อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน | |
---|---|
อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน | |
ที่ตั้ง | ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย |
เมืองใกล้สุด | แม่สาย (8 กิโลเมตร)[1] |
พิกัด | 20°22′54″N 99°52′01″E / 20.38167°N 99.86694°E |
พื้นที่ | 12,000 ไร่ (19.2 ตร.กม.)[2] |
จัดตั้ง | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529[2] |
หน่วยราชการ | สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ตั้งอยู่ในตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ 12,000 ไร่ จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 โดยกรมป่าไม้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาขนาดใหญ่หลายลูกติดต่อกัน มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร และลาดชันมาทางทิศตะวันออก มีความยาวถ้ำประมาณ 10.3 กม. และความยาวถ้ำเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย[1][3]
อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมีอาณาเขตติดต่อกับดอยจ้องและห้วยน้ำจองทางทิศเหนือ ติดต่อกับดอยผู้เฒ่าและห้วยน้ำค้างทางทิศใต้ ติดต่อกับภูเขาลูกใหญ่ซึ่งทอดมาจากประเทศพม่าทางทิศตะวันตก และทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบพื้นที่เกษตรกรรมและตั้งถิ่นฐาน วนอุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงราย และตัวอำเภอแม่สาย 60 กิโลเมตรและ 8 กิโลเมตรตามลำดับ[1]
ประวัติ
[แก้]อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้รับการจัดตั้งเป็นเขตอุทยานคุ้มครองของอย่างเป็นทางการของประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529
ปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวง พ.ศ. 2561
[แก้]ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย อายุระหว่าง 11-16 ปี 12 คน และผู้ช่วยผู้ฝึกสอน อายุ 26 ปี 1 คน รวมทั้งหมด 13 คน ได้สูญหายไปในถ้ำหลวง ทางเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนระดับประเทศจึงเริ่มปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง โดยเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าทั้งหมดได้เข้าไปในถ้ำหลวงและไม่สามารถกลับออกมาได้เนื่องจาก หลังจากทั้ง 13 คนเข้าไปในถ้ำหลวงในขณะนั้นมีฝนตกหนัก และทำให้น้ำฝนไหลเอ่อเข้าท่วมถ้ำตามเส้นทางน้ำภายในถ้ำ จากทั้งดอยผาหมี จากปากทางเข้าถ้ำ รวมไปถึงรอยแยกบนเขาและสันเขาจนท่วมเอ่อบริเวณที่เป็นเหวหรือจุดต่ำสุดของถ้ำที่ทั้ง 13 คนต้องเดินทางผ่าน และน้ำได้ท่วมปิดทางออก จึงทำให้ทั้ง 13 คนออกมาไม่ได้ โดยทางเจ้าหน้าที่มีหลักฐานเป็นจักรยานหลายคันที่จอดไว้บริเวณปากถ้ำรวมทั้งสัมภาระและรองเท้าหลายชิ้นที่พบทิ้งไว้ในถ้ำ จึงสันนิษฐานว่าทั้งหมดยังคงติดอยู่ในถ้ำ[4] หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการตามหาโดยระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นวงกว้าง[5][6][7]
และเวลาประมาณ 21.43 น. ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้แถลงอย่างเป็นทางการว่า พบผู้ประสบเหตุแล้วทั้ง 13 ชีวิต รวมภารกิจเป็นเวลา 9 วัน 5 ชั่วโมง 41 นาที ซึ่งพบทั้ง 13 ชีวิตทุกคนปลอดภัย แต่ยังไม่สามารถช่วยเหลืออกมาได้ในทันทีในขณะนั้น และในวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 เป็นวันแรกที่ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวงนำผู้ประสบภัยออกจากถ้ำได้คนแรกเมื่อเวลา 17.40 น.[8]
นิเวศวิทยา
[แก้]ป่าภายในอุทยานเป็นป่าเบญจพรรณค่อนข้างสมบูรณ์ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก เต็ง รัง เหียง พลวง ประดู่ มะค่า ตะเคียน ยอป่า และมีไผ่ขึ้นตลอดทางตามแนวลำธาร สัตว์ป่าที่พบได้แก่ หมูป่า เก้ง กระจงเล็ก กระแตเหนือ กระรอก พังพอน ค้างคาว ปูดอกข้อแดง[9] รวมถึงช้าง เสือดาว กวาง และอีเห็น นกที่พบได้แก่ นกกระยาง นกกะปูด นกโพระดกคอสีฟ้า นกยูง ไก่ป่า เหยี่ยวและนกกระจิบหลายชนิด เช่น นกกระจิบคอดำ[1]
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]ถ้ำหลวง
