ถนนจันทน์
ถนนจันทน์ เป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนนางลิ้นจี่ และยังตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีจุดขึ้นทางด่วนทางพิเศษศรีรัช ถนนมีความยาวประมาณ 3.5 กิโลเมตร เดิมทีเป็นตรอกเล็ก ๆ เรียกว่า ตรอกจันทน์[1] เป็นตรอกซอยเล็กลักษณะคดเคี้ยว เมื่อมีการตัดถนนให้กว้างและเป็นเส้นตรง ถนนจันทน์เส้นเดิมจึงกลายเป็นถนนที่แยกออกไป แล้วก็ได้ชื่อว่า "ถนนจันทน์เก่า"
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น พื้นที่ตรอกจันทน์มีคนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้ามาตั้งถิ่นฐานโดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วและจีนกวางตุ้ง ซึ่งสันนิษฐานว่าคงขยับขยายการตั้งถิ่นฐานจากย่านเยาวราชและบางรัก เหตุเพราะทำเลบริเวณนี้ใกล้กับท่าเรือเพื่อทำการค้าซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น สำนักงานของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) ที่ตั้งอยู่บนถนนจันทน์ นอกจากนั้นยังมีชาวมุสลิมและชาวตะวันตกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์[2] มีศาสนาสถานเช่นมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน หรือ มัสยิดตรอกจันทน์ สร้างใน พ.ศ. 2455[3] โบสถ์คริสต์มีวัดนักบุญยอแซฟสร้างเมื่อ พ.ศ. 2498[4] ตั้งอยู่ในซอยจันทน์ 43 ซอยเดียวกับวัดไผ่เงินโชตนาราม วัดพุทธอีกแห่งบนถนนจันทน์คือ วัดลุ่มเจริญศรัทธาอยู่ในซอยจันทน์ 42
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา พื้นที่บริเวณถนนจันทน์ได้รับการพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย ปรากฏเป็นคอนโดมิเนียมระดับกลางถึงบน ราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรอยู่ที่ราว 100,000–200,000 บาท[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "บุก"ตรอกจันทน์" ตามไปชิมข้าวต้มปลาในตำนาน". HAPPENING BKK.
- ↑ "ส่องทำเลถนนจันทน์ ไลฟ์สไตล์ใกล้ CBD". thelist.
- ↑ อลิษา ลิ้มไพบูลย์. "ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง". เดอะคลาวด์.
- ↑ "เที่ยวตรอกจันทน์ด้วยรถสองแถว แบบ หูย โห เฮ้ย! ตลอดทาง".
- ↑ "ส่องถนนจันทน์ ทำเลน่าจับตาที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงถึง 14%".