มหายาน
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
แวดวงนักวิชาการนานาชาติปัจจุบันยังมีความเห็นเรื่องการก่อเกิดมหายานแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามมหายานสามารถแบ่งออกได้สองยุคใหญ่ๆ
1. ยุคก่อตัว จะอยู่ในช่วง ก่อนพ.ศ. 500 มหายานยุคก่อตัวนี้ มิได้ก่อเกิดขึ้นมาในฐานะนิกาย เพราะไม่ได้มุ่งปรับแก้พระวินัยใหม่ แต่ยังคงรักษาพระวินัยแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมา มหายานยุคแรกเป็นกลุ่มบุคคลที่มีทั้งนักบวชและฆราวาส ที่เน้นอุดมการณ์สร้างบารมีในเส้นทางพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ยุคนี้มีกลุ่มคัมภีร์ที่สำคัญคือ สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (Lotus Sutra; Saddharmapuṇḍarīka Sūtra), ปรัชญาปารมิตา (Prajñāpāramitā Sūtras; Perfection of Wisdom Sutras), และ อวตังสกะสูตร (Avataṃsaka Sūtra) ยุคนี้เน้น อุดมคติพระโพธิสัตว์ (Bodhisattva Ideal): ยกย่องการเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยตั้งเป้าหมายเป็น พระพุทธเจ้า แทนการมุ่งเป็นพระอรหันต์ เน้นมหากรุณา ควบคู่กับมหาปัญญา พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของกลุ่มนี้คือคันธาระและลุ่มนำ้คงคา
2. ยุคหลัง (ช่วงหลังพ.ศ. 500-800) นั้น เป็นพัฒนาการที่เป็นระบบสถาบัน มีแนวปฏิบัติ และหลักธรรมที่เป็นเอกลักาณ์เฉพาะกลุ่มนั้นๆ และให้ความสำคัญต่อคำสอนของครูอาจารย์ เช่นสำนักมัธยมกะของนาคารชุน และสำนักโยคาจารย์ของอสังคและวสุพันธุ โดยมีคัมภีร์สำคัญเช่น วิมลกีรตินิรเทศสูตร (Vimalakīrti Nirdeśa Sūtra), คัมภีร์ลังกาวตารสูตร (Lankāvatāra Sūtra), คัมภีร์วิชญัปติมาตรตาสิทธิศาสตร์ (Vijñaptimātratā)
ส่วนศีลพระโพธิสัตว์ (Bodhisattva-śīla; 菩薩戒) ปรากฏขึ้นชัดเจนครั้งแรกจากเนื้อหาใน พรหมชาลสูตร (Brahmājala Sūtra; 梵網經) ในพระไตรปิฎกภาษาจีนของฝ่ายมหายาน ซึ่งนักวิชาการสันนิฐานว่าน่าจะเรียบเรียงขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10
พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานหรือเรียกอีกอย่างว่าอาจริยวาท ซึ่งแพร่หลายนับถือกันมากประเทศแถบตอนเหนือของอินเดีย, เนปาล, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, เวียดนาม, มองโกเลีย ไปจนถึงบางส่วนของรัสเซีย จุดเด่นของมหายานนี้อยู่ที่แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตในโลกไปสู่ความพ้นทุกข์ ด้วยเหตุที่มีผู้นับถืออยู่มากในประเทศแถบเหนือจึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ฝ่ายเหนือ ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ของโลกเป็นผู้นับถือฝ่ายมหายาน
ความหมายของมหายาน
[แก้]มหายาน (สันสกฤต: महायान, จีน: 大乘; ญี่ปุ่น: 大乗; เวียดนาม: Đại Thừa; เกาหลี: 대승) มาจากธาตุศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤต มหา + ยาน แปลว่า พาหนะที่ใหญ่ เป็นคำเรียกที่อาศัยการเปรียบเทียบ จากคำว่า หีนยาน ซึ่งแปลว่า พาหนะที่เล็ก ๆ มหายานยังมีความหมายว่า “ยานที่สูงสุด” ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน คำว่ามหายาน ไม่เพียงแต่เป็นยานใหญ่และสูงสุดเท่านั้น หากเป็นยานที่รื้อขนสรรพสัตว์ได้ทุกประเภททุกวัย รวมทั้งสัตว์โลกทุกรูปนาม เพื่อไปสู่พระนิพพาน และยานนี้ยังหมายถึงยานที่จะไปถึงพุทธภูมิ แล้วสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า มหายาน จึงเป็นการเปรียบเทียบหมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าสาวกยาน ในคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ คุรุนาคารชุนะ ปราชญ์ฝ่ายมหายาน ได้อธิบายความหมายของมหายานไว้ว่า “พระพุทธธรรมมีเอกรสเดียว คือ รสแห่งวิมุตติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเพื่อตัวเอง และชนิดที่สองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย” อันหมายความว่า ฝ่ายสาวกยานมุ่งเพียงความหลุดพ้นเป็นอรหันต์สิ้นกิเลสเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นด้วย แต่ฝ่ายมหายานย่อมมีอุคมคติตรงกันข้าม กล่าวคือ ย่อมมุ่งพุทธภูมิมีปณิธานจะตรัสรู้เป็นพระพุทธะเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จนหมดสิ้น อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานโดยทั่วไปมุ่งแต่สาวกภูมิเป็นสำคัญ ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยาน ส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานย่อมมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงมีอีกชื่อว่า โพธิสัตวยาน หรือ พุทธยาน
ในสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ได้อธิบายความหมายของมหายานว่า “ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจากพระผู้มีพระภาค แล้วบังเกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสัพพัญญุตญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต กำลังความกล้าหาญ มีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์ นั่นชื่อว่า มหายาน”
นอกจากนี้ พระนาคารชุนได้กล่าวไว้ในทวาทศนิกายศาสตร์อีกว่า “มหายานคือยานอันประเสริฐกว่ายานทั้ง 2 เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหายาน' พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใหญ่ยิ่ง ทรงอาศัยซึ่งยานนี้ และยานนี้จะสามารถนำเราเข้าถึงพระองค์ได้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง ปวงพระพุทธเจ้าผู้มหาบุรุษได้อาศัยยานนี้ เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหา' และอีกทั้งสามารถดับทุกข์อันไพศาลของสรรพสัตว์และประกอบประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้ถึงพร้อม เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งปวง มีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (เจ้าแม่กวนอิม), พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์, พระเมตไตรยโพธิสัตว์, พระมัญชุศรีโพธิสัตว์, พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ เป็นต้น ปวงมหาบุรุษได้ทรงอาศัย เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง เมื่ออาศัยยานนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา'”
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อความที่ยกย่องมหายานอีกเป็นจำนวนมากในคัมภีร์ของมหายาน เช่นเรียกว่า อนุตรยาน (ยานอันสูงสุด), โพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์), พุทธยาน (ยานของพระพุทธเจ้า), เอกยาน (ยานอันเอก) เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำว่า ยาน ในพระพุทธศาสนาจึงเป็นดั่งคำเปรียบเปรยของมรรควิถีอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ยานในพระพุทธศาสนาได้แบ่งออกเป็น 3 (ตามมติฝ่ายมหายาน) คือ
- สาวกยาน หรือ ศฺราวกยาน (เซียบุ้งเส็ง) คือยานของพระสาวก ที่มุ่งเพียงอรหัตภูมิ รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า
- ปัจเจกยาน หรือ ปฺรตฺเยกพุทฺธยาน (ต๊กกักเส็ง) คือยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้
- โพธิสัตตยาน หรือ โพธิสัตวยาน (ผู่สักเส็ง) คือยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ, ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า 2 ยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม
พัฒนาการของพุทธศาสนามหายาน
[แก้]หลังจากพระโคตมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 3 เดือน พระสาวกผู้ได้เคยสดับสั่งสอนของพระองค์จำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ใช้เวลาสอบทานอยู่ 7 เดือน จึงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นับเป็นบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก คำสอนที่ลงมติกันไว้ในครั้งปฐมสังคายนาและได้นับถือกันสืบมา เรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการโดยพระเถระ คำว่า เถระ ในที่นี้ หมายถึงพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก และพระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักที่ได้สังคายนาครั้งแรกดังกล่าว เรียกว่า นิกายเถรวาท อันหมายถึง คณะสงฆ์กลุ่มที่ยึดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งถ้อยคำ และเนื้อความที่ท่านสังคายนาไว้โดยเคร่งครัด ตลอดจนรักษาแม้แต่ตัวภาษาดั้งเดิมคือภาษาบาลี[1]
ในกาลต่อมาต่อมาเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง พระเถระผู้ใหญ่ก็ประชุมขจัดข้อขัดแย้งกัน เกิดการสังคายนาต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้พระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าที่นับว่าใกล้เคียงที่สุด อย่างไรก็ตาม การสังคายนาแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดในหมู่สงฆ์ จนก่อให้เกิดการแยกฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในส่วนหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ
