สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนีย
มารี | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย | |||||
ดำรงพระยศ | 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 - 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927 | ||||
ราชาภิเษก | 15 ตุลาคม ค.ศ. 1922 | ||||
ก่อนหน้า | เอลิซาเบธ | ||||
ถัดไป | อานา (เพียงในนาม) | ||||
พระราชสมภพ | 27 ตุลาคม ค.ศ. 1875 เคนต์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | ||||
สวรรคต | 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 ปราสาทเปลิซอร์ ซินายอา ราชอาณาจักรโรมาเนีย | (62 ปี)||||
ฝังพระศพ | 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 มหาวิหารคูร์ตา เด อาร์เจช เทศมณฑลอาร์เจช ประเทศโรมาเนีย | ||||
คู่อภิเษก | เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย | ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา | ||||
พระบิดา | เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา | ||||
พระมารดา | แกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย | ||||
ลายพระอภิไธย |
สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนีย หรือ เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ (มารี อเล็กซานดรา วิกตอเรีย, 27 ตุลาคม ค.ศ. 1875 - 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938)[note 1] เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียพระองค์สุดท้าย โดยเป็นพระมเหสีในพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย
เสด็จพระราชสมภพในฐานะพระราชวงศ์อังกฤษ พระองค์ทรงได้รับพระอิสริยยศ เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินเบอระเมื่อครั้งพระราชสมภพ พระบิดาและพระมารดาของพระองค์คือ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินเบอระและแกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย ในวัยเยาว์ เจ้าหญิงมารีทรงใช้พระชนมชีพในเคนต์, มอลตาและโคบูร์ก หลังจากการปฏิเสธข้อเสนอที่จะอภิเษกสมรสกับพระญาติของพระองค์เองคือ พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรในอนาคต พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระวรชายาในมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์แห่งโรมาเนีย องค์รัชทายาทของพระเจ้าคาโรลที่ 1 แห่งโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1892 เจ้าหญิงมารีทรงดำรงเป็นมกุฎราชกุมารีอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1893 ถึง ค.ศ. 1914 ซึ่งทรงดำรงในพระอิสริยยศนี้ยาวนานที่สุดในบรรดาผู้ครองพระอิสริยยศนี้ และทรงกลายเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชนชาวโรมาเนียในทันที เจ้าหญิงมารีทรงควบคุมพระสวามีผู้ทรงอ่อนแอและเอาแต่ใจก่อนที่จะทรงขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1914 เป็นแรงกระตุ้นให้นักหนังสือพิมพ์ชาวแคนาดาได้ให้ความเห็นว่า "มีพระมเหสีเพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้นที่จะทรงมีอิทธิพลยิ่งใหญ่กว่าสมเด็จพระราชินีมารีในช่วงรัชสมัยพระสวามีของพระองค์"[1]
หลังจากการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมเด็จพระราชินีมารีทรงผลักดันให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ดำเนินการเป็นพันธมิตรกับไตรภาคีและประกาศสงครามกับเยอรมนี ซึ่งที่สุดก็ทรงดำเนินการในปี ค.ศ. 1916 ในช่วงแรกของสงคราม บูคาเรสต์ได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายมหาอำนาจกลางและสมเด็จพระราชินีมารี พระเจ้าเฟอร์ดินานด์พร้อมพระโอรสธิดาทั้ง 5 พระองค์ทรงลี้ภัยไปยังมอลดาเวีย ซึ่งที่นั่นสมเด็จพระราชินีมารีและพระธิดาทั้งสามพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจในฐานะพยาบาลในโรงพยาบาลทหาร ทรงดูแลทหารที่บาดเจ็บหรือเป็นอหิวาตกโรค ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1918 แคว้นทรานซิลเวเนีย ตามมาด้วยเบสซาราเบียและบูโกวินา ได้รวมตัวกันจัดตั้ง ราชอาณาจักรโรมาเนียเก่า พระนางมารีในขณะนี้ทรงดำรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเกรตเทอร์โรมาเนีย พระองค์ทรงเข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 ซึ่งพระองค์ทรงทำให้นานาชาติยอมรับในอาณาเขตที่กว้างใหญ่ของโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1922 สมเด็จพระราชินีมารีและพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในมหาวิหารที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษที่เมืองโบราณซึ่งก็คือ อัลบาอูเลีย เป็นพระราชพิธีที่ซับซ้อนซึ่งสะท้อนสถานะของทั้งสองพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ของรัฐทั้งมวล
ขณะเป็นสมเด็จพระราชินี พระองค์ทรงได้รับความนิยมอย่างมาก จากทั้งในโรมาเนียและต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1926 สมเด็จพระราชินีมารีและพระโอรสธิดาอีก 2 พระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาในทางการทูต ทั้งสามพระองค์ได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างกระตือรือร้นและทรงเสด็จเยือนหลายเมืองก่อนจะกลับโรมาเนีย เมื่อเสด็จกลับ สมเด็จพระราชินีมารีทรงพบว่าพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตในไม่กี่เดือนต่อมา ในช่วงนี้สมเด็จพระพันปีหลวงมารีทรงปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะต้องปกครองประเทศแทนพระนัดดาที่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ซึ่งก็คือ พระเจ้าไมเคิลแห่งโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1930 พระโอรสองค์โตของพระนางมารีคือ เจ้าชายคาโรลแห่งโรมาเนีย ซึ่งทรงถูกเว้นสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ ได้ถอดถอนพระโอรสและช่วงชิงราชบัลลังก์ ขึ้นครองราชย์ในฐานะ พระเจ้าคาโรลที่ 2 พระองค์ทรงถอดถอนพระนางมารีออกจากบทบาททางการเมืองและทรงพยายามทำลายความนิยมในตัวพระมารดา เป็นผลให้พระนางมารีต้องเสด็จออกจากบูคาเรสต์และทรงใช้พระชนมชีพที่เหลือในชนบท หรือไม่ก็พระตำหนักของพระองค์ที่ทะเลดำ ในปี ค.ศ. 1937 พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคตับแข็งและสิ้นพระชนม์ในปีถัดมา
จากการเปลี่ยนแปลงโรมาเนียไปสู่สาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถูกประณามอย่างรุนแรงโดยทางการพรรคคอมมิวนิสต์ มีหลายบันทึกชีวประวัติเกี่ยวกับพระราชวงศ์ที่ได้บรรยายว่า พระนางมารีทรงเป็นคนติดสุราและมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ โดยมาจากเรื่องอื้อฉาวจำนวนมากและพฤติกรรมที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัวทั้งก่อนและในระหว่างสงคราม ในช่วงปีที่นำไปสู่การปฏิวัติโรมาเนียในปี ค.ศ. 1989 ความนิยมในพระนางมารีได้รับการฟื้นฟูและพระองค์ทรงได้รับการเสนอภาพในฐานะผู้รักชาติจากประชาชน แรกเริ่มสิ่งที่จดจำได้เกี่ยวกับพระนางมารีคือการอุทิศพระองค์ในฐานะพยาบาล แต่ก็ทรงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในการที่ทรงพระนิพนธ์งานเขียน รวมถึงพระนิพนธ์อัตชีวประวัติที่น่าสะเทือนใจของพระองค์เอง
ช่วงต้นพระชนมชีพ (ค.ศ. 1875 - 1893)
[แก้]พระราชสมภพ
[แก้]สมเด็จพระราชินีมารีพระราชสมภพที่พระตำหนักของพระราชบิดาและพระราชมารดาที่อีสต์เวลปาร์ก มณฑลเคนต์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1875 เวลา 10.30 น. ต่อหน้าพระราชบิดา การพระราชสมภพของพระองค์ได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการยิงสลุต[2] พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์โตและเป็นพระราชบุตรองค์ที่สองในเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินเบอระและเจ้าหญิงมาเรีย อเล็กซานดรอฟนา ดัชเชสแห่งเอดินเบอระ (เดิมคือ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย) ทรงได้รับการตั้งพระนามว่า มารี อเล็กซานดรา วิกตอเรีย ตามพระนามของพระราชมารดาและพระอัยยิกา[3] แต่เจ้าหญิงมีพระนามอย่างไม่เป็นทางการว่า "มิสซี่" (Missy)[4] ดยุกแห่งเอดินเบอระทรงบันทึกไว้ว่าพระธิดาของพระองค์ "สัญญาว่าจะเป็นเด็กดีเหมือนพี่ชายของเธอและจะแสดงให้เห็นถึงปอดที่มีสุขภาพที่ดี และจะทำเช่นนั้นก่อนที่เธอจะได้รับความเป็นธรรมในโลก"[5] ในฐานะที่เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในสายสันตติวงศ์ฝ่ายชาย สมเด็จพระราชินีมารีมีพระนามอย่างเป็นทางการว่า "เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินเบอระ" ตั้งแต่แรกพระราชสมภพ
พิธีตั้งพระนามของเจ้าหญิงมารีได้จัดขึ้นในโบสถ์ส่วนพระองค์ที่พระราชวังวินด์เซอร์ในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1875 และกระทำอย่างเป็นทางการโดยอาเทอร์ สแตนลีย์และเจอรัลด์ เวลสลีย์ เจ้าคณะแห่งวินด์เซอร์ พิธีล้างบาปจัดแบบ "ส่วนพระองค์และเคร่งครัด" เนื่องจากเป็นเวลาหนึ่งวันหลังจากพิธีครบรอบการสิ้นพระชนม์ของพระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียซึ่งก็คือ เจ้าชายอัลเบิร์ต[6] พระบิดาและพระมารดาอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงมารีได้แก่ จักรพรรดินีมารีเยีย อะเลคซันโดรฟนาแห่งรัสเซีย (พระอัยยิกาฝ่ายพระมารดา ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นตัวแทน), เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (พระปิตุจฉา), เจ้าหญิงอเล็กซานดรีนแห่งบาเดิน ดัชเชสแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา (พระปัยยิกา ซึ่งเจ้าหญิงเฮเลนาแห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นตัวแทน), ซาเรวิชแห่งรัสเซีย (พระมาตุลา ซึ่งปีเตอร์ อันเดรเยวิช ชูวาลอฟเป็นตัวแทน) และดยุกแห่งคอนน็อตและสตราเธิร์น (พระปิตุลา ซึ่งเจ้าชายลีโอโพลด์ ดยุกแห่งออลบานีทรงเป็นตัวแทน) [7]
การศึกษาอบรม
[แก้]เจ้าหญิงมารีพร้อมพระเชษฐาและพระขนิษฐาของพระองค์ ได้แก่ เจ้าชายอัลเฟรด (ประสูติ ค.ศ. 1874), เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา (ประสูติ ค.ศ. 1876 ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "ดั๊กกี้"<Ducky>), เจ้าหญิงอเล็กซานดรา (ประสูติ ค.ศ. 1878 ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "ซานดรา"<Sandra>) และเจ้าหญิงเบียทริซ (ประสูติ ค.ศ. 1884 ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "เบบี้บี"<Baby Bee>) ทรงใช้พระชนมชีพในช่วงต้นส่วนใหญ่ที่อีสต์เวลปาร์ก ที่ซึ่งพระราชมารดาทรงโปรดมากกว่าพระตำหนักแคลเรนซ์ สถานที่ประทับ[9] ในบันทึกความทรงจำของพระองค์ เจ้าหญิงมารีทรงจดจำช่วงเวลาที่อีสต์เวลด้วยความรัก[10] ดยุกแห่งเอดินเบอระไม่ได้ทรงใช้พระชนมชีพส่วนใหญ่กับพระโอรสธิดาเนื่องจากทรงต้องปฏิบัติพระกรณียกิจในราชนาวี และพระชนมชีพของพระโอรสธิดาส่วนใหญ่จึงอยู่ภายใต้การปกครองของพระราชมารดา เจ้าหญิงมารีทรงระบุหลังจากนั้นว่าพระองค์ไม่ทรงทราบถึงสีพระเกศาของพระราชบิดาจนกระทั่งหลังจากนั้นทรงทอดพระเนตรไปยังพระสาทิสลักษณ์ และทรงเชื่อว่าสีพระเกศาพระราชบิดาคงจะเข้มกว่าที่เป็นจริง[11] เมื่อพระราชบิดาทรงประทับที่พระตำหนัก ดยุกมักจะทรงเล่นกับพระโอรสธิดา พระองค์มักจะประดิษฐ์เกมจำนวนมากเพื่อมาใช้เล่นกับพระโอรสธิดา[12] ท่ามกลางพระเชษฐาและพระขนิษฐา เจ้าหญิงมารีทรงสนิทกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา พระขนิษฐา ซึ่งมีพระชนมายุอ่อนกว่าพระองค์หนึ่งปี แต่หลายคนเชื่อว่าเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตามีพระชนมายุมากกว่าเนื่องจากความสูงของพระองค์ ได้สร้างความผิดหวังให้เจ้าหญิงอย่างมาก[13] พระโอรสธิดาจากบ้านเอดินเบอระทุกพระองค์ได้เข้าพิธีล้างบาปและอบรมภายใต้นิกายแองกลิคัน สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจแก่พระราชมารดาซึ่งทรงเป็นออร์โธดอกซ์รัสเซียอย่างมาก[3]