[แก้]ถ้ำหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำจำ ตำบลโป่งผา เป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ มีความยาวรวมทั้งสิ้น 10,316 เมตร (สำรวจโดย SMCC, BEC, Unsworth ระหว่างปี พ.ศ. 2557–2559[10]) ถือเป็นถ้ำที่มีความยาวมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย[11] ปากถ้ำเป็นโถงกว้างและสูงกว่าโถงถ้ำแรก ภายในถ้ำสามารถพบเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำ ถ้ำลอด และถ้ำแขนง แนวโถงถ้ำมีเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเข้าถึงง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่น (ripple mark) ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (tension crack) รอยระดับน้ำ หลุมยุบ โพรงเพดานถ้ำ และรอยแตกของผนัง ถือเป็นถ้ำที่มีความเหมาะสมในเชิงการศึกษาวิจัย[12]
โดยปกติถ้ำหลวงจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เฉพาะช่วงหน้าแล้ง (เดือนธันวาคม–มิถุนายน) และปิดในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม-พฤศจิกายน[13][14][15]) เนื่องจากมีน้ำไหลผ่านหรือเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของถ้ำ
พันธุ์พืชหลักที่พบในบริเวณถ้ำได้แก่ เสี้ยว ผีเสื้อ แดงดง (Walsura robusta) ค้างคาว (Aglaia edulis) และขี้เหล็กเทศ
โดยผีเสื้อและแดงดงเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ส่วนเสี้ยวแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก ส่วนในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาว[12]
ขุนน้ำนางนอน
[แก้]ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ที่บ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อยู่ห่างจากถ้ำหลวง (และสำนักงานฯ) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีลำธารที่ไหลออกมาจากรอยแยกของหินใต้ภูเขาหินปูน ซึ่งได้ทำฝายขนาดเล็กกั้นไว้จนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดพื้นที่ 3 ไร่ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งศึกษาธรรมชาติ และดูนก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (วน.) (Tham Luang - Khun Nam Nang Non), สำนักอุทยานแห่งชาติ, สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561
{{citation}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 รายชื่อวนอุทยานในประเทศไทย (PDF), สำนักอุทยานแห่งชาติ, สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561
{{citation}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ cave & caving in thailang รายชื่อถ้ำตามลำดับความลึก
- ↑ "เปิดคลิป เด็ก 12 ชีวิตทีม 'หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย' ซ้อมบอลก่อนหายตัวในถ้ำ". ไทยรัฐออนไลน์. 24 มิถุนายน 2561.
- ↑ "แรงใจโซเชียล"ช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงปลอดภัย". ไทยพีบีเอส. 26 มิถุนายน 2561.
- ↑ "สื่อทั่วโลก!! เกาะติดปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย". สปริงนิวส์. 27 มิถุนายน 2561.
- ↑ "สื่อนอกเกาะติดปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง". โพสทูเดย์. 27 มิถุนายน 2561.
- ↑ ด่วน! เจอทั้ง 13 ชีวิตในถ้ำหลวงแล้ว ทุกคนปลอดภัย-เร่งนำตัวออกมา
- ↑ เชียงราย-สำรวจ"ปูดอก"สัตว์อนุรักษ์หายากในวนอุทยานขุนน้ำฯ[ลิงก์เสีย], ch3thailand.com, 22 สิงหาคม 2559, สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561
- ↑ Tham Luang เก็บถาวร 2019-04-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, thailandcaves.shepton.org.uk
- ↑ Longest caves in Thailand, thailandcaves.shepton.org.uk, สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561
- ↑ 12.0 12.1 ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน - เชียงราย, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-05, สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561
{{citation}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ถ้ำหลวงจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เฉพาะช่วงหน้าแล้ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-30. สืบค้นเมื่อ 2018-07-04.
- ↑ ถ้ำหลวงจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เฉพาะช่วงหน้าแล้ง
- ↑ "วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-06. สืบค้นเมื่อ 2018-07-04.