ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว

พิกัด: 12°34′48″N 102°37′25″E / 12.58000°N 102.62361°E / 12.58000; 102.62361
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว
ตำแหน่งที่ตั้งอุทยานในประเทศไทย
ที่ตั้งอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด  ไทย
พิกัด12°34′48″N 102°37′25″E / 12.58000°N 102.62361°E / 12.58000; 102.62361
พื้นที่199.11 ตารางกิโลเมตร (124,443.23 ไร่)[1]
จัดตั้ง26 ธันวาคม 2552
ผู้เยี่ยมชม22,233 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบอน ตำบลช้างทูน ตำบลบ่อพลอย ตำบลนนทรีย์ และตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ก่อนได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานมีฐานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสมิง (ป่าคลองใหญ่และป่าเขาไฟไหม้) โดยได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2543 และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด

ประวัติการจัดตั้ง

[แก้]

กรมป่าไม้ได้รับหนังสือจากสำนักงานป่าไม้จังหวัดตราด แจ้งว่า ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ ประจำอำเภอเขาสมิง ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันที่ 15 กันยายนพ.ศ. 2538 มีมติเห็นสมควรกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณป่าเขาชะอม เขาคลองปุก และเขามะปริง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสมิง (ป่าคลองใหญ่-เขาไฟไหม้) อันเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อยู่ในท้องที่อำเภอเขาสมิงและอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นวนอุทยานหรืออุทยานแห่งชาติ เนื่องจากสภาพป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุม กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 55/2540 ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2540 ให้นายประยูร พงศ์พันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นมีความเห็นว่า พื้นที่บริเวณป่าเขาชะอม เขาคลองปุก เขามะปริง เขาแก้ว เขาตาบาด เขาตาโชติ และเขากำแพง สมควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว

กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1746/2540 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ให้นายประยูร พงศ์พันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ไปทำหน้าที่หัวหน้าควบคุมพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จังหวัดตราด และต่อมาคณะทำงานเพื่อพิจารณาก่อนนำเรื่องเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีความเห็นให้สำรวจพื้นที่บริเวณป่าบริเวณเขาปอใหม่ เขาบึงพะวาดำ เขาเอ็ด เขาคลองวังโพธิ์ เขาคลองปูน เพิ่มเติม และต่อมานายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว ได้นำเสนอรายละเอียดการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพื้นที่ที่จะจัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสมิง (ป่าคลองใหญ่-เขาไฟไหม้) เนื้อที่ประมาณ 123,700 ไร่ หรือ 197.92 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่ตำบลหนองบอน ตำบลช้างทูน ตำบลบ่อพลอย ตำบลนนทรีย์ และตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ประจำจังหวัดตราด ครั้งที่ 4/2543 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว และได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2543 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2543 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้

ภูมิประเทศ

[แก้]

พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้วส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนไม่มากนักของทิวเขาบรรทัด ประกอบด้วยเขาแก้ว เขาตาบาด เขาตาโชติ และเขากำแพง ส่วนยอดเขาเป็นแนวแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-836 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาบาด ซึ่งมีความสูงถึง 836 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพภูมิประเทศเช่นนี้ก่อให้เกิดสายน้ำหลายสาย เช่น คลองลึก คลองแอ่งปุก คลองแก้ว คลองตาบาด คลองหินเพลิง คลองลือ คลองกะใจ คลองมะละกอ ฯลฯ สายน้ำแต่ละสายจะไหลลงสู่คลองสะตอแล้วออกสู่ทะเลอ่าวไทย

ภูมิอากาศ

[แก้]

พื้นที่บริเวณแถบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแบบมรสุมเขตร้อน ประกอบกับพื้นที่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี โดยแบ่งเป็นฤดูกาลได้ดังนี้

พืชพรรณและสัตว์ป่า

[แก้]

สภาพสังคมพืชโดยทั่วไปของพื้นที่ เป็นสังคมพืชประเภทป่าดงดิบชื้นที่มีความชุ่มชื้นสูง ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธาร สภาพป่าจึงมีลักษณะเป็นป่าที่รกทึบ ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ตั้งแต่ไม้พื้นล่างที่มีขนาดเล็กจนถึงไม้ที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความสูงตั้งแต่ 25-60 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง พนอง กระบาก ตะเคียน สำรอง ชุมแพรก ตาเสือ ตะแบก ฯลฯ ส่วนไม้พุ่มและพืชพื้นล่างที่พบเห็นมาก เช่น พืชตระกูลขิงข่า หวาย ระกำ หมากชนิดต่างๆ ไผ่ เต่าร้าง ชก ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบ "เหลืองจันทบูร" ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่มีสวยงาม ค่อนข้างหายาก สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณอุทยานแห่งชาติ

เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากตามธรรมชาติ จึงทำให้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ซึ่งจะพบเห็นได้ตามแหล่งน้ำต่างๆ และในพื้นที่แห่งนี้จะพบทากอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้รู้ว่ามีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจเท่าที่พบและได้สอบถามจากราษฎร ในพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่ กวาง เสือ เก้ง หมูป่า หมี กระจง ชะนี ลิง ค่าง กระรอก ชะมดหรืออีเห็น ไก่ฟ้าชนิดต่าง ๆ ไก่ป่า นกกางเขนดง นกขุนทอง เหยี่ยว ปรอด กระราง นกเงือก นกโพระดก งูชนิดต่าง ๆ กิ้งก่ายักษ์หรือลั้ง ตุ๊กแกป่าตะวันออก ตุ๊กแกบิน กิ้งก่าบิน ตะกวด เต่า กบภูเขา เขียด คางคก ปาด และปูหิน ฯลฯ นอกจากนี้บริเวณลำธารและคลองต่างๆ ยังพบ ปลาพลวงหิน ปลาแขยงหิน ปลาสร้อยขาว ปลาเขยา ปลาก้าง หรือ ปลากั้ง ปลาหมู ฯลฯ

สถานทีท่องเที่ยว

[แก้]
  • น้ำตกคลองแก้ว ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มี 7 ชั้น สวยงามและบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ ลำธารน้ำใสเย็น จนสามารถมองเห็นฝูงปลาที่อยู่เบื้องล่างได้ชัดเจน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักนิยมธรรมชาติ ชั้นที่มีความสูงใหญ่คือชั้นที่ 4 ซึ่งสายน้ำจะไหลทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 25 เมตร จากน้ำตกชั้นที่ 4 มีทางเดินขึ้นสู่ลานหินขนาดใหญ่ เรียกว่า “ลานหินเท” เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวอำเภอบ่อไร่ได้ชัดเจน
  • น้ำตกคลองไทย ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 20 เมตร มีน้ำใสไหลตลอดปี มีความงดงามตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติ เดินป่าเพื่อหาความท้าทาย และความรื่นรมย์ สภาพป่าที่เป็นป่าดิบชื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ในระหว่างการเดินทางท่านจะได้เห็นร่องรอยการทำเหมืองพลอย ตามทางเดินไปสู่น้ำตกคลองไทย
  • น้ำตกลานหินดาษ ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 3 ชั้น มีความสวยงามตามธรรมชาติ เป็นที่น่าพักผ่อนหย่อนใจและน่าชมอีกแห่งหนึ่ง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติที่ชอบพักแรมกางเต็นท์ มีห้องน้ำห้องสุขาไว้รองรับนักท่องเที่ยว
  • น้ำตกสีระมัน ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก มีการสไลด์ตัวลงมายาวประมาณ 100 เมตร
  • น้ำตกหมื่นตี ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นน้ำตกขนาดกลางที่น่าพักผ่อนหย่อนใจ ที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง
  • น้ำตกหินขีด เป็นน้ำตกขนาดกลางมี 3 ชั้น เป็นน้ำตกอีกแห่งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว ทีมีความสนใจไม่ว่าจะเป็นการเดินป่าทั้งด้านพรรณไม้ สัตว์ป่า จะเห็นได้จากในช่วงฤดูฝน ความหลากหลายของพรรณไม้นานาชนิดและมีทากเป็นจำนวนมาก ระยะทางไม่ไกลนัก มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

การเดินทาง

[แก้]

การเดินทางเข้าสู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ จากจังหวัดตราดตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ไปทางอำเภอขลุง ประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงอำเภอเขาสมิง เลี้ยวขวาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3159 ประมาณ 27 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3157 ถึงกองร้อย ตชด. ที่ 116 และเลี้ยวขวาตามเส้นทางอีก ประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว

อ้างอิง

[แก้]
  1. ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]