วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร | |
---|---|
พระวิหารหลวงพระพุทธชินราชและพระปรางค์ประธานวัดเบื้องหลัง | |
ชื่อสามัญ | วัดใหญ่, วัดหลวงพ่อใหญ่, วัดพระพุทธชินราช |
ที่ตั้ง | 92/3 ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธชินราช |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธชินสีห์, พระศรีศาสดา, พระอัฏฐารส, พระเหลือ |
เจ้าอาวาส | พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) |
กิจกรรม | งานนมัสการพระพุทธชินราชในวันขึ้น 6 ค่ำ ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า "วัดใหญ่" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและประติมากรรมที่งดงามยิ่ง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลก
ประวัติ
[แก้]วัดท พระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์ ...
ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า " ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาที่ 1) เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร ๔ ทิศ มีพระระเบียง ๒ ชั้นและทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง"
ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2458 ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัด
[แก้]พระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธชินราช
[แก้]พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารทรงโรง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งนับถือกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก ตัวพระวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน พระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัยที่มีความสง่างามสมส่วน และยังคงสภาพสมบูรณ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
ในพระวิหารหลวงมีบานประตูประดับมุก 2 บานคู่ กว้าง 1 เมตร สูง 4.50 เมตร เป็นบานประตูประดับมุกโบราณที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง ตัวบานประตูมุกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2299 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และได้ทรงนำบานประตูไม้แกะสลักเดิมไปถวายเป็นบานประตูพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์
พระเหลือ
[แก้]หลังจากสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือนำมารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง 1 ศอกเศษ เรียกชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเหลือ”เศษทองยังเหลืออยู่อีกจึงได้หล่อพระสาวกยืนอยู่ 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองในการหล่อพระพุทธรูป นำมารวมกันบนชุกชี (ฐานชุกชี) พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นมา 1 หลัง อัญเชิญพระเหลือกับสาวกเข้าไปประดิษฐานอยู่ เรียกว่า พระเหลือ [1]
พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน
[แก้]วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน เป็นวิหารขนาดกลางตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารพระพุทธชินราชนอกเขตระเบียงคต ภายในประดิษฐานหีบปิดทอง(สมมุติ)บรรจุพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตรากาธานประดับด้วยลวดลายลงรักปิดทองร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ ซึ่งนับว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร โดยผู้สร้างถือคติว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
พระวิหารพระอัฏฐารส
[แก้]บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฎฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอก (ประมาณ 10 เมตร) สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ในราว พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3 – 4 ต้น และเนินพระวิหารบางส่วน เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ในปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะขุดแต่งทางโบราณคดีในบริเวณที่เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ซึ่งขุดพบฐานพระวิหารเดิมและพระพุทธรูปวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง
-
ภาพเก่าวิหารพระอัฏฐารส ก่อนถูกดินทับถมจนกลายเป็น "เนินวิหารเก้าห้อง" (ในภาพยังเห็นเสาและผนังพระวิหารบางส่วนเหลืออยู่)
-
วิหารเก้าห้องประดิษฐานพระอัฏฐารส (เดิมเนินวิหารเก้าห้อง) ขณะกำลังทำการบูรณะขุดแต่งทางโบราณคดี ในปี พ.ศ. 2550 เผยให้เห็นแท่นสักการะและพื้นวิหารเดิม
-
พระอัฏฐารส ในปัจจุบัน
เกร็ด
[แก้]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "นมัสการพระพุทธชินราชแล้ว ดูธรรมมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด ดูเรือนแก้ว แลสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ ล้วนเป็นของดีอย่างเอก ไม่เคยพบไม่เคยเห็น"
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารไว้ว่า " เป็นวัดใหญ่และเป็นวัดที่สำคัญกว่าวัดอื่นในเมืองพิษณุโลก มีพระมหาธาตุอยู่กลางเห็นจะสร้างตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี หากแต่ซ่อมแซมมาหลายครั้งหลายสมัย"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอเมืองพิษณุโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-04-21.