ดัชเชสแห่งเอดินเบอระทรงเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดการแยกกันระหว่างรุ่นและเจ้าหญิงมารีทรงเสียพระทัยอย่างลึกๆว่าพระราชมารดาของพระองค์ไม่ทรงเคยอนุญาตให้พระองค์สนทนากับบุคคล "ให้ราวกับว่า [พวกเขา] ก็เท่าเทียมกัน" เลย[14] ถึงกระนั้น ดัชเชสทรงเป็นบุคคลที่มีพระทัยกว้าง, มีวัฒนธรรม และเป็น"บุคคลที่สำคัญที่สุด"ในพระชนม์ชีพวัยเยาว์ของพระโอรสธิดาทุกพระองค์[15] ตามคำสั่งของพระราชมารดา เจ้าหญิงมารีและพระขนิษฐาต้องได้รับการศึกษาในภาษาฝรั่งเศส ที่เจ้าหญิงและพระขนิษฐาทรงรังเกียจและไม่ค่อยได้ตรัส[16] แต่โดยรวม ดัชเชสทรงละเลยการศึกษาของพระธิดา โดยทรงพิจารณาว่าพระธิดาของพระองค์เองนั้นไม่ฉลาดหรือมีพรสวรรค์เท่าไร ทุกพระองค์ได้รับอนุญาตให้อ่านออกเสียงได้แต่ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวาดภาพและการลงสีภาพ ในพื้นที่ที่ทรงได้รับมรดกทางความสามารถจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระธิดาทรงได้รับเพียงแค่ "การเรียนการสอนการเดินเท้า"[17] ดยุกและดัชเชสแห่งเอดินเบอระทรงเสด็จออกรับสมาชิกราชวงศ์บ่อยๆที่อีสต์เวลปาร์ก โดยทรงเชิญร่วมเสวยพระกระยาหารเช้าเกือบทุกวัน[18] และในปีค.ศ. 1885 เจ้าหญิงมารีและเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาทรงได้เป็นเพื่อนเจ้าสาวในพิธีอภิเษกสมรสของพระปิตุจฉาคือ เจ้าหญิงเบียทริซกับเจ้าชายเฮนรีแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก[19] ในบรรดาพระสหายของเจ้าหญิงมารีนั้นทรงเป็นพระญาติทางฝ่ายพระมารดา ได้แก่ แกรนด์ดยุกนิโคลัส (ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "นิกกี้" <Nicky>), แกรนด์ดยุกจอร์จ (ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "จอร์จี้" <Georgie>), แกรนด์ดัชเชสเซเนีย และพระญาติอีกสองพระองค์ได้แก่ แกรนด์ดยุกไมเคิล (ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "มิชา" <Misha>) และแกรนด์ดัชเชสโอลกา ซึ่งมีพระชนมายุอ่อนกว่าพระธิดาบ้านเอดินเบอระมาก พระสหายอื่นๆอีกก็ได้แก่พระโอรสธิดาในพระมาตุลา คือ แกรนด์ดยุกวลาดิมีร์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย[20]
ในปี ค.ศ. 1886 เมื่อเจ้าหญิงมารีทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ดยุกแห่งเอดินเบอระทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญการสูงสุดของกองทัพเรือเมดิเตอร์เรเนียน และทั้งครอบครัวต้องย้ายไปประทับที่พระราชวังซานอันโตนิโอในมอลตา[21] เจ้าหญิงมารีทรงจดจำช่วงเวลาในมอลตาว่า "เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของฉัน"[22] ที่มอลตา เจ้าหญิงมารีทรงพบกับความรักครั้งแรกกับเมาริซ บอร์ก กัปตันเรือของดยุก ซึ่งเจ้าหญิงมารีทรงเรียกเขาว่า "กัปตันที่รัก" เจ้าหญิงมารีทรงรู้สึกหึงหวงเมื่อบอร์กให้ความสนใจในพระขนิษฐามากกว่าพระองค์[23] ดยุกและดัชเชสแห่งเอดินเบอระทรงรักการประทับในมอลตาอย่างมากและพระราชวังซานอันโตนิโอก็จะเต็มไปด้วยแขกผู้มาเยือนเสมอ[24] เจ้าหญิงมารีและเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาทรงได้รับม้าขาวจากพระราชมารดาและจะทรงไปลงแข่งขันในท้องถิ่นเป็นประจำทุกวันยกเว้นวันเสาร์[25] ในระหว่างช่วงปีแรกที่มอลตา พระพี่เลี้ยงชาวฝรั่งเศสจะเป็นผู้ดูแลการศึกษาแก่เหล่าเจ้าหญิงแต่เมื่อเธอมีสุขภาพไม่ดี ในปีต่อมาเธอจึงถูกแทนที่ด้วยสตรีชาวเยอรมันที่อ่อนวัยกว่า[26] ที่ซานอันโตนิโอ ดยุกและดัชเชสแห่งเอดินเบอระทรงดูแลห้องประทับสำหรับเจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์ที่สองในเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในราชนาวี เจ้าชายจอร์จทรงเรียกพระภคินีจากเอดินเบอระทั้งสามที่สูงวัยกว่าว่า "ผู้น่ารักที่สุดทั้งสาม" แต่ทรงโปรดเจ้าหญิงมารีมากที่สุด[27]
ในขณะที่ดยุกแห่งเอดินเบอระทรงกลายเป็นรัชทายาทโดยสมมติของเออร์เนสต์ที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา พระปิตุลาผู้ทรงไร้บุตร เมื่อเจ้าชายแห่งเวลส์ทรงสละสิทธิ์ในดัชชีนี้ ดังนั้นครอบครัวจึงย้ายไปที่โคบูร์กในปี ค.ศ. 1889[21] เจ้าหญิงมารีทรงมีมุมมองในช่วงเวลานี้ว่า "เป็นจุดจบของชีวิตที่เคยได้รับความสุขและสนุกโดยไม่มีใครควบคุมอย่างแท้จริง ชีวิตที่เคยปราศจากความผิดหวังหรือความหลงผิดและไม่มีความบาดหมางใด ๆ"[28] องค์ดัชเชสทรงเป็นผู้นิยมเยอรมัน พระองค์ทรงจ้างพระพี่เลี้ยงชาวเยอรมันมาอภิบาลพระธิดา โดยทรงซื้อเสื้อผ้าธรรมดาแก่พระธิดาและแม้กระทั่งให้พระธิดาทรงยอมรับในความเชื่อนิกายลูเทอแรน[29] ครอบครัวทรงใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนที่ปราสาทโรสเนา[30] ดยุกเออร์เนสต์ทรงบรรยายถึงเจ้าหญิงมารีว่าเป็น "เด็กที่แปลกประหลาด" ราชสำนักขององค์ดยุกเป็นราชสำนักที่เข้มงวดน้อยกว่าราชสำนักอื่นๆในเยอรมัน[31] ในโคบูร์ก การศึกษาของเจ้าหญิงได้มีการขยับขยายมากยิ่งขึ้น โดยมีการให้ความสำคัญกับการวาดภาพและดนตรี ซึ่งทรงได้รับการอบรมจากแอนนา เมสซิงและนางเฮลเฟอริช ตามลำดับ[32] ในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ เจ้าหญิงมารีและพระขนิษฐาจะเสด็จไปยังโรงละครโคบูร์กซึ่งเป็นสถานที่ที่ทุกพระองค์ทรงสนุกอย่างมาก[33] กิจกรรมอื่นๆที่เหล่าพระธิดาทรงโปรดที่โคบูร์กคือการเข้าร่วมงานเลี้ยงฤดูหนาวที่พระราชมารดาทรงจัดขึ้น ที่ซึ่งทุกพระองค์ทรงเล่นสเก็ตน้ำแข็งและเกมกีฬาต่าง ๆอย่างเช่น ฮอกกี้น้ำแข็ง[34]
อภิเษกสมรส
[แก้]เจ้าหญิงมารีทรงเจริญพระชันษามาเป็น "หญิงสาวที่น่ารัก" ด้วย"ดวงพระเนตรสีฟ้าเป็นประกายและพระเกศาสีอ่อนเนียน" เจ้าหญิงทรงถูกหมายโดยเหล่าราชนิกูลที่ยังโสดทั้งหลาย รวมทั้ง เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ ผู้ซึ่งในปี ค.ศ. 1892 ทรงกลายเป็นผู้มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์ลำดับที่สอง[35] สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เจ้าชายแห่งเวลส์และดยุกแห่งเอดินเบอระทรงอนุมัติแผนการนี้ แต่เจ้าหญิงแห่งเวลส์และดัชเชสแห่งเอดินเบอระทรงปฏิเสธแผนการนี้ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ไม่ทรงโปรดราชตระกูลที่นิยมเยอรมันและดัชเชสแห่งเอดินเบอระไม่ประสงค์ให้พระธิดาอยู่ในอังกฤษที่ทรงไม่พอพระทัย ดัชเชสทรงไม่พอใจในความเป็นจริงที่ว่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งพระราชบิดานั้นเดิมทรงเป็นเพียงเจ้าชายเยอรมันชั้นรองก่อนที่จะทรงได้รับราชบัลลังก์แห่งเดนมาร์ก ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีลำดับยศสูงกว่าดัชเชสตามลำดับความสำคัญ[36] ดัชเชสแห่งเอดินเบอระยังทรงต่อต้านแนวคิดการแต่งงานกันในระหว่างเครือญาติชั้นที่หนึ่งซึ่งผิดธรรมเนียมในศาสนจักรออร์ทอด็อกซ์รัสเซียของพระองค์แต่เดิม[37] ดังนั้นเมื่อเจ้าชายจอร์จทรงสู่ขอเจ้าหญิง เจ้าหญิงมารีทรงรีบบอกพระองค์ว่าการอภิเษกสมรสนั้นเป็นไปไม่ได้และทรงบอกว่าพระองค์ยังคงเป็น "เพื่อนสนิทที่รัก" ของเจ้าหญิงเสมอ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงให้ความเห็นหลังจากนั้นว่า "จอร์จีสูญเสียมิสซีไปจากการรอและรอ"[38]
ในช่วงนี้ พระเจ้าคาโรลที่ 1 แห่งโรมาเนีย ทรงกำลังมองหาพระชายาที่เหมาะสมสำหรับมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการสืบราชสันตติวงศ์และเพื่อให้มั่นพระทัยในความต่อเนื่องของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน จากแรงกระตุ้นโดยการคาดหวังที่จะขจัดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและโรมาเนียในการควบคุมเหนือดินแดนเบสซาราเบีย ดัชเชสแห่งเอดินเบอระทรงแนะนำให้เจ้าหญิงมารีทรงพบกับมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์[37] เจ้าหญิงมารีและมุกฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงพบกันครั้งแรกและคุ้นเคยกันในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำและทั้งคู่ทรงสนทนาเป็นภาษาเยอรมัน เจ้าหญิงทรงพบว่ามกุฎราชกุมารทรงเป็นคนขี้อายแต่น่ารัก และการพบกันครั้งที่สองก็เป็นไปได้ด้วยดี[39] เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงหมั้นอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเขียนถึงเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ว่า "[เฟอร์ดินานด์]เป็นคนที่ดีและพ่อแม่ของเขาก็มีเสน่ห์ แต่ประเทศนั้นไม่ปลอดภัยอย่างมากและสังคมในบูคาเรสต์เป็นสังคมที่ผิดศีลธรรมอย่างเลวร้ายมาก ดังนั้นงานอภิเษกครั้งนี้จะต้องทำให้ล่าช้าเพราะว่า มิสซียังมีอายุไม่ถึง 17 ปีเลยจนกว่าจะถึงสิ้นเดือนตุลาคม!"[40] จักรพรรดินีวิกตอเรียแห่งเยอรมัน พระปิตุจฉาของเจ้าหญิงมารี ทรงเขียนถึงมกุฎราชกุมารีโซเฟียแห่งกรีซ พระราชธิดา ว่า "ตอนนี้มิสซีมีความยินดีมาก แต่น่าเศร้าที่เธอยังเด็กนัก แล้วเธอจะสามารถคาดเดาสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?"[41] ในช่วงปลายปีค.ศ. 1892 พระเจ้าคาโรลเสด็จเยือนลอนดอนโดยจะทรงเข้าพบดนุกแห่งเอดินเบอระและสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งในที่สุดก็จะทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกสมรส และทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์แก่พระเจ้าคาโรล[42]
ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1893 เจ้าหญิงมารีและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่ปราสาทซิกมาริงเงินในสามพิธี ได้แก่ พิธีระดับรัฐ, พิธีคาทอลิก (ศาสนาของมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์) และพิธีแองกลิคัน (ศาสนาของเจ้าหญิงมารี) พิธีระดับรัฐได้ถูกดำเนินการที่ห้องโถงแดงของปราสาทโดยคาร์ล ฟอน เวนเดล องค์จักรพรรดิเยอรมันได้เสด็จมาเป็นพยานองค์แรกในสัญลักษณ์ของพิธีอภิเษกสมรส ในเวลา 4 นาฬิกา พิธีคาทอลิกได้ถูกจัดที่โบสถ์เมือง โดยพระราชบิดาทรงพาเจ้าหญิงมารีมาที่แท่นบูชา พิธีแองกลิคันมีความเรียบง่ายและได้ดำเนินการในห้องหนึ่งของปราสาท[43][44] แม้ว่าพระเจ้าคาโรลทรงอนุญาตให้ทั้งคู่เสด็จไป "โฮนิกทัก" (Honigtag; หนึ่งวันสำหรับการฮันนีมูน) เจ้าหญิงมารีและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงใช้เวลาไม่กี่วันที่ปราสาทในเคราเชนวีส์ที่บาวาเรีย จากที่นั่นทรงเดินทางผ่านชนบท และการเดินทางต้องถูกขัดจังหวะและหยุดที่กรุงเวียนนา ที่ซึ่งทรงเข้าเฝ้าจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย เนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างออสเตรียและโรมาเนีย (การเข้าเฝ้าเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของบันทึกความเข้าใจทรานซิลเวเนีย) ทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และทรงมาถึงชายแดนของเมืองพรีดีลจากการเดินทางข้ามคืนผ่านทรานซิลเวเนียด้วยรถไฟ[45] เจ้าหญิงมารีทรงได้รับการต้อนรับจากชาวโรมาเนียอย่างอบอุ่นซึ่งปรารถนาในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นบุคคลมากขึ้น[46]
มกุฎราชกุมารีแห่งโรมาเนีย (ค.ศ. 1893 - 1914)
[แก้]พระชนม์ชีพภายในประเทศ
[แก้]ในช่วงปีแรกของการอภิเษกสมรสระหว่างมกุฎราชกุมารีมารีและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์นั้นไม่ง่าย และเจ้าหญิงมารีทรงบอกพระสวามีในภายหลังว่า "มันเป็นเรื่องน่าละอายจริงๆที่เราทั้งคู่ต้องเสียเวลาเป็นเวลาหลายปีในช่วงวัยรุ่นเพียงเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน!"[48] ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ได้ค่อยๆพัฒนาเป็นมิตรภาพที่จริงใจอย่างช้าๆ เจ้าหญิงมารีทรงเคารพมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ในฐานะที่เป็นผู้ชายคนหนึ่ง และต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์ และมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ก็ทรงเคารพเจ้าหญิงมารีในฐานะที่เจ้าหญิงทรงเข้าใจในโลกนี้ดีกว่าพระองค์[49] ในที่สุดเจ้าหญิงมารีก็ทรงเชื่อว่า พระองค์กับมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์เป็น "เพื่อนร่วมงานที่ดีที่สุด เป็นสหายที่ดีที่สุด แต่ชีวิตของเราประสานเข้ากันได้ในบางเรื่อง"[50] มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงโปรดมากเมื่อเจ้าหญิงมารีทรงปรากฏพระองค์ในระหว่างการสวนสนามของทหารและทำให้เจ้าหญิงทรงได้รับเชิญมายังงานเหล่านี้บ่อยครั้ง[51]
เจ้าหญิงมารีทรงมีพระประสูติกาลบุตรพระองค์แรกคือ เจ้าชายคาโรล ในเวลาเพียงเก้าเดือนหลังจากอภิเษกสมรส ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1893 ถึงแม้ว่าเจ้าหญิงมารีจะทรงขอใช้คลอโรฟอร์มเพื่อระงับอาการเจ็บปวด แต่เหล่าแพทย์ไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้น แพทย์หลวงโรมาเนียเชื่อว่า "ผู้หญิงทุกคนจะต้องชดใช้ด้วยความเจ็บปวดจากบาปของอีฟ" หลังจากที่พระมารดาของเจ้าหญิงมารีและสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงยืนยันตามคำขอของเจ้าหญิง ในที่สุดพระเจ้าคาโรลทรงอนุญาตให้พระสุณิสาสามารถใช้ยาได้[52] เจ้าหญิงมารีไม่ทรงมีความสุขมากนักหลังจากมีพระประสูติกาลพระโอรสองค์แรก ต่อมาทรงเขียนว่า "รู้สึกเหมือนเอาหัว (ของเจ้าหญิงมารี) หันไปชนผนัง"[53] ในทำนองเดียวกันแม้ว่าเจ้าหญิงมารีจะทรงได้รับการย้ำเตือนอย่างต่อเนื่องจากพระมเหสีในพระเจ้าคาโรลคือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ทรงเห็นว่าการที่เจ้าหญิงทรงมีบุตรถือว่า "เป็นช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดในชีวิต (ของเจ้าหญิงมารี)" เจ้าหญิงทรงนึกถึงพระมารดาของพระองค์จากการที่ทรงมีพระประสูติกาลบุตรพระองค์ที่สองคือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ในปีค.ศ. 1894[54] หลังจากทีทรงคุ้นเคยกับการใช้พระชนม์ชีพในโรมาเนีย เจ้าหญิงมารีทรงเริ่มมีความสุขจากการมีพระประสูติกาลพระโอรสธิดา[55] ซึ่งได้แก่ เจ้าหญิงมาเรีย (ค.ศ. 1900 - 1961) ทรงมีพระนามที่เรียกกันในราชวงศ์ว่า "มิกนอน" <Mignon>, เจ้าชายนิโคลัส (ค.ศ. 1903 - 1978) ทรงมีพระนามที่เรียกกันในราชวงศ์ว่า "นิกกี้" <Nicky>[56], เจ้าหญิงอีเลียนา (ค.ศ. 1909 -1991) และ เจ้าชายเมอร์เซีย (ค.ศ. 1913 - 1916)
