ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติภูพาน

พิกัด: 17°3′45″N 103°58′22″E / 17.06250°N 103.97278°E / 17.06250; 103.97278
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ผาเสวย)
อุทยานแห่งชาติภูพาน
ทิวทัศน์มองจากผาเสวย
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติภูพาน
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติภูพาน
ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติภูพาน
ที่ตั้งจังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเทศไทย
พิกัด17°3′45″N 103°58′22″E / 17.06250°N 103.97278°E / 17.06250; 103.97278
พื้นที่665 ตารางกิโลเมตร (416,000 ไร่)
จัดตั้ง13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515
ผู้เยี่ยมชม4,895 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมือง อำเภอกุดบาก อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร อำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผาทิวทัศน์ตามธรรมชาติ ตลอดจนพื้นป่าแห่งนี้ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นปัญหาทางด้านการเมือง และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ใช้สำหรับต่อต้านทหารกองทัพญี่ปุ่นซึ่ง นับเป็นประวัติศาสตร์[1] มีเนื้อที่ประมาณ 415,439 ไร่ หรือ 664.70 ตารางกิโลเมตร[2]

ประวัติ

[แก้]

ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาภูพานหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ป่าเขาชมภูพาน” จังหวัดสกลนคร และจังหวัดกาฬสินธุ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้เป็นการถาวรเพื่อ ประโยชน์ส่วนรวม กรมป่าไม้ได้เสนอจัดตั้งป่าภูพานเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 244 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 กำหนดบริเวณที่ดินป่าภูพานในท้องที่ตำบลนาใน ตำบลไร่ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม ตำบลโคกภู ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก และตำบลห้วยยาง ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร และตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 418,125 ไร่ หรือ 669 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 170 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 7 ของประเทศ

จังหวัดกาฬสินธุ์ได้มีหนังสือที่ กส 09/598 ลงวันที่ 12 มกราคม 2516 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 244 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 กำหนดให้ที่ดินป่าภูพานเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ปรากฏว่ามีพื้นที่บางส่วนในบางตำบลของจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเขตอุทยานแห่ง ชาติแต่ไม่ได้ระบุชื่อตำบลลงไว้ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติใหม่ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ และกำหนดบริเวณที่ดินป่าภูพานในท้องที่ตำบลนาใน ตำบลไร่ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม ตำบลพังขว้าง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง ตำบลนาม่อง ตำบลโคกภู อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร และตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ ตำบลคำบง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 106 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2518

กรมป่าไม้ดำเนินการรังวัดแนวเขตของพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูพาน เพื่อทำการขอเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2520 ซึ่งอนุมัติในหลักการให้เพิกถอนพื้นที่บริเวณบ่อหิน เนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่ คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2521 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สำนักสงฆ์ถ้ำขาม (หลวงปู่ฝั้น) และอ่างเก็บน้ำห้วยแข้ ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูพาน แต่เนื่องจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณ ที่ดินป่าภูพานให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2518 ไม่ได้ระบุชื่อตำบลบางตำบลไว้ จึงไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนได้ กรมป่าไม้จึงเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้แนวทางปฏิบัติ โดยให้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นไปใหม่และกันพื้นที่ดังกล่าวออกเสียและ เพิ่มตำบลที่ตกหล่นให้สมบูรณ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอุทยานแห่งชาติป่าภูพาน ในท้องที่ตำบลนาใน ตำบลไร่ ตำบลห้วยบ่อ อำเภอพรรณานิคม ตำบลพังขว้าง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง ตำบลนาม่อง ตำบลโคกภู ตำบลสร้างค้อ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร และตำบลแซงบาดาล ตำบลมหาไชย ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ตำบลคำบง กิ่งอำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 161 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2525 รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 415,439 ไร่ หรือ 664.70 ตารางกิโลเมตร (คือระบุตำบลเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงแนวเขตตำบลและเพิกถอนสำนักสงฆ์ถ้ำขาม บ่อหิน พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อ่างเก็บน้ำห้วยแข้ ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ)

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

อุทยานแห่งชาติภูพานตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีเป็นหินทราย โดยมีความสูงอยู่ระหว่าง 200-567 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบด้วยภูนางงอย ภูมะแงว ภูน้อย ภูเพ็ก โดยมีภูเขียวซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจุดสูงสุดในเขตอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 567 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารและห้วยต่างๆ เช่น ห้วยเลา ห้วยอีโคก ห้วยยาง ห้วยเวียงไพร ห้วยขี้นก ห้วยโคก ห้วยวังถ้ำ ห้วยผึ้ง ห้วยอีดอน น้ำอูนตอนบน ห้วยทราย และห้วยนาจาน ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำอูน ห้วยแข้ ห้วยแสนกง และน้ำพุงตอนบน ไหลลงแม่น้ำพุง ห้วยสะทด ห้วยแก้งหว้า ห้วยแก้งโคก และห้วยหลัก ไหลลงลำน้ำยัง ห้วยพริกไหลลงลำปาว ห้วยทรายและห้วยเดียกไหลลงสู่หนองหาร

