เธลีมา
เธลีมา (อังกฤษ: Thelema) เป็นปรัชญาทางจิตวิญญาณและสังคมแบบรหัสยศาสตร์และคุยหลัทธิตะวันตก[1] รวมถึงเป็นขบวนการศาสนาใหม่ที่ก่อตั้งช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 โดยแอลีสเตอร์ โครวลีย์ (ค.ศ. 1875–1947) นักเขียน นักปรัชญาและรหัสยิกชาวอังกฤษ[2] เธลีมามีแนวคิดสำคัญคือการค้นหาและติดตามเจตจำนงแท้ของตนอันอยู่เหนือความปรารถนาทั่วไป เธลีมามีที่มาจาก คัมภีร์แห่งกฎ (The Book of the Law) ซึ่งโครวลีย์แต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1909 หลังได้รับคำบอกจากไอวาส (Aiwass) "เสียง" ที่โครวลีย์ได้ยินในเดือนเมษายน ค.ศ. 1904[3][4][5] คัมภีร์นี้ได้วางรากฐานและสัจพจน์กลางที่ว่า "ทำตามเจตจำนงควรเป็นสิ่งสูงสุด"[6] ("Do what thou wilt shall be the whole of the Law")[7] มโนทัศน์นี้เน้นย้ำถึงเสรีภาพและการเดินตามวิถีทางของตน โดยได้รับการชี้นำจากความรักและการแสวงหาเจตจำนงแท้แห่งตน
จักรวาลวิทยาของเธลีมาประกอบด้วยเทพเจ้าหลายองค์จากศาสนาอียิปต์โบราณ เทพสำคัญ ได้แก่ นูอิต (Nuit) ท้องฟ้ายามราตรีที่แทนด้วยสตรีเปลือยที่ปกคลุมด้วยดวงดาว พระองค์ถือเป็นเทพีสูงสุดและ "พระแม่" ผู้เป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง[8] นูอิตมาจากนูต เทพีแห่งท้องฟ้าของอียิปต์ แฮดิต (Hadit) พระสวามีของนูอิตที่แทนด้วยจุดเล็กไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์เป็นตัวแทนของการสำแดง การเคลื่อนไหวและเวลา[8] และรา-ฮูร์-คูอิต (Ra-Hoor-Khuit) ร่างจำแลงของเทพฮอรัส พระองค์เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์และเป็นพลังงานที่ไหลเวียนในพิธีกรรมของเธลีมา[8] เจตจำนงแท้เป็นแนวคิดหลักของเธลีมา โดยโครวลีย์เชื่อว่าการค้นพบและบรรลุเจตจำนงแท้เป็นหนทางสู่ความเข้าใจและเติมเต็มตนเอง หรือที่เรียกว่าเกรตเวิร์ก (Great Work)[9]
เซเรมอเนียลแมจิก (ceremonial magic หรือเรียกเพียง แมจิก (magick)) เป็นการปฏิบัติที่สำคัญในเธลีมา เป็นการฝึกฝนทางกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เซเรมอเนียลแมจิกถือเป็นสื่อกลางในการเปิดเผยเจตจำนงแท้[10] และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเจตจำนงแท้[11] นอกจากนี้ยังมีพิธีนอสติกมิสซา (Gnostic Mass)[12] การฝึกโยคะ การนั่งสมาธิและอื่น ๆ เพื่อช่วยในการสำรวจจิตใจ ผู้ปฏิบัติเธลีมาเฉลิมฉลองวันสำคัญช่วงวิษุวัต อายันและเทศกาลเพื่อระลึกถึงการแต่งคัมภีร์ของโครวลีย์[13]
เธลีมามาจากคำภาษากรีกโบราณ θέλημα (thélēma) หมายถึง "เจตจำนง"[14] แจ็ก พาร์สันส์ เคนเนธ แกรนต์ เจมส์ ลีสและเนมา อันนาฮัดนามีส่วนในการพัฒนาเธลีมาหลังโครวลีย์ โดยแนะนำแนวคิด การปฏิบัติและการตีความใหม่ พาร์สันส์ริเริ่มพิธีแบแบลอนเวิร์กกิง (Babalon Working) เพื่ออัญเชิญเทพีแบแบลอน[15] ขณะที่แกรนต์สังเคราะห์ธรรมเนียมต่าง ๆ เข้ากับคณะไทโฟเนียน (Typhonian Order) ของเขา[16] ด้านลีสค้นพบอิงลิชกอบอลลา (English Qaballa)[17] ส่วนอันนาฮัดนาพัฒนามะอัตแมจิก (Maat Magick) สิ่งเหล่านี้ทำให้เธลีมามีความหลากหลายและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Crowley (1996), pp. 61–62.
- ↑ Kaczynski (2010).
- ↑ Gillavry 2014, pp. 33–42.
- ↑ Hayward 2017, pp. 137–140.
- ↑ Tully 2010, pp. 20–47.
- ↑ Orpheus (2005), p. 64.
- ↑ Crowley (1976), ch.1, v. 40.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Orpheus (2005), pp. 33–44.
- ↑ Kraig (1998), p. 44.
- ↑ Gardner (2004), p. 86.
- ↑ Crowley (1997), Introduction to Part III.
- ↑ Tau Apiryon (2010).
- ↑ Schubert (2020).
- ↑ "Aleister Crowley". Britannica. October 3, 2017. สืบค้นเมื่อ December 13, 2023.
- ↑ Pendle (2006), pp. 263–271.
- ↑ Hedenborg White (2020), p. 161.
- ↑ Lees (2018).
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Understanding the Religion of Thelema". Learn Religions.