กล่าวกันว่า มูลเหตุของการแยกนิกายในพุทธศาสนามาจากในคราวใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์ต้องการก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้” (มหาปรินิพพานสูตร 10/141) พุทธดำรัสดังกล่าวไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้เกิดมีปัญหาในการตีความว่า สิกขาบทไหนเรียกว่าเล็กน้อย เป็นเหตุให้พระภิกษุบางรูปไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับสังคายนามาตั้งแต่ครั้งแรก และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับการสังคายนาครั้งหลังๆ อีกหลายครั้ง เป็นเหตุให้มีกลุ่มที่แยกตัวทำสังคายนาต่างหาก เป็นนิกายต่างๆออกมา แต่ก็มิได้ถือว่าเป็นการแบ่งแยกศาสนาแต่ประการใด
หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ 100 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่มีการสังคายนาครั้งที่ 2 ได้มีคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งเรียกว่า มหาสังฆิกะ ซึ่งมีจำนวนมาก ได้แยกตนออกไปต่างหากจากกลุ่มเถรวาทเดิม การแยกตัวของมหาสังฆิกะนี้มีมูลเหตุจากความเห็นที่แตกต่างเรื่องหลักปฏิบัติของภิกษุ หลังจากนั้นมหาสังฆิกะได้แยกกลุ่มนิกายย่อยออกไปอีก 18 นิกาย เนื่องจากมีทัศนะ อุดมคติ การตีความหลักธรรม และวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน หลังจากนั้นภิกษุบางรูปในนิกายทั้ง 18 นี้ ได้แยกตนออกมาตั้งคณะใหม่โดยถือปรัชญาและหลักจริยวัตรของตน กระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 5 จึงได้เกิดกลุ่มคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ที่เรียกตนเองว่า "มหายาน" ขึ้น แม้จะมีที่มาไม่แน่ชัด แต่นักวิชาการบางส่วน(ไม่ใช่ส่วนใหญ่)สันนิษฐานได้ว่าพัฒนาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพุทธศาสนาอื่นทั้ง 18 นิกาย รวมทั้งนิกายเถรวาทด้วย ก่อกำเนิดเป็นฝ่ายมหายาน
แม้ไม่อาจกำหนดให้แน่ชัดลงไปได้ว่า พระพุทธศาสนานิกายมหายานเริ่มถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่แน่ชัดคือ พระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์กุษาณะ (ศตวรรษที่ 1 แห่งคริสต์ศักราช) ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกพระองค์แรกของฝ่ายมหายาน ได้ทรงปลูกฝังพระพุทธศาสนามหายานอย่างมั่นคงในราชอาณาจักรของพระองค์ และทรงส่งธรรมทูตออกเผยแพร่ยังนานาประเทศ เปรียบได้กับพระเจ้าอโศกมหาราชของฝ่ายเถรวาท
แนวคิดเรื่องตรีกาย
[แก้]หลักการสำคัญประการหนึ่งของมหายานอยู่ที่หลักเรื่อง ตรีกาย อันหมายถึงพระกายทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า ในกายตรัยสูตรของมหายาน พระอานนท์ทูลถามถึงเรื่องพระกายของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตถาคตมีกายเป็น 3 สภาวะคือตรีกาย อันได้แก่
- นิรมาณกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระศากยมุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่บนโลก สั่งสอนธรรมแก่สาวกของพระองค์ และดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา
- สัมโภคกาย หมายถึง กายที่ประทับในแดนพุทธเกษตรต่างๆ มีลักษณะเป็นทิพย์ มีอายุที่ยืนยาวมากดุจความเป็นนิรันดร์ และมีภาวะรุ่งเรืองแผ่ซ่านปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
- ธรรมกาย หมายถึง กายอันไร้รูปร่างเป็นสภาวธรรม ในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้, ความกรุณา และความสมบูรณ์
มหายานยุคแรกดูเหมือนจะมีทัศนะตรงกับเถรวาทที่ว่า พระพุทธเจ้ามีพระกายเพียง 2 เท่านั้นคือ ธรรมกาย และนิรมานกาย ธรรมกายนั้นมีพระพุทธวจนะที่ตรัสโดยตรงในบาลีอัคคัญญสูตรแห่งทีฆนิกาย ส่วนนิรมาณกายนั้นได้แก่พระกายของพระศาสดาที่ประกอบด้วยขันธ์ 5 ในคัมภีร์ฝ่ายมาธยมิกชั้นแรก ก็ยังไม่พบกายที่ 3 ธรรมกาย ตามนัยแห่งเถรวาทหมายถึงพระคุณทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระปัญญาคุณ, พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ มหายานได้สร้างแนวความคิดตรีกายขึ้นด้วยวิธีเพิ่มกายอีกกายหนึ่งเข้าไป คือ สัมโภคกาย ซึ่งเป็นกายของพระพุทธองค์อันสำแดงปรากฏให้เห็นเฉพาะหมู่ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ เป็นทิพยภาวะมีรัศมีรุ่งเรืองแผ่ซ่านทั่วไป เพราะฉะนั้น แม้จนกระทั่งบัดนี้ พระโพธิสัตว์ก็ยังอาจจะเห็นพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ในรูปสัมโภคกาย พระพุทธองค์ยังทรงอาจสดับคำสวดมนต์ต์ของเรา แม้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ดี ทั้งนี้ก็ด้วยการดับขันธปรินิพพานนั้นเป็นเพียงการสำแดงให้เห็นปรากฏในรูปนิรมานกายเท่านั้น ส่วน ธรรมกาย นั้น ก็เป็นสภาวะอมตะ ไร้รูปร่างลักษณะ เป็นอจินไตย(นึกคิดหรือเดาไม่ได้หรืออยู่นอกเหนือความคิดออกไป) ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด แผ่คลุมอยู่ทั่วไป ความคิดเรื่องสัมโภคกายนี้ มหายานได้รับจากนิกายมหาสังฆิกะ และในหมู่คณาจารย์ของมหายานก็ไม่มีความเห็นพ้องกันในเรื่องนี้
