ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารอาเมียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารอาเมียง)
อาสนวิหารแม่พระแห่งอาเมียง
ทัศนียภาพจากภายนอก
แผนที่
49°53′40″N 2°18′07″E / 49.89444°N 2.30194°E / 49.89444; 2.30194
ที่ตั้งอาเมียง จังหวัดซอม
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์http://catholique-amiens.cef.fr/
สถานะอาสนวิหาร
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอธิก
แล้วเสร็จค.ศ. 1269
ความสูงอาคาร112.7 เมตร (370 ฟุต)
(บริเวณยอดสูงสุด)
56 เมตร (184 ฟุต)
(หลังคาด้านนอก)
ขนาดอื่น ๆยาว 145 เมตร (476 ฟุต)
กว้าง 30.65 เมตร (100.6 ฟุต)
พื้นที่ใช้สอย7,700 ตารางเมตร
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์(ค.ศ. 1840)
มรดกโลก (ค.ศ. 1981)
อาสนวิหารอาเมียง *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ด้านหน้าอาสนวิหารอาเมียงแสดงให้เห็นประตูด้านหน้าสามประตู รูปปั้นตกแต่ง หน้าต่างกุหลาบ และหอกระหนาบสองด้าน
ประเทศ ฝรั่งเศส
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i) (ii)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2524 (คณะกรรมการสมัยที่ 5)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
รูปสลักนักบุญด้านหน้าอาสนวิหาร

อาสนวิหารอาเมียง (ฝรั่งเศส: Cathédrale d'Amiens) มีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระแห่งอาเมียง (Cathédrale Notre-Dame d'Amiens) เป็นอาสนวิหารที่สูงที่สุดในประเทศฝรั่งเศส มีฐานะเป็นอาสนวิหารประจำมุขมณฑลอาเมียง มีเนื้อที่ภายในกว้างใหญ่ถึง 200,000 ตารางเมตร หลังคาโค้งกอทิกสูง 42.30 เมตรซึ่งเป็นหลังคาแบบกอทิกที่สูงที่สุดในฝรั่งเศส ตัวอาสนวิหารตั้งอยู่ที่เมืองอาเมียงซึ่งเป็นเมืองสำคัญของแคว้นโอดฟร็องส์ในหุบเขาซอม ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร

ประวัติ

[แก้]

ด้านหน้าโบสถ์สร้างครั้งเดียวเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 1220 ถึง ค.ศ. 1236 ลักษณะจึงกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตอนล่างสุดของด้านหน้าโบสถ์เป็นประตูเว้าลึกใหญ่สามประตู เหนือระดับประตูขึ้นไปชั้นหนึ่งเป็นหินสลักขนาดใหญ่กว่าองค์จริงของพระเจ้าแผ่นดิน 22 พระองค์เรียงเป็นแนวตลอดด้านหน้าอาสนวิหารภายใต้หน้าต่างกุหลาบ สองข้างด้านหน้าประกบด้วยหอใหญ่สองหอ หอด้านใต้สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1366 หอทางทิศเหนือสร้างเสร็จ 40 ปีต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1406 และเป็นหอที่สูงกว่า

เอกสารที่เกี่ยวกับประวัติการสร้างอาสนวิหารนี้ถูกทำลายไปหมดเมื่อสถานที่เก็บรักษาเอกสารสำคัญของโบสถ์ถูกไฟไหม้ไปเมื่อปีค.ศ. 1218 และอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1258 ครั้งหลังนี้ไฟได้ทำลายตัวอาสนวิหารด้วย ต่อมามุขนายกเอวราร์ เดอ ฟูยี เริ่มสร้างอาสนวิหารใหม่แทนอาสนวิหารเดิมที่ไหม้ไปเมื่อ ค.ศ. 1220 โดยมีรอแบร์ เดอ ลูซาร์ช เป็นสถาปนิก และลูกชายของรอแบร์ คือ เรอโน เดอ กอร์มง เป็นสถาปนิกต่อมาจนถึง ค.ศ. 1288

จดหมายเหตุกอร์บี (Chronicle of Corbie) บันทึกไว้ว่าอาสนวิหารสร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1266 แต่ก็ยังมีการปิดงานต่อมา พื้นโถงกลางภายในอาสนวิหารตกแต่งเป็นลวดลายต่าง ๆ หลายชนิดรวมทั้งลายสวัสดิกะ[1][ลิงก์เสีย] ลายวนเขาวงกต (labyrinth) ซึ่งปูเมื่อปีค.ศ. 1288 นอกจากนั้นก็มีระเบียงรูปปั้นไม่ใหญ่นัก 3 ระเบียง 2 ระเบียงอยู่ด้านเหนือและด้านใต้ของบริเวณร้องเพลงสวด และระเบียงที่ 3 อยู่ทางด้านตะวันเหนือของแขนกางเขน เป็นเรื่องราวของนักบุญต่าง ๆ รวมทั้งชีวประวัติของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา อาสนวิหารกล่าวว่าเป็นเจ้าของเรลิกชิ้นสำคัญคือศีรษะของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ซึ่งวัดได้มาจากวาลง เดอ ซาร์ตง ผู้ไปนำมาจากคอนสแตนติโนเปิล เมื่อกลับมาจากสงครามครูเสดครั้งที่ 4

