ข้ามไปเนื้อหา

พระไตรปิฎกภาษาบาลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปรากฏพระพุทธดำรัสในมหาปรินิพพานสูตรว่า "เมื่อทรงปรินิพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่ได้ทรงสั่งสอนไว้แล้ว จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย"[1]

พระไตรปิฎกภาษาบาลี[2] หรือ พระบาลี (บาลี: Tipiṭaka; สิงหล: ත්‍රිපිටකය; เทวนาครี: त्रिपिटक; อังกฤษ: Pali Canon) เป็นพระไตรปิฎกของนิกายเถรวาท คำว่าพระไตรปิฎกมาจากภาษาบาลี ติปิฏก แปลว่า ตะกร้าสามใบ หรือคำสอนสามหมวด (ติ หมายถึง สาม ปิฏก หมายถึง ตำรา คัมภีร์ หรือกระจาด) สันนิษฐานว่าที่มาของคำว่าพระไตรปิฎกน่าจะมาจากการที่พระภิกษุจดจารึกคัมภีร์ใส่ลงในใบตระกูลปาล์มและใส่ลงในตะกร้า ถ้าอาศัยหลักฐานทางวิชาการ เชื่อว่าไตรปิฎกเป็นชื่อที่ใช้กันมาก่อนจะสังคายนาครั้งที่ 3 เพราะมีการใช้คำพูดว่า "ไตรปิฎก" ในประวัติศาสตร์ยุคพระเจ้าอโศกก่อนการสังคายนาครั้งที่ 3 จึงเชื่อได้ว่าหลังสังคายนาครั้งที่ 2 พระสงฆ์มีการแยกพระอภิธรรมออกจากพระสูตรแล้วเมื่อสังคายนาครั้งที 3 จึงแยกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริง ซึ่งคำสอนสามหมวดนี้ ได้แก่

  • พระวินัยปิฎก หรือ พระวินัย ได้แก่ประมวลระเบียบข้อบังคับของบรรพชิตที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุและภิกษุณี
  • พระสุตตันตปิฎก หรือ พระสูตร ได้แก่ประมวลพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยังที่ต่าง ๆ ให้เหมาะกับบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ มีเรื่องราวประกอบ
  • พระอภิธรรมปิฎก หรือ พระอภิธรรม ได้แก่ประมวลคำสอนที่เป็นหลักวิชาการล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่มีเรื่องราวประกอบ

พระไตรปิฎกมีเนื้อหารวมทั้งสิ้น 84,000 ธรรมขันธ์ ฉบับพิมพ์ภาษาไทยนิยมจัดแยกเป็น 45 เล่ม เพื่อหมายถึงระยะเวลา 45 พรรษาแห่งพุทธกิจ

พระโคตมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า พระธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ภายหลังที่พระองค์ล่วงลับไปแล้ว[3] พระไตรปิฎกจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์ และเป็นที่ที่ชาวพุทธสามารถเข้าเฝ้าพระศาสดาของตน [4] พุทธศาสนิกชนสามารถศึกษาปริยัติธรรมจากพระไตรปิฎก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้พ้นจากทุกข์ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามนัยแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป

พระไตรปิฎกมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า ออกเป็นหมวดหมู่ และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว ในระยะแรก พระไตรปิฎกถ่ายต่อกันมาโดยการท่องจำปากเปล่า จนกระทั่งราว พ.ศ. 460 จึงมีการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาสืบทอดมาพร้อมกับพระไตรปิฎก จากสมัยพุทธกาลจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2,500 ปี พระไตรปิฎกบาลีของฝ่ายเถรวาท เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด ดั้งเดิมที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และถูกต้องแม่นยำที่สุด ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

หมวดหมู่ในพระไตรปิฎก

[แก้]

ในพระไตรปิฎก นอกจากจะเป็นที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังได้จัดหมวดหมู่คำสอนเหล่านั้นให้เป็นระเบียบพร้อม ๆ กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการท่องจำ ความง่ายต่อการแบ่งหน้าที่รักษา และความไม่ลำบากในการศึกษาค้นคว้า

คำสอนทั่วไปในพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น วินัย และ ธรรม โดย วินัย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบัญญัติของคณะสงฆ์ สำหรับเป็นข้อบังคับในการปฏิบัติตัวของผู้ออกบวชเท่านั้น ส่วน ธรรม เป็นคำสอนที่ครอบคลุมพุทธบริษัททั้งหมด ซึ่งสามารถแยกได้อีกเป็นสองชนิด คือ

  • ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ โต้ตอบกับบุคคลต่าง ๆ เป็นเรื่อง ๆ ในแต่ละเรื่องจะเรียกว่า สุตตะ หรือ สูตร หนึ่ง ๆ ในพระไตรปิฎกจะรวบรวมธรรมแบบนี้ไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า สุตตันตะ หรือ พระสูตร
  • ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามเนื้อหา ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นวิชาการล้วน ๆ เช่น เมื่อยกเรื่องขันธ์ 5 มา ก็อธิบายโดยละเอียดว่าขันธ์ 5 คืออะไร แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร จนจบเรื่องขันธ์ 5 ธรรมที่แสดงเอาเนื้อหาเป็นหลักอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกจะจัดอยู่ในประเภท อภิธัมมะ หรือ พระอภิธรรม

เมื่อรวม พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก เข้าด้วยกัน ก็จะเกิดสามหมวดหมู่ใหญ่ ประกอบกันได้กลายเป็นพระไตรปิฏก

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

[แก้]

สมัยพุทธกาล

[แก้]
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ

การรวบรวมคำสอนของพระพุทธศาสนาเริ่มมีขึ้นเมื่อครั้งที่นิครนถนาฏบุตร ศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตลง และสาวกของท่านไม่ได้เก็บรวบรวมคำสอนไว้ ทำให้เหล่าผู้นับถือศาสนาเชนจึงเกิดการแตกแยก และถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วศาสดาของตนสอนไว้เช่นไร พระจุนทเถระทราบเรื่องจึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวงร่วมกันทำสังคายนา[5] เพื่อรักษาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป[6]

เมื่อพระสารีบุตรทราบถึงเรื่องราวปัญหาของศาสนาเชน ก็ได้แสดงวิธีสังคายนาไว้เป็นตัวอย่างต่อหน้าที่ประชุมคณะสงฆ์ โดยรวบรวมข้อธรรมต่าง ๆ ให้อยู่ตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ เมื่อพระสารีบุตรแสดงธรรมจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานสาธุการแก่หลักธรรมที่พระสารีบุตรแสดงไว้[7]

ทั้งนี้ ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพระไตรปิฎก แต่ก็มีคำเรียกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า พฺรหฺมจริย หรือพรหมจรรย์[8] และ ธมฺมวินย หรือธรรมวินัย

ปฐมสังคายนา

[แก้]

การทำสังคายนาครั้งแรก เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 3 เดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู โดยมีพระมหากัสสปเถระทำหน้าที่เป็นประธาน และเป็นผู้คอยซักถาม มีพระอุบาลีเป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อวินัย และมีพระอานนท์เป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อธรรม การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระอรหันต์มาประชุมร่วมกันทั้งหมด 500 รูป ดำเนินอยู่เป็นเวลา 7 เดือน จึงเสร็จสิ้น

มูลเหตุในการทำสังคายนาครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อพระมหากัสสปเถระทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าหลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน บรรดาลูกศิษย์พระมหากัสสปเถระ เมื่อได้ทราบข่าวต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญ แต่มีภิกษุอยู่รูปหนึ่งชื่อสุภัททะ ซึ่งเป็นภิกษุแก่ กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะร้องไห้กันไปทำไม เมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ พระองค์ทรงเข้มงวดกวดขัน คอยชี้ว่านี่ถูก นี่ผิด นี่ควร นี่ไม่ควร ทำให้พวกเราลำบาก บัดนี้พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พวกเราจะได้ทำอะไรตามใจชอบเสียที เมื่อพระมหากัสสปเถระได้ฟังดังนี้ก็รู้สึกสลดใจ ดำริว่าแม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปใหม่ๆ ยังปรากฏผู้มีใจวิปริตจากธรรมวินัยถึงเพียงนี้ ถ้าปล่อยไว้นานเข้า คำสอนทางพระพุทธศาสนาอาจถูกบิดเบือนไปได้ จึงริเริ่มวางแผนการทำสังคายนา

คัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎกเถรวาท
๔๕ เล่ม

    พระวินัยปิฎก    
   
                                       
คัมภีร์
สุตตวิภังค์
คัมภีร์
ขันธกะ
คัมภีร์
ปริวาร
               
   
    พระสุตตันตปิฎก    
   
                                                      
คัมภีร์
ทีฆนิกาย
คัมภีร์
มัชฌิมนิกาย
คัมภีร์
สังยุตตนิกาย
                     
   
   
                                                                     
คัมภีร์
อังคุตตรนิกาย
คัมภีร์
ขุททกนิกาย
                           
   
    พระอภิธรรมปิฎก    
   
                                                           
สงฺ วิภงฺ ธา
ปุ.
กถา ยมก ปัฏฐานปกรณ์
                       
   
         

การสังคายนาครั้งที่สอง

[แก้]

การทำสังคายนาครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 100 ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสะ กากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน พระเถระผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ได้แก่ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาจีนกะ) พระเรวตะ พระสัมภูตะ สาณวาสี พระยสะ กากัณฑกบุตร และพระสุมนะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาฐา) ในการนี้พระเรวตะทำหน้าที่เป็นประธานผู้คอยซักถาม และพระสัพพกามีเป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อวินัย การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 8 เดือน จึงเสร็จสิ้น

ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พระยสะ กากัณฑกบุตร พบเห็นข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการทางพระวินัยของภิกษุวัชชีบุตร เช่น ควรเก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อรับประทานได้ ควรฉันอาหารยามวิกาลได้ ควรรับเงินทองได้ เป็นต้น พระยสะ กากัณฑกบุตรจึงชวนพระเถระต่างๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดครั้งนี้

โดยรายละเอียดของปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่สอง มีกล่าวถึงในพระวินัยปิฎก จุลลวรรค แม้ในวินัยปิฎกจะไม่กล่าวถึงคำว่าพระไตรปิฎกในการปฐมสังคายนา และการสังคายนาครั้งที่สองเลย แต่ในสมันตัปปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายวินัยปิฎกนั้น บอกว่าการจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธศาสนา ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างพระไตรปิฎกนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนาแล้ว

การสังคายนาครั้งที่สาม

[แก้]

การทำสังคายนาครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 235 ที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย โดยมีพระโมคคลีบุตร ติสสเถระ เป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 1,000 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 9 เดือน จึงเสร็จสิ้น

ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ มีพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ จึงได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อกำจัดความเห็นของพวกเดียรถีย์ออกไป

ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมไว้ด้วย และเมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็มีการส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ในที่นี้มีพระมหินทเถระ ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่นำพระพุทธศานาไปประดิษฐานในลังกา รวมทั้งพระโสณะเถระและพระอุตตระเถระ ที่นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิด้วย

การสังคายนาครั้งที่สี่

[แก้]

การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 643 ที่เมืองชาลันธร แต่บางหลักฐานก็กล่าวว่าทำที่กัศมีร์หรือแคชเมียร์ การสังคายนาครั้งนี้มีลักษณะของศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้ามาผสม ทำให้ฝ่ายเถรวาทไม่นับว่าเป็นหนึ่งในการสังคายนา

การสังคายนาครั้งที่ห้า

[แก้]

การสังคายนาครั้งนี้ กระทำเมื่อ พ.ศ. 460 ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ลังกาทวีป เหตุเพราะพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้า กุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถานในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อพุทธศักราช ๔๕๐ โดยพระเจ้าวัฎฎคามณีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก ถึงแม้ว่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดความแตกแยกขึ้นในคณะสงฆ์ลังกาทวีปในด้านทิฏฐิ แต่ทางวินัยต่างฝ่ายต่างก็พร้อมกันรักษาดีอยู่อย่างน่าสรรเสริญ     บางคัมภีร์ว่า สังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นในความคุ้มครองของคนที่เป็นใหญ่ในท้องถิ่น

ปัญหาการนับครั้งการสังคายนา

[แก้]

การนับครั้งการสังคายนามีความแตกต่างกันในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นอกจากนี้ แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันเองก็ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

  • ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกระทำเมื่อ พ.ศ. 2408 โดยการสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น
  • ประเทศพม่า นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาครั้งที่ 2 ที่ลังกาเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศพม่า และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้าย หรือครั้งที่ 6 ในพม่า มีชื่อเรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 การทำสังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยได้เชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะจากประเทศ พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา
  • ประเทศไทย นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ 1-2 ที่ลังกา แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนา ของสมเด็จพระวันรัต ได้นับเพิ่มอีก 4 ครั้ง คือ

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร . พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[1]. เข้าถึงเมื่อ 9-7-52
  2. เสถียร โพธินันทะ, ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์, มรดกธรรมของเสถียร โพธินันทะ, 2548, หน้า 82-3
  3. โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา
    ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป
    (สุตตันตปิฎก ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ 141)
  4. โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ
    ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
    (สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สังฆาฎิสูตร ข้อ 272)
  5. การทำสังคายนา คือการรวบรวมคำสอนทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ พร้อมจัดหมวดหมู่ให้จดจำได้ง่าย และซักซ้อมทบทวน สวดสาธยายพร้อมกันเพื่อเป็นแบบแผนในการทรงจำสืบต่อมา โดยคำว่า สังคายนา หรือ สังคีติ นี้ เป็นภาษาบาลี แปลว่า สวดพร้อมกัน (สํ หมายถึง พร้อมกัน คายน หรือ คีติ หมายถึง การสวด)
  6. เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ใน ปาสาทิกสูตร (สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
  7. เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ใน สังคีติสูตร (สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
  8. จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ
    ภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง (สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

www.Google.go.th

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]