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

สภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม
  • ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม ฝนตกชุกประมาณเดือนกันยายน
  • ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ อากาศเย็นสบาย

พืชพรรณและสัตว์ป่า

[แก้]

สภาพป่าในอุทยานแห่งชาติภูพานประกอบด้วยชนิดป่าที่สำคัญ 3 ชนิด คือ

  • ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังพบขึ้นอยู่ตั้งแต่ตอนกลางของอุทยานแห่งชาติขึ้นไปจนถึงด้านทิศเหนือ ในระดับความสูง 200-400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง ตีนนก กว้าว แดง ส้าน ตานเหลือง หรือช้างน้าว กระโดน มะพอก ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ตะโกหิน พญาคชราช หรือ หูปอ ปรง พวงประดิษฐ์ รางจืด เป็นต้น
  • ป่าดิบแล้ง พบขึ้นอยู่เป็นผืนใหญ่ตอนกลางค่อนไปทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ และเป็นหย่อมเล็กๆ กระจายอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ในระดับความสูงตั้งแต่ 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ เขลง นางดำ ก่อ กะพี้เขาควาย หว้า เปล้าหลวง ขนุนป่า แคหางค่าง เหมือด หมากมุ้ย ฯลฯ พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นลูกไม้และกล้าไม้ของไม้ชั้นบน เช่น ตีนตั่ง นางดำ รวมทั้ง เข็มขาว เข็มแดง เฟิน ไม้เถา เป็นต้น
  • ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ตีนนก ติ้ว คางฮุ่ง แดง มะกอกเกลื้อน แสนคำ ประดู่ โมกมัน ตะแบก ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างประกอบด้วย ลูกไม้ของไม้ชั้นบน มะเม่า ไผ่ หญ้าคา ไม้เถา เป็นต้น

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูพานมีไม่น้อยกว่า 162 ชนิด ประกอบด้วย ช้างป่า กวางป่า เก้งธรรมดา หมูป่า ค่างแว่นถิ่นเหนือ หมีหมา หรือ หมีคน ชะมดแผงสันหางดำ ลิงกัง อ้นเล็ก นากใหญ่ขนเรียบ กระจ้อน ค้างคาวขอบหูขาวกลาง นกยางไฟ เหยี่ยวรุ้ง นกกระทาทุ่ง นกกะปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกปรอดสวน นกแซงแซวสีเทา นกเด้าดินทุ่ง ไก่ป่า คางคกบ้าน เขียดจะนา กบอ่อง อึ่งอ่างบ้าน จิ้งจกหางหนาม ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหัวแดง แย้ จิ้งเหลนหลากหลาย งูเขียวพระอินทร์ หรือ งูเขียวดอกหมาก งูสายม่านธรรมดา งูปล้องฉนวนลาว เป็นต้น และในบริเวณแหล่งน้ำพบปลาน้ำจืดหลายชนิดเช่น ปลาซิว ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลากระสูบจุด ปลาก้าง หรือ ปลากั้ง ปลาดุกด้าน และปลากริม เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยวในอุทยาน

[แก้]

เป็นน้ำตกที่รู้จักกันโดยแพร่หลายของ ชาวสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ในบริเวณน้ำตกแห่งนี้ทางราชการได้จัดงานสัปดาห์การท่องเที่ยว เพื่อชี้แจงให้ราษฎรได้รู้จักความสำคัญของป่าไม้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำ วันของมนุษย์เป็นประจำทุกปี น้ำตกแห่งนี้อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกตาดโตน ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพระราชฐาน

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

[แก้]

ผาเสวย

[แก้]

เป็นหน้าผาบริเวณทิวเขาภูพาน อันเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดสกลนครเป็นเทือกเขาที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ เช่น แมกไม้ น้ำตก และหน้าผา เป็นผาที่สูงชัน ตั้งอยู่บนเหวที่ลึก ต่อมาใน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเสด็จถึงอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณเทือกเขาภูพานได้หยุดพัก ทรงพระเกษมสำราญท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามของหุมเขา และได้เสด็จประทับเสวยพระกระยาหารกลวงวัน ณ หน้าผาแห่งนี้ ต่อมาชาวกาฬสินธุ์และพระมหากรุณาธิคุณของหล้าเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ที่ได้ทรงประทับเสวยพระกระยาหาร ณ หน้าผาแห่งนี้[3]

น้ำตกแก้งกะอาม

[แก้]

เป็นแก่งหินที่มีแนวยาว อยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 213

อ้างอิง

[แก้]
  1. Williams, China; Beales, Mark; Bewer, Tim (February 2012). Lonely Planet Thailand (14th ed.). Lonely Planet Publications. pp. 492. ISBN 978-1-74179-714-5.
  2. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 7{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  3. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์. กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ. 2542

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]