ถนนนางลิ้นจี่
ถนนนางลิ้นจี่ เป็นถนนในกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากถนนสวนพลู สิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 3 มีระยะทางโดยประมาณ 1,700 เมตร
ชื่อของถนนมาจากนามของ นางลิ้นจี่ ชยากร (พ.ศ. 2415–2503) ผู้พัฒนาพื้นที่และตัดถนนสายนี้ เดิมนางลิ้นจี่ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลหีบอ้อย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ต่อมาย้ายมาอยู่พระนครตามบิดามารดาและสมรสกับนายเชย ชยากร พ่อค้าในตลาดสามเสน ซึ่งประกอบธุรกิจหลายประเภท เมื่อสามีเสียชีวิตจึงดูแลกิจการต่อ รวมถึงได้ลงทุนพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ บริเวณทุ่งมหาเมฆยาวไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสิทธิเช่าซื้อที่ดินราชพัสดุ ที่ทุ่งมหาเมฆ และตัดถนนจากตำบลวัดสวนพลู จากถนนสาธรไปจรดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา[1] แต่เดิมนางลิ้นจี่วางแผนตัดถนนสายหลักที่มีคลองคู่ขนานไปเชื่อมต่อกับถนนสาทรต่อเนื่องกับถนนคอนแวนต์ไปถึงถนนสีลม แต่เจ้าของที่ดินบางแปลงไม่ยอมขาย จึงทำให้ตัดถนนนางลิ้นจี่สิ้นสุดแค่ถนนสวนพลู[2][3]
บริเวณถนนนางลิ้นจี่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศูนย์เทคนิคกรุงเทพฯ และกองพันทหารสื่อสารที่ 1
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ที่มาของชื่อ 'ถนนนางลิ้นจี่' จาก 'ลิ้นจี่ ชยากร' สตรีผู้ใจบุญ นิยมบริจาคทรัพย์สิน". เดอะพีเพิล.
- ↑ "ถนนนางลิ้นจี่". หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม.
- ↑ "นักธุรกิจหญิง ชื่อ นางลิ้นจี่" (PDF). มติชนสุดสัปดาห์.