พระเจ้าคาโรลและสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงนำเจ้าชายคาโรลและเจ้าหญิงเอลิซาเบธออกจากการดูแลของเจ้าหญิงมารีในทันที โดยทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่ให้อยู่ภายใต้การอภิบาลโดยพระบิดามารดาที่ยังเป็นวัยรุ่น[57] เจ้าหญิงมารีทรงรักพระโอรสธิดามาก แต่ก็ทรงพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทรงสามารถว่ากล่าวตักเตือนพระโอรสธิดาได้ บางครั้งจึงทรงรู้สึกว่าไม่สามารถดูแลพระโอรสธิดาได้อย่างถูกต้อง[58] ดังนั้นพระโอรสธิดาจะได้รับการศึกษาในบางส่วน แต่ไม่เคยถูกส่งไปโรงเรียน ในฐานะที่เป็นเชื้อพระวงศ์จึงไม่สามารถให้การศึกษาในชั้นเรียนได้ ซึ่งทำให้บุคลิกส่วนใหญ่ของพระโอรสธิดาได้สร้างข้อบกพร่องอย่างรุนแรงเมื่อเจริญพระชันษา[59] เอียน จี. ดูคา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหลัง ได้เขียนบันทึกในเวลาต่อมาว่า "ดูเหมือนว่า [พระเจ้าคาโรล] จะประสงค์ที่จะปล่อยให้รัชทายาทโรมาเนียไม่มีความพร้อมในการสืบราชบัลลังก์"[60]
พระชนม์ชีพในราชสำนัก
[แก้]ตั้งแต่เริ่ม มกุฎราชกุมารีมารีทรงประสบปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชีวิตในโรมาเนีย บุคลิกภาพและ"จิตวิญญาณสูงสุด"ของพระองค์ได้สร้างข้อถกเถียงอย่างมากในราชสำนักโรมาเนีย และพระองค์ไม่ทรงโปรดบรรยากาศที่เคร่งครัดในราชวงศ์ของพระองค์[61] พระองค์ทรงเขียนว่าพระองค์เอง "ไม่ได้ถูกพามาโรมาเนียเพื่อให้เป็นที่รักหรือเป็นที่พูดถึง และที่มากที่สุดคือ พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องจักรของพระเจ้าคาโรลที่ได้สร้างรอยแผลขึ้นในตัวของพระองค์ พระองค์ได้ถูกนำเข้ามาเพื่อประดับตกแต่ง, รับการศึกษา, ทำให้มีความสำคัญลดลงและถูกฝึกอบรมตามความคิดของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่" เมื่อบรรยายถึงช่วงต้นๆในโรมาเนีย มกุฎราชกุมารีมารีทรงเขียนว่า "เป็นเวลานานที่ [พระองค์] รู้สึกเซื่องซึมในขณะที่พระสวามีหนุ่ม [ของพระองค์] ทรงเข้ารับราชการทหาร ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องโดดเดี่ยวในห้องพักที่ [พระองค์] ทรงเกลียด เป็นห้องแบบเยอรมันขนาดใหญ่"[62] สมเด็จพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวงแห่งเยอรมันทรงเขียนจดหมายถึงมกุฎราชกุมารีแห่งกรีซ พระราชธิดาว่า "มิสซีแห่งโรมาเนียน่าสงสารกว่าลูกอีกนะ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองที่เผด็จการที่สุดในครอบครัวของพระองค์ และทรงบดขยี้อิสรภาพของเฟอร์ดินานด์ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีใครสนใจในตัวเขาและภรรยาของเขาผู้งดงามและน่ารัก แม่กลัวว่าเธอจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเหมือนกับผีเสื้อแทนที่จะบินตอมดอกไม้ แต่ได้เผาปีกที่งดงามของเธอโดยการบินเข้าไปใกล้กองไฟ!"[63] พระองค์ทรงเรียนรู้ภาษาโรมาเนียอย่างง่ายดาย พระองค์ทรงทำตามคำแนะนำของพระมารดาที่ต้องระมัดระวังในการแต่งกายและแสดงความเคารพต่อพิธีกรรมออร์โธดอกซ์
มกุฎราชกุมารีมารีและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงได้รับการแนะนำจากพระมหากษัตริย์ที่ให้คงจำกัดกลุ่มของพระสหาย ดังนั้น พระองค์ทรงเสียพระทัยมากที่วงล้อมครอบครัวของพระองค์ได้ลดเหลือเพียงแค่พระมหากษัตริย์และมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ "ผู้ซึ่งยืนหยัดอย่างหวาดกลัวอย่างมากต่อชายชราพระหัตถ์เหล็ก ซึ่งทรงสั่นเทิ้มตลอดทุกการกระทำ [ของมารี] ที่อาจจะสร้างความไม่พอใจแก่หน้าที่ของพระประมุขของราชวงศ์"[62] ในหนังสือเสริมนิตยสารไทม์ได้เขียนว่าพระนางมารีทรงพบว่าพระองค์เอง "จากช่วงเวลาที่มาถึงบูคาเรสต์ ทรงต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่เข้มงวดของพระเจ้าคาโรลที่ 1"[64]
ในปีค.ศ. 1896 มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์และมกุฎราชกุมารีมารีทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังโคโทรเซนี ที่ซึ่งได้รับการขยับขยายโดยกริกอร์ เซอร์เชส สถาปนิกชาวโรมาเนีย และพระนางมารีทรงเพิ่มการออกแบบของพระนางเองด้วย[65] ในปีถัดมา มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงพระประชวรด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ทุกวัน พระองค์ทรงเพ้อและแม้ว่าแพทย์จะพยายามอย่างดีที่สุดแล้วแต่พระองค์ทรงใกล้จะสิ้นพระชนม์[66] ในช่วงเวลานี้ พระนางมารีทรงเขียนจดหมายแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมากกับครอบครัวของพระนางในอังกฤษ[67] และทรงหวาดกลัวที่จะต้องสูญเสียพระสวามี พระเจ้าคาโรลยังทรงมีรัชทายาทอีกพระองค์คือ เจ้าชายคาโรล ผู้ซึ่งยังทรงพระเยาว์นัก ดังนั้นทุกคนในราชวงศ์ต่างต้องการให้มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงฝ่าฟันโรคภัยไปได้ ในที่สุดพระองค์ก็ทำได้สำเร็จ พระองค์และพระนางมารีได้เสด็จไปยังซินายอา ประทับที่ปราสาทเปเรส เพื่อฟื้นฟูพระวรกาย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์ก็ไม่สามารถเข้าร่วมพระราชพิธีพัชราภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในฤดูร้อนได้ ในช่วงการพักฟื้นของมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ พระนางมารีทรงใช้เวลาร่วมกับพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ โดยทรงมีพระดำเนินและเก็บดอกไม้ร่วมกัน[68] ในฤดูหนาวปีค.ศ. 1897/1898 ทรงใช้เวลาร่วมกับพระราชวงศ์รัสเซียที่เฟรนช์ริวีเอรา ที่ซึ่งพระนางมารีได้ทรงม้าทั้งๆที่อากาศหนาวเย็น[69]
ในช่วงนี้ มกุฎราชกุมารีมารีทรงพบกับร้อยโท จอร์จี คานตาคูซีเน เป็นสมาชิกที่มมาจากเชื้อสายนอกสมรสของเชื้อพระวงศ์ผู้ครองแคว้นในสมัยโบราณของโรมาเนียและเป็นเชื้อสายของเจ้าชายเซอร์บาน คานตาคูซีโน ถึงแม้รูปโฉมจะไม่หล่อเหลาเท่าไหร่ แต่คานตาคูซีเนเป็นคนที่มีอารมณ์ขันและแต่งตัวดี และมีความสามารถในการขี่ม้า[70] ทั้งคู่ได้เริ่มมีความรักแก่กัน แต่เรื่องอื้อฉาวนี้ได้สิ้นสุดเมื่อสาธารณะได้รับรู้ พระราชมารดาของพระนางมารีทรงประณามพฤติกรรมของพระธิดาและทรงโปรดให้พระธิดาเสด็จมายังโคบูร์กเมื่อพระนางมารีทรงพระครรภ์ใน ค.ศ. 1897 นักประวัติศาสตร์ จูเลีย เกลาร์ดี เชื่อว่าพระนางมารีมีพระประสูติกาลบุตรที่โคบูร์ก และบุตรอาจจะเสียชีวิตตั้งแต่เกิดหรือไม่ก็ถูกส่งไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าทันที[71] มีการคาดเดากันว่า "เจ้าหญิงมิกนอน" พระธิดาองค์ที่สองของพระนางมารี ที่จริงแล้วเป็นบุตรที่ประสูติกับคานตาคูซีเน ไม่ใช่มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์[72] ในปีถัด ๆ มา มีข่าวลือว่าพระนางมารีทรงมีความสัมพันธ์กับแกรนด์ดยุกบอริส วลาดีมีโรวิชแห่งรัสเซีย,[note 2] วัลดอร์ฟ อัสเตอร์,[note 3] เจ้าชายบาร์บู สเตอบีย์,[note 4] และโจ บอยล์[79] ในปีค.ศ. 1903 มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์และพระนางมารีทรงเปิดปราสาทเปลีซอร์ เป็นปราสาทในสถาปัตยกรรมแบบนวศิลป์ที่เมืองซินายอา ซึ่งพระเจ้าคาโรลทรงมอบให้กับทั้งสองพระองค์ พระนางมารีทรงได้เรียนรู้ถึงขอบเขตการอดกลั้นซึ่งนำไปสู่การปราบปรามกบฏชาวนาโรมาเนีย ค.ศ. 1907 ซึ่งสายเกินไปที่จะทรงพยายามไกล่เกลี่ย หลังจากนั้นพระนางได้ทรงฉลองพระองค์ชุดพื้นบ้านโรมาเนียบ่อยๆทั้งในที่ประทับและที่สาธารณะและทรงเริ่มทิศทางแฟชั่นการแต่งกายแบบนี้ในหมู่เด็กสาวชนชั้นสูง
ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1913 ราชอาณาจักรบัลแกเรียได้ประกาศสงครามกับราชอาณาจักรกรีซ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามบอลข่านครั้งที่สอง ในวันที่ 4 กรกฎาคม โรมาเนียได้เข้าร่วมสงคราม โดยเป็นพันธมิตรกับกรีซ[80] สงครามได้ดำเนินเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน แต่กลับแย่ลงเนื่องจากมีการระบาดของอหิวาตกโรค พระนางมารีทรงเผชิญครั้งแรกกับการระบาดของโรคซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนในพระชนม์ชีพของพระนาง ด้วยการช่วยเหลือจากนายแพทย์ เอียน คานตาคูซิโนและซิสเตอร์ พุคชี นางพยาบาลจากกาชาด พระนางมารีทรงเดินทางไปทั่วโรมาเนียและบัลแกเรีย เพื่อขอความร่วมมือจากโรงพยาบาล[81] เหตุการณ์เหล่านี้ได้ตระเตรียมให้พระนางเพื่อประสบการณ์ในสงครามโลก[81] ผลของสงครามทำให้เกิดสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (ค.ศ. 1913) โรมาเนียได้ครอบครองดอบรูจาใต้ รวมทั้งบอลคิค [Balchik (Balcic)] เมืองชายฝั่งทะเล ที่ซึ่งพระนางมารีทรงหวงแหนมากในปีค.ศ. 1924 และมักจะทรงใช้เป็นที่ประทับของพระนาง หลังจากสงครามสิ้นสุด[82] พระเจ้าคาโรลที่ 1 ทรงพระประชวร
ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 ที่เมืองซาราเยโว อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรีย องค์รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ ข่าวนี้ได้ทำให้พระนางมารีและพระราชวงศ์ต้องตกตะลึงอย่างมาก ซึ่งทรงกำลังพักผ่อนอยู่ที่ซินายอาเมื่อข่าวได้มาถึง ในวันที่ 28 กรกฎาคม ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามต่อเซอร์เบียและพระนางมารีทรงเห็นว่า "สันติภาพโลกได้ถูกฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย" จากนั้นในวันที่ 3 สิงหาคม พระเจ้าคาโรลทรงเรียกประชุมสภาที่ปรึกษาราชบัลลังก์โรมาเนียที่ซินายอา เพื่อทรงตัดสินพระทัยว่าโรมาเนียควรเข้าร่วมสงคราม ถึงแม้ว่าพระเจ้าคาโรลทรงโปรดที่จะให้ประเทศของพระองค์สนับสนุนเยอรมนีและฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่สภาได้ตัดสินใจต่อต้านพระราชประสงค์ ไม่นานหลังจากการประชุมสภา พระอาการประชวรของพระเจ้าคาโรลได้แย่ลงและในที่สุดต้องทรงประทับบนแท่นบรรทมตลอด มีการกล่าวกันว่าพระองค์อาจจะสละราชบัลลังก์[83] ในที่สุด พระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 และมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงสืบราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์โดยทันที
สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย (ค.ศ. 1914 - 1927)
[แก้]นายกรัฐมนตรีโรมาเนีย (ค.ศ. 1914–27) | |
ปี | นายกรัฐมนตรี (พรรค) |
1914 | เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL) |
1918 (ม.ค.) | นายพลอเล็กซานดรู อวาเรสคู (กองทัพ) |
1918 (มี.ค.) | อเล็กซานดรู มาร์กีโลมัน (PC) |
1918 (ต.ค.) | นายพลคอนสแตนติน คออันดา (กองทัพ) |
1918 (พ.ย.) | เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL) |
1919 (ก.ย.) | นายพลอาร์เทอร์ ไวโทเอียนู (กองทัพ) |
1919 (ธ.ค.) | อเล็กซานดรู ไวดา-วอยวอด (PNR) |
1920 | นายพลอวาเรสคู (PP) |
1921 | ทาเก เอียนเนสคู (PCD) |
1922 | เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL) |
1926 | นายพลอวาเรสคู (PP) |
1927 (มิ.ย.) | บาร์บู สเตอบีย์ (อิสระ) |
1927 (มิ.ย.) | เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL) |
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
[แก้]ในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1914 มกุฎราชกุมารีมารีและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ได้รับการประกาศสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีในรัฐสภา[84] เจ้าหญิงแอนน์ มารี คัลลิมาชี พระสหายสนิทของพระนางมารี ได้เขียนว่า "ขณะเป็นมกุฎราชกุมารี [มารี] ทรงเป็นที่นิยม เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระราชินี พระนางทรงเป็นที่รักอย่างมาก"[85] พระนางทรงมีอิทธิพลเหนือพระสวามีและตลอดทั้งราชสำนัก จากงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ เอ.แอล. อีสเตอร์แมน ได้เขียนว่า "ไม่ใช่ [เฟอร์ดินานด์] แต่มารีต่างหากที่ปกครองโรมาเนีย"[86] ในช่วงการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ รัฐบาลได้อยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยม คือ นายกรัฐมนตรีเอียน ไอ. ซี. บราเทียนู พระเจ้าเฟอร์ดินานด์และสมเด็จพระราชินีมารีทรงร่วมกันตัดสินพระทัยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักมากนักและทรงพยายามให้ผู้คนยอมรับการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยหนึ่งไปอีกยุคสมัยหนึ่งมากกว่าการบังคับพวกเขา ดังนั้นข้าราชบริพารของเจ้าชายคาโรลกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม แม้ว่าจะมีคนที่ไม่โปรดก็ตาม[87] ด้วยการช่วยเหลือของบราเทียนู พระนางมารีทรงเริ่มกดดันให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์เข้าสู่สงคราม พร้อมกันนั้นพระนางทรงติดต่อเหล่าพระญาติที่ครองราชย์ในประเทศต่างๆของยุโรปและทรงพยายามต่อรองเงื่อนไขที่ดีที่สุดแก่โรมาเนีย ในกรณีที่ประเทศจะเข้าสู่สงคราม[21] พระนางมารีทรงสนับสนุนการเป็นพันธมิตรกับพันธมิตรไตรภาคี (รัสเซีย, ฝรั่งเศส และอังกฤษ) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทรงมีเชื้อสายชาวอังกฤษ ความเป็นกลางไม่ได้ทำให้ปราศจากภัยอันตรายใดๆและการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายไตรภาคี นั้นหมายความว่า โรมาเนียจะทำหน้าที่เป็น "ดินแดนกันชน" ให้รัสเซียเมื่อมีการโจมตีเกิดขึ้น[88]
