ข้ามไปเนื้อหา

เงินยาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาณาจักรเชียงแสน)
หิรัญญนครเงินยางเชียงเเสน

ᩉᩥᩁᩢᨬ᩠ᨬᨶᨣᩬᩁᨦᩮᩥ᩠ᨶᨿᩣ᩠ᨦᨩ᩠ᨿᨦᩈᩯ᩠ᨶ
พ.ศ. 1181–พ.ศ. 1805
เมืองหลวงหิรัญ (จนถึง พ.ศ. 1393)
เงินยาง (ตั้งแต่ พ.ศ. 1393)
ภาษาทั่วไปภาษาไทยถิ่นเหนือ
ศาสนา
พุทธเถรวาท
การปกครองราชาธิปไตย
เจ้าผู้ครอง 
• พ.ศ. 1181–?
ลาวจักกราช (พญาลวจักกราช)
• พ.ศ. 1666–1709
พญาเจือง
• พ.ศ. 1802–1805
พญามังราย
ยุคประวัติศาสตร์ยุคกลาง
• ก่อตั้ง
พ.ศ. 1181
พ.ศ. 1805
ก่อนหน้า
ถัดไป
เวียงปรึกษา
อาณาจักรล้านนา
วัดพระธาตุดอยปูเข้า ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นโดยกษัตริย์แห่งนครเงินยาง

หิรัญนครเงินยาง หรือ ชยวรนคร เมืองเชียงแสน[1] หรือ หิรัญญนครเงินยางเชียงแสน[2] หรือ นครยางคปุระ[3] หรือเมืองท่าทรายเงินยาง[4] (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอาณาจักรแห่งหนึ่งของชาวไทยวนในบริเวณที่เป็นจังหวัดเชียงรายของประเทศไทยและแขวงบ่อแก้วของประเทศลาวปัจจุบัน

เหตุการณ์

[แก้]

หลังจากการล่มสลายของโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ลาวจังราช หรือ ลาวจง (ซึ่งตามตำนานว่าเกิดโดยโอปปาติกใต้ต้นพุทรา หรือบางตำนานว่าไต่บันไดเงินและทองคำลงมาบริเวณดอยตุง) ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ เรียกราชวงศ์ใหม่นี้ว่าราชวงศ์ลาว เนื่องจากกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์นี้ใช้ ลาว นำหน้าพระนาม

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ พญามังรายขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 25 ของหิรัญนครเงินยางเชียงลาวในปี พ.ศ. 1805 พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริจะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น เมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้สร้างเมืองเชียงรายและประทับที่นั่นเป็นราชธานีแห่งใหม่ ถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ลาวแห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว และเริ่มต้นราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

ที่ตั้งเมืองเงินยาง

[แก้]

ปัจจุบันมักเชื่อกันว่าเมืองเงินยางคือเมืองเดียวกันกับเมืองเชียงแสน ซึ่งปรากฏในพื้นเมืองเชียงแสน ความว่า

กาลนั้น พระญาเจ้าท่านก็พร้อมกับด้วยเสนาอามาตย์ทังหลาย ส้างขุดฅือกว้าง ๗ ร้อยวา ยาว ๑๑๐๐ วา ยาวไปตามแม่น้ำนั้น ก่อเมกปราการกวมแท่นเงินและต้นไม้หมากขระทันที่ท่านเอาโอปปาติกะชาตินั้นแล้ว ก็เรียกชื่อว่า เวียงเหรัญนครเงินยางเชียงแสน ว่าอั้นแล เหตุเอานิมิตเงื่อนเกินเงินนั้นตั้งแล ที่ต้นไม้หมากขระทันนั้น ท่านก็ก่อสร้างหื้อเปนมหาธาตุแลวิหารทังมวลแล้ว ก็เรียกชื่อว่า อารามสังกาแก้วดอนทันนั้นแล ไนยะนึ่งเรียกว่า วัดสังกาแก้วยางเงินก็เรียกแล เหรัญญบัลลังก์แท่นเงินนั้น พระญาเจ้าท่านก็มล้างเอาสละสร้างแลทาน เดือน ๖ ออก ๕ ฅ่ำ วัน 2 ยามเที่ยง พระญาเจ้าค็สระเด็จเข้าอยู่ในราชโรงหลวงที่นั้นแล นามวิเสสก็ปรากฏชื่อว่า พระญาลาวะจังกราช ว่าอั้นแล

— พื้นเมืองเชียงแสน[5]

อย่างไรก็ตาม พื้นเมืองเชียงแสน (ถูกแปลเป็นไทยชื่อพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนและตำนานสิงหนวติ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61) เป็นเอกสารฉบับเดียวที่ให้ภาพว่าเมืองเงินยางกับเมืองเชียงแสนคือเมืองเดียวกัน ในขณะที่เอกสารอื่น ๆ ระบุที่ตั้งของเมืองเงินยางต่างไป พื้นเมืองน่าน ระบุว่าเมืองอยู่บริเวณท่าทราย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าเมืองเงินยางตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาย และกล่าวถึงอีกครั้งในตอนที่พญามังรายคิดจะตั้งเมืองเชียงราย โดยคำนึงถึงเมื่อครั้งลาวจงสร้างเมืองบริเวณเชิงดอยผาเลา และลาวเคียงสร้าง (ปรับปรุง) เมืองเงินยางบริเวณเชิงดอยทุง (ดอยตุง) ดอยท่า ดอยย่าเถ้า ความว่า

