ข้ามไปเนื้อหา

พระองค์เม็ญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นักองค์เม็ญ)
พระองค์เม็ญ
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งกัมพูชา
ครองราชย์พ.ศ. 2378–2384 และ พ.ศ. 2387–2388 (6 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
ถัดไปสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระราชสมภพพ.ศ. 2358
สวรรคตธันวาคม พ.ศ. 2417 (ราว 59 พรรษา)
อุดงฦๅไชย อาณาจักรเขมร
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
พระราชบิดาสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
พระราชมารดานักนางกระจับ

พระองค์เม็ญ (หรือ มี),[1] พระองค์เจ้ามี[2][3] หรือ นักองค์เม็ญ[4][5][6] (เขมร: អង្គមី; พ.ศ. 2358 — ธันวาคม พ.ศ. 2417) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรอุดง[7] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ทั้งนี้พระองค์เม็ญเป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่เป็นสตรีไม่กี่คนในประวัติศาสตร์กัมพูชา[8] พระองค์เม็ญทรงเป็นที่รู้จักในนาม บา กง จั๊ว (พระนางเจ้าหญิง) หรือพงศาวดารกัมพูชาออกพระนามว่า บากุ๋นภู[9] มีพระนามเป็นภาษาเวียดนามว่า เจ้าหญิงหง็อก เวิน (Công chúa Ngọc Vân, 玉雲) และภายหลังมีตำแหน่งเป็น เจ้าหญิงหมี เลิม (Quận chúa Mỹ Lâm, 美林)

หลังสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีเสวยทิวงคตในช่วงสงครามอานามสยามยุทธ พระเจ้ากรุงญวนจึงขุนนางจัดพระราชพิธีอภิเษกให้พระองค์เม็ญเสวยราชย์แทนพระราชบิดาขณะพระชนมายุ 20 พรรษา[9] เพราะในช่วงเวลานั้นเจ้านายเขมรที่เป็นชายเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยาม คงเหลือแต่เจ้านายเขมรผู้หญิง ฝ่ายญวนจึงกวาดเจ้านายเขมรไปเมืองญวน หวังให้เป็นประเทศราช[10] พระองค์เม็ญถูกแต่งตั้งเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาและปลดออกสองครั้ง พระองค์และพระภคินีถูกนำไปไว้ที่เมืองไซ่ง่อนและเว้ ตามลำดับ เพื่อให้กัมพูชาสิ้นเจ้านายปกครอง[11][12]

ต่อมาราชสำนักเว้ก็ส่งพระองค์กลับพนมเปญหวังให้ชาวเขมรคลายความเจ็บแค้น เมื่อพระเจ้ากรุงญวนทรงเห็นว่าไม่มีขุนนางเขมรนิยมชมชอบพระองค์เม็ญ จึงส่งพระองค์เม็ญไปเมืองเมียดจรูก[1] ภายหลังทัพญวนมิอาจต้านทานกองทัพประสมสยามกับเขมร จึงขอหย่าศึก ยอมปล่อยพระราชวงศ์เขมรที่ถูกนำไปควบคุมไว้ที่เว้ให้เป็นอิสระตั้งแต่ พ.ศ. 2388 เป็นต้นมา[13]

พระราชประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]

พระองค์เม็ญประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน สัปตศก 1177 (พ.ศ. 2358) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ประสูติแต่นักนางกระจับ บาทบริจาริกาชั้นพระแม่นาง พระราชชนกโปรดให้จัดพระราชพิธีเกศากันต์ แล้วถวายพระนามให้ว่าพระองค์เจ้ามี[2] (เอกสารไทยเรียก เม็ญ) มีพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีแต่ไม่ปรากฏพระนามพระองค์หนึ่ง ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2363 แต่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคฝีดาษเมื่อชันษาเพียง 7 ปี[14] และมีพระภคินีร่วมพระชนกได้แก่ นักองค์แบน บ้างออกนามว่า แป้น[15] หรือแม้น[5] (ประสูติแต่นักเทพ)[4] นักองค์เภา (ประสูติแต่นักนางยศ)[14] และนักองค์สงวน (ประสูติแต่นักนางแป้น น้องสาวนักนางกระจับ)[16]

