ข้ามไปเนื้อหา

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

พิกัด: 13°44′55″N 100°29′53″E / 13.748702°N 100.497952°E / 13.748702; 100.497952
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระพุทธอังคีรส)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชบพิธ
ที่ตั้ง2 ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระประธานพระพุทธอังคีรส
พระพุทธรูปสำคัญพระนิรันตราย (จำลอง)
เจ้าอาวาสสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
ความพิเศษวัดประจำรัชกาล ในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9
เวลาทำการทุกวัน 8.00-13.30
จุดสนใจสักการะพระพุทธอังคีรส
กิจกรรม30 พ.ค. : งานบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 7
25 ส.ค. : งานอุทิศส่วนกุศล ให้อดีตเจ้าอาวาส
วันเข้าพรรษา: ตักบาตรดอกไม้
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดราชบพิธ
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000007
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 มีพิธีก่อพระฤกษ์ เมื่อ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2412

(ตรงกับปี 2413 หากนับวันขึ้นปีใหม่ โดยใช้ วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงจาก การขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน เมื่อปี .ศ. 2484)

โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด

วัดราชบพิธฯ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

วัดราชบพิธฯ เป็นวัดสำคัญที่พระสันตะปาปาสองพระองค์เคยเสด็จเยือน ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2527 และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

สุสานหลวง

[แก้]

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารมีสุสานหลวงตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาของวัดด้านทิศตะวันตก ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้นั้นเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้

  1. สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา
  2. รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รวมทั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย
  3. เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  4. สุขุมาลนฤมิตร์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระนัดดา

นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ที่สำคัญอื่นๆ ประดิษฐานอยู่ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย เช่น

  1. อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ พระโอรสและธิดา รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลยุคล
  2. อนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี บรรจุพระสรีรางคารเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และพระราชธิดา
  3. อนุสาวรีย์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หรือ "วิหารน้อย" บรรจุสรีรางคารเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) และพระธิดา รวมทั้งเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 และพระโอรส พระธิดา ตลอดจนสมาชิกสายราชสกุลอาภากร และราชสกุลสุริยง

สุสานหลวงในปัจจุบันมีจำนวนอนุสาวรีย์ทั้งหมด 34 องค์ และมีการจัดตั้งกองทุนสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารขึ้นมาดูแลรักษาสุสานหลวงให้มีความงดงามเพื่อชนรุ่นหลังได้เข้าชมต่อไป

พระพุทธอังคีรส

[แก้]
พระพุทธอังคีรส
พระพุทธประทีปวโรทัย (บน) และพระพุทธอังคีรสน้อย (ล่าง) ประดิษฐานภายในพระวิหาร

พระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พระนาม "พระพุทธอังคีรส" แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย[2] หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์

เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415[3]

ที่ฐานพุทธบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาลัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร[2] ซึ่งราชสกุลต่างๆ ที่มีส่วนแห่งพระบรมอัฐิ พระอัฐิ เก็บรักษาไว้และเชิญมาถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงโปรดให้บรรจุลงใต้ฐานพระพุทธอังคีรส นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

อนึ่ง เมื่อที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นส่วนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเก็บรักษาไว้ถวายสักการบูชา ต่อมาได้ตกทอดเป็นพระมรดกมาสู่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พระนัดดา ผู้เป็นพระโอรสใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ และได้ทรงอัญเชิญมาถวายแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) จึงโปรดให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ปฏิบัติกรณียกิจแทนพระองค์ในการเชิญพระผอบศิลาบรรจุพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานในคูหาบนฐานพุทธบัลลังก์ ลงในฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ประธานพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ในวันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถวาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ แด่พระพุทธอังคีรสเนื่องในศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]
ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ พ.ศ. 2412 พ.ศ. 2444
2 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พ.ศ. 2444 พ.ศ. 2480
3 พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) พ.ศ. 2480 พ.ศ. 2489
4 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2531
5 สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2551
6 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) พ.ศ. 2551 อยู่ในตำแหน่ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า 289
  2. 2.0 2.1 แผ่นพับประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  3. วัลลภ คล่องพิทยาพงษ์,เส้นทางบุญ ๙ วัด ๙ รัชกาล,หน้า 173
  4. ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ ๙/๒๔๙๒ บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๙๒, เล่ม ๖๖, ตอน๓๔ ง, ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒, หน้า ๒๙๓๑
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธอังคีรส

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′55″N 100°29′53″E / 13.748702°N 100.497952°E / 13.748702; 100.497952