้มประตูยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซุ้มประตูอยู่ทนสภาพชำรุด แต่ยังมีส่วนของเดิมอยู่บูรณะได้ ด้านทิศใต้ ประตูทางเข้าอยู่มุมกำแพง ไม่มีซุ้มประตู มีคานเสากลมอยู่ด้านบน และเสากลมติดกับด้านบน ทั้งขวาและซ้ายเป็นเสาประตูอยู่ในสภาพชำรุดแต่บูรณะได้[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ป้อมแผลงไฟฟ้า". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "ประตูป้อมแผลงไฟฟ้า จ.สมุทรปราการ". ช่อง 7.
  3. "ป้อมแผลงไฟฟ้า". เทศบาลเมืองพระประแดง.
  4. "ป้อมแผลงไฟฟ้า". หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-13. สืบค้นเมื่อ 2021-08-05.