ผังเครือญาติของพระองค์เม็ญ

นักองค์ตน

นักองค์เอง

นักองค์จัน

นักองค์ด้วง
นักองค์แบน
นักองค์เม็ญ
นักองค์เภานักองค์สงวน
นักองค์ราชาวดี

นักองค์ศรีสวัสดิ
นักองค์วัตถา

ทว่าหลังสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีผู้มีนโยบายนิยมญวน[17][18] เสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2377 ราชสำนักกัมพูชาขาดผู้สืบราชสันตติวงศ์ เพราะพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระราชธิดาอยู่สี่พระองค์ คือ นักองค์แบน นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวน[19][20] สมความมุ่งหมายของทั้งสยามและญวนที่ต้องการให้วงศ์กษัตริย์กัมพูชาสูญไป ในเวลานั้นพระอนุชาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีสองพระองค์ คือ สมเด็จศรีไชยเชฐ พระมหาอุปราช หรือนักองค์อิ่ม และสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ซึ่งประทับอยู่ในสยามอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ทันที แต่ฝ่ายญวนที่ปกครองเขมรอยู่นั้นไม่ยอมรับให้ทั้งสองสืบราชบัลลังก์ โดยเฉพาะสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ หรือนักองค์อิ่ม ที่ในภายหลังทรงหลงกลและถูกญวนคุมตัวไปไว้เมืองญวน[21] เพราะหวังว่าฝ่ายญวนจะยกพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร[22]

เบื้องต้นฝ่ายพระเจ้ากรุงญวนที่คิดจะเอาดินแดนเขมรมาไว้ในปกครอง จะตั้งให้เจ้านายผู้หญิงคือนักองค์แบนเสกสมรสกับพระราชโอรสพระเจ้ากรุงญวน[23] ส่วนพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีทั้งสามพระองค์ให้ครองราชย์ร่วมกัน[4] ทว่าในเวลาต่อมาราชสำนักเว้และขุนนางเขมร หมายจะให้นักองค์แบน พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ขึ้นเสวยราชย์สืบบิดา แต่เพราะเจ้าหญิงพระองค์นี้นิยมสยาม และยังเป็นหลานสาวของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ขุนนางเขมรที่ฝักใฝ่สยาม จึงมิได้ถูกเลือก[24] ในขณะที่นักองค์เม็ญได้รับการโน้มน้าวจากขุนนางญวนให้เสกสมรสกับพระราชโอรสของจักรพรรดิซา ล็อง (เอกสารไทยเรียก ยาลอง หรือองเชียงสือ) แต่แผนการนี้ถูกขุนนางเขมรคัดค้านอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่ามีวัฒนธรรมต่างกัน และไม่เหมาะควรที่จะให้เจ้านายผู้หญิงปกครองประเทศยาวนาน[4][25]

หุ่นเชิด

[แก้]

พฤษภาคม พ.ศ. 2378 ราชสำนักเว้สถาปนานักองค์เม็ญ หรือหง็อก เวิน (Ngọc Vân, 玉雲) เป็น "เจ้าหญิงเมืองขึ้น" (Quận chúa, 郡主) และมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าเจ้าหญิงพระราชธิดากรุงญวน (Công chúa, 公主) ส่วนพระภคินีพระองค์อื่น คือ นักองค์แบน หรือหง็อก เบี่ยน (Ngọc Biện, 玉卞) นักองค์เภา หรือหง็อก ทู (Ngọc Thu, 玉秋) และนักองค์สงวน หรือหง็อก เงวียน (Ngọc Nguyên, 玉源) มีบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านหญิงหัวเมืองน้อย" (Huyện quân, 縣君)[26] ฝ่ายญวนทำการอารักขาพระองค์เม็ญอย่างใกล้ชิด มีทหารรักษาพระองค์สองกองร้อย รวม 100 นาย ส่วนพระภคินีอีกสามพระองค์ มีทหารอารักขาพระองค์ละ 30 นาย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เจ้านายเขมรคิดหลบหนีไปพึ่งสยาม[27]