ลวจังกรเทวบุตรค็รับเอาคำพระญาอินทาว่า สาธุ ดีดีแล ว่าอั้น แล้วค็จุตติแต่ชั้นฟ้าลงมากับปริวารแห่งตนพันนึ่ง ก่ายเกินเงินทิพแต่ชั้นฟ้า นัยยะ ๑ ว่าก่ายแต่ปลายดอยทุงลงมาเอาปฏิสันธิ โอปปาติกา โสฬสวสฺสุทฺเทสิโก ราชกุมาโร วิย เกิดมาเปนปุริสสามญะ เปนดั่งราชกุมารอันได้ ๑๖ ขวบเข้า ทรงวัตถาภรณะเครื่องง้าอลังการนั่งอยู่เหนืออาสสนาใต้ร่มไม้พทระ คือว่าไม้ทันควรสนุกใจ มีที่ใกล้น้ำแม่สายในเมืองชยวรนคอร คือว่าเมืองเชียงลาว

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่[6]

อยู่บ่นานเท่าใด ช้างมังคละเจ้ามังรายปล่อยไพหัวดอยหนวันออก เจ้าไพตามรอยช้าง หันประเทสที่ ๑ ข้างริมน้ำแม่กก มีม่อนดอยสูงสะเกิงงามนัก ท้าวจิ่งคระนิงใจว่า เมื่อปู่คูเจ้าลาวจงส้างบ้านหื้อปู่คูเจ้าลาวเกล้าอยู่ ได้ยินว่าเพิกตีนดอยผาเลาวันนั้น เมื่อปู่คูเจ้าลาวเครียงส้างเมืองเงินยางค็จิ่มตีนดอยทังสาม คือ ดอยทุง ดอยท่า ดอยย่าเถ้าวันนั้นดีหลี เหตุดั่งนั้น ควรคูกะทำม่อนดอยหื้อเปนสะดือเมือง คือท่ำกลางเมือง ควรชะแล

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่[7]

ยังมีเทวบุตต์ตน ๑ เลงหันยังเมืองเชียงลาวที่นั้น เปนที่ตั้งแห่งมหากระสัตราพายหน้า จิ่งก่ายเกินเงินทิพพ์แต่ชั้นฟ้าลงมา ไนยะ ๑ ว่าปลายดอยท่าดอยทุง ลงมาเอาปฏิสนธิในร่มไม้พัทธรต้น ๑ คือว่าไม้ทัน เปนโอปปาติกะกับบริวารพัน ๑ ฅนทังหลายหันเกินเงินอันนั้น เปนอาจาริยะนัก จิ่งเรียกกันมาดู เกินอันนั้นก็ปุดขึ้นเมืออากาศพายบน ฅนทังหลายผ่อดูเกินเงินอันนั้นยัง จิ่งร้องว่า เงินยัง ว่าอั้น เมืองเชียงลาวที่นั้นลวดได้ชื่อว่า เมืองเงินยัง เพื่ออั้นแล ไนยะ ๑ ว่าไม้พัทธรต้นนั้นใหญ่สูงนัก มีต้นอันขาวเปนดั่งเงินนั้น ตั้งอยู่ (กลางต้น) ยางอัน ๑ ฅนทังหลายจิ่งเรียกว่า เงินยาง เพื่ออั้นแล

— พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน[8]

ตำนานเมืองพะเยาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรัชสมัยลาวเคียง ได้มีการปรับปรุงขยายแนวคูเมืองใหม่ ใกล้กับแม่น้ำละว้า ขนานนามเมืองใหม่ว่ายางสาย แล้วเปลี่ยนชื่อแม่น้ำละว้าเป็นแม่สาย แสดงให้เห็นว่าสถานที่ตั้งของเมืองเงินยางควรอยู่ติดน้ำแม่สายเชิงดอยตุง ไม่ใช่เมืองเชียงแสนดังที่เชื่อถือกันในปัจจุบัน ซึ่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพญาแสนพูสร้างเมืองเชียงแสนทับเวียงรอย