ในที่สุด พระนางมารีทรงเรียกร้องให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ผู้ทรงไม่แน่พระทัย ให้นำโรมาเนียเข้าสู่สงคราม ด้วยการนำให้รัฐมนตรีฝรั่งเศส ออกุสต์ เฟลิกซ์ เดอ โบปอย เคานท์แห่งแซงต์-ออแลร์ เดินทางมายังโรมาเนีย เพื่อย้ำเตือนว่าพระนางมารีทรงเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือจากการประสูติ อีกครั้งหนึ่งคือจากพระหทัย[89] พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงทำตามคำวิงวอนของพระนางมารี และพระองค์ได้ลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับพันธมิตรไตรภาคีในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1916 ในวันที่ 27 สิงหาคม โรมาเนียได้ประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีอย่างเป็นทางการ[90] แซงต์-ออแลร์ได้ว่า พระนางมารีทรง"โอบกอดสงครามเหมือนกับโอบกอดศาสนา"[91] หลังจากที่ทรงตรัสบอกแก่พระโอรสธิดาว่าประเทศได้เข้าสู่สงคราม พระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระนางมารีทรงปลดข้าราชบริพารชาวเยอรมัน ซึ่งพวกเขาจะยังคงมีหน้าที่อย่างเดียวคือการเป็น "เชลยสงคราม"[92] ในช่วงก่อนสงคราม พระนางมารีทรงมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกาชาดโรมาเนียและเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลทุกวัน[93] ในช่วงเดือนแรกของสงคราม โรมาเนียต่อสู้กับข้าศึกไม่น้อยกว่าเก้าครั้ง บ้างสู้รบในแผ่นดินโรมาเนีย เช่น ยุทธการทูร์ตูคาเอีย[94]
ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 เจ้าชายเมอร์เซีย พระโอรสองค์สุดท้องของพระนางมารี ซึ่งทรงพระประชวรด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ได้สิ้นพระชนม์ลงที่เมืองบัฟเตีย พระนางมารีทรงมีพระจริตคุ้มคลั่งโดยทรงเชียนในบันทึกของพระนางเองว่า "มีอะไรที่สามารถทำให้เป็นเหมือนกันหรือไม่"[95] หลังจากบูคาเรสต์พ่ายแพ้แก่กองทัพออสเตรีย ราชสำนักได้ย้ายไปประทับที่เมืองยาช เมืองหลวงของแคว้นมอลเดเวียในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916[21] ที่นั่นพระนางยังคงประกอบพระกรณียกิจในฐานะพยาบาลที่โรงพยาบาลทหาร ทุกวันพระนางมารีจะทรงฉลองพระองค์พยาบาลและเสด็จไปที่สถานีรถไฟยาช ที่ซึ่งพระนางจะได้ทรงรับทหารที่บาดเจ็บได้มากขึ้น จากนั้นพระนางจะทรงส่งพวกเขาไปยังโรงพยาบาล[96]
หลังจากข้อสรุปของการปฏิวัติรัสเซียในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 และชัยชนะของบอลเชวิก จากคำกล่าวของแฟรงก์ แรตติแกน นักการทูต ที่ว่า โรมาเนียได้กลายเป็น "เกาะที่ล้อมรอบไปด้วยศัตรูโดยไม่มีความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือจากพันธมิตร"[97] หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงลงนามในสนธิสัญญาฟอกซานีในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917[98] พระนางมารีทรงพิจารณาแล้วว่าสนธิสัญญานี้เต็มไปด้วยอันตราย ในขณะที่บราเทียนูและสเตอร์บีย์เชื่อว่าการทำเช่นนี้ถือเป็นมาตรการจำเป็นเพื่อที่จะถ่วงเวลาให้มากขึ้น ในเหตุการณ์ต่อๆมาพิสูจน์ได้ว่าการสันนิษฐานของพระนางมารีนั้นถูกต้อง[99] ในปีค.ศ. 1918 พระนางมารีทรงพิโรธและต่อต้านกันลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ ทำให้มีการบรรยายถึงพระนางเพิ่มว่าทรง "เป็นผู้ชายที่แท้จริงเพียงคนเดียวในโรมาเนีย"[100] การสงบศึกกับเยอรมนี (11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918) ได้ทำให้การต่อสู้ในยุโรปสิ้นสุดลงและนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามด้วย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ราชรัฐฮังการีได้เริ่มต้นพิชิตทรานซิลเวเนีย ซึ่งชาวฮังการีสามารถครอบครองได้อย่างสมบูรณ์ในราวปีค.ศ. 1200[101] แนวคิดเกี่ยวกับ "เกรตเทอร์โรมาเนีย" ยังคงมีอยู่ในจิตใจของชาวโรมาเนียในทรานซิลเวเนียเป็นบางครั้ง[102] และบราเทียนูได้สนับสนุนแนวคิดนี้อย่างแข็งขันตั้งแต่ก่อนสงคราม[103] ในปีค.ศ. 1918 ทั้งเบสซาราเบียและบูโกวินาได้โหวตเพื่อรวมเข้ากับโรมาเนีย มีการชุมนุมกันที่อัลบาอูเลีย เมืองโบราณในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1918 ที่ซึ่งวาซิลลี โกลดิสได้อ่านประกาศการรวมทรานซิลเวเนียเข้ากับราชอาณาจักรโรมาเนียเก่า เอกสารฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนโดยชาวโรมาเนียและผู้แทนชาวแซ็กซอน[104] โดยการจัดตั้ง "สภาสูงแห่งชาติโรมาเนีย" (โรมาเนีย: Marele Sfat Național Român) เพื่อการบริหารราชการชั่วคราวในระดับจังหวัด [105] พระนางมารีทรงเขียนว่า "ความฝันถึงที่ราบของชาวโรมาเนีย ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นจริง...มันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ฉันแทบไม่อยากจะเชื่อเลย"[106] หลังจากการชุมนุม พระเจ้าเฟอร์ดินานด์และสมเด็จพระราชินีมารีได้เสด็จกลับบูคาเรสต์ที่ซึ่งทรงพบกับความรื่นเริง "วันแห่ง "ความกระตือรือร้น, ความตื่นเต้นอย่างที่สุด" พร้อมกับวงดนตรีเสียงดังและทหารเดินสวนสนามและผู้คนตะโกนโห่ร้อง"[106] ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดงานเฉลิมฉลองและพระนางมารีทรงมีความสุขที่จะได้เห็นฝ่ายสัมพันธมิตรบนผืนแผ่นดินโรมาเนียเป็นครั้งแรก[107]
การประชุมสันติภาพปารีส
[แก้]เนื่องจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์และโรมาเนียได้ประกาศตนเป็นศัตรูกับฝ่ายมหาอำนาจกลางจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม จึงทำให้มีสถานที่ที่ซึ่งประเทศที่ชนะสงครามมารวมกันในการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 ที่ซึ่งได้มีการรับประกัน คณะผู้แทนอย่างเป็นทางการนำโดยบราเทียนู ซึ่งเขาพึ่งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สาม[109] ความแข็งกระด้างของบราเทียนูบวกกับการต่อต้านของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌอร์ฌ เกลอม็องโซ ที่จะพยายามมองข้ามการยอมรับของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ต่อสนธิสัญญาบูคาเรสต์นำไปสู่ความขัดแย้งและคณะผู้แทนโรมาเนียได้เดินทาออกจากปารีส สิ่งนี้ได้สร้างความผิดหวังแก่ "มหาอำนาจทั้งสี่" อย่างมาก ด้วยความหวังที่จะแก้ไขสถานการณ์ แซงต์-ออแลร์ได้แนะนำว่าควรส่งสมเด็จพระราชินีมารีไปเข้าร่วมการประชุมแทน สมเด็จพระราชินีทรงยินดีอย่างยิ่งเมื่อมีโอกาสเช่นนี้[110]
พระนางมารีเสด็จถึงปารีสในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1919[108] พระนางทรงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศสในทันที อันเนื่องมาจากความกล้าหาญของพระนางในสงคราม[111] ในการประชุม เกลอม็องโซได้กล่าวกับพระนางมารีว่า "กระหม่อมไม่ชอบนายกรัฐมนตรีของพระองค์เลย" ซึ่งพระนางทรงตอบทันทีว่า "บางทีคุณพบฉันแล้วคงน่าจะพอใจมากขึ้นนะ"[112] เขาและประธานาธิบดี แรมง ปวงกาเรได้เปลี่ยนทัศนคติของเกลอม็องโซที่มีต่อโรมาเนียนับตั้งแต่การมาถึงของพระนางมารี หลังจากทรงประทับในกรุงปารีสเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พระนางมารีทรงตอบรับคำเชิญของพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี และทรงเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษและประทับที่พระราชวังบักกิงแฮม ด้วยความหวังที่ว่าจะทรงได้รับความเป็นมิตรไมตรีแก่โรมาเนีย พระนางมารีทรงพบปะคุ้นเคยกับบุคคลทางการเมืองที่สำคัญในช่วงเวลานั้น ดังเช่น ลอร์ดคูร์ซอน, วินสตัน เชอร์ชิล และวัลดอร์ฟ อัสเตอร์กับแนนซี อัสเตอร์ พระนางได้เสด็จไปเยี่ยมพระโอรส นิกกี ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยอีตันบ่อยๆ[113] พระนางมารีทรงมีความสุขอย่างมากที่ได้กลับไปยังอังกฤษหลังจากจากมาเป็นเวลานาน ทรงเขียนว่า "มันเป็นความรู้สึกที่เปี่ยมล้นจริงๆที่ได้มาถึงลอนดอน และได้รับการต้อนรับที่สถานีโดยจอร์จและเมย์"[114]
หลังจากสิ้นสุดการเสด็จเยือนอังกฤษ พระนางมารีได้เสด็จกลับปารีส ที่ซึ่งผู้คนยังคงตื่นเต้นสำหรับการเสด็จมาถึงของพระนางอย่างที่เคยเป็นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝูงชนรวมตัวกันอยู่รอบๆพระนางบ่อยๆ เพื่อรอที่จะพบสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียจาก "ต่างแดน" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน ก็ยังคงไม่สร้างความประทับใจแก่พระนางมารี และความเห็นของพระนางเกี่ยวกับกฎหมายรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งพระนางพิจารณาว่าไม่เหมาะสม ก็ไม่ได้ช่วยอะไร[113] พระนางมารีได้สร้างความตกตะลึงแก่เจ้าหน้าที่โดยทรงโบกพระหัตถ์ให้รัฐมนตรีของพระนางทั้งหมดออกไปและทรงนำการเจรจาต่อรองด้วยพระนางเอง จากนั้นพระนางทรงแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ไม่เป็นไร พวกคุณทั้งหมดเพียงแค่ยอมรับฉันด้วยความผิดพลาดทางศีลธรรมของฉันเอง"[115] พระนางมารีเสด็จออกจากปารีสพร้อมเสบียงอาหารจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือโรมาเนีย ในปีหลังจากนั้น ผลการประชุมได้มีข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซายโดยยอมรับโรมาเนียอันยิ่งใหญ่ในระดับนานาชาติ ดังนั้นราชอาณาจักรของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระนางมารีได้เพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 295,000 ตารางกิโลเมตร (114,000 ตารางไมล์) และจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นถึงสิบล้านคน[113] สิ่งนี้ทำให้แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซีย ผู้ทรงประทับอยู่ในบูคาเรสต์ช่วงสั้นๆได้สรุปว่า "ด้วยเสน่ห์ ความงามและสติปัญญาที่เพียบพร้อม [มารี]ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรงปรารถนา"[116]
ความพยายามของราชวงศ์
[แก้]ในปีค.ศ. 1920 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระธิดาองค์โตของพระนางมารี ทรงหมั้นกับเจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ พระโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซกับอดีตสมเด็จพระราชินีโซเฟีย พระญาติของพระนางมารี ซึ่งทรงถูกถอดถอนจากราชบัลลังก์กรีซ หลังจากที่พระนางทรงเชิญเจ้าชายจอร์จพร้อมพระขนิษฐาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าหญิงเฮเลนและเจ้าหญิงไอรีน มาร่วมประทับพร้อมกับพระนางที่ซินายอา พระนางมารีทรงจัดการกิจกรรมต่างๆมากมายแก่คู่หนุ่มสาวทั้งสองและทรงยินดีอย่างมากที่จะทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระนางตามที่ทรงคาดหมายไว้แล้ว ซึ่งพระธิดาของพระนางเองนั้นมีข้อด่างพร้อยอย่างรุนแรง ในเดือนตุลาคม มีรายงานข่าวจากกรีซเกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์แห่งกรีซ ซึ่งเจ้าหญิงกรีซต้องรีบเสด็จกลับไปพบพระบิดาและพระมารดาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในวันถัดมา มีข่าวแจ้งว่า พระมารดาของพระนางมารีได้สิ้นพระชนม์แล้วอย่างสงบที่ซูริก[117] พระนางมารีทรงเตรียมการเดินทางไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ที่ซึ่งพระนางจะทรงพาเจ้าหญิงเฮเลนและเจ้าหญิงไอรีนไปพบพระบิดาและพระมารดาของทั้งสองพระองค์ได้และเข้าร่วมพิธีฝังพระศพพระมารดาของพระนาง ในขณะที่เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงประทับอยู่ที่ซินายอา[118]
ในเวลาต่อมาอย่างรวดเร็ว มกุฎราชกุมารคาโรลได้มีการหมั้นหมายเจ้าหญิงเฮเลนและทั้งสองพระองค์ก็ได้อภิเษกสมรสในปีถัดมา พระนางมารีทรงปลื้มปิติมาก หลังจากที่ไม่ทรงยอมรับความสัมพันธ์ของมกุฎราชกุมารคาโรลกับซิซิ ลามบริโนและทรงกลุ้มพระทัยมากที่เธอได้ให้กำเนิดลูกนอกสมรสกับมกุฎราชกุมารคาโรล คือ คาโรล ลามบริโน ซึ่งสิ่งที่พระนางพอจะบรรเทาได้ก็คือให้เด็กใช้นามสกุลของมารดา[119] ในปีค.ศ. 1922 พระนางมารีทรงให้ "เจ้าหญิงมิกนอล" พระธิดาองค์ที่สองอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย (หลังจากนี้คือ ยูโกสลาเวีย) พระนางมารีทรงปลื้มปิติมากที่พระนัดดาทั้งสองประสูติ ซึ่งก็คือ เจ้าชายไมเคิลแห่งโรมาเนีย (ประสูติ ค.ศ. 1921-2017) และเจ้าชายปีเตอร์แห่งยูโกสลาเวีย (ค.ศ. 1923 - 1970) การประสูติของพระนัดดาทั้งสองพระองค์ที่ถูกกำหนดชะตาให้ครองราชบัลลังก์ในยุโรปดูเหมือนจะประสานความทะเยอทะยานของพระนางได้ ความพยายามในราชวงศ์ของพระนางมารีได้ถูกมองจากนักวิจารณ์ว่าเป็นพระมารดาที่คอยชักจูงควบคุมซึ่งต้องเสียสละความสุขของพระโอรสธิดาของพระนางเองเพื่อตอบสนองความทะเยอทะยานของพระนาง แต่ในความเป็นจริง พระนางมารีไม่ทรงเคยบังคับพระโอรสธิดาอภิเษกสมรสเลย[120]
