ข้ามไปเนื้อหา

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (สันสกฤต: प्रज्ञापारमिताहृदय Prajñāpāramitā Hṛdaya; จีน: 摩訶般若波羅蜜多心經; ญี่ปุ่น: 般若波羅蜜多心経; ทิเบต: བཅོམ་ལྡན་འདས་མ་ཤེས་རབ་ཀྱི་ཕ་རོལ་ཏུ་ཕྱིན་པའི་སྙིང་པོ) คือพระสูตรที่สำคัญและเป็นที่นิยมยิ่งในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ชื่อ "ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร" มีความหมายตามตัวอักษรว่า "พระสูตรอันเป็นหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่งแห่งความรู้แจ้ง" ในภาษาอังกฤษมักแปลโดยสังเขปว่า "หฤทัยสูตร" (The Heart Sūtra) พระสูตรนี้มักได้รับการยอมรับว่าเป็นพระสูตรที่มีผู้รู้จักและนิยมที่สุดมากกว่าพระสูตรใดของพุทธศาสนา [1] [2] [3]

รายละเอียด

[แก้]

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรจัดอยู่ในพระสูตรหมวดปรัชญาปารมิตาของพระไตรปิฎกฝ่ายมหายาน และถือเป็นพระสูตรฝ่ายมหายานที่โดดเด่นที่สุดในหมวดนี้ เช่นเดียวกับวัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเป็นออกเป็นโศลกภาษาสันสกฤตจำนวน 14 โศลก แต่ละโศลกมี 32 อักขระ ส่วนพระสูตรที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง) มีทั้งหมด 260 ตัวอักษรจีน ในภาษาอังกฤษมักแปลออกมาได้จำนวน 16 บรรทัด จำนับเป็นพระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตาที่มีขนาดกระชับที่สุด เนื่องจากพระสูตรในหมวดนี้มักมีขนาดยาว ที่ยาวที่สุดมีจำนวนถึง 100,000 โศลก ทั้งนี้ เกเช เคลซัง กยัตโซ คณาจารย์ด้านพุทธศาสนาฝ่ายทิเบตได้ให้กถาธิบายเกี่ยวกับพระสูตรนี้ไว้ว่า

"สารัตถะแห่งปรัชญาปารมิตาสูตร (ปรัชาปารมิตาหฤทัยสูตร) มีขนาดสั้นมากเมื่อเทียบกับปรัชญาปารมิตาสูตรอื่น ๆ แต่พระสูตรนี้ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งความหมายโดยนัยตรงและนัยประหวัดของพระสูตรขนาดยาวไว้ท้งหมด" [4]

เอ็ดเวิร์ด คอนเซ (Edward Conze) ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธได้จัดลำดับพระสูตรนี้ ให้อยู่ในลำดับที่ 3 ของทั้งหมด 4 ลำดับพัฒนาการของพระสูตรสายปรัชญาปารมิตา อย่างไรก็ตาม พระสูตรนี้อาจมีช่วงลำดับพัฒนาการคาบเกี่ยวกับยุคที่ 4 เนื่องจากตอนท้ายของพระสูตรปรากฏคาถา (ซึ่งบางครั้งเรียกว่าธารณี) อันเป็นลักษณะของพัฒนาการของสายตันตระ ซึ่งเป็นพัฒนาการช่วงหลังสุดของพุทธศาสนา นอกจากนี้ ในบางกรณีพระสูตรดังกล่าวยังได้รับการจัดหมวดหมู่เข้าอยู่ในหมวดตันตระ ในพระไตรปิฎกสายทิเบตบางสาย [5] คอนเซ ประเมินอายุของพระสูตรไว้ว่า น่าจะมีจุดกำเนิดอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 350 แต่นักวิชาการบางคนคาดว่า น่าจะมีอายุเก่ากว่าถึง 2 ศตวรรษ [6] อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า ไม่สามารถประเมินอายุของพระสูตรได้เกินศตวรรษที่ 7 [7]