มหาปณิธาน 4
[แก้]นอกจากดังที่กล่าวมาแล้ว พระโพธิสัตว์ยังต้องมีมหาปณิธานอีก
จุดมุ่งหมายของมหายาน
[แก้]หลักสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือหลักแห่งพระโพธิสัตวภูมิซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแต่ละสำนักยอมรับนับถือ มหายานทุกสำนักย่อมมุ่งหมายโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นเหตุที่ให้บรรลุพุทธภูมิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะบรรลุถึงพุทธภูมิได้ ต้องผ่านการบำเพ็ญจริยธรรมแห่งพระโพธิสัตว์มาก่อน เพราะฉะนั้น จึงถือว่าโพธิสัตวภูมิเป็นเหตุ พุทธภูมิเป็นผล เมื่อบรรลุพุทธภูมิเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมโปรดสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นได้กว้างขวาง และขณะบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ยังสามารถช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ในสังสารวัฏได้มากมาย อุดมคติอันเป็นจุดหมายสูงสุดของมหายานจึงอยู่ที่การบำเพ็ญบารมีตามแนวทางพระโพธิสัตว์ เพื่อนำพาสรรพสัตว์สู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสารให้หมดสิ้น
คัมภีร์ของมหายาน
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมิได้ปฏิเสธพระไตรปิฎกดั้งเดิม หากแต่ถือว่าอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเกิดมีแนวคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกุตรสภาวะ ไม่อาจดับสูญ ที่ชาวโลกคิดว่าพระพุทธองค์ดับสูญไปแล้วนั้นเป็นเพียงภาพมายาของรูปขันธ์ แต่ธรรมกายอันเป็นสภาวธรรมของพระองค์เป็นธาตุพุทธะบริสุทธิ์ยังดำรงอยู่ต่อไป มหายานถือว่ามนุษย์ทุกคนมี พุทธธาตุ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า หากมีกิเลสอวิชชาบดบังธาตุพุทธะจึงไม่ปรากฏ หากกิเลสอวิชชาเบาบางลงเท่าใดธาตุพุทธะก็จะปรากฏมากขึ้นเท่านั้น มหายานมีแนวคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและมีความสามารถที่จะบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ และสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ หากฝึกฝนชำระจิตใจจนบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยบารมีทั้ง 10 ประการ พระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายานจึงมีมากมาย แม้พระพุทธเจ้าก็มีปริมาณที่ไม่อาจคาดคำนวณได้ และพระโพธิสัตว์ทุกองค์ย่อมโปรดสรรพสัตว์เช่นเดียวกับจริยาของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระโพธิสัตว์จึงมีน้ำหนักเท่ากับพระไตรปิฎก ในพุทธศาสนามหายานจึงมีคัมภีร์สำคัญระดับเดียวกับพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก เพื่อให้เหมาะสมกับจริตและอินทรีย์ของสรรพสัตว์แต่ละจำพวก อีกทั้งเพื่อเป็นกุศโลบายในการสั่งสอนพุทธธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อเจตจำนงจะเกื้อกูลสรรพชีวิตทั้งมวลให้ถึงพุทธรรมและบรรลุความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ คัมภีร์ของมหายานดั้งเดิมเขียนขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต แต่ก็มิใช่สันสกฤตแท้ หากเป็นภาษาสันสกฤตที่ปะปนกับภาษาปรากฤตตลอดจนภาษาบาลีและภาษาท้องถิ่นอื่นๆ เรียกว่าภาษาสันสกฤตทางพุทธศาสนา คัมภีร์เหล่านี้กล่าวในฐานะเป็นพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าบ้าง คำสอนพระโพธิสัตว์บ้าง หรือแม้แต่ทวยเทพต่างๆ โดยมีเนื้อหาหลากหลาย สันนิษฐานว่าพระสูตรปรัชญาปารมิตา เป็นพระสูตรมหายานรุ่นเก่าที่สุด และได้มีการเขียนพระสูตรขึ้นต่อมาอีกอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยคุปตะ พระสูตรบางเรื่องก็เกิดขึ้นในประเทศจีน และในหมู่คณาจารย์ของมหายานเองก็เขียนคัมภีร์ที่แสดงหลักปรัชญาอันลึกซึ้งของตน เรียกว่าศาสตร์ซึ่งเทียบได้กับอภิธรรมของฝ่ายเถรวาท ที่มีชื่อเสียงคือ มาธยมกศาสตร์, โยคาจารภูมิศาสตร์, อภิธรรมโกศศาสตร์, มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ในประเทศต่างๆ ที่นับถือมหายาน ก็มีการรจนาคัมภีร์ขึ้นเพื่อสั่งสอนหลักการของตนเองอีกเป็นอันมาก คัมภีร์ของมหายานจึงมีมากมายเท่าๆกับความหลากหลายและการแตกแยกทางความคิดในหมู่นักปราชญ์ของมหายาน