ส่วนว่าท้าวลาวเฅียงจิ่งร่ำเพิงว่า บ้านเมืองอันใดหารั้วเวียงแก่นบ่ได้ดังอั้น บ่สมเป็นราชะธาณีเมืองใหญ่แล ข้าเสิกมาหาที่เพิ่งบ่ได้แล หางทุงปู่หม่อนกูตกไหนควรกูสร้างเวียงที่นั้นเทิอะ ว่าอั้น แล้วท้าวค็ไพพิจารณาดูที่อันจักสร้างเวียงนั้น แล้วท้าวค็หื้อตัดเอาหัวยางอัน ๑ ไปเกี้ยวเอาถ้ำอัน ๑ แล้วเขิงเมือรอดแม่น้ำอัน ๑ ชื่อว่าแม่ละว้า ข้างวันออก เอาตีนนาเปนแดน คันเขิงแล้วค็หื้อฅัวพื้นหื้อราบเพียงเรียงงาม ที่สูงค็หื้อค้ำ ที่ต่ำค็หื้อยอ ที่ต่อค็หื้อสิม ที่หิ้นค็หื้อเพิกเสีย ซ้ำที่น้ำค็หื้อก่ายขัวข้าม แล้วนิมนเจ้าภิกขุสังฆะไปสูดถอนที่จักตั้งฅุ้มน้อยแห่ง ๑ ท่ำกลางเวียงแห่ง ๑... ...เพื่อหื้อเปนมังคละสรีเตชะอนุภาวะสืบสายท้าวพระญาไพพายหน้าชั่วลูกหลานเหลนดีหลี เหตุดังอั้นเวียงอันนั้นได้ชื่อว่ายางสาย ถ้ำอันนั้นได้ชื่อว่าถ้ำเกี้ยว น้ำแม่ละว้าได้ชื่อว่าแม่สาย มาต่อบัดนี้แล

— ตำนานเมืองพะเยา[9]

สอดคล้องกับการวิจัยสำรวจพื้นที่ “เวียงพางคำ” ของ วรสิทธิ์ โอภาพ ที่พบว่าเวียงพางคำ ซึ่งเป็นเมืองโบราณในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตัวเมืองมีแนวคันดินแบ่งเป็น 2 เมือง โดยมีเมืองอยู่แล้ว แนวคันดินเพิ่งสร้างทีหลังเพื่อขยายเขตตัวเมือง และตั้งอยู่บริเวณดอยเวา ดอยคา ดอยป่าเลา (ดอยผาเลา)[10] ซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับดอยตุง เวียงพางคำจึงควรเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองเงินยาง ไม่ควรเป็นเวียงสี่ตวงหรือเวียงพานคำของพระเจ้าพรหมตามที่เชื่อกันในปัจจุบัน[11]

รายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงลาว

[แก้]
ภาพเขียนแสดง "ลาวจักกราช" ในวัดมิ่งเมือง
  1. ลาวจักกราช (หรือชื่ออื่น ลาวจักกราช)
  2. ลาวเกล้าแก้วมาเมือง
  3. ลาวเสา
  4. ลาวตั้ง
  5. ลาวกม
  6. ลาวแหลว
  7. ลาวกับ
  8. ลาวกืน
  9. ลาวเครียง (ลาวเคียง) ขยายเมืองยางสาย
  10. ลาวกิน (ลาวคริว)
  11. ลาวทึง
  12. ลาวเทิง
  13. ลาวตน
  14. ลาวโฉม
  15. ลาวกวัก
  16. ลาวกวิน
  17. ลาวจง (คนละคนกับลาวจังกราชหรือลาวจง ต้นราชวงศ์ลาว)
  18. ลาวชื่น มีน้องชื่อ จอมผาเรืองหรือขุนจอมธรรม ซึ่งได้ไปสร้างเมืองพูกามยาว (พะเยา) และมีลูกชื่อพญาเจือง
  19. ลาวเจือง , พญาเจือง, ขุนเจือง , พญาเจืองหาญ หรือ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง (ທ້າວຮຸ່ງ ທ້າວເຈືອງ) เป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษในตำนานสองฝั่งโขง เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ตีได้ดินแดนมากมาย รบชนะแกว(เวียดนาม) พญาเจืองได้รับการราชาภิเษกจากพญาห้อลุ่มฟ้าเพาพิมาน ชาวไทลื้อ ชาวลาวเทิงล้านช้าง ชาวไทยวนล้านนา ต่างอ้างว่าพญาเจืองเป็นบรรพบุรุษของพวกตน มีวรรณกรรมกล่าวขานถึงมากมาย เช่น มหากาพย์โคลงท้าวฮุ่งท้าวเจือง มีความยาวกว่าเกือบ 5,000 บท
  20. ลาวเงินเรือง
  21. ลาวชื่น
  22. ลาวมิ่ง
  23. ลาวเมิง
  24. ลาวเมง
  25. พญามังราย สิ้นสุดราชวงศ์ลวจักกราช สถาปนาอาณาจักรล้านนา เริ่ม ราชวงศ์มังราย

(หมายเหตุ รายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์ลาว รวมทั้งหมด 25 พระองค์ อ้างอิงจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เป็นหลัก)[12]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
  2. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  3. พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1 : กรมศิลปากร, 2501.
  4. สรัสวดี อ๋องสกุล.(2539).พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด.
  5. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  6. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
  7. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
  8. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  9. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี (ปริวรรต). ตำนานเมืองพะเยา. เชียงใหม่ : นครพิงค์, 2554.
  10. วรสิทธิ์ โอภาพ. การสืบค้นประวัติศาสตร์โบราณสถาน "คันดิน-คูเมืองเวียงพางคำ" อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, 2548.
  11. อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.
  12. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3

บรรณานุกรม

[แก้]