รูปปั้นด้านหน้าข้างประตูอาสนวิหารที่บอกได้ว่าเป็นนักบุญที่มาจากแถว ๆ อาเมียงก็ได้แก่ นักบุญวิกตอริกุส, ฟุสกิอัน และแก็นติอัน มรณสักขีไม่นานจากกันในคริสต์ศตวรรษที่ 3 กล่าวกันว่าเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 มุขนายกฮอโนราตุส ผู้เป็นมุขนายกองค์ที่ 7 ของอาสนวิหารอาเมียงได้ขุดพบเรลิกของนักบุญทั้งสาม เมื่อพระเจ้าชีลเดอแบร์ที่ 2 แห่งปารีส พยายามยึดเรลิกก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อไม่สามารถทำได้ก็ทรงอุทิศเงินก้อนใหญ่ให้กลุ่มลัทธิของผู้นิยมนักบุญทั้งสามและทรงส่งช่างทองมาทำเครื่องตกแต่งเพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญ[1]

นักบุญอื่นที่เป็นนักบุญท้องถิ่นที่มีรูปปั้นอยู่หน้าประตูคือนักบุญดอมิสในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ผู้เคยเป็นนักบวชที่อาสนวิหาร นักบุญอูลฟ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของนักบุญอูลฟ์และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มสตรีผู้เคร่งศาสนาในบริเวณอาเมียง นักบุญเฟร์มินในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ผู้ถูกประหารชีวิตที่อาเมียง[2]

ประตูด้านหน้าอาสนวิหารและหน้าบัน

[แก้]
ประตูใหญ่สามประตูด้านหน้า -- ซ้ายประตูนักบุญเฟร์มิน กลางประตูการตัดสินครั้งสุดท้าย ขวาประตูพระแม่มารีย์
แสดงรูปสลักเหนือประตูกลาง รูปวัดตัดสินสุดท้ายที่มีพระเยซูกลับมาเป็นประธานล้อมรอบด้วยแนวรูปปั้นใหญ่สองข้างและรูปปั้นเล็กรายรอบโค้งแหลมเหนือรูปสลักใหญ่

ประตูทางเข้าอาสนวิหารด้านหน้าเป็นประตูใหญ่สามประตูเว้าลึกเข้าไปในตัวอาสนวิหาร เหนือแต่ละประตูตกแต่งมีภาพแกะสลักใหญ่ที่หน้าบัน ล้อมเป็นกรอบสองข้างประตูรายด้วยรูปแกะสลักใหญ่กว่าคนของนักบุญและศาสดายืนบนแท่นที่ภายใต้ฐานที่มีผู้แบกเล็ก ๆ อยู่ กรอบด้านบนโค้งเป็นรูปสลักเล็ก ๆ เรียงเป็นแนว

ประตูที่สำคัญที่สุดเป็นรูปสลักเมื่อพระเยซูทรงกลับมาเป็นประธานในการตัดสินครั้งสุดท้าย (Resurrection of the Body และ Last Judgement) กลางรูปจะเป็นพระเยซูทรงนั่งเป็นประธานในการเลือกว่าผู้ใดจะได้เลือกขึ้นสวรรค์และผู้ใดจะถูกส่งลงนรก สองข้างพระองค์จะมีพระแม่มารีย์และยอห์นอัครทูต และทูตสวรรค์ถืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน และหมู่ทูตสวรรค์ ในวันการตัดสินครั้งสุดท้าย มนุษย์ทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลกก็ฟื้นขึ้นมาจากหลุมศพเพื่อจะได้ถูกตัดสิน ผู้ที่ได้เลือกขึ้นสวรรค์ก็จะมีหน้าตาอิ่มเอิบมีนางฟ้าเทวดารอรับอยู่ กลุ่มนี้เรียกว่า "the Elect" อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกส่งลงนรกจะเรียกว่า "the Damned" กลุ่มหลังนี้ประติมากรแกะภาพสยดสยองต่างของผู้ตกนรกที่ถูกไล่เสียบแทงโดยปีศาจอสุรกายต่าง ๆ[1][3]

ประตูที่ด้านขวาเป็นประตูเทิดพระเกียรติพระแม่มารีย์ ตรงกลางเป็นรูปพระแม่มารีย์ห่มผ้ายาวอุ้มพระเยซูในมือซ้าย มือขวายื่นออกไปราวจะต้อนรับผู้มีศรัทธาเข้าสู่โบสถ์ ประตูด้านซ้ายเป็นประตูนักบุญเฟร์มินซึ่งเป็นนักบุญท้องถิ่น[1]

ทุกปีทางโบสถ์จะจัดให้มีการแสดงแสงเสียงด้านหน้าวัดที่น่าประทับใจโดยการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโบสถ์ ที่น่าสนใจที่สุดก็คือการแสดงแสงสีเสียงที่พยายามแสดงให้เห็นว่าหน้าโบสถ์ยุคกลางที่เคยเป็นสีสันฉูดฉาดซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงสีหินธรรมชาติเรียบ ๆ เป็นอย่างไร

อาสนวิหารอาเมียงได้รับเลือกโดยยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1981

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "ด้านหน้าอาสนวิหารอาเมียง (Columbia.edu)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.
  2. "ด้านหน้าอาสนวิหารอาเมียง (Columbia.edu)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.
  3. "The Portals, Access to Redemption by Professor Stephen Murray (ประตูอาสนวิหารโดยศาสตราจารย์ สตีเวน เมอร์รีย์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

สมุดภาพ

[แก้]