ค.ศ. 1924 พระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระราชินีมารีทรงประกอบพระราชกรณียกิจเสด็จทางการทูตไปยังฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียมและสหราชอาณาจักร ในอังกฤษ พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งทรงประกาศว่า "นอกเหนือจากการมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ซึ่งเราได้ทำให้ลุล่วงแล้ว พวกเรายังมีความสัมพันธ์ที่รักใคร่กัน ฝ่าพระบาท สมเด็จพระราชินี ญาติที่รักของข้าพเจ้าเป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด"[121] พระนางมารีทรงเขียนถึงวันที่เสด็จเยือนอังกฤษในทำนองเดียวกันว่า "เป็นวันที่ดีสำหรับฉัน มีทั้งอารมณ์หวาน, ความสุข และในเวลาเดียวกันก็รู้สึกรุ่งโรจน์ที่ได้กลับมายังประเทศของฉันในฐานะราชินี ที่ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการ เป็นเกียรติอย่างยิ่งและกระตือรือร้นในการแลกเปลี่ยน ที่รู้สึกว่าหัวใจคุณพองโตด้วยความภาคภูมิและความพึงพอใจที่รู้สึกถึงหัวใจเต้นและน้ำตาเริ่มไหลออกจากดวงตาของคุณ ในขณะที่บางสิ่งรวมตัวเป็นก้อนกลืนเข้าไปในลำคอของคุณ!"[121] การเสด็จเยือนในระดับรัฐครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ในการยอมรับศักดิ์ศรีของโรมาเนียที่ได้รับหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในขณะเสด็จเยือนเจนีวา พระนางมารีและพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงเป็นพระราชวงศ์คู่แรกที่เสด็จไปยังสำนักงานใหญ่ของสันนิบาตชาติที่พึ่งก่อตั้งขึ้น[121]
พระราชพิธีราชาภิเษก
[แก้]สถานที่ที่พระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระนางมารีทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกคือที่อัลบาอูเลีย ที่ซึ่งเคยเป็นป้อมปราการสำคัญในยุคกลาง และเป็นที่ซึ่งเจ้าชายไมเคิล ผู้กล้าหาญได้สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นวอยโวด (Voivode) แห่งทรานซิลเวเนียในปีค.ศ. 1599 จึงเป็นการรวมตัวกันของวัลลาเซียและทรานซิลเวเนียเป็นครั้งแรก[122] มหาวิหารออร์ทอดอกซ์ได้ถูกสร้างขึ้นในชื่อ มหาวิหารราชาภิเษกในปีค.ศ. 1921 - 1922[123] เครื่องประดับอัญมณีที่สลับซับซ้อนและฉลองพระองค์ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกโดยเฉพาะ มงกุฎของสมเด็จพระราชินีมารีได้ถูกออกแบบโดยจิตรกรชื่อว่า คอสติน เปเทรสคู และถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบอาร์นูโวโดย "ฟาลีซ" ซึ่งเป็นร้านเครื่องเพชรในกรุงปารีส มงกุฎนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก พระนางมิลิกา เดสปินา พระชายาในองค์ประมุขแห่งวัลลาเซียในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นามว่า เนียกอเอ บาซารับ และทั้งหมดทำขึ้นจากทองคำทรานซิลวาเนีย มงกุฎมีจี้ประดับอยู่ทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งเป็นภาพตราแผ่นดินโรมาเนีย อีกข้างหนึ่งเป็นตราอาร์มดยุกแห่งเอดินเบอระ ซึ่งเป็นตราอาร์มที่พระนางมารีทรงใช้ก่อนอภิเษกสมรส มงกุฎมีค่าใช้จ่ายประมาณ 65,000 ฟรังก์ ซึ่งจ่ายโดยรัฐผ่านกฎหมายพิเศษ[124]
ท่ามกลางเหล่าอาคันตุกะที่มาร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกของทั้งสองพระองค์มีทั้ง เจ้าหญิงเบียทริซ หรือ "เบบี้บี" พระขนิษฐาของพระนางมารี, ดยุกแห่งยอร์ก และนายพลฝรั่งเศส แม็กซีม เวย์กองด์ กับ อองรี มัทธีอัส เบอร์เทโลต์ พระราชพิธีได้ดำเนินการโดยอัครบิดรแห่งโรมาเนียทั้งมวล มิรอน คริสที แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการภายในมหาวิหารเนื่อจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงเป็นคาทอลิก และทรงปฏิเสธที่จะรับการสวมมงกุฎจากสมาชิกนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ หลังจากที่ทรงสวมมงกุฎลงบนพระเศียรของพระองค์เองแล้ว พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงสวมมงกุฎให้สมเด็จพระราชินีมารี ซึ่งทรงคุกเข้าอยู่ก่อนแล้ว ทันใดนั้นปืนใหญ่ได้ถูกจุดเป็นสัญญาณว่าพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีองค์แรกแห่งโรมาเนียอันยิ่งใหญ่ได้รับการเจิมตามพิธีศาสนาแล้ว งานเฉลิมฉลองได้ถูกจัดขึ้นในห้องเดียวกับที่สหภาพได้ถูกประกาศในปีค.ศ. 1918 ชาวนากว่า 20,000 คนได้ร่วมรับประทานเนื้อสเต็กย่างที่ถูกเตรียมไว้ ในวันถัดมา พระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระนางมารีได้เสด็จเข้าบูคาเรสต์อย่างสมพระเกียรติ[125] ความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีราชาภิเษกได้ถูกอ้างมาเป็นหลักฐานการแสดงตนของพระนางมารี[126] พระนางมารีทรงรับเข้ารีตศาสนจักรออร์ทอดอกซ์โรมาเนียในปีค.ศ. 1926 เป็นการกล่าวถึงการที่ทรงปรารถนาที่จะใกล้ชิดกับพสกนิกรของพระนาง[127]
เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา
[แก้]— เดอะมอนทรีออลกาเซ็ตต์, หนังสือพิมพ์แคนาดา[128]
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแมรีฮิลล์ในแมรีฮิลล์, วอชิงตันซึ่งแต่เดิมได้รับการออกแบบเพื่อนเป็นคฤหาสน์ของนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง ซามูเอล ฮิลล์ แต่ด้วยคำขอของลออี ฟูลเลอร์ ทำให้อาคารนี้ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แทน ฮิลล์หวังว่ามันจะถูกอุทิศไปใช้สอยในปี ค.ศ. 1926 และเขาคิดว่ามันเป็นอนุสรณ์แห่งความสงบสุขแด่ภรรยาของเขา แมรี และสมเด็จพระราชินีมารี พระนางมารีทรงเห็นด้วยที่จะเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและเป็นสักขีพยานในการอุทิศอาคารนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟูลเลอร์เป็นพระสหายเก่าของพระนาง ฟูลเลอร์รีบประสานความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการที่สนับสนุน "การเสด็จเยือน" อเมริกาของพระนางมารี และได้มีการเตรียมการเมื่อพระนางทรงออกเดินทาง[129] พระนางมารีทรงมองการเดินทางครั้งนี้ว่าเป็นการ "เห็นประเทศ, พบปะประชาชนและวางโรมาเนียลงบนแผนที่"[130] พระนางทรงเดินทางด้วยเรือข้ามมหาสมุทรแอตเลนติกและเสด็จถึงนิวยอร์กในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1926 โดยมีเจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงอีเลียนาโดยเสด็จด้วย
Oh, life is a glorious cycle of song, |
โดโรธี ปาร์กเกอร์, ค.ศ. 1927[132] |
เมื่อเสด็จถึง พระนางมารีทรงได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นโดยชาวอเมริกัน ด้วย"เสียงหวูดของเรือกลไฟ, เสียงสนั่นของปืนที่พ่นควันขาวเหนือหมอกสีเทา, เสียงแซ่ซ้องตามฝนที่ตกลงมา" พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากจิมมี วอล์กเกอร์ นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก[133] คอนสแตนซ์ ลิลลี มอร์ริส ผู้เขียนหนังสือ On Tour with Queen Marie ได้เขียนว่า ผู้คนมีความตืนเต้นสำหรับการเสด็จถึงของพระนางมารีโดยส่วนใหญ่เพราะเสน่ห์ของพระนางเป็นสิ่งที่เกือบจะเป็นตำนาน ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยเอกสารและคำเล่าลือตลอดพระชนม์ชีพของพระนาง เธอได้ตั้งข้อสังเกตว่า "สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียมผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ครั้งหนึ่งทรงเสด็จมาพร้อมกับพระสวามีของพระนางเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และหลายปีที่ผ่านมาพระประมุขแห่งฮาวาย ผู้ผิวดำ ได้รับเกียรติจากเรา แต่ก็ไม่มีโอกาสอื่นอีก และเวลาก็ไม่ได้ถูกตั้งไว้ดีไปกว่านี้" พระนางมารีทรงเป็นที่นิยมในหมู่สตรีที่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง ที่ซึ่งพระนางทรงถูกมองว่าเป็น"สตรีที่มีปัญญา ทรงวางแผนการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง ที่ซึ่งสมองของพระนางได้คิดแก้ไขปัญหายากๆเพื่อพสกนิกรของพระนาง ผู้ซึ่งเคยเป็นของขวัญแก่พระนางเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีของพระนาง"[134]
ในช่วงที่เสด็จเยือนอเมริกา พระนางมารี, เจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงอีเลียนาได้เสด็จเยือนหลายเมืองรวมทั้ง ฟิลาเดลเฟีย ทุกพระองค์เป็นที่นิยมชมชอบมากและทรงได้รับการต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นอย่างเท่าเทียมกันในแต่ละเมืองที่ได้เสด็จ ซึ่งมีมากเสียจน "[เจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงอีเลียนา]รู้สึกมีนงงอย่างพอสมควรโดยการปรบมืออย่างมากของพวกเขา"[135] ก่อนที่จะเสด็จออกจากสหรัฐอเมริกาพระนางมารีทรงถูกเสนอให้ประทับรถกันกระสุนเข้าเมืองจากบริษัทวิลลีส์-ไนท์ ซึ่งพระนางทรงตอบรับอย่างเป็นสุข ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พระนางมารีและพระโอรสธิดาได้รับการส่งเสด็จจากคณะผู้แทนจากวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากทรงเตรียมที่จะเสด็จออกจากอ่าวนิวยอร์กด้วยเรือ มอร์ริสได้เขียนว่า "จากมุมมองสุดท้ายของเราต่อฝ่าพระบาทและพระโอรสธิดาของพระนางทรงโบกพระหัตถ์กลับมาหาเราด้วยรอยยิ้มและน้ำตาจากการที่ทรงผ่านฉากแห่งความสุข"[136] มอร์ริสได้เดินทางมาพร้อมกับสมเด็จพระราชินีตลอดการเดินทางของพระนางและได้บันทึกรายละเอียดช่วงเวลของพระนางมารีในอเมริกาลงในหนังสือของเธอ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1927
พระนางมารีทรงรู้สึกยินดีกับการเสด็จเยือนครั้งนี้มากและทรงหวังว่าจะได้กลับมาอเมริกาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พระนางทรงบันทึกในพระอนุทินของพระนางว่า[137]
"ทั้งลูกๆและตัวฉันต่างมีความฝันเดียวกันคือ การกลับมา! การกลับไปยังโลกใหม่ที่น่าทึ่ง ซึ่งจะทำให้คุณเกือบจะเวียนหัว เพราะมันมหึมามาก, มันมีเสียงหนวกหู, มันมีการแข่งขัน, มันมีความก้าวหน้าอย่างใจร้อนที่จะทำอย่างมากขึ้นเสมอ,มันมักจะใหญ่โตขึ้น, เร็วขึ้น, มีความร้อนใจอย่างน่าอัศจรรย์ ที่ซึ่งฉันคิดว่าทุกสิ่งเป็นที่สามารถรับรู้...ฉันรู้ว่าตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่, ยังหายใจและยังคงคิด ความรักสำหรับอเมริกาจะทำให้ชีวิตและความคิดของฉันสวยงาม...บางทีโชคชะตาอาจจะช่วยให้ฉันได้กลับไปยังอเมริกาสักวันหนึ่ง"
ตกพุ่มม่าย (ค.ศ. 1927 - 1938)
[แก้]ค.ศ. 1927 - 1930
[แก้]เจ้าชายคาโรลทรงทำให้เกิดวิกฤตราชวงศ์โรมาเนียขึ้นโดยทรงประกาศสละสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1926 พร้อมกับทรงสละสิทธิในการเป็นผู้ปกครองของเจ้าชายไมเคิล ซึ่งได้รับการประกาศเป็นองค์รัชทายาทแทน พระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ผ่านสภา และได้จัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งประกอบด้วย เจ้าชายนิโคลัส, อัครบิดรแห่งโรมาเนีย มิรอน คริสทีและจีออร์เก บุซดูกาน ประธานศาลยุติธรรมสูงสุด[138] อย่างไรก็ตามทั้งพระนางมารีและพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ก็ไม่ทรงเต็มพระทัยที่เสด็จออกไปโดยปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้พระหัตถ์ของพระนัดดา ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา แม้ว่าจะทรงได้รับการดูแลจากคณะผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากทรงกลัวว่าดินแดนที่ได้รับในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะถูกอ้างสิทธิโดยประเทศเพื่อนบ้านและความผันผวนทางการเมืองอาจจะนไปสู่ความไม่สงบได้ อย่างไรก็ตามเมื่อพระนางมารีเสด็จกลับมาจากอเมริกา พระชนม์ชีพของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ดูเหมือนใกล้จะดับสิ้นลง พระองค์ทรงประชวรอย่างทุกข์ทรมานด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927 ทรงใกล้จะสวรรคตโดยทรงรับพิธีกรรมสุดท้ายของคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระองค์สวรรคตในวันที่ 20 กรกฎาคม ภายในอ้อมพระพาหาของพระนางมารี พระนางทรงเขียนในเวลาต่อมาว่า " 'ฉันเหนื่อยเหลือเกิน' นี่เป็นคำพูดสุดท้ายที่เขาพูดและเมื่อเขาเอนตัวลงนอนอย่างเงียบสงบภายในอ้อมแขนของฉัน หนึ่งชั่วโมงต่อมาฉันรู้ว่าอย่างน้อยฉันต้องขอบคุณพระเจ้าเพื่อเขา นี่เป็นการพักผ่อนอย่างสงบที่แท้จริง"[139]
เจ้าชายไมเคิลทรงสืบราชบัลลังก์ต่อโดยอัตโนมัติหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ และสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้เข้ามารับบทบาทของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1928 เจ้าชายคาโรลทรงพบว่าพระชนม์ชีพของพระองค์ในต่างประเทศกับแม็กดา ลูเปสคูเป็นที่ไม่น่าพอพระทัย[137] ทรงพยายามหาหนทางเสด็จกลับมายังโรมาเนียด้วยความช่วยเหลือของไวส์เคานท์โรเทอร์แมร์ที่ 1 พระองค์ทรงถูกสั่งห้ามทำเช่นนั้นโดยผู้มีอำนาจในอังกฤษ ซึ่งได้ดำเนินการขับไล่พระองค์ออกจากอังกฤษ ด้วยความพิโรธอย่างมาก พระนางมารีทรงส่งคำขอโทษอย่างเป็นทางการแก่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ในนามของพระโอรสของพระนาง ซึ่งพระโอรสได้เริ่มต้นวางแผนการก่อรัฐประหาร[140] เจ้าชายคาโรลทรงประสบความสำเร็จในการหย่าขาดจากเจ้าหญิงเฮเลนในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1928 ด้วยฐานจากการที่ไม่ทรงลงรอยกัน[141]
ความนิยมในพระนางมารีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรัชสมัยของพระเจ้าไมเคิลและหลังจากที่ทรงปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในปี ค.ศ. 1929 พระนางทรงถูกกล่าวหาโดยสื่อและแม้กระทั่งเจ้าหญิงเฮเลนว่าทรงวางแผนก่อรัฐประหาร[142] ในช่วงนี้ มีข่าวลือเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงอีเลียนา หลังจากที่มีการพูดคุยถึงการที่จะให้เจ้าหญิงอีเลียนาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าซาร์แห่งบัลแกเรียหรือเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส[143] และในที่สุดเจ้าหญิงก็ทรงหมั้นกับอเล็กซานเดอร์ เคานท์แห่งโฮชเบิร์ก ราชนิกุลเยอรมันสายรองในต้นปี ค.ศ. 1930[144] แต่การหมั้นครั้งนี้อายุสั้น พระนางมารีไม่ทรงสามารถจัดการอภิเษกสมรสทางการเมืองของพระธิดาองค์เล็กได้ ซึ่งเจ้าหญิงต้องทรงอภิเษกสมรสกับอาร์คดยุกแอนตันแห่งออสเตรีย-ทัสคานี จากอิตาลีแทนในปี ค.ศ. 1931[143]
รัชสมัยพระเจ้าคาโรล
[แก้]ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1930 เจ้าชายคาโรลได้เสด็จถึงบูคาเรสต์และเสด็จไปยังรัฐสภา ที่ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1927 ได้ถูกประกาศว่าเป็นโมฆะ ดังนั้น เจ้าชายคาโรลจึงช่วงชิงราชบัลลังก์ของพระโอรส และทรงครองราชย์เป็น พระเจ้าคาโรลที่ 2 เมื่อทรงได้ทราบข่างการกลับมาของพระเจ้าคาโรล พระนางมารีผู้ทรงประทับอยู่ต่างประเทศก็ทรงโล่งพระทัย พระนางทรงมีความกังวลกับทิศทางที่ประเทศกำลังมุ่งไปมากและทรงมองการกลับมาของพระเจ้าคาโรลว่าเป็น การกลับมาของบุตรชายผู้ล้างผลาญ (Return of the Prodigal Son) แต่ทันทีที่พระนางเสด็จกลับบูคาเรสต์ พระนางก็ทรงเริ่มตระหนักว่าทุกสิ่งเป็นไปไม่ได้ด้วยดี พระเจ้าคาโรลทรงปฏิเสธคำแนะนำของพระนางมารีที่ให้รับเจ้าหญิงเฮเลนกลับมา[142] และไม่ทรงเคยของคำปรึกษาพระนางมารีตลอดรัชสมัยของพระองค์เลย จึงทำให้รอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างพระมารดาและพระโอรสที่มีอยู่แล้วได้แตกหักโดยสมบูรณ์[145]
ด้วยความอ้างว้างและพระนางเกือบจะละทิ้งความเชื่อของพระนาง พระนางมารีทรงหันไปสนพระทัยคำสอนของศาสนาบาไฮ ซึ่งพระนางทรงพบว่า "มีความน่าสนใจอย่างมาก"[146] พระนางมารีทรงเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์แรกที่นับถือบาไฮ[147] พระนางทรงเขียนในเวลาต่อมาว่า[148]
"ศาสนาบาไฮสอนให้นำมาซึ่งความสงบสุขและความเข้าใจ มันเหมือนกับอ้อมกอดกว้างที่รวมผู้คนซึ่งหาความหมายของความหวังมาเป็นเวลานานเข้าด้วยกัน มันยอมรับศาสดาทั้งหลายที่มีมาก่อนหน้านี้ มันไม่ทำลายลัทธิอื่น ๆ และปล่อยให้ประตูทุกบานเปิดออก โชคร้ายจากความขัดแย้งที่มีอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้ศรัทธาในคำสารภาพและความระอาในการถือทิฐิที่มีต่อกันและกัน ฉันได้ค้นพบคำสอนของบาไฮที่สอนถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของพระคริสต์ที่มักจะถูกปฏิเสธและเข้าใจผิด: ความสามัคคีแทนที่ความขัดแย้ง, ความหวังแทนที่การลงทัณฑ์, ความรักแทนที่ความเกลียดชัง และความไว้วางใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับมวลมนุษย์ทุกคน"
ในปี ค.ศ. 1931 เจ้าชายนิโคลัสทรงหนีตามไปกับเอียนา โดเลทติ ผู้หญิงผู้เคยผ่านการหย่าร้างมาแล้ว พระนางมารีไม่ทรงเห็นด้วยกับการกระทำของพระโอรสและทรงรู้สึกเจ็บปวดจากการพยายามเข้าไปเกี่ยวในเรื่องของโดเลทติอย่างซ้ำๆทำให้เจ้าชายนิโคลัสทรงหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อกับพระมารดา แม้ว่าพระนางจะทรงตำหนิผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตของพระโอรส ในขณะเดียวกันพระนางก็ทรงตำหนิตัวพระนางเองด้วยในการที่ทรงล้มเหลวจากการพยายามทำให้ทุกสิ่งถูกต้อง แต่พระนางก็ทรงดื้อดึงและปฏิเสธที่จะพบกับแม็กดา ลูเปสคู แม้ว่าพระเจ้าคาโรลจะทรงอ้อนวอนก็ตาม จนกระทั่งในปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระนางก็แทบจะไม่กล่าวถึงชื่อของลูเปสคูเลย[149]
ด้วยทั้งประเทศเกลียดชังพระสนมในพระเจ้าคาโรล มันเป็นช่วงก่อนที่ฝ่ายปฏิปักษ์ของพระมหากษัตริย์จะเกิดขึ้น ฝ่ายปฏิปักษ์นี้ที่โดดเด่นที่สุดคือมาจากกลุ่มไอออนการ์ด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากเบนิโต มุสโสลินีและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หลังจากที่พระเจ้าคาโรลทรงหันมาขอให้นายกรัฐมนตรีเอียน ดูคาช่วยเหลือ กลุ่มไอออนการ์ดได้ลอบสังหารดูคาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1933[149] หลังจากการอสัญกรรมของดูคา ความนิยมในพระเจ้าคาโรลได้ลดลงและได้มีข่าวลือว่าจะมีความพยายามลอบปลงพระชนม์พระองค์ในพิธีสวนสนามอิสรภาพประจำปี เพื่อทรงหลีกเลี่ยงการนี้ พระองค์จึงให้พระนางมารีเสด็จแทนพระองค์ในพิธีสวนสนามนี้ และครั้งนี้จะเป็นการปรากฏพระองค์ต่อหน้าสาธารณชนครั้งสุดท้ายของพระนางมารี[150]
หลังจากพิธีสวนสนามผ่านไป พระเจ้าคาโรลทรงพยายามทำลายความนิยมในตัวพระมารดาท่ามกลางชาวโรมาเนียและทรงพยายามที่จะผลักดันให้พระนางเสด็จออกจากประเทศ แต่พระนางมารีไม่ทรงยอมทำตาม และทรงเสด็จไปประทับที่ชนบททั้งสองแห่งแทน[151] สถานที่แรกคือปราสาทบราน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองบราชอฟในทรานซิลเวเนียใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้มอบให้พระนางเป็นของกำนัลไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 และพระนางทรงบูรณะสถานที่ในอีกเจ็ดปีต่อมา[152] อีกสถานที่หนึ่งคือบอลชิค ที่ซึ่งพระนางทรงสร้างพระราชวังบอลชิคและโบสถ์เล็ก ๆ ที่เรียกว่า Stella Maris และทรงตกแต่งสวนของพระนาง พระนางยังทรงเสด็จเยี่ยมเจ้าหญิงอีเลียนาและพระโอรสธิดาของเจ้าหญิงในออสเตรีย เจ้าหญิงอีเลียนาไม่ค่อยทรงได้รับอนุญาตจากพระเจ้าคาโรลให้เสด็จเยือนโรมาเนีย สิ่งนี้ทำให้พระนางมารีทรงขุ่นเคืองพระทัยมาก พระนางยังทรงเสด็จไปยังเบลเกรดโดยทรงใช้เวลากับพระธิดา "เจ้าหญิงมิกนอน" และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ พระชามาดา ในปี ค.ศ. 1934 พระนางมารีเสด็จเยือนอังกฤษอีกครั้ง[151] ทรงพบกับดัชเชสแห่งยอร์ก ผู้ซึ่งทำให้พระนางทรงปลื้มปิติมาก[153]
ประชวรและสวรรคต
[แก้]ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1937 พระนางมารีทรงพระประชวร[21] แพทย์ประจำพระองค์คือ นายแพทย์คัสเตลานี ได้วินิจฉัยว่าพระนางทรงเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนแม้ว่าการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจะระบุว่าทรงเป็นโรคตับแข็ง พระนางมารีไม่ใช่นักดื่มและเมื่อทรงได้ยินข่าว พระนางทรงรายงานว่า "มันต้องเป็นโรคตับแข็งที่ไม่มีแอลกอฮอล์แน่ ๆ เพราะตลอดทั้งชีวิตของฉัน ฉันไม่เคยลิ้มรสแอลกอฮอล์เลยนะ"[154] พระนางได้ถูกแนะนำให้งดเสวยพระกระยาหารที่เย็นจัด และรับการฉีดยาและบรรทมพักผ่อน ในช่วงนั้นพระนางมารีทรงมีพระวรกายที่อ่อนแอมาก จนพระนางไม่ทรงสามารถแม้แต่จับปากกาได้เลย ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 พระนางถูกส่งไปยังโรงพยาบาลในอิตาลี ด้วยหวังว่าพระวรกายจะได้รับการฟื้นฟู ที่นั่นเจ้าชายนิโคลัสและพระชายาของเจ้าชายได้เสด็จเยี่ยมพระนางมารี ซึ่งในที่สุดแล้วพระนางมารีทรงให้อภัยในการกระทำผิดของพระสุณิสา นอกจากนี้ เจ้าหญิงเฮเลน ผู้ซึ่งพระนางไม่ทรงเคยพบอีกเลยตลอดระยะเวลา 7 ปี ได้เสด็จมาเยี่ยมพระนาง รวมทั้งวัลดอร์ฟ อัสเตอร์ด้วย ในที่สุดพระนางมารีทรงถูกย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลในเดรสเดิน ด้วยพระอาการทรุดลงเรื่อย ๆ พระนางมารีทรงขอเสด็จกลับโรมาเนียเพื่อที่จะได้สวรรคตที่นั่น พระเจ้าคาโรลปฏิเสธที่จะให้พระนางเสด็จโดยเครื่องบิน[155] และพระนางทรงปฏิเสธบริการทางการแพทย์อากาศที่ฮิตเลอร์ได้ทูลเสนอให้[156] โดยทรงเลือกเสด็จกลับโรมาเนียโดยรถไฟแทน พระนางทรงเข้าประทับที่ปราสาทเปลิซอร์[155][note 5]
พระนางมารีเสด็จสวรรคตในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 เวลา 17.38 น. เป็นเวลาแปดนาทีหลังจากพระอาการอยู่ในช่วงโคม่า[157] พระโอรสธิดาองค์โต คือ พระเจ้าคาโรลและเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พร้อมกับเจ้าชายไมเคิล ทรงอยู่กับพระนางในช่วงวาระสุดท้าย[155] สองวันถัดมา ในวันที่ 20 กรกฎาคม พระศพของพระนางมารีได้ถูกนำมาที่บูคาเรสต์ ซึ่งมาประกอบพิธีตั้งพระบรมศพที่ห้องรับแขกสีขาวในพระราชวังโคโทรเซนี หีบพระบรมศพของพระนางได้ล้อมรอบด้วยดอกไม้และเทียนแสงแวววาวและได้รับการรักษาโดยทหารจากกองทหารม้าฮุสซาร์ ผู้คนหลายพันคนเข้าแถวล้อมรอบพระบรมศพของพระนางมารีในช่วงเวลาสามวันของพิธีตั้งพระบรมศพ ในวันที่สาม พระราชวังได้เปิดให้กรรมกรโรงงานเข้ามาร่วมพิธี ขบวนพระบรมของพระนางมารีได้ไปยังสถานีรถไฟโดยผ่านประตูชัยโรมาเนีย พระบรมศพของพระนางได้ถูกนำไปยังมหาวิหารเคอร์เทียเดออาร์ก ที่ซึ่งทรงถูกฝังที่นั่น พระหทัยของพระนางมารีประทับลงในตลับสีทองประดับด้วยสัญลักษณ์ของมณฑลโรมาเนียและฝังอยู่ที่โบสถ์ Stella Maris ในบอลชิคตามพระราชประสงค์ของพระนาง ในปี ค.ศ. 1940 หลังจากมณฑลโดบรูจาใต้ถูกผนวกเข้ากับบัลแกเรียในสนธิสัญญาคราเอียวาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระหทัยของพระนางได้ถูกย้ายมาที่ปราสาทบราน[158] ที่ซึ่งเจ้าหญิงอีเลียนาทรงสร้างโบสถ์เพื่อเป็นที่บรรจุพระหทัยและถูกเก็บไว้ในกล่องสองกล่องที่ซ้อนกันอยู่ภายในโลงหินอ่อน[159]
พระนางมารีทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียพระองค์สุดท้าย โดยเจ้าหญิงเฮเลนทรงได้รับพระอิสริยยศ "สมเด็จพระราชชนนี" เท่านั้นในระหว่างปีค.ศ. 1940 ถึงค.ศ. 1947 พระนางทรงเป็นหนึ่งในห้าพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ได้สวมมงกุฎและทรงเป็นหนึ่งในสามที่สามารถรักษาพระอิสริยยศในฐานะสมเด็จพระราชินีได้หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยกันกับสมเด็จพระราชินีม็อดแห่งนอร์เวย์และสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูเชนีแห่งสเปน
พระราชมรดก
[แก้]ตามที่หนึ่งในนักเขียนพระราชประวัติของพระนางมารี คือ ไดอานา แมนดาเช ได้กล่าวว่า พระนางมารีทรงตีพิมพ์หนังสือและเรื่องสั้น 34 เล่ม ทั้งในภาษาโรมาเนียและภาษาอังกฤษ ตลอดพระชนม์ชีพของพระนาง[160] นี้ได้รวมทั้งอัตชีวประวัติอันน่าสะเทือนใจของพระนางด้วย คือ The Story of My Life ที่ตีพิมพ์โดยคาสเซลในลอนดอน มีทั้งหมดสามเล่ม หนังสือได้รับการวิจารณ์โดยเวอร์จิเนีย วูล์ฟ ซึ่งเธอได้มองว่ามันทำให้รู้สึกคุ้นเคยกับราชวงศ์มากเกินไป เธอได้ระบุว่า "คิดว่าท่ามกลางหนังสือในฤดูใบไม้ร่วงแห่งปี 2034 คือเรื่อง Prometheus Unbound ของจอร์จที่ 6 หรือเรื่อง Wuthering Heights ของเอลิซาเบธที่ 2 อะไรที่จะส่งผลกระทบต่อความจงรักภักดี จักรวรรดิอังกฤษจะอยู่รอดหรือไม่ พระราชวังบักกิ้งแฮมยังคงแข็งแกร่งดังเช่นในตอนนี้หรือไม่ คำพูดเป็นสิ่งที่อันตรายให้เราจำไว้ สาธารณรัฐอาจจะถูกนำเข้ามาในบทกวี"[161] พระนางมารีทรงเก็บรักษาพระอนุทินมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 จนถึงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ และเล่มแรกได้ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1996[162]
แม้กระทั่งก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะสมเด็จพระราชินี พระนางมารีทรงประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ของพระนางในฐานะ "หนึ่งในเจ้าหญิงที่ดูดีที่สุดและร่ำรวยที่สุดในยุโรป"[163] พระนางทรงเป็ยที่รู้จักอย่างมากในพระอัจฉริยภาพด้านการทรงม้า, การเขียน, ภาพเขียน, การแกะสลัก, การเต้นรำและพระสิริโฉมของพระนาง[164] ความนิยมในตัวพระนางได้ถูกทำให้มัวหมองโดยการกล่าวหาของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือการดำเนินการของฝ่ายมหาอำนาจกลางในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[165] และอีกฝ่ายนำโดยทางการพรรคคอมมิวนิสต์หลังจากที่โรมาเนียได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยมในปี ค.ศ. 1947
โรมาเนียในช่วง 42 ปีภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ พระนางมารีทรงกลายเป็นภาพสลับทั้งเป็น "ตัวแทนของระบอบทุนนิยมอังกฤษ" หรือผู้อุทิศเพื่อชาติที่เชื่อว่าชะตากรรมของพระนางถูกผูกติดไว้กับโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1949 หนังสือ Adevărata istorie a unei monarhii ("The True History of a Monarchy") ที่เขียนโดยอเล็กซานดรู การ์เนียตา ได้บรรยายว่า พระนางมารีได้จัดงานเลี้ยงมั่วสุมดื่มสุราที่โคโทรเซนีและบอลชิค และยังอ้างว่าในความเป็นจริงโรคตับแข็งของพระนางมาจากการที่ทรงดื่มอย่างหนัก แม้กระทั่งได้มีการแสดงตัวอย่างว่า พระนางมารีผู้ทรงเมามายมักจะเสด็จด้วยเรือยอชท์ไปพร้อมกับพระสหายเพื่อนดื่มของพระนาง เรื่องราวอื้อฉาวของพระนางมารีได้ถูกยกขึ้นมาเป็นหลักฐานในเรื่องความสำส่อน ซึ่งเป็นสิ่งฝ่าฝืนค่านิยมลัทธิคอมมิวนิสต์[166] ในปี ค.ศ. 1968 ทางการพรรคคอมนิวนิสต์ได้บุกเข้าไปในโบสถ์ที่เก็บรักษาพระหทัยของพระนางมารี ได้เปิดโลงและนำกล่องพร้อมพระหทัยของพระนางไปไว้ที่ปราสาทบราน ในปี ค.ศ. 1971 ได้ถูกย้ายไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โรมาเนียในบูคาเรสต์[159][167] มันไม่ได้เปลี่ยนไปจนกระทั่งปลายสมัยของนีกอลาเอ ชาวูเชสกู ปีสุดท้ายก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติโรมาเนีย พระคุณความดีของพระนางมารีได้เป็นที่ยอมรับ[166]