มนุษย์ทุกคนมีธาตุพุทธะร่วมกับพระพุทธเจ้า ถ้ามีกิเลสมาบดบังธาตุพุทธะก็ไม่ปรากฏ มนุษย์ทุกคนจึงมีศักยภาพที่จะ เป็นพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ถ้าได้รับการฝึกฝนชำระจิตใจจนบริสุทธิ์ พระโพธิสัตว์จึงมีจำนวน มหาศาล และมีหน้าที่ส่งเสริมงานของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระโพธิสัตว์จึงมีน้ำหนักเท่ากับพระไตรปิฎก ด้วยสำนึก เช่นนี้ ฝ่ายมหายานจึงมีคัมภีร์เกิดขึ้นมากมาย และให้ความเคารพเทียบเท่าพระไตรปิฎก
พระวินัยปิฎกมหายาน
[แก้]แม้นว่ามหายานจะมีทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม แต่พระวินัยของมหายานนั้น นอกจากจะมี 250 ข้อแล้ว ยังไม่ได้เป็นหมวดหมู่แบบเถรวาท สังฆกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายมหายานต้องใช้คัมภีร์วินัยของสรวาสติวาท ธรรมคุปตะ มหาสังฆิกะ และมหิศาสกะ
สิกขาบทในพระปาฏิโมกข์ 250 ข้อ ของฝ่ายมหายาน มีดังนี้ คือ
- ปาราชิก 4
- สังฆาทิเสส 13
- อนิยต 2
- นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30
- ปาจิตตีย์ 90
- ปาฏิเทสนีย์ 4
- เสขิยะ 100
- อธิกรณสมถะ 7
สิกขาบทของมหายานได้เพิ่มวินัยของพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กล่าวไว้ในพรหมชาลสูตร เรียก พรหมชาลโพธิสัตวศีล และ โยคะโพธิสัตวศีล ซึ่งอยู่ในคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ปกรณ์พิเศษของสำนักวิชญาณวาทิน และมีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ วินัยของโพธิสัตว์นั้นแม้จะต้องครุกาบัติ เป็นปาราชิกในโพธิสัตว์สิกขาบทก็สามารถ สมาทานใหม่ได้ ไม่เหมือนกับภิกขุปาฏิโมกข์ ซึ่งทำคืนอีกไม่ได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าสิกขาบทของภิกขุอยู่ในขอบเขตจำกัด ของปัจจุบันชาติ ส่วนสิกขาบทของโพธิสัตว์นั้นไม่จำกัดชาติ
ดังนั้น กุลบุตรฝ่ายมหายานเมื่ออุปสัมปทากรรมแล้วก็จะต้องรับศีลโพธิสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมพรหมชาล โพธิสัตว์ศีลมากกว่า โยคะโพธิสัตวศีล และศีลพระโพธิสัตว์นี้ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ ของสดคาว และหัวหอม หัวกระเทียม เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วย ส่งเสริมให้เกิดกำหนัดราคะกางกั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิ และการกินเนื้อสัตว์นี้อาจกินถูกเนื้อบิดามารดาในชาติก่อนๆ ของตน ผู้รับศีลโพธิสัตว์จึงต้องถือมังสะวิรัติอย่างเคร่งครัด พระสงฆ์มหายานของจีนได้รับการยอมรับกันว่า ปฏิบัติในข้อนี้ได้เคร่งครัด กว่าพวกมหายานในประเทศอื่นๆ
มหายานมิได้มีภิกขุปาฏิโมกข์เป็นเอกเทศ คงปฏิบัติวินัยบัญญัติตามพระปาฏิโมกข์ของฝ่ายสาวกยาน แต่มีแปลกจากฝ่ายสาวกยานคือ โพธิสัตวสิกขา เพราะมหายานสอนให้มุ่งพุทธิภูมิ บุคคลจึงต้องประพฤติโพธิจริยา มีศีลโพธิสัตวเป็นที่อาศัย วินัยโพธิสัตวนี้สาธารณทั่วไปแม้แก่ฆราวาสชนด้วย มีโพธิสัตวกุศลศีลสูตร 9 ผูก, พุทธ ปิฏกสูตร 4 ผูก, พรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับบาลี) 2 ผูก, โพธิสัตวศีลมูลสูตร 1 ผูก และอื่นๆ อีก พึงสังเกตว่าเรียกคัมภีร์เหล่านี้ว่า ?สูตร? มิได้จัดเป็นปิฎกหนึ่งต่างหาก อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์อินเดีย
พระสุตตันตปิฎกมหายาน
[แก้]ชื่อพระสูตรสำคัญของมหายานที่คนส่วนใหญ่รู้จัก รวบรวมจากหนังสือของคณะสงฆ์จีนนิกายมี ดังนี้
- ปรัชญาปารมิตา
- ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร
- อวตังสกสูตร 《大方廣佛華嚴經》
- คัณฑวยุหสูตร
- ทศภูมิกสูตร
- วิมลเกียรตินิทเทศสูตร《維摩詰經》
- ศูรางคมสูตร《大佛頂首楞嚴經》
- สัทธรรมปุณฑรีกสูตร 《妙法蓮華經》
- ศรีมาลาเทวีสูตร
- พรหมชาลสูตร (มหายาน)
- สุขาวดีวยุหสูตร《佛說大乘無量壽莊嚴清浄平等覺經)》
- ตถาคตครรภสูตร
- อสมปูรณอนุสูตร
- อุตรสรณสูตร
- มหาปรินิรวาณสูตร《大般涅盤經》
- สันธินิรโมจนสูตร
- ลังกาวตารสูตร《楞伽阿跋多羅寶經》/《楞伽經》
- พระสูตร 42 บท หรือ พระพุทธวจนะ 42 บท ชาวมหายานเชื่อว่าเป็นสูตรแรกที่ได้รับการแปลสู่พากย์จีน โดยท่านกาศยปะมาตังคะ และท่านธรรมรักษ์ เมื่อ พ.ศ. 612 รัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเม่งเต้ แห่งราชวงศ์ฮั่น
- โมหมาลาหรือร้อยอุทาหรณ์สูตร ซึ่งพระสิงหเสนเถระคัดมาจากนิทานที่ปรากฏในพระสูตร แล้วยกขึ้นมาตั้งเป็นอุทาหรณ์ (คณะสงฆ์จีนนิกาย). ม.ป.ป. : 225)
