อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน | |
---|---|
ที่ตั้ง | จังหวัดน่าน ประเทศไทย |
พิกัด | 18°22′4″N 100°50′15″E / 18.36778°N 100.83750°E |
พื้นที่ | 1,024 ตารางกิโลเมตร (640,000 ไร่) |
จัดตั้ง | 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2550[1] |
ผู้เยี่ยมชม | 115,358 (2562) |
หน่วยราชการ | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอนาหมื่น, อำเภอนาน้อย, อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ตามแนวสองฟากฝั่งลำน้ำน่าน จนสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ สภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อนวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 640,237.50 ไร่ หรือ 1,024.38 ตารางกิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติศรีน่านเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของประชาชนในจังหวัดน่าน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหลายอย่าง และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงามได้แก่ เสาดินและคอกเสือ ปากนาย แก่งหลวง จุดชมทิวทัศน์ดอยผาชู้ ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน จุดชมวิวดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์
ในปี 2535 ได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้นายสมบัติ เวียงคำ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้นป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี่ ป่าสาลีก ป่าน้ำสา และป่าแม่สาครฝั่งซ้าย ป่าห้วยแม่ขะนิง และป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนบน ท้องที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 435 ตารางกิโลเมตร หรือ 271,875 ไร่ และได้มีคำสั่งที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้สำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้ตามชื่อป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารและประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันว่า “อุทยานแห่งชาติแม่สาคร” และใช้อักษรย่อว่า ที่ กษ 0713 (มสค) /..ตามหนังสือกองอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0713/674 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2533
กรมป่าไม้ได้มีคำสั่ง ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้ นายสมบัติ เวียงคำ ไปสำรวจเพิ่มเติมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสา-ป่าแม่สาครฝั่งซ้าย ป่าห้วยแม่ขนิงและป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนบน ท้องที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เพื่อประกาศกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ต่อมาอุทยานแห่งชาติแม่สาครได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713(มสค)/33 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2534 ว่า เห็นสมควรได้สำรวจเพิ่มเติมจากพื้นที่เดิมคือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยงวงและป่าห้วยสาลี และป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี่ ท้องที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713.2/1568 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2534 อนุมัติให้ทำการสำรวจเพิ่มเติมพื้นที่ป่าดังกล่าว พร้อมทั้งมีหนังสือจังหวัดน่าน ที่ นน 0009/5857 ลงวันที่ 19 เมษายน 2536 สนับสนุนให้จัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมา นายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้อนุมัติให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตามหนังสือส่วนอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0712.03/47 ลงวันที่ 12 มกราคม 2537 เรื่อง การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ซึ่งพื้นที่ที่ทำการสำรวจเพิ่มมีเนื้อที่ประมาณ 934 ตารางกิโลเมตร หรือ 583,750 ไร่ โดยให้กันพื้นที่ที่ราษฎรที่ได้ยึดถือครอบครองเป็นหมู่บ้านใหญ่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน เนื่องจากมีการสำรวจเพิ่มเติมและได้ย้ายที่ทำการอุทยานแห่งชาติใหม่ ทำให้เกิดความสับสนในการเรียกขานติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่น จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตามหนังสือส่วนอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0712.3/47 ลงวันที่ 12 มกราคม 2537
ต่อมาปี 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี่ ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ และป่าห้วยงวงและป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่ตำบลขึ่ง ตำบลส้าน ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา ตำบลศีรษะเกษ ตำบลเชียงของ ตำบลสถาน อำเภอนาน้อย และตำบลบ่อแก้ว ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 25 ก ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 104 ของประเทศ
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24 องศาเซลเซียส
การเดินทาง
[แก้]จากตัวอำเภอเมืองน่าน ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ถึงอำเภอเวียงสา เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1026 ถึงอำเภอนาน้อย ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1083 (นาน้อย -ปางไฮ) อีกประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
แหล่งท่องเที่ยว
[แก้]- ดอยเสมอดาว
- ผาหัวสิงห์
- ผาชู้
- เสาดินนาน้อยและคอกเสือ
- แก่งหลวง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระราชกฤษฎีกา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-11-05.