พระสูตรฉบับภาษาจีนมักนำมาสาธยายระหว่างประกอบพิธีทางศาสนาโดยพระภิกษุนิกายฉานในจีน เซนในญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญกับนิกายชิงงน โดยท่านคูไค ผู้ก่อตั้งนิกายนี้ในญี่ปุ่นยังได้รจนาอรรถกถาไว้ รวมถึงอีกหลายนิกายในศาสนาพุทธแบบทิเบตก็ยังศึกษาพระสูตรนี้อย่างยิ่งยวดอีกด้วย

พระสูตรนี้จัดอยู่ในกลุ่มพระสูตรจำนวนหยิบมือที่มิได้เป็นพุทธวจนะโดยตรง ในบางฉบับมีการเอ่ยถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชื่นชมและรับรองวจนะของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อาทิ พระสูตรฉบับฝ่าเยว่ ที่มีอายุราวปีค.ศ. 735 [8] อย่างไรก็ตาม การระบุถึงในส่วนนี้ ไม่ปรากฏในฉบับของพระถังซำจั๋ง ขณะที่ฉบับภาษาทิเบตมีขนาดยาวกว่า [9] [10] กระนั้นก็ตาม ฉบับแปลภาษาทิเบตซึ่งพบที่ตุนหวงไม่ปรากฏอารัมภกถา ส่วนในพระไตรปิฎกฉบับภาษาจีนเก็บรักษาทั้งฉบับยาวและฉบับสั้น ซึ่งยังคงพบต้นฉบับในภาษาสันสกฤตทั้ง 2 ฉบับ [11]

ชื่อพระสูตร

[แก้]

พระสูตรฉบับจื่อเฉียน ให้ชื่อไว้ว่า "ปัวญั่วปัวลัวมี เซินอีจ้วน" (般若波羅蜜[多]) [12] หรือ "ปรัชญาปารมิตา ธารณี" [13] ฉบับของพระกุมารชีพให้ชื่อไว้ว่า "มัวฮัวปัวญัวปัวลัวมี เซินอีจ้วน" (摩訶般若波羅蜜[多])[14] หรือ มหา ปรัชญาปารมิตา มหาวิทยา ธารณี ฉบับของพระเสวียนจั้ง (พระถังซำจั๋ง) เป็นฉบับแรกที่มีคำว่า "หฤทัย" (心) แทรกไว้ในชื่อพระสูตร [15]

แม้ว่าโดยทั่วไปจะเรียกพระสูตรนี้ว่า พระสูตรหัวใจ หรือ Heart Sutra (心經) แต่คำว่า "สูตร" (經) มิได้ปรากฏในฉบับภาษาสันสกฤตแต่อย่างใด เพราะปรากฏเพียงว่า "ปรัชญาปารมิตาห์หฤทัย" [16] ฉบับของพระเสวียนจั้งเป็นฉบับแรกที่มีการเติมคำว่า พระสูตรเข้าไป แม้ว่าจะไม่พบฉบับภาษาสันสกฤตฉบับใดที่พ่วงท้ายด้วยคำว่า "สูตร" หรือพระสูตร คำนี้ได้กลายเป็นคำที่พบได้เป็นปกติในฉบับภาษาจีน ภาษาทิเบต และภาษาอังกฤษ [17] ทั้งนี้ ฉบับภาษาทิเบตบางฉบับเติมคำว่า "ภควตี" ต่อท้ายชื่อพระสูตร ตามความเชื่อเชิงบุคคลาธิษฐานเทศนาที่ว่า หลักธรรมปรัชญาปารมิตา หรือปัญญาบารมี มีรูปลักษณ์เป็นสตรี [18]

ตัวบท

[แก้]

ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธหลายท่าน แบ่งพระสูตรออกเป็นส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามทัศนะของท่านเหล่านั้น แต่โดยสังเขปแล้วพระสูตรนี้พรรณนาถึงการบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันเกิดจากการเพ่งวิปัสนาอย่างล้ำลึก จนบังเกิดปัญญา (ปรัชญา) ในการพิจารณาเล็งเห็นว่าสรรพสิ่งต่าง ๆ ล้วนว่างเปล่า และประกอบด้วยขันธ์ 5 (ปัญจสกันธะ) อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา (สังชญา) สังขาร (สังสการ) และวิญญาณ (วิชญาน)

ทั้งนี้ หัวใจหลักของพระสูตร ดังที่ระบุว่า "รูปคือความว่างเปล่า ความว่างเปล่าคือรูป รูปไม่อื่นไปจากความว่างเปล่า ความว่างเปล่าไม่อื่นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ว่างเปล่า" นับเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา เห็นแจ้งในรูปเป็นความว่างเปล่า เกิดมหาปัญญา เห็นแจ้งในความว่างเปล่าเป็นรูป เกิดมหากรุณา เมื่อเห็นแจ้งในรูปเป็นความว่างเปล่า ความยึดมั่นในอัตตาย่อมไม่มี ความหลงในสรรพสิ่งย่อมถูกทำลายไป ธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่ง ก็บังเกิดขึ้นในจิต นั่นคือ มหาปัญญา ได้บังเกิดขึ้น และเมื่อได้เห็นแจ้งถึงความว่างเปล่าได้ กำเนิดรูป ความรัก ความเมตตากรุณาในสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติแท้ย่อมบังเกิดขึ้น ความ เมตตากรุณาที่เกิดจากปัญญาจะไม่มืดบอด หลงไหล ความรักของพ่อและแม่ที่มีต่อลูกเป็น เช่นเดียวกัน [19]

คาถา

[แก้]

จุดเด่นสำคัญของปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร คือคาถาตอนท้ายพระสูตร ที่ว่า "คะเต คะเต ปารคะเต ปารสังคะเต โพธิสวาหา" หรืออาจแปลโดยคร่าวๆ ได้ว่า "จงไป จงไป ไปถึงฝั่งโน้น ไปให้พ้นโดยสิ้นเชิง บรรลุถึงความรู้แจ้ง หะเหวย!" อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับในภาษาต่าง ๆ มักละไว้ ไม่แปลคาถานี้ ตามตำนานฝ่ายจีนระบุว่า คณาจารย์ชาวอินเดียที่เดินทางมาประกาศพระศาสนาในแผ่นดินจีน ไม่แปลคาถานี้เพราะท่านทราบดีว่า ไม่มีทางที่จะทำได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายความนัยอันลี้ลับของคาถานี้ [20] กล่าวกันว่า หากผู้ใดสาธยายคาถาในพระสูตรจนบังเกิดสมาธิขึ้น บัดนั้นความนัยอันลึกซึ้งของคาถาก็จะเปิดเผยขึ้นมาเอง [21]

ขณะที่คณาจารย์ทิเบตตีความไปในแนวทางพุทธตันตระ โดยบางท่านตีความว่า คาถานี้ เป็นการแสดงถึงการเคี่ยวกรำบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ผ่านภพภูมิต่างๆ กล่าววคือ ภพภูมิชั้นมูลฐาน หรือสัมภารมรรค (คะเต คะเต) ผ่านถึงภาคแรกของภพภูมิแรก หรือประโยคะมรรค (ปารคะเต) ถึงภาคที่สองของภพภูมิแรกจนถึงภพภูมิที่สิบ หรือประโยคะแห่งสุญตาจนถึงภาวนามรรค (ปารสังคะเต) กระทั่งจนถึงภูมิที่สิบเอ็ด หรืออไศกษะมรรค (โพธิสวาหา) ดังที่ เกเช เคลซัง กยัตโซ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ The New Heart of Wisdom ความว่า "คาถานี้ ซึ่งอยู่ในพากย์ภาษาสันสกฤต อธิบายการปฏิบัติตามแนวทางมหายานไว้อย่างเข้มข้นที่สุด ซึ่งเราจักบรรลุและโดยสมบูรณ์โดยผ่านปัญญาบารมี (ปรัชญาปารมิตา) [22]