ในรัชสมัยของพระองค์เม็ญ มีพระราชบัญชาให้สตรีเขมรทุกคนสวมชุดญวนแทนการนุ่งผ้าสมปัก และไว้ผมยาวตามอย่างหญิงญวน[28][29][30] ในตลาดมีการวางจำหน่ายอาหารญวน เลิกเปิบข้าวด้วยมือ[31] นาฏกรรมเขมรเริ่มรับอิทธิพลจีนและญวน ข้าราชการเขมรต้องสวมชุดญวน และวัดพุทธของชาวเขมรถูกแปลงเป็นวัดแบบญวนเพื่อทำลายอัตลักษณ์เขมร[28][32] สถานที่ต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาญวน[19] บริเวณโดยรอบกรุงพนมเปญถูกเรียกว่า เจิ๊นเต็ยทั้ญ (Trấn Tây Thành, 鎮西城) หรือเขตบริหารฝั่งตะวันตก[33] และญวนเรียกการกระทำนี้ว่าเป็น "ภารกิจแห่งความศิวิไลซ์" ด้วยมองว่าตนเองนั้นมี "อารยะ" มากกว่าเขมร[34] ชาวเขมรภายใต้การปกครองของเจ้านายผู้หญิง สิ้นหวังกับนโยบายการแผลงให้เป็นเวียดนาม (Vietnamization) จึงเรียกร้องให้ฝ่ายสยามแต่งตั้งนักองค์ด้วง พระอนุชาของสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี เสวยราชย์แทน[35]

พ.ศ. 2383 นักองค์แบน พระเชษฐภคินีของพระองค์เม็ญ ถูกทางการญวนจับได้ว่าทรงวางแผนหลบหนีไปสยาม จากการลับลอบติดต่อกับนักเทพ พระชนนี และพระองค์แก้ว ผู้เป็นลุง ที่พลัดไปเมืองพระตะบองซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของสยาม จักรพรรดิมิญ หมั่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้จับเจ้านายเขมรไปคุมขังที่พนมเปญเพื่อพิจารณาคดี ต่อมามีพระราชโองการปลดพระองค์เม็ญในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2384 ก่อนเนรเทศเจ้าหญิงเขมรพร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปไซ่ง่อน[11][19][36] บรรดาขุนนางและข้าราชการเขมรมองว่าการที่ญวนทำเช่นนี้ เสมือนการล้างบางเจ้าเขมรให้สูญวงศ์ อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันโกรธแค้นและเจ็บปวดกับนโยบายของญวน[5] ขุนนางญวนส่งเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่พระองค์ไว้ที่เมืองล็องโห่ (Long Hồ, 龍湖) เอกสารเขมรเรียกเมืองลงโฮ ส่วนเอกสารไทยเรียกเมืองล่องโห้ เซือง วัน ฟ็อง (Dương Văn Phong) เอกสารเขมรเรียก กุงดก เจ้าเมืองล็องโห่ นำส่งเจ้าหญิงเขมรสามพระองค์คือ นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวนให้เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng, 張明講) หรือเอกสารไทยเรียก องเตียนกุน แม่ทัพญวนที่ปกครองเขมร ส่งต่อไปยังเมืองไซ่ง่อน แต่กุมนักองค์แบนไว้ เพราะพระชนนีของพระองค์หนีไปพึ่งสยามในกรุงเทพฯ ฝ่ายญวนมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการทรยศ เซือง วัน ฟ็องจึงนำนักองค์แบนผู้แปรพักตร์ไปสำเร็จโทษที่เมืองล็องโห่ เมื่อพระชันษา 32 ปี[37] เอกสารเขมรระบุว่านักองค์แบนสิ้นพระชนม์จากถูกจับใส่ถุงถ่วงน้ำที่แม่น้ำโขง[23] ส่วนเอกสารของคิน สก (Khin Sok) ระบุว่านักองค์แบนถูกทรมานจนสิ้นพระชนม์ ทหารญวนจึงนำพระศพไปทิ้งน้ำ[38] ในเวลาต่อมา พระองค์เม็ญ พระขนิษฐา และสมเด็จศรีไชยเชษฐ ถูกนำไปไว้ที่เมืองเว้[39]