ในบรรดาพระสูตรเหล่านี้ ปรัชญาปารมิตาสูตรจัดว่าเป็นสูตรดั้งเดิมที่สุด เป็นมูลฐานทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องสุญญตา นอกจากนี้ก็มีอวตังสกสูตร เป็นสูตรสำคัญที่สุดของฝ่ายมหายาน เพราะเป็นพระสูตรที่เชื่อกันว่า พระพุทธองค์ทรง สั่งสอนเองเป็นเวลา 3 สัปดาห์ในขณะที่พระองค์เข้าสมาธิ เข้าใจกันว่า ใจความสำคัญขอ'พระสูตรนี้ น่าจะเป็นของ พระโพธิสัตว์มากกว่า ซึ่งเราจะพิจารณาได้จากข้อความในหนังสือพระพุทธศาสนามหายานของคณะสงฆ์จีนนิกาย (ม.ป.ป. : 228-229)
นอกจากนี้ก็มีพระสูตรที่สำคัญอีกเช่นกันคือ วิมลเกียรตินิทเทศสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มีปรัชญาเป็นมูลฐาน นิกายเซ็น ( Zen ) จึงชอบและนิยมมากที่สุด และพระสูตรที่สำคัญที่สุดซึ่งฝ่ายมหายานในจีนและญี่ปุ่นนับถือกันมากคือ สัทธรรมปุณฑริกสูตร คำสั่งสอนในนิกายเท็นได นิจิเร็น ล้วนอาศัยพระสูตรนี้เป็นรากฐานทั้งสิ้น และวัดในนิกายเซ็น ก็ต้องสวดพระสูตรนี้เป็นประจำทุกวัน ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่า พระสูตรนี้เป็นพระสูตรสุดท้ายของพระพุทธองค์จึงมีผู้แปลมาก โดยเฉพาะในภาษาจีนมี 3 ฉบับ แต่ที่ถือกันว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุด คือ ของท่านกุมารชีพ
พระสูตรมหายานแบ่งเป็นหมวดได้ดังนี้
หมวดอวตังสกะ
[แก้]หมวดนี้มีพระสูตรใหม่สูตรหนึ่งเป็นหัวใจคือ พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร 80 ผูก และมีสูตรปกิณณะย่อยๆ อีกหลายสูตร
หมวดไวปุลยะ
[แก้]มีพระสูตรใหญ่ชื่อมหารัตนกูฏสูตร 120 ผูก เป็นหัวใจ มหาสังคีติสูตร 10 ผูก, มหายานโพธิสัตว์ปิฎกสูตร 20 ผูก, ตถาคตอจินไตยรหัศยมหายานสูตร 30 ผูก, สุวรรณประภาสสูตร 10 ผูก, กรุณาปุณฑริกสูตร 11 ผูก, มหายานมหาสังคีติกษิติครรภทศจักรสูตร 10 ผูก, มหาไวปุลยมหาสังคีติโพธิสัตวพุทธานุสสติสมาธิสูตร 10 ผูก,จันทร ประทีปสมาธิสูตร 11 ผูก, ลังกาวตารสูตร 7 ผูก, สันธินิรโมจนสูตร 5 ผูก, วิเศษจินดาพรหมปุจฉาสูตร 4 ผูก, อักโษภยพุทธเกษตรสูตร 2 ผูก, ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสปูรวประณิธานสูตร 2 ผูก, ลมโยปมสมาธิสูตร 3 ผูก, ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร 1 ผูก, อมิตายุรธยานสูตร 1 ผูก, มหาสุขาวดีวยูหสูตร 2 ผูก, อจินไตยประภาสโพธิสัตวนิทเทสูตร 1 ผูก, ศูรางคมสมาธิสูตร 3 ผูก, วิมลกีรตินิทเทศสูตร 3 ผูก และอื่นๆ อีกมากสูตรนัก ฯลฯ
อนึ่งคัมภีร์ฝ่ายมนตรยานก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะนี้ มีพระสูตรสำคัญ เช่น มหาไวโรจนสูตร 7 ผูก, เอกอักขระพุทธอุษฯราชาสูตร 6 ผูก, มหามณีวิปุลยะวิมาน วิศวศุภประดิษฐานคุหยปรมรหัสยะกัลปราชธารณีสูตร 3 ผูก, สุสิทธิกรสูตร 3 ผูก, วัชร เสขรสูตร 7 ผูก, โยคมหาตันตระราชาสูตร 5 ผูก, มหามรีจิโพธิสัตวสูตร 7 ผูก, วัชรเสข ระประโยคโหมตันตระ 1 ผูก, มหาสุวรรณมยุรีราชาธารณีสูตร 2 ผูก ฯลฯ
หมวดปรัชญา
[แก้]มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรัชญาปารมิตาสูตร 600 ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น ราชไมตรีโลกปาลปารมิตาสูตร 2 ผูก วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร 1 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ
หมวดสัทธรรมปุณฑริก
[แก้]มีพระสูตรใหญ่ ชื่อสัทธรรมปุณฑริกสูตร 8 ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น อนิวรรตธรรมจักรสูตร 4 ผูก, วัชรสมาธิสูตร 2 ผูก, มหาธรรมเภรีสูตร 2 ผูก, สมันตภัทรโพธิสัตวจริยธรรมธยานสูตร 1 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ
หมวดปรินิรวาณ
[แก้]มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรินิรวาณสูตร 40 ผูก เป็นหัวใจ มีสูตรปกิณณะ เช่น มหากรุณาสูตร 5 ผูก, มหามายาสูตร 2 ผูก, มหาเมฆสูตร 4 ผูก, อันตรภาวสูตร 2 ผูก เป็น อาทิ ฯลฯ
อรรถกถาสุตตันตปิฎกมหายาน
[แก้]มี 33 ปกรณ์ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ 100 ผูก แก้คัมภีร์มหาปรัชญาปารมีตาสูตร, ทศภูมิวิภาษาศาสตร์ 15 ผูก, สัทธรรมปุณฑริกสูตรอุปเทศ 2 ผูกเป็นอาทิ อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์จีน
มี 38 ปกรณ์ เช่น อรรถกถาพุทธาวตังสกมหาไพบูลยสูตร 60 ผูก และปกรณ์ ประเภทเดียวกันอีก 5 คัมภีร์ นอกนั้นมีอรรถกถาลังกาวตารสูตร 8 ผูก, อรรถกถาวิมล กีรตินิทเทศสูตร 10 ผูก, อรรถกถาสุวรรณประภาสสูตร 6 ผูก, อรรถกถาสัทธรรม ปุณฑริกสูตร 20 ผูก, อรรถกถามหาปรินิรวาณสูตร 33 ผูก เป็นอาทิ
ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์อินเดีย มี 104 ปกรณ์ เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ 100 ผูก, ปกรณารยวาจาศาสตร์การิกา 20 ผูก, มหายานอภิธรรมสังยุกตสังคีคิศาสตร์ 16 ผูก, มหายานสัมปริครหศาสตร์ 3 ผูก, มัธยานตวิภังคศาสตร์ 2 ผูก เหตุวิทยาศาสตร์ 1 ผูก, มหายสนศรัทโธตปาทศาสตร์ 2 ผูก, มาธยมิกศาสตร์ 2 ผูก, ศตศาสตร์ 2 ผูก, มหายานวตารศาสตร์ 2 ผูก, มหายาน โพธิสัตวศึกษาสังคีติศาสตร์ 11 ผูก, มหายานสูตราลังการ 15 ผูก, ชาตกมาลา 10 ผูก, มหาปุรุษศาสตร์ 2 ผูก, สังยุกตอวทาน 2 ผูก ทวาทศทวารศาสตร์ 1 ผูก นอกนั้นก็เป็นปกรณ์สั้นๆ เช่น วิฃญาณมาตราตรีทศศาสตร์, วีศติกวิชญานมาตราศาสตร์, อลัมพนปริกษ ศาสตร์, อุปายหฤทัยศาสตร์, หัตถธารศาสตร์, วิชญานประวัตรศาสตร์, วิชญานนิทเทศ ศาสตร์, มหายานปัญจสกันธศาสตร์เป็นอาทิ
พระอภิธรรมปิฎกมหายาน
[แก้]ส่วนพระอภิธรรมของมหายาน กำเนิดขึ้นเมื่อล่วงได้ 500 ปี นับแต่พุทธปรินิพพาน ในครั้งแรกไม่จัดเข้าเป็นปิฎก แต่พึ่งมาจัดเข้าในภายหลัง เรียกว่า ศาสตร์ เป็นนิพนธ์ของคณาจารย์อินเดีย เช่น นาคารชุน เทวะ อสังคะวสุพันธุ สถิรมติ ธรรมปาละ ภาวิเวก และทินนาค เป็นต้น ศาสตร์ของพวกมหายานส่วนใหญ่เป็นของฝ่ายวิชญาณวาทิน และศูนยตวาทิน ศาสตร์ที่ใหญ่และยาวที่สุด คือ โยคาจารภูมิศาสตร์
วิสุทธิภูมิหรือพุทธเกษตร
[แก้]มหายานมีคติว่า พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีจำนวนมากมายดุจเมล็ดทรายในคงคานที และในจักรวาลอันเวิ้งว้างนี้ ก็มีโลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแสดงพระสัทธรรมเทศนาอยู่ทั่วไปนับประมาณมิได้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แม้ในโลกธาตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่ในขณะนี้ ณ โลกธาตุอื่นก็มีพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ทรงดำรงพระชนม์อยู่ และกำลังสั่งสอนสรรพสัตว์ โลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัตินั้น บางทีเรียกว่า “พุทธเกษตร” บางพุทธเกษตรบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยทิพยภาวะน่ารื่นรมย์ พุทธเกษตรนั้นไม่ใช่นิพพาน เกิดขึ้นด้วยอำนาจปณิธานของพระพุทธเจ้า เป็นสถานที่สรรพสัตว์ในโลกธาตุอื่น ๆ ควรมุ่งไป"เกิด" พุทธเกษตรสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในหมู่พุทธศาสนิกชนคือ สุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภพุทธะ อยู่ทางทิศตะวันตกแห่งโลกธาตุนี้ พุทธเกษตรของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นพุทธเกษตรที่ชือว่า ศุทธิไวฑูรย์ ซึ่งมีรัศมีไพโรจน์แล้วด้วยมณีไพฑูรย์เเละไพลิน พุทธเกษตรของพระอักโษภยะแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า อภิรดีโลกธาตุ และมณฑลเกษตรของพระเมตไตรยโพธิสัตว์ในดุสิตสวรรค์อีกแห่งหนึ่ง เกษตรทั้ง 4 นี้ ปรากฏว่าสุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภะ เป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานมากที่สุด ถึงกับสามารถตั้งเป็นนิกายโดยเอกเทศต่างหาก
วิสุทธิภูมิเป็นหลักการสำคัญของมหายาน โดยนับเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะยังสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ด้วยวิธีตั้งจิตประณิธานพึ่งอำนาจพุทธบารมีแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อไปอุบัติยังแดนพุทธเกษตรเหล่านั้น หากสรรพสัตว์มีศรัทธาเชื่อมั่นในพุทธบารมีย่อมสามารถไปอุบัติ ณ พุทธเกษตร เมื่อได้สดับธรรมะต่อเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ณ ดินแดนนั้นแล้ว ย่อมบรรลุนิรวาณอันสงบ มหายานอธิบายว่าวิธีการหลุดพ้นจากสังสารวัฏเป็นได้ 2 กรณี คือพึ่งอำนาจตนเอง และพึ่งอำนาจผู้อื่น (คือพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์) การมุ่งขัดเกลากิเลสด้วยตนเองอาจเป็นไปได้ยากสำหรับปุถุชนสามัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเสื่อมของพระสัทธรรม ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดจะนำสรรพสัตว์ถ้วนหน้าไปสู่ความหลุดพ้นก็คือการพึ่งอำนาจบารมีพระพุทธองค์ รับสรรพสัตว์เหล่านั้นไปสู่วิสุทธิภูมิเพื่อปฏิบัติธรรมและตรัสรู้ ณ ดินแดนนั้น อันเอื้ออำนวยต่อการหลุดพ้นมากกว่าโลกนี้ อย่างน้อยที่สุด ณ พุทธเกษตรเหล่านั้นก็จะไม่มีความทุกข์ใด ๆ ทุกผู้ทุกนามที่มีจิตตั้งมั่นอธิษฐานอุทิศขอไปเกิดยังพุทธเกษตรก็ย่อมได้อุบัติในพุทธเกษตรทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็ด้วยปณิธานแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ณ พุทธเกษตรเหล่านั้นนั่นเอง ผู้ที่อุบัติในพุทธเกษตรย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่เวียนลงต่ำ ย่อมไม่เกิดในโลกมนุษย์ตลอดจนภูมิที่ต่ำลงมาอีกแล้ว มุ่งตรงต่อพระนิรวาณอย่างเที่ยงแท้ หลักการนี้จึงมีคำกล่าวว่า "มหายานสำหรับมหาชน" กล่าวคือสามารถรื้อขนสรรพสัตว์ไปสู่ความหลุดพ้นได้โดยเสมอภาคนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในหมู่คณาจารย์ของฝ่ายมหายานก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปในประเด็นนี้ เช่น นิกายสุขาวดีถือว่าพระอมิตาภะมีอยู่จริงและสุขาวดีอยู่ทางทิศตะวันตกของโลกนี้อย่างแน่นอน ขณะที่คณาจารย์บางท่านอธิบายว่าพระอมิตาภะแท้จริงแล้วก็คือพุทธภาวะที่บริสุทธิ์มีในสรรพสัตว์ และถือว่าวิสุทธิภูมินั้นก็อยู่ภายในจิตของเราเอง ดังที่ท่านเว่ยหล่างแห่งนิกายเซนกล่าวว่า "คนหลงสวดภาวนาถึงพระอมิตาภะปรารถนาไปอุบัติยังสุขาวดี แต่บัณฑิตพึงชำระจิตของตนให้สะอาด..." และในวิมลกีรตินิรเทศสูตรก็มีข้อความว่า "เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว พุทธเกษตรก็ย่อมบริสุทธิ์" ดังนี้เป็นต้น
การบำเพ็ญบารมี (ทศปารมิตา)
[แก้]โพธิสัตวยาน คือยานของพระโพธิสัตว์ ได้แก่ผู้บำเพ็ญบารมีธรรม ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม หลักพระโพธิสัตวยานนั้น ถือว่าจะต้องโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นทุกข์เสียก่อนแล้วตัวเราค่อยหลุดพ้นทุกข์ทีหลัง คือจะต้องชักพาให้สัตว์โลกอื่น ๆ ให้พ้นไปเสียก่อน ส่วนตัวเราเป็นคนสุดท้ายที่จะหลุดพ้นไป เป็นหลักแห่งโพธิสัตวยาน ซึ่งพระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญ ทศปารมิตา คือบารมี 10 ของฝ่ายมหายาน ได้แก่
- ทานปารมิตา หรือ ทานบารมี
- ศีลปารมิตา หรือ ศีลบารมี
- กฺษานฺติปารมิตา หรือ ขันติบารมี
- วีรฺยปารมิตา หรือ วิริยบารมี
- ธฺยานปารมิตา หรือ ฌานบารมี
- ปฺรชฺญาปารมิตา หรือ ปัญญาบารมี
- อุปายปารมิตา หรืออุบายบารมี
- ปฺรณิธานปารมิตา หรือประณิธานบารมี
- พลปารมิตา หรือ พลบารมี
- ชฺญานปารมิตา หรือ ญาณบารมี
สำนักย่อยของมหายาน
[แก้]พุทธศาสนามหายานแตกเป็นนิกายย่อยๆต่างกันไปในแต่ละประเทศดังนี้
- ในอินเดีย
- ในจีน
- นิกายโกศะ หรือจวี้เส่อจง
- นิกายสัตยสิทธิ หรือเฉิงซื่อจง
- นิกายตรีศาสตร์ หรือซานหลุ่นจง
- นิกายทศภูมิกะ หรือตี้หลุ่นจง
- นิกายนิพพาน หรือเนี่ยผ่านจง
- นิกายสังปริคระศาสตร์ หรือเซ่อหลุ่นจง
- นิกายสุขาวดี หรือจิ้งถู่
- นิกายฌาน หรือฉานจง หรือเซน
- นิกายสัทธรรมปุณฑรีกะ หรือเทียนไถ
- นิกายซันเฉีย หรือซันเจียเจี้ยว
- นิกายอวตังสกะ หรือ หัวเหยียน
- นิกายธรรมลักษณะ หรือ นิกายฝ่าเซียง
- นิกายวินัย หรือลวื้อจง
- นิกายเจิ้นเหยียน หรือมนตรยาน หรือวัชรยาน
- ในเกาหลี
- นิกายซัมนอน หรือนิกายตรีศาสตร์
- นิกายเกยูล หรือนิกายวินัย
- นิกายยอนพัล หรือนิกายนิพพาน
- นิกายฮวาออม หรือนิกายอวตังสกะ
- นิกายชอนแท หรือนิกายสัทธรรมปุณฑรีกะ
- นิกายซอน หรือนิกายเซน
- นิกายแทโก
- นิกายโชเก
- ในญี่ปุ่น
- ในเวียดนาม
- ในทิเบต
- ในเนปาล
ดูเพิ่ม
[แก้]ข้อมูลเพิ่มเติม
[แก้]มหาสางฆิกะ ปราติโมกษ์ เก็บถาวร 2020-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ปัญจสติกขันธกะ (เรื่องพระมหากัสสปเถระ สังคายนาปรารภคำของพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=7298&Z=7369>. เข้าถึงเมื่อ 9 Jun 2009
- คณะสงฆ์จีนนิกาย.พระพุทธศาสนามหายาน.กรุงเทพ ฯ : ธนาคารกรุงเทพพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ,2531.
- ประสงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. 2548
- เสฐียร พันธรังษี.พุทธศาสนามหายาน.กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ,2543.
- เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน.กรุงเทพ ฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,2541.
- อภิชัย โพธิประสิทธิศาสตร์.พระพุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพ ฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,2539.
- Conze, Edward. Buddhist Scripture. London : Penguin Book, 1973.
- D.T.Suzuki.Outline of Mahayana Buddhism.New York : Schocken Book,1973.
- Davids, Rhys. Buddhism India. Patna :Indological Book House,1973.
- Dayal H. The Bodhisattva Doctrine In Buddhist Sanskrit Literature. Delhi: Motilal Banarasidas,1970.
- Dutt, Nalinaksha. Mahayana Buddhism. Delhi : Motilal Banarasidas,1977.
- Kimura, Ryukan. History of Term Hinayana and Mahayana and The Origin of Mahayana Buddhism. Patana : Indological Book,1978.
- McGovern,W.M.An Introduction to Mahayana Buddhism.Vanarasi : Sahityaratan Malakarijalaya,1967.