ในโรมาเนีย พระนางมารีทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "Mama Răniților" (มารดาแห่งผู้เจ็บไข้)[168] หรือทรงถูกเรียกง่าย ๆ ว่า "Regina Maria" ในขณะที่ในประเทศอื่น ๆทรงจดจำพระนางในฐานะ "ราชินีทหาร" (Soldier Queen) และ "Mamma Regina"[169][170] พระนางยังทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ "พระสัสสุแห่งบอลข่าน" เนื่องมาจากพระธิดาของพระนางทรงอภิเษกสมรสกับราชวงศ์ในคาบสมุทรบอลข่าน ในช่วงที่พระนางสิ้นพระชนม์ พระธิดาของพระนางมารีทรงปกครองสามในสี่ประเทศของคาบสมุทรบอลข่านยกเว้นแต่บัลแกเรีย[120][171] แม้ว่าพระสันตติวงศ์ของพระนางจะไม่ได้ครองราชบัลลังก์ยุโรปอีกต่อไปแล้ว พระนางมารีทรงได้รับการถวายพระเกียรติในฐานะ "หนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โรมาเนีย" โดยคอนสแตนติน อาร์เกโทเอียนู[172] และในการระลึกถึงพระนาง ได้มีการจัดตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนแห่งสมเด็จพระราชินีมารีขึ้นในโรมาเนีย[173][174]
ก่อนจะถึงปี ค.ศ. 2009 สิ่งของหลายชิ้นที่เป็นของพระนางมารีได้ถูกจัดแสดงที่ปราสาทบราน ซึ่งเป็นที่พำนักของพระนางในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ และได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์[175] ในปีนั้น เมื่อปราสาทได้รับการบูรณะอย่างเป็นทางการโดยทายาทของเจ้าหญิงอีเลียนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ย้ายสิ่งของสะสมของพระนางมารีไปไว้ที่อาคารใกล้ ๆ คือ Vama Medievală ซึ่งยังคงเปิดให้นักท้องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม[176] พิพิธภัณฑ์ศิลปะแมรี่ฮิลล์ได้มีการจัดนิทรรศการถาวรภายใต้ชื่อ "มารี สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย" (Marie, Queen of Romania) ที่นี่ได้จัดแสดงทั้งฉลองพระองค์ชุดคลุมในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระนาง, มงกุฎจำลอง, เครื่องเงิน, เฟอร์นิเจอร์และเครื่องเพชร รวมทั้งสิ่งของอื่น ๆ[177][178]
พระโอรสธิดา
[แก้]พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรสและพระโอรส-ธิดา | |
พระเจ้าคาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย | ค.ศ. 1893 |
15 ตุลาคมค.ศ. 1953 |
4 เมษายนอภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ในปีค.ศ. 1918 ซีซิ ลามบริโน มีพระโอรส 1 พระองค์คือ คาโรล ลามบริโน อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1912 เจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซและเดนมาร์ก มีพระโอรส 1 พระองค์คือ สมเด็จพระราชาธิบดีไมเคิลที่ 1 แห่งโรมาเนีย อภิเษกสมรสครั้งที่ 3 ในปีค.ศ. 1947 แม็กดา ลูเพสคู ไม่มีพระโอรสธิดา | |
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธแห่งกรีซ | ค.ศ. 1894 |
12 ตุลาคมค.ศ. 1956 |
15 พฤศจิกายนอภิเษกสมรส ในปีค.ศ. 1921 สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 แห่งกรีซ ไม่มีพระโอรสธิดา | |
สมเด็จพระราชินีมาเรียแห่งยูโกสลาเวีย | ค.ศ. 1900 |
6 มกราคมค.ศ. 1961 |
22 มิถุนายนอภิเษกสมรส ในปีค.ศ. 1922 สมเด็จพระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย มีพระโอรส 3 พระองค์ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีปีเตอร์ที่ 2 แห่งยูโกสลาเวีย เจ้าชายโทมิสลาฟแห่งยูโกสลาเวีย เจ้าชายแอนดรูว์แห่งยูโกสลาเวีย | |
เจ้าชายนิโคลัสแห่งโรมาเนีย | ค.ศ. 1903 |
18 สิงหาคมค.ศ. 1978 |
9 มิถุนายนอภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ในปีค.ศ. 1931 เอียนา ดูมิทเทสคู-โดเลทติ ไม่มีพระโอรสธิดา อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1967 เทเรซา ลิสโบอา ฟิกกูเอรา เดอ เมโล ไม่มีพระโอรสธิดา | |
อาร์คดัชเชสอีเลียนาแห่งออสเตรีย-ทัสคานี | ค.ศ. 1909 |
5 มกราคมค.ศ. 1991 |
21 มกราคมอภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ในปีค.ศ. 1931 อาร์คดยุกแอนตันแห่งออสเตรีย เจ้าชายแห่งทัสคานี มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ได้แก่ อาร์คดยุกสเตฟานแห่งออสเตรีย อาร์คดัชเชสมาเรีย อีเลียนาแห่งออสเตรีย อาร์คดัชเชสอเล็กซานดราแห่งออสเตรีย อาร์คดยุกโดมินิคแห่งออสเตรีย อาร์คดัชเชสมาเรีย แม็กเดเลนาแห่งออสเตรีย อาร์คดัชเชสเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1953 สเตฟาน นิโคลัส อิสซาเรสคู ไม่มีโอรสธิดา | |
เจ้าชายเมอร์เซียแห่งโรมาเนีย | ค.ศ. 1913 |
3 มกราคมค.ศ. 1916 |
2 พฤศจิกายนสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ |
พระอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์และตราอาร์ม
[แก้]
|
พระอิสริยยศ
[แก้]- 29 ตุลาคม ค.ศ. 1875 - 10 มกราคม ค.ศ. 1893 : เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ (Her Royal Highness Princess Marie of Edinburgh)[179][180]
- 10 มกราคม ค.ศ. 1893 - 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914: มกุฎราชกุมารีแห่งโรมาเนีย (Her Royal Highness The Crown Princess of Romania)[181]
- 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 - 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927: สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย (Her Majesty The Queen of Romania)
- 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927 - 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938: สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนีย (Her Majesty Queen Marie of Romania)
ตราอาร์มอังกฤษ
[แก้]ในฐานะที่เป็นพระนัดดาขององค์ประมุขอังกฤษที่สืบเชื้อสายมาจากบุรุษ ทำให้พระนางมารีทรงได้รับตราอาร์มแห่งราชอาณาจักร พร้อมโล่ในสำหรับแซกโซนี ที่แตกต่างกันด้วยฉลากเงินห้าจุด คู่ด้านนอกยึดติดด้วยสีฟ้า สีแดงกุหลาบภายในและตรงกลางเป็นกางเขนสีแดง ในปี ค.ศ. 1917 โล่ในได้ถูกยกเลิกโดยพระบรมราชานุญาตในพระเจ้าจอร์จที่ 5[182]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]พระนางมารีทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังนี้
- โรมาเนีย : เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎ ชั้น Grand Cross[183]
- ฝรั่งเศส : เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์[184]
- ฝรั่งเศส : เครื่องอิสริยาภรณ์เมดายล์มิลิแตร์ [185]
- อิตาลี : เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎแห่งอิตาลี[186]
- บริติชราช : เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดาราแห่งอินเดีย[187]
- สหราชอาณาจักร : เครื่องราชอิสริยาภรณ์กาชาด[187]
- สหราชอาณาจักร : เครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต[187]
- สหราชอาณาจักร : เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์จอร์จ[187]
- สเปน : เครื่องราชอิสริยาภรณ์สมเด็จพระราชินีมาเรีย ลุยซา[188]
พระราชตระกูล
[แก้]อ้างอิง
[แก้]อ้างอิงท้ายเรื่อง
[แก้]- ↑ วันเวลาในบทความนี้ยึดหลักตามปฏิทินเกรโกเรียน ซึ่งไม่ได้ใช้ในโรมาเนียจนกระทั่ง ค.ศ. 1919
- ↑ มีการเล่าลือกันว่าแกรนด์ดยุกบอริสทรงเป็นพระบิดาที่แท้จริงของเจ้าหญิงมิกนอน พระบิดาของเจ้าหญิงได้ถูกเลื่องลือกันว่าเป็น "ความลับของสาธารณะ" [73] และพระนางมารีมักจะทรงตรัสเสียดสีพระเจ้าคาโรลว่าแกรนด์ดยุกบอริสเป็นบิดาที่แท้จริงเจ้าหญิงมิกนอน[74]
- ↑ มีการเล่าลือกันว่าอัสเตอร์เป็นบิดาที่แท้จริงของเจ้าชายนิโคลัส พระโอรสองค์ที่สองของพระนางมารี ซึ่งมีพระเนตรสีฟ้าและ "จมูกเหยี่ยว" ที่มีลักษณะคล้ายกับอัสเตอร์ [75] เมื่อทรงเจริญพระชันษา เจ้าชายนิโคลัสทรงมีลักษณะคล้ายเชื้อพระวงศ์โฮเฮนโซลเลิร์น ทำให้เสียงนินทาลดน้อยลง [76]
- ↑ มีการเล่าลือกันว่าสเตอบีย์เป็นบิดาที่แท้จริงของเจ้าชายเมอร์เซีย พระโอรสองค์สุดท้องของพระนางมารี เจ้าชายเมอร์เซียมีพระเนตรสีน้ำตาลเข้มเหมือนสเตอบีย์ ในขณะที่มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ พระนางมารีและพระโอรสธิดาทุกพระองค์มีพระเนตรสีฟ้า[77] ตาสีฟ้าเป็นลักษณะของความเด่น (พันธุศาสตร์)ที่สืบทอดมา ซึ่งหมายความว่าคนที่มีตาสีฟ้าไม่สามารถให้กำเนิดบุตรที่มีดวงตาสีน้ำตาลได้[78]
- ↑ ตามรายงานฉบับทางการ เพื่อรักษาไว้ซึ่งลัทธิบูชาพระเจ้าคาโรล ที่บันทึกว่าพระนางมารียังคงดำรงพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งเสด็จถึงปราสาท แต่ในความเป็นจริงแล้วพระนางมารีได้สิ้นพระชนม์ระหว่างเสด็จโดยรถไฟในเขตบาเคา ในช่วงนี้ได้มีข่าวลืออีกว่าพระเจ้าคาโรลทรงยิงปืนมาที่เจ้าชายนิโคลัส แต่กระสุนกลับต้องพระนางมารีเนื่องจากพระนางทรงเอาตัวพระนางเองเข้าบังกระสุน[156]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ "Dowager Queen Marie of Roumania is Dead". The Winnipeg Tribute. Winnipeg. 18 July 1938. p. 9.
{{cite news}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help) - ↑ "No. 24261". The London Gazette. 30 October 1875.
- ↑ 3.0 3.1 Marie 1990, p. 19.
- ↑ Gelardi 2005, p. 6.
- ↑ Gelardi 2005, p. 7.
- ↑ The Times, 16 December 1875.
- ↑ "No. 24276". The London Gazette. 17 December 1875.
- ↑ "Princess Marie of Edinburgh (1875–1938)". Royal Collection. สืบค้นเมื่อ 3 November 2013.
- ↑ Gauthier 2010, p. 9.
- ↑ Marie 1990, p. 12.
- ↑ Marie 1990, p. 8.
- ↑ Marie 1990, p. 15.
- ↑ Marie 1990, p. 9.
- ↑ Marie 1990, p. 21.
- ↑ Van der Kiste 1991, p. 20.
- ↑ Marie 1990, pp. 31–32.
- ↑ Pakula 1984, p. 49.
- ↑ Marie 1990, p. 47.
- ↑ "Prince and Princess Henry of Battenberg with their bridesmaids and others on their wedding day". National Portrait Gallery, London.
- ↑ Marie 1990, pp. 88–89.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Pakula, Hannah (2004). "Marie, Princess (1875–1938)". Oxford Dictionary of National Biography. Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/64674. สืบค้นเมื่อ 3 November 2013.
- ↑ Marie 1990, p. 83.
- ↑ Elsberry 1972, pp. 17–19.
- ↑ Marie 1990, p. 105.
- ↑ Marie 1990, pp. 106–7.
- ↑ Marie 1990, p. 109.
- ↑ Marie 1990, p. 136.
- ↑ Marie 1990, p. 146.
- ↑ Sullivan 1997, pp. 80–82.
- ↑ Marie 1990, p. 155.
- ↑ Marie 1990, p. 152.
- ↑ Marie 1990, p. 169.
- ↑ Marie 1990, p. 177.
- ↑ Marie 1990, p. 194.
- ↑ Gelardi 2005, p. 31.
- ↑ Pope-Hennessy 1959, pp. 250–51.
- ↑ 37.0 37.1 Mandache 2001, p. 334.
- ↑ Gelardi 2005, p. 32.
- ↑ Gelardi 2005, p. 33.
- ↑ Gelardi 2005, p. 34.
- ↑ Gelardi 2005, p. 35.
- ↑ Elsberry 1972, p. 44.
- ↑ Supplement เก็บถาวร 2013-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน to The Graphic, 21 January 1893.
- ↑ Pakula 1984, p. 68.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, pp. 10–14.
- ↑ Gauthier 2010, p. 52.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, p. 15.
- ↑ Wolbe 2004, p. 214.
- ↑ Ciubotaru 2011, p. 22.
- ↑ Marie 2004, p. 122.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, p. 121.
- ↑ Gelardi 2005, p. 49.
- ↑ Elsberry 1972, p. 54.
- ↑ Elsberry 1972, p. 57.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, pp. 171, 316–17.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, pp. 312–13.
- ↑ Ciubotaru 2011, p. 51.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, pp. 310–11.
- ↑ Ciubotaru 2011, p. 92.
- ↑ Duca 1981, p. 103.
- ↑ Sullivan 1997, p. 141.
- ↑ 62.0 62.1 Mandache 2011, p. xxiii.
- ↑ Gelardi 2005, p. 87.
- ↑ Mandache 2011, p. xxiv.
- ↑ Mihail Ipate. "Brief History of Cotroceni Palace". muzeulcotroceni.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.
- ↑ Pakula 1984, p. 117.
- ↑ Mandache 2011, p. xiv.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, pp. 146–50.
- ↑ Pakula 1984, p. 145.
- ↑ Pakula 1984, p. 118.
- ↑ Gelardi 2005, pp. 87–88.
- ↑ Veiga 1995, p. 185.
- ↑ Crawford 2011, p. 28.
- ↑ Gelardi 2005, p. 88.
- ↑ Pakula 1984, p. 136; 155.
- ↑ Gelardi 2005, p. 109.
- ↑ Gelardi 2005, p. 219.