เมื่อไร้พระเจ้าแผ่นดิน ขุนนางเขมรก็เริ่มตั้งยศตัวเอง รวบรวมสมัครพรรคพวกสังหารขุนนางญวนในเขมร และแสดงตนกระด้างกระเดื่องไม่อ่อนน้อมต่อพระเจ้ากรุงญวน[40] ช่วงเวลานั้นสยามจึงขยายอิทธิพลเข้ากัมพูชา และพยายามแต่งตั้งนักองค์ด้วงเสวยราชย์ ก่อให้เกิดอานัมสยามยุทธขึ้น[41] ขุนนางญวนในพนมเปญกราบบังคมทูลให้พระองค์เม็ญนิวัตกรุงกัมพูชาด้วยหวังจะคลายปัญหากบฏลง แต่จักรพรรดิมิญ หมั่งทรงปฏิเสธ สอดคล้องกับหนังสือของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีถึงจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 โดยทรงเล่าความหลังเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า "ครั้นพี่ตูตาย [ตู – สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี] ยังอยู่แต่บุตรหญิง เจ้ามินมางทำโทษให้เอาบุตรพี่ตูกับมารดาตูบุตรตูไปกักขังไว้ที่เมืองไซ่ง่อน ให้ฆ่าบุตรหญิงพี่ตูเสียคน ๑ ให้ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองเขมรและราษฎรแยกกันไปอยู่เกาะบ้าง ไปอยู่เมืองตังเกี๋ยใกล้เมืองจีนบ้าง ราษฎรเขมรรู้ทั้งสิ้นว่าเจ้าเมืองญวนใจร้ายก็กำเริบฆ่าญวนตายเป็นอันมาก ไปขอตูแก่กรุงเทพมหานครมาเป็นเจ้า"[17]

เมื่อทนแรงกัดดันไม่ไหว ทางราชสำนักญวนจึงส่งพระองค์เม็ญ พระขนิษฐา พระชนนี และพระองค์อิ่มพระปิตุลาคืนกรุงพนมเปญเมื่อขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 (ตรงกับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2384) โดยเจือง มิญ สาง ปลูกเรือนถวายหนึ่งหลัง แล้วถวายตราลัญจกรของสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี พร้อมพระขรรค์ประจำแผ่นดินแก่พระองค์เม็ญ โอกาสนั้นพระองค์เม็ญทรงแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ แล้วทำหนังสือไปยังขุนนางเขมรนัยว่าให้ขุนนางและข้าราชการทั้งหลายสนับสนุนพระองค์ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสวามิภักดิ์[42] ในเวลาเดียวกันกับนักองค์ด้วงที่เป็นพระปิตุลาอีกพระองค์หนึ่ง ได้รับเสียงสนับสนุนจากราชสำนักกรุงอุดงฦๅไชย[43] ต่อมาพระองค์เม็ญและเจ้านายผู้หญิงที่ถูกฝ่ายญวนจับกุม เพราะทรงลักลอบส่งหนังสือไปหานักองค์ด้วง เนื้อหาระบุว่าให้ขุนนางเขมรไปรับ จะเสด็จหนีออกไปอยู่ด้วย เมื่อองเตียนกุนทราบก็ตั้งกองกำลังเข้มแข็งขึ้น[44] ต่อมาแรม 6 ค่ำ เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2384) เจ้าเมืองไซ่ง่อนส่งสมเด็จพระศรีไชยเชษฐหรือนักองค์อิ่มขึ้นมายังพนมเปญ องเตียนกุนจึงปลูกเรือนหลังหนึ่งให้นักองค์อิ่มไปอาศัยรวมกับเจ้านายผู้หญิงซึ่งรวมไปถึงพระองค์เม็ญด้วย เรียกว่าสำนักตาแก้ว และให้นักองค์อิ่มเกลี้ยกล่อมขุนนางเขมรให้เข้าฝ่ายญวน แต่ไม่สำเร็จ[45] ในเวลาต่อมาพระเจ้ากรุงญวนทรงเห็นว่าไม่มีขุนนางเขมรนิยมชมชอบพระองค์เม็ญ จึงส่งพระองค์เม็ญและเจ้านายอื่น ๆ ไปเมืองเมียดจรูก หรือเอกสารไทยเรียกโจฎก เมื่อแรม 11 ค่ำ เดือน 12 (ตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2384)[1] ช่วงปีนั้นสมเด็จพระศรีไชยเชษฐหรือนักองค์อิ่ม ได้นักองค์เภาเป็นชายา ส่วนนักองค์พิมพ์ พระโอรสของสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ ได้นักองค์สงวนเป็นชายา ครั้น พ.ศ. 2387 สมเด็จพระศรีไชยเชษฐถึงทิวงคตที่เมืองเมียดจรูก[46]

