ข้ามไปเนื้อหา

เหลืองจันทบูร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหลืองจันทบูร
เหลืองจันทบูร
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Asparagales
วงศ์: Orchidaceae
วงศ์ย่อย: Epidendroideae
สกุล: Dendrobium
สปีชีส์: D.  friedericksianum
ชื่อทวินาม
Dendrobium friedericksianum
Rchb. f.

เหลืองจันทบูร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrobium friedericksianum) เป็นกล้วยไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ชนิดหนึ่ง ออกดอกในช่วง เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ดอกเหลืองจันทบูรเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี แหล่งกำเนิดอยู่ที่เขาคิชฌกูฏและเขาสอยดาว ลำลูกกล้วยยาว ต้นแก่เป็นสีเหลือง โดยออกดอกตามข้อ มีสองพันธุ์คือพันธุ์ที่ดอกเหลืองล้วน เมื่อแก่สีเข้มเหมือนสีจำปา กับพันธุ์ที่มีแต้มสีม่วงแด[1]

เหลืองจันทบูร กล้วยไม้งามคู่เมืองจันท์[แก้]

เหลืองจันทบูร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย พบในป่าดิบที่โล่งแจ้ง แสงแดดจัดถึงร่มรำไร บริเวณแถบภาคตะวันออกของไทยตั้งแต่ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด จนถึงป่าแถบชายแดนกัมพูชา บ้างพบในป่าแถบปราจีนบุรีและนครราชสีมาเช่นกัน ออกดอกปีละครั้งระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยออกดอกเป็นช่อทั้งต้น ดอกบานทนนาน กลีบดอกสีเหลืองสดเป็นมัน อาจมีแต้มสีแดงภายใน คอขนาดต่างๆ กัน หรือเป็นเพียงขีดสีแดง หรือไม่มีแต้มเลย ชนิดที่มีแต้มมักเรียกว่าเหลืองขมิ้นหรือเหลืองนกขมิ้น

ประวัติความเป็นมาของกล้วยไม้เหลืองจันทบูร พบว่ามีบันทึกของหญิงลักษณาเลิศได้กล่าวถึงกล้วยไม้นี้ว่าพบอยู่ในเขตมณฑลจันทบูร เช่น เขาสระบาป และได้ทราบจากนายซเรอเบเล็นว่านายฟรีดริคส์ ซึ่งทำงานอยู่ห้าง บีกริมม์ได้นำไปยุโรปให้ศาสตราจารย์ไรค์เชนปาคจัดลำดับทางอนุกรมวิธาน โดยได้จัดให้กล้วยไม้สายพันธุ์เหลืองจันทบูรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium friedericksianum Rchb.f. เป็นกล้วยไม้สกุล Dendrobium วงศ์ Epidendroideae และกล้วยไม้สายพันธุ์เหลืองจันทบูรชนิดมีแต้มมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium friedericksianum Rchb.f. var. oculatum. กล้วยไม้นี้มีชื่อไทยว่าเอื้องเหลืองจันทบูร แต่ชื่อท้องถิ่นที่ชาวจันทบุรีนิยมเรียกคือ เหลืองจันทบูร หรือ เอื้องนกขมิ้น

กล้วยไม้เหลืองจันทบูรเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นที่พบในประเทศไทย มีสถานภาพเป็นพืชอนุรักษ์ภายใต้การควบคุมของกฎหมายไทยตามบัญชี 2 ของอนุสัญญา CITES เป็นกล้วยไม้ถูกรุกราน และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์จากป่าในธรรมชาติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ซึ่งเดิมเคยเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมจันทบุรี เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองนี้ ได้มีการจัดทำห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้เหลืองจันทบูรตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา กรอปกับได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพื่ออนุรักษ์กล้วยไม้นี้ให้เป็นกล้วยไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึกภายใต้งาน “รักษ์เหลืองจันท์วันดอกไม้บาน” ขึ้นทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ปัจจุบันใช้ชื่องานว่า “ราชมงคล รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน” นอกจากจะมีการจัดแสดงและการประกวดกล้วยไม้เหลืองจันทบูร และกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆ แล้ว ยังมีการออกร้านและจัดแสดงสินค้าการเกษตร และการเผยแพร่ผลงานวิชาการของนักศึกษาด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “คืนเหลืองจันทบูรสู่ป่า” โดยจัดร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ ชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศจันทบูร เทศบาลพลวง และประชาชนที่สนใจเป็นประจำทุกวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเช่นกัน[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. สกุลรัตน์ แสนปุตตะวงศ์ และสมปอง เตชะโต. 2550. ผลของสารควบคุมการเจริญเติบโต น้ำตาล และผงวุ้นต่อการสร้างโพรโทคอร์มของกล้วยไม้เหลืองจันทบูร. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 29, 647 - 654
  2. สาโรจน์ ประเสริฐศิริวัฒน์. เหลืองจันทบูร. จันทบุรี : ห้างหุ้นส่วนจำกัด โปร ออฟเซท, 2549.