พระมหาคณาจารย์โพธิ์แจ้งและมหาวัชราจารย์โซนัมรินโปเช่ กล่าวว่า "คำสวดนี้เป็นคาถาหัวใจของปรัชญาปารามิตาสูตร เลียนคำมาจากสันสฤตโบราณ ฉะนั้นจึงไม่ขอแปลความหมาย บทธารณีในภาษาจีนได้จบเพียงเท่านี้ แต่ในสันสฤตได้มีอีกประโยคว่า ได้กล่าวปรัชญาปารามิตาสูตรจบแล้ว ในภาษาทิเบตมีการบรรยายที่มาของพระสูตร และ บท สรุปของพระสูตรนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า “ดูกรกัจจนะโลกนี้ติด อยู่กับสิ่งสองประการ คือ “ความมี”และ “ความไม่มี” ผู้ใดเห็นความเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลาย ในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความไม่มี”อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น ดูก่อนกัจจนะ ผู้ใดเห็นความดับของสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความมี” อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น”" [23]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pine, Red. The Heart Sutra: The Womb of the Buddhas (2004)
  2. Pine, Red. The Heart Sutra: The Womb of the Buddhas (2004)4
  3. Nattier, Jan. 'The Heart Sutra: A Chinese Apocryphal Text?'
  4. Geshe Kelsang Gyatso. Heart of Wisdom: An Explanation of the Heart Sutra
  5. Conze, Edward. (1967)
  6. Lopez, Donald S., Jr. The Heart Sutra Explained: Indian and Tibetan Commentaries (1988)
  7. Nattier, Jan. 'The Heart Sutra: A Chinese Apocryphal Text?'
  8. Pine, Red. The Heart Sutra: The Womb of the Buddhas (2004)
  9. Nattier, Jan. 'The Heart Sutra: A Chinese Apocryphal Text?'
  10. Tibetan Version of the Heart Sutra (English)". Dharmaweb. 2005-10-29. Retrieved 2013-03-16.
  11. Nattier, Jan. 'The Heart Sutra: A Chinese Apocryphal Text?'
  12. Nattier 1992, pg. 183
  13. Pine 2004, pg. 20
  14. Nattier 1992, pg. 183
  15. Pine 2004, pg. 36
  16. Nattier 1992, pg. 200
  17. Pine 2004, pg. 39
  18. Pine 2004, pg. 35
  19. ฤทธิชัย เอกสินิทธ์กุล. (2541). ปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร.
  20. Luk 1991 pg. 85
  21. Luk 1991 pg. 85
  22. Heart of Wisdom by Geshe Kelsang Gyatso, page 125. Tharpa Publications (4th. ed., 2001)
  23. ฤทธิชัย เอกสินิทธ์กุล. (2541). ปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Pine, Red. The Heart Sutra: The Womb of the Buddhas (2004) Shoemaker 7 Hoard. ISBN 1-59376-009-4
  • Nattier, Jan. 'The Heart S?tra: A Chinese Apocryphal Text?'. Journal of the International Association of Buddhist Studies Vol. 15 (2) 1992. p. 153-223. PDF
  • Geshe Kelsang Gyatso. Heart of Wisdom: An Explanation of the Heart Sutra, Tharpa Publications (4th. ed., 2001) ISBN 978-0-948006-77-7
  • Conze, Edward. (1967) ‘The Prajñāpāramitā-Hṛdaya Sūtra’ in Thirty Years of Buddhist Studies: Selected Essays, Bruno Cassirer. p. 147-167.
  • Lopez, Donald S., Jr. The Heart Sutra Explained: Indian and Tibetan Commentaries (1988) State Univ of New York Pr. ISBN 0-88706-589-9
  • Luk, Charles. The Secrets of Chinese Meditation (1991) Samuel Weiser.
  • ฤทธิชัย เอกสินิทธ์กุล. (2541). ปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร. ใน http://www.gonghoog.com/