- ↑ Grand MD; Lauderdale DS (November–December 2002). "Cohort effects in a genetically determined trait: eye colour among US whites". Annals of Human Biology. 29 (6): 657–66. doi:10.1080/03014460210157394. PMID 12573082.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Pakula 1984, pp. 146–48.
- ↑ Giurescu 1972, p. 295.
- ↑ 81.0 81.1 Marie 1991, Vol 2, pp. 356–64.
- ↑ Rădulescu, George. "Balcic, suma Balcanilor". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-17. สืบค้นเมื่อ 17 December 2013.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, pp. 398–401.
- ↑ Marie 1991, Vol 2, pp. 409–12.
- ↑ Pakula 1984, p. 180.
- ↑ Easterman 1942, pp. 38–42.
- ↑ Marie 1991, Vol 3, p. 13.
- ↑ Elsberry 1972, p. 104.
- ↑ Saint-Aulaire 1953, p. 322.
- ↑ Giurescu 1972, p. 300.
- ↑ Saint-Aulaire 1953, p. 399.
- ↑ บันทึกประจำวันของพระนางมารี วันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1914 อ้างในMarie 1991, Vol 3, p. 69
- ↑ Gauthier 2010, pp. 190–91.
- ↑ Giurescu 1972, pp. 300–1.
- ↑ Marie's journal, 10 November 1916, quoted in Marie 1991, Vol 3, p. 97
- ↑ Saint-Aulaire 1953, p. 360.
- ↑ Rattigan 1924, pp. 194–95.
- ↑ Giurescu 1972, p. 307.
- ↑ Gauthier 2010, p. 215.
- ↑ Gauthier 2010, p. 216.
- ↑ Horedt 1958, pp. 117–23.
- ↑ Gelardi 2005, p. 203.
- ↑ Gelardi 2005, p. 207.
- ↑ Hupchik 1995, p. 83.
- ↑ Giurescu 1972, pp. 311–12.
- ↑ 106.0 106.1 Aronson 1973, p. 237.
- ↑ Marie 1991, Vol 3, pp. 492–93.
- ↑ 108.0 108.1 Colette (6 March 1919). "Ainsi Parla la Reine de Roumanie". Le Matin. Paris. p. 1.
{{cite news}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help) - ↑ Botoran & Moisuc 1983, pp. 328–36.
- ↑ Ciubotaru 2011, p. xxiv.
- ↑ General Mordacq, apud Gauthier 2010, p. 238
- ↑ Daggett 1926, p. 270.
- ↑ 113.0 113.1 113.2 Gelardi 2005, pp. 282–83.
- ↑ Pakula 1984, p. 280.
- ↑ Daggett 1926, p. 282.
- ↑ Maria Pavlovna 1932, p. 16.
- ↑ Gelardi 2005, p. 297.
- ↑ Pakula 1984, p. 305.
- ↑ Gelardi 2005, pp. 274–78.
- ↑ 120.0 120.1 Gelardi 2005, p. 308.
- ↑ 121.0 121.1 121.2 Mandache 2011, pp. 152–53.
- ↑ Elsberry 1972, p. 178.
- ↑ Claudiu Alexandru Vitanos (2011). Imaginea României prin turism, târguri și expoziții universale, în perioada interbelică. Editura Mica Valahie. p. 149. ISBN 978-6-06-830440-3.
- ↑ Ilie, Cornel Constantin (November 2011). "Coroana reginei Maria". Istorie și Civilizație. 3 (26): 78. ISSN 2066-9429.
- ↑ Anghel, Costin (1 December 2007). "Încoronarea Regilor României Desăvărșite". Jurnalul Național (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
- ↑ Pakula 1984, p. 318.
- ↑ Anghel, Carmen; Ciobanu, Luminița (10 February 2011). "Regina Maria: Povestea vieţii mele". Jurnalul Național (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 17 December 2013.
- ↑ "The Queen of Roumania arrives in America". The Montreal Gazette. Montreal. 20 October 1926. p. 3.
{{cite news}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help) - ↑ Pakula 1984, p. 341.
- ↑ Elsberry 1972, p. 196.
- ↑ ""รัก"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-12. สืบค้นเมื่อ 2021-10-01.
- ↑ Rawson, Hugh; Miner, Margaret, บ.ก. (2006). The Oxford Dictionary of American Quotations. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-516823-5.
- ↑ Morris 1927, p. 13.
- ↑ Morris 1927, pp. 18–19.
- ↑ Morris 1927, p. 29.
- ↑ Morris 1927, p. 232.
- ↑ 137.0 137.1 Gelardi 2005, p. 327.
- ↑ "Reununciation of Prince Charles". The Age. Melbourne, Vic. 6 January 1926. p. 5.
{{cite news}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help) - ↑ Gelardi 2005, pp. 327–28.
- ↑ Gelardi 2005, pp. 329–30.
- ↑ Lee, Arthur Gould (1956). Helen, Queen Mother of Rumania, Princess of Greece and Denmark: An Authorized Biography. London: Faber and Faber. p. 121. OCLC 1485467.
- ↑ 142.0 142.1 Gelardi 2005, p. 332.
- ↑ 143.0 143.1 Mandache 2011, p. 152.
- ↑ "Ileana Engaged". The Outlook. 134 (7): 257–58. February 1930.
- ↑ Easterman 1942, pp. 86–87.
- ↑ Pakula 1984, p. 337.
- ↑ Hassel, Graham; Fazel, Seena (1998). "100 Years of the Bahá'í Faith in Europe". Bahá'í Studies Review. 8: 35–44.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Effendi, Shoghi (1991). The World Order of Baha'u'llah. Selected Letters. Wilmette, Ill.: Bahá'í Publishing Trust. p. 93. ISBN 0-87743-231-7.
- ↑ 149.0 149.1 Gelardi 2005, pp. 350–52.
- ↑ Elsberry 1972, p. 253.
- ↑ 151.0 151.1 Gelardi 2005, p. 352.
- ↑ Alexandra, Radu. "Castelul Bran, de la istorie la mit". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-21. สืบค้นเมื่อ 18 December 2013.
- ↑ Bousfield, Arthur; Toffoli, Garry (2002). The Queen Mother and Her Century. Toronto: Dundurn. p. 49. ISBN 1-55002-391-8.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Gelardi 2005, p. 363.
- ↑ 155.0 155.1 155.2 Gelardi 2005, pp. 363–64.
- ↑ 156.0 156.1 "Iubirile reginei Maria". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-19. สืบค้นเมื่อ 18 December 2013.
- ↑ Pakula 1984, p. 418.
- ↑ Pakula 1984, pp. 418–20.
- ↑ 159.0 159.1 Mihai, Dana (13 May 2013). "Inima reginei Maria vine la Peleş, în decorul şi atmosfera palatului de la Balcic". Adevărul (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 17 December 2013.
- ↑ Mandache 2011.
- ↑ Woolf, Virginia (1979). Women and Writing. New York: Harcourt, Inc. p. 198. ISBN 0-15-193775-3.
- ↑ Săndulescu, Al. (13 October 2004). "Jurnalul Reginei Maria". România literară (ภาษาโรมาเนีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 19 December 2013.
- ↑ Carter, Miranda (2009). The Three Emperors. London: Fig Tree. p. 124. ISBN 978-0-670-91556-9.
- ↑ Nelson, Michael (2007). Queen Victoria and the Discovery of the Riviera. London: Tauris. p. 127. ISBN 978-1-84511-345-2.
- ↑ Duca 1981, p. 153.
- ↑ 166.0 166.1 Lupşor, Andreea. "Regina Maria, între critică și laude în istoriografia comunistă". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
- ↑ Mandache, Diana (18 July 2013). "75 de ani de la moartea Reginei Maria". Adevărul (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 18 December 2013.
- ↑ Pădurean, Claudiu (5 November 2012). "Cine este regina care a devenit 'mama răniților'". România Liberă. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-17. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
- ↑ "Queen thinks Rumania will Battle Again". St. Petersburg Daily Times. 4 October 1918. p. 4.
{{cite news}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help) - ↑ Gelardi 2005, pp. 273–74.
- ↑ Mandache 2011, p. 151.
- ↑ Argetoianu, Constantin (1992). Pentru cei de mâine: Amintiri din vremea celor de ieri (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Humanitas. p. 109. ISBN 978-973-28-0224-3.
- ↑ "Order of the Cross of Queen Marie". medal-medaille.com. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
- ↑ "Kingdom of Romania: Order of the Queen Marie Cross". medals.org.uk. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
- ↑ "Royal Residence". Bran Castle. bran-castle.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-17. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
- ↑ "Colecțiile din Castelul Bran, mutate la Vama Medievală" (ภาษาโรมาเนีย). România Liberă. 17 March 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-07. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
- ↑ Barbu, Florina (15 October 2012). "Coroana Reginei Maria a atras sute de vizitatori" (ภาษาโรมาเนีย). Adevărul. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
- ↑ "Marie, Queen of Romania". Maryhill Museum of Art. maryhillmuseum.org. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
- ↑ Eilers 1987, p. 189.
- ↑ "No. 25495". The London Gazette. 28 July 1885. "No. 26184". The London Gazette. 20 July 1891.
- ↑ "No. 27489". The London Gazette. 28 October 1902.
- ↑ Heraldica – British Royalty Cadency
- ↑ Elsberry 1972, p. 147.
- ↑ Mandache 2011, p. 41.
- ↑ Marghiloman 1927, p. 131.
- ↑ Marghiloman 1927, p. 199.
- ↑ 187.0 187.1 187.2 187.3 "Prince Alfred". Land Forces of Britain, The Empire and The Commonwealth. [www.regiments.org Regiments.org]. 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 2007-12-30.
- ↑ GeneAll.net – Damas de la Real Orden de la Reina María Luisa
บรรณานุกรม
[แก้]- Aronson, Theo (1973). Grandmama of Europe. London: Cassell. ISBN 0-304-29063-7.
- Botoran, Constantin; Moisuc, Viorica (1983). România la Conferința de Pace de la Paris (ภาษาโรมาเนีย). Cluj-Napoca: Dacia. OL 18196100M.
- Ciubotaru, Ștefania (2011). Viața Cotidiană la Curtea Regală a României (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Cartex. ISBN 978-606-8023-13-7.
- Crawford, Donald (2011). The Last Tsar: Emperor Michael II. Edinburgh: Murray McLellan Limited. ISBN 978-0-9570091-1-0.
- Daggett, Mabel Potter (1926). Marie of Roumania. New York: George H. Doran & Co. OCLC 1075530.
- Duca, Ion G. (1981). Amintiri Politice. Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-28-0183-3.
- Easterman, Alexander Levvey (1942). King Carol, Hitler and Lupescu. London: V. Gollancz Ltd. OCLC 4769487.
- Eilers, Marlene A. (1987). Queen Victoria's Descendants. Baltimore: Genealogical Publishing Company. ISBN 0-8063-1202-5.
- Elsberry, Terence (1972). Marie of Romania. New York: St. Martin's Press. OCLC 613611.
- Gauthier, Guy (2010). Missy, Regina României (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-50-2621-9.
- Gelardi, Julia (2005). Born to Rule. London: St. Martin's Griffin. ISBN 978-0-312-32423-0.
- Giurescu, Ștefan (1972). Istoria României în Date (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Editura Enciclopedică. OCLC 637298400.
- Horedt, Kurt (1958). Contribuţii la istoria Transilvaniei în secolele IV-XIII (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Editura Academiei Republicii Populare Romîne.
- Hupchik, Dennis (1995). Conflict and Chaos in Eastern Europe. New York: Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-312-12116-7.
- Mandache, Diana (May 2001). "The Marriage of Princess Marie of Edinburgh and Ferdinand, the Crown Prince of Romania". Royalty Digest. 10 (119): 333–38. ISSN 0967-5744.
- Mandache, Diana (2011). Later Chapters of My Life: The Lost Memoir of Queen Marie of Romania. Gloucestershire: Sutton. ISBN 0-7509-3691-6.
- Marghiloman, Alexandru (1927). Note politice, 1897–1924. Bucharest: Institutul de Arte Grafice "Eminescu". OCLC 23540746.
- Maria Pavlovna of Russia (1932). A Princess in Exile. New York: Viking. OCLC 1372354.
- Marie, Queen of Romania (1990). Povestea Vieții Mele (ภาษาโรมาเนีย). Vol. 1. Iași: Moldova. ISBN 973-9032-01-X.
- Marie, Queen of Romania (1991). Povestea Vieții Mele (ภาษาโรมาเนีย). Vol. 2. Bucharest: Eminescu. ISBN 973-22-0214-9.
- Marie, Queen of Romania (1991). Povestea Vieții Mele (ภาษาโรมาเนีย). Vol. 3. Bucharest: Eminescu. ISBN 973-22-0215-7.
- Marie, Queen of Romania (2004). Însemnări Zilnice. Bucharest: Albatros. ISBN 978-973-24-0323-5.
- Morris, Constance Lily (1927). On Tour with Queen Marie. New York: Robert M. McBride & Co. OCLC 2048943.
- Pakula, Hannah (1984). The Last Romantic. New York: Simon and Schuster. ISBN 0-671-46364-0.
- Pope-Hennessy, James (1959). Queen Mary, 1867–1953. London: G. Allen and Unwin. OCLC 1027299.
- Rattigan, Frank (1924). Diversions of a Diplomat. London: Chapman and Hall Ltd. OCLC 11319209.
- Saint-Aulaire, Auguste Félix de Beaupoil, Count of (1953). Confession d'un Vieux Diplomate (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Flammarion. OCLC 3450664.
- Sullivan, Michael John (1997). A Fatal Passion: The Story of the Uncrowned Last Empress of Russia. New York: Random House. ISBN 0-679-42400-8.
- Van der Kiste, John (1991). Princess Victoria Melita. Gloucestershire: Sutton. ISBN 0-7509-3469-7.
- Veiga, Francisco (1995). Istoria Gărzii de Fier 1919–1941, Mistica Ultranaționalismului. Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-28-0392-9.
- Wolbe, Eugen (2004). Ferdinand I Întemeietorul României Mari. Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-50-0755-3.
เว็บไซต์อ้างอิง
[แก้]- Queen Marie of Romania เก็บถาวร 2013-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, a resource for articles and novels about Marie.
- Marie of Romania ที่ไฟน์อะเกรฟ
- British Pathé has made available several newsreels depicting Marie of Romania: 1914 เก็บถาวร 2011-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1917 เก็บถาวร 2011-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1924 เก็บถาวร 2011-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1930 เก็บถาวร 2011-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1930 เก็บถาวร 2011-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1931 เก็บถาวร 2011-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1932 เก็บถาวร 2011-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1938 เก็บถาวร 2011-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Royal Romania, Diana Mandache's official blog.
- Ducal House of Saxe-Coburg-Gotha เก็บถาวร 2008-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Royal House of Great Britain เก็บถาวร 2009-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Royal House of Romania เก็บถาวร 2007-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Princely House of Hohenzollern เก็บถาวร 2008-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Maria, Queen of Romania (1875-1938)
- Queen Marie of Romania
- Find A Grave
- Maria`s palace in Balchik, Bulgaria
ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนีย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งวีด | สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย (ราชวงศ์โฮเฮนโซเลน-ซิกมารินเกน) (10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 – 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927) |
ว่าง หรือ เจ้าหญิงแอนน์แห่งบูร์บง-ปาร์มา (ผู้อ้างสิทธิ) (ตั้งแต่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2491) | ||
วิลเลียม สปูเล | บุคคลบนปกนิตยสารไทม์ (4 สิงหาคม ค.ศ. 1924) |
จอห์น เจ. เพรสชิง |
- บทความคัดสรร
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2418
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2481
- ราชินีแห่งโรมาเนีย
- ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
- บุคคลจากเทศมณฑลเคนต์
- เจ้าหญิงโรมาเนีย
- ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงิน
- พระราชนัดดาในพระราชินีวิกตอเรีย
- สมเด็จพระราชินี
- เจ้าหญิงอังกฤษ
- ผู้ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์
- นักจดบันทึกประจำวันชาวโรมาเนีย
- นักจดบันทึกประจำวันหญิง
- พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย