ข้ามไปเนื้อหา

สะพานทศมราชัน

พิกัด: 13°40′55″N 100°31′05″E / 13.68201°N 100.51798°E / 13.68201; 100.51798
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานทศมราชัน
สะพานทศมราชันมุมมองจากฝั่งธนบุรี โดยมีสะพานพระราม 9 ขนานอยู่ติดกัน ขณะก่อสร้างเมื่อเมษายน 2566
พิกัด13°40′55″N 100°31′05″E / 13.68201°N 100.51798°E / 13.68201; 100.51798
เส้นทางทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ตั้งแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา
แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ
กรุงเทพมหานคร
ชื่อทางการสะพานทศมราชัน
ชื่ออื่นสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9
ตั้งชื่อตามพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ดูแลการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
เหนือน้ำสะพานพระราม 9
ท้ายน้ำสะพานภูมิพล 1
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานขึง
วัสดุเหล็กและคอนกรีต
ความยาว450 เมตร (1,480 ฟุต)
ความกว้าง42 เมตร (138 ฟุต)
ความสูง87 เมตร (285 ฟุต)
ช่วงยาวที่สุด781.20 เมตร (2,563.0 ฟุต)
จำนวนตอม่อ4
เคลียร์ตอนล่าง41 เมตร (135 ฟุต)
ประวัติ
ผู้ออกแบบบริษัท เอพซิลอน จำกัด
ผู้สร้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
วันเริ่มสร้าง16 มกราคม พ.ศ. 2563; 5 ปีก่อน (2563-01-16)
วันสร้างเสร็จ30 มีนาคม พ.ศ. 2566; 21 เดือนก่อน (2566-03-30)
งบก่อสร้าง6,636,192,131.80 บาท
วันเปิด14 ธันวาคม พ.ศ. 2567; 43 วันก่อน (2567-12-14)
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานทศมราชัน (อังกฤษ: Thotsamarachan Bridge; ชื่อเดิม: สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9) เป็นสะพานถนนประเภทสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางของทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นสะพานขึงเสาคู่แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่คู่ขนานทางด้านท้ายน้ำของสะพานพระราม 9 มีขนาด 8 ช่องจราจร ความกว้างประมาณ 42 เมตร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อใช้งานทดแทนสะพานพระราม 9 ที่จะปิดปรับปรุงภายหลังเปิดทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ และกระทรวงคมนาคมยังกำหนดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 และพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 แต่มีกำหนดเริ่มเปิดการจราจรในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2568 คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้อย่างมากวันละ 150,000 คัน

ลักษณะของสะพาน

[แก้]

ลักษณะโดยรวม

[แก้]

สะพานแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัท เอพซิลอน จำกัด เป็นสะพานประเภทสะพานขึงเสาคู่ (Double-Pylon Cable-Stayed Bridge) แห่งแรกของประเทศไทย ตามแนวคู่ขนานทางด้านท้ายน้ำของสะพานพระราม 9 มีขนาด 8 ช่องจราจร (แบ่งเป็นขาเข้าเมืองและขาออกเมืองฝั่งละ 4 ช่องจราจร) และมีความกว้างวัดจากขอบสะพานทั้ง 2 ฝั่งได้ประมาณ 42 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ตัวสะพานจะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น เพื่อลดการชะลอตัวสะสมในช่วงขาขึ้นสะพาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับสะพานพระราม 9 โดยท้องสะพานมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ 41 เมตร และเสาขึงมีความสูง 87 เมตร เท่ากับสะพานพระราม 9 เดิม[1]

ส่วนความยาวของสะพาน ช่วงกลางสะพานมีความยาว 450 เมตร และตัวสะพานมีความยาว 781.20 เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครโดยตรง รวมระยะทางทั้งโครงการจำนวน 2 กิโลเมตร โดยมีการออกแบบตัวสะพานให้สอดคล้องและไม่โดดเด่นกว่าสะพานพระราม 9 เดิม[2]

นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังจำลองสะพานเต็มรูปแบบเพื่อทดสอบความแข็งแรงของสะพานเมื่อถูกกระทำโดยแรงลม ซึ่งผลพบว่า สามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานแห่งนี้จึงมีความมั่นคงและแข็งแรงอย่างมากในการรองรับแผ่นดินไหวหรือพายุ[3]

การเฉลิมพระเกียรติ

[แก้]

กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาแล้วกำหนดให้สะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทั้งหมด 2 โอกาส คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ผู้ออกแบบจึงมีการออกแบบสะพานให้สื่อถึงพระองค์ในหลายส่วน ดังนี้

  • ส่วนยอดของเสาสะพาน เปรียบเสมือนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ประทานให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ด้วยทรงมีพระดำริว่า เพื่อให้ผู้ขับรถใช้ถนนผ่านสะพานแห่งนี้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย[4] โดยมีพิธีประดิษฐานบนยอดเสาฝั่งพระนครเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[5]
  • ตราพระปรมาภิไธยย่อ วปร. บนคานสะพานจำนวน 4 ตำแหน่ง ซึ่งต่อมาได้ปรับเล็กน้อย โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบมาประดับสะพานแทน แบ่งเป็นประดับบนคานสะพาน 4 ตำแหน่ง และบนป้ายชื่อสะพานอีก 2 ตำแหน่ง ซึ่งดำเนินการเมื่อวันที่ 7–24 ตุลาคม พ.ศ. 2567[6]
  • สายเคเบิลสีเหลือง สีประจำวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพของพระองค์
  • ประติมากรรมพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมะโรง นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพของพระองค์ คือ พ.ศ. 2495
  • เสาขึงรั้วกันกระโดด สื่อถึงต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์ เป็นต้น[7]

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อสะพานนี้ว่า "ทศมราชัน" หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 และจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานด้วยพระองค์เอง ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ให้ตรงกับพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ[8] แต่ต่อมาได้เลื่อนออกไปตามสถานการณ์การก่อสร้างสะพาน ก่อนจะมีหมายกำหนดการออกมาในเวลาต่อมาว่าจะเสด็จมาทรงเปิดสะพานในวันที่ 14 ธันวาคม[9]

สีไฟประดับสะพาน

[แก้]

ภายหลังการก่อสร้างสะพานในด้านโครงสร้างและสถาปัตยกรรมได้เสร็จสิ้นลงตามสัญญาจ้างก่อสร้างหลักแล้ว ยังได้มีการประดับไฟเพื่อเพิ่มสีสันให้แก่สะพานอีกด้วย โดยสามารถเปลี่ยนสีไฟไปตามเทศกาลต่าง ๆ ได้ โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

ไฟประดับสะพานนี้เปิดให้ประชาชนได้ชมในเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ เริ่มจากวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการเปิดไฟสีฟ้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[11]

ประวัติ

[แก้]

การก่อสร้าง

[แก้]
สะพานทศมราชัน มุมมองจากระยะทางไกล ช่วงระหว่างการก่อสร้าง

สะพานทศมราชัน รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)[12] โดยมีการลงนามในสัญญารับเหมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562[13] และเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 ใช้เวลาการก่อสร้าง 1,170 วัน (ประมาณ 39 เดือน) ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 6,636,192,131.80 บาท[14] โดยเริ่มลงเสาเข็มเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปีเดียวกัน[12] จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้ทำพิธีเทคอนกรีตจุดสุดท้ายเชื่อมต่อสะพานอย่างเป็นทางการ (Final Casting Ceremony) โดยศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี ทำให้โครงสร้างของสะพานขึงเชื่อมกัน 100% จากนั้นได้ทำการลาดยาง ตีเส้นผิวการจราจร เก็บรายละเอียดโครงสร้างเล็กน้อย รวมถึงการตกแต่งสถาปัตยกรรมเบื้องต้น เช่น การติดตั้งประติมากรรมพญานาค[15] จนแล้วเสร็จตามสัญญาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม[16] จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบระบบสะพานส่วนต่าง ๆ[17] รวมถึงระบบไฟประดับสะพาน[18]

อย่างไรก็ตาม สะพานแห่งนี้ยังขาดทางขึ้น-ลงทางฝั่งธนบุรี ซึ่งการก่อสร้างอยู่นอกเหนือจากสัญญาการก่อสร้างสะพาน และติดปัญหาการรื้อย้ายแนวท่อประปา และระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นจุดจ่ายไฟฟ้าหล่อเลี้ยงให้กับพื้นที่ย่านใจกลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร คือช่วงถนนสาทรถึงถนนสีลม ประกอบกับมีพื้นที่ทำงานที่จำกัด ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงาน ทำให้การก่อสร้างทางขึ้น-ลงสะพานล่าช้า[19] จึงยังไม่สามารถเปิดการจราจรบนสะพานได้ในทันที โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเปิดการจราจรบนสะพานในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567[17] ก่อนที่ต่อมาจะเลื่อนไปเป็นเดือนพฤษภาคม[20] เดือนกรกฎาคม เดือนตุลาคม[21] และเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ตามลำดับ[6]

พิธีเปิด

[แก้]

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17:25 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานทศมราชัน และทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของสะพาน[22] หลังจากนั้นมีมหกรรม "สุขเต็มสิบ" ประกอบด้วยมหกรรมเฉลิมฉลองบนสะพานในวันที่ 10–19 มกราคม พ.ศ. 2568[23] และมหกรรมการเดินวิ่งในวันที่ 26 มกราคม[24] ก่อนเปิดให้รถสัญจรเป็นส่วนแรกของทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ผ่านตัวสะพาน ไปจนถึงด่านสุขสวัสดิ์ โดยมีกำหนดในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2568[25] หลังจากนั้นเมื่อการก่อสร้างทางพิเศษตลอดสายเสร็จสิ้น จะเปิดทางพิเศษตลอดสายอย่างเต็มรูปแบบภายในปลายปีเดียวกัน ก่อนปิดปรับปรุงสะพานพระราม 9 ครั้งใหญ่ต่อไป[26]

กิจกรรม

[แก้]

Luck Lock Love รักล้นสะพาน

[แก้]

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเปิดสะพานทศมราชัน เพื่อจัดกิจกรรม "Luck Lock Love รักล้นสะพาน" ขึ้น ในระหว่างวันที่ 14–18 และ 23–25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เพื่อฉลองเทศกาลวันวาเลนไทน์ และเฉลิมฉลองครบรอบ 111 ปีของกระทรวงคมนาคม โดยมีกิจกรรมหลักคือการจดทะเบียนสมรสให้กับคู่รักที่ลงทะเบียนล่วงหน้าจำนวน 111 คู่ ตามจำนวนปีครบรอบของกระทรวงคมนาคม[27] ซึ่งในวันแรกที่มีการจัดกิจกรรม มีคู่รักมาจดทะเบียนสมรสบนสะพานจำนวน 45 คู่[28]

สุขเต็มสิบ

[แก้]

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดสะพานทศมราชัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้จัดงาน "สุขเต็มสิบ" เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ดังนี้[25]

  • ส่วนที่ 1 เป็นมหกรรมเฉลิมฉลอง โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมและถ่ายรูปสะพาน ถ่ายรูปคู่กับหมูเด้ง รวมถึงเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก และรับประทานอาหารเย็นบนสะพาน และการแสดงดนตรีของศิลปินต่าง ๆ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10–19 มกราคม พ.ศ. 2568 เวลา 16:00 – 22:00 น.[23] โดยมีผู้เข้าร่วมงานในส่วนนี้ทั้งหมด 201,072 คน
  • ส่วนที่ 2 เป็นมหกรรมการเดินวิ่ง ระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับกิจกรรม "วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ" ในคราวเปิดสะพานพระราม 9 โดยปรับชื่อกิจกรรมจากเดิมที่ใช้ชื่อว่า "วิ่งข้ามเวลา สู่อนาคต" และเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมที่จัดในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567[29] จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2568 เปิดสะพานตั้งแต่เวลา 03:00 น. และเริ่มปล่อยขบวนวิ่งในเวลา 05:00 น. โดยมีผู้เข้าร่วมงานในส่วนนี้มากกว่า 120,000 คน[24]

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]
  • วันที่เริ่มการก่อสร้าง : วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)
  • วันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ : วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023)
  • วันเปิดอย่างเป็นทางการ : วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024)
  • วันเปิดการจราจร : วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)
  • บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
  • ราคาค่าก่อสร้าง : 6,636,192,131.80 บาท
  • แบบของสะพาน : สะพานขึงเสาคู่
  • ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง : 41 เมตร (135 ฟุต)
  • ความยาวของสะพาน : 781.20 เมตร (2,563.0 ฟุต)
  • รวมความยาวทั้งหมด : 2 กิโลเมตร (1.2 ไมล์)
  • จำนวนช่องทางจราจร : 8 ช่องทางจราจร
  • ความกว้างสะพาน : 42 เมตร (138 ฟุต)

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 แห่งใหม่ 🌉 สะพานที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ความภาคภูมิใจของ กทพ. และประชาชนชาวไทย". การทางพิเศษแห่งประเทศไทย. 2022-05-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-19. สืบค้นเมื่อ 2023-02-19.
  1. "รายละเอียดเฉพาะของข้อเขียนคำบรรยาย บทนิทรรศการ เนื้อหาทางวิชาการของนิทรรศการ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๓" (PDF). การทางพิเศษแห่งประเทศไทย: 71–73. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-02-28. สืบค้นเมื่อ 2023-02-28.
  2. "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 และทางด่วนใหม่". CondoNewb. 2022-01-26. สืบค้นเมื่อ 2023-02-19.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "จุดเช็คอินใหม่ 'กรุงเทพมหานคร' สะพานขึงข้ามเจ้าพระยากว้างสุดในไทย". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-05-15. สืบค้นเมื่อ 2023-02-19.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุให้ กทพ. เพื่อนำไปประดิษฐานยังยอดเสาสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9". การทางพิเศษแห่งประเทศไทย. 2023-07-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-23. สืบค้นเมื่อ 2023-07-19.
  5. "อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานบนยอดเสา "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9"". เดลินิวส์. 2023-07-29. สืบค้นเมื่อ 2023-07-29.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 "ติดตั้งป้ายชื่อสะพาน "ทศมราชัน" พร้อมตราสัญลักษณ์ฯ บนยอดเสาสะพานแล้ว เตรียมเปิดบริการ ธ.ค.นี้". เดลินิวส์. 24 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "โครงการทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่4". ยูทูบ. 2022-05-11. สืบค้นเมื่อ 2023-02-19.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "ปลื้มปีติ! พระราชทานชื่อ "ทศมราชัน" สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ข้ามเจ้าพระยา". เดลินิวส์. 30 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "ปลื้มปีติ "ในหลวง" เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "สะพานทศมราชัน" 14 ธ.ค.นี้". เดลินิวส์. 27 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ช.การช่าง เปิดความหมายไฟประดับ หลังสะพานขึงคู่ขนานข้ามเจ้าพระยาจบ 100%". โพสต์ทูเดย์. 2023-05-09. สืบค้นเมื่อ 2023-05-30.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. ""ช.การช่าง" โชว์ความสวยงาม ประดับไฟ "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9"". เดลินิวส์. 2023-08-02. สืบค้นเมื่อ 2023-08-12.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 "เริ่มแล้ว! กทพ.เตรียมตอกเข็ม "ด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง" ผุดสะพานขึงตัวใหม่". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-03-10. สืบค้นเมื่อ 2023-02-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "CK เซ็นงานก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกทม. สัญญาที่ 4 กทพ. มูลค่า 6.6 พันลบ". ทันหุ้น. 2019-12-06. สืบค้นเมื่อ 2023-04-01.
  14. "กทพ. ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 และลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)". การทางพิเศษแห่งประเทศไทย. 2021-10-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-09. สืบค้นเมื่อ 2023-03-09.
  15. "ติดตั้งพญานาค #สะพานคู่ขนานสะพานพระราม9 #ทางพิเศษเฉลิมมหานคร #พระราม9 #mywaythailand". ติ๊กต็อก My Way Thailand. 2023-03-22. สืบค้นเมื่อ 2023-03-23.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "คลิปพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม ๙". เฟซบุ๊ก. 2023-02-22. สืบค้นเมื่อ 2023-03-09.
  17. 17.0 17.1 "ก.พ.นี้ "ศักดิ์สยาม" เทคอนกรีตเชื่อม "สะพานขึงคู่ขนานสะพานพระราม 9"". เดลินิวส์. 2023-02-02. สืบค้นเมื่อ 2023-02-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "ส่องไฟประดับ "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม9" ระยิบระยับวันสำคัญ-เทศกาล". เดลินิวส์. 2023-05-02. สืบค้นเมื่อ 2023-05-29.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. "คู่ขนานพระราม 9 ใกล้เสร็จ (มีรูป) รอ "ศักดิ์สยาม" เทปูนเชื่อม-เลื่อนเปิดเป็นต้นปี 67". ไทยรัฐ. 2023-02-13. สืบค้นเมื่อ 2023-02-22.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "กทพ. เลื่อนเปิด "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9" มี.ค. เป็น พ.ค.ปีหน้า". เดลินิวส์. 2023-10-08. สืบค้นเมื่อ 2023-11-18.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "ปรับแผน "สะพานทศมราชัน" เปิดปลายปีนี้ ทางขึ้น-ลงสุขสวัสดิ์ใกล้แล้วเสร็จ". เดลินิวส์. 22 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2024.
  22. "ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิด "สะพานทศมราชัน" ทางพิเศษสายพระราม 3". ผู้จัดการออนไลน์. 14 ธันวาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. 23.0 23.1 "ฉลองเปิด "สะพานทศมราชัน" ชวนนักท่องเที่ยวชมวิวก่อนใช้งานจริง กับ 5 ไฮไลต์กิจกรรมมหกรรมสุขเต็มสิบ". ไทยรัฐ. 10 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. 24.0 24.1 "12,000 ชีวิต ร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งลอยฟ้า บนสะพานทศมราชัน". ประชาชาติธุรกิจ. 26 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. 25.0 25.1 "งานฉลองเปิดสะพานทศมราชัน อิ่มฟิน ช้อปสนุก ชมวิวสวยครั้งสำคัญก่อนเปิดใช้งานจริง". พีพีทีวี. 9 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "กทพ.คาดเปิดใช้สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ก.ค.นี้ ด่วนพระราม 3 รอกลางปี 68". สำนักข่าวอินโฟเควสท์. 12 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "รักล้นสะพาน เปิดสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ให้ประชาชนสัมผัสครั้งแรก". ประชาชาติธุรกิจ. 14 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. "45 คู่รัก ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ จดทะเบียนสมรสลอยฟ้าบน "สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9"". เดลินิวส์. 14 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "14 ก.พ. บันทึกประวัติศาสตร์ จดทะเบียนลอยฟ้า 111 คู่รัก บนสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9". เดลินิวส์. 12 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°40′55″N 100°31′05″E / 13.68201°N 100.51798°E / 13.68201; 100.51798

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานพระราม 9
สะพานทศมราชัน
ท้ายน้ำ
สะพานภูมิพล 1