ภายหลังทัพญวนมิอาจต้านทานกองทัพประสมสยามกับเขมรนำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หลังทำสงครามกันมายาวนาน[17] จึงขอหย่าศึกที่ตำบลโพธิ์สามต้นใน พ.ศ. 2389[47] และทยอยปล่อยเจ้านายเขมรคืนกัมพูชา[13] แรม 8 ค่ำ เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2389) ฝ่ายญวนส่งนักนางรศ หม่อมกลีบ และพระธิดาองค์หนึ่งของนักองค์ด้วงคืนกรุงพนมเปญ แต่ยังไม่ส่งพระองค์เม็ญและเจ้านายผู้หญิงให้ โดยฝ่ายญวนแจ้งว่า หากต้องการ ให้ส่งพระราชสาสน์แต่งบรรณาการไปทูลขอเจ้าเวียดนามก็จะโปรดให้[48]

ต่อมาแรม 3 ค่ำ เดือน 6 (ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) ขุนนางญวนแต่งตั้งนักองค์ด้วงขึ้นเป็น เตามันกวักเอือง หรือเตาบางกวิกเกวิง (Cao Miên Quốc vương, 高棉國王 กาวเมียนโกว๊กเวือง) แปลว่า "เจ้าเขมรอยู่คนหนึ่ง" รับตราตั้งสององค์พร้อมฉลองพระองค์แบบญวน และฝ่ายญวนอ้างว่าจะคืนดินแดนเขมรที่ญวนยึดครองอยู่ให้ไปด้วย[49] หลังจากนั้นขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 (ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) องต๋าเตืองกุน ขุนนางญวนก็นำนักองค์เม็ญ นักองค์เภา และนักองค์สงวน คืนแก่นักองค์ด้วง ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 (ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) แม่ทัพนายกองญวนในพนมเปญก็เลิกทัพไปหมด[50] ส่วนหนึ่งก็เพราะญวนเผชิญกับการกบฏบริเวณตังเกี๋ย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ[51] ครั้นขึ้น 14 ค่ำ เดือน 2 (ตรงกับวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2391) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาเพ็ชรพิไชย (เสือ) กับเจ้าพนักงานทุกตำแหน่ง คุมเครื่องประกอบพระอิสริยยศ สุพรรณบัตรจารึกพระนามออกไปเมืองเขมร อภิเษกนักองค์ด้วงพร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชาเมื่อขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 (ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2391) เป็นเจ้าแผ่นดินกัมพูชา พระนามว่า องค์พระหริรักษ์เจ้ากรุงกัมพูชา[52]

ปลายพระชนม์และสวรรคต

[แก้]

ครั้นสิ้นรัชสมัยของพระองค์เม็ญ พระองค์ต้องอยู่กับมลทินมัวหมองมาตลอดสองทศวรรษหลัง เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารก็เสวยราชสมบัติต่อ และย้ายราชธานีไปยังกรุงพนมเปญ ทิ้งให้พระองค์เม็ญประทับอยู่ในพระราชวังอุดงฦๅไชยกับข้าราชบริพารเก่าแก่ บางแหล่งข้อมูลระบุว่าพระองค์เม็ญคุ้มดีคุ้มร้ายเมื่อไม่ได้สิทธิในสินค้าอย่างที่ราชินีควรจะได้ เหล่าข้าราชบริพารจึงเข้ามายุ่งย่ามปิดปากเหล่าพ่อค้าแม่ค้าเสีย[53]

พระองค์เม็ญมีพระราชบุตรสองพระองค์ ที่ประสูติกับบุรุษไม่ทราบนาม[54] พระองค์เม็ญและพระสวามีประสบอุบัติเหตุ เสวยทิวงคตหลังเดือนธันวาคม พ.ศ. 2417 พระบรมศพได้รับการพระราชทานเพลิงที่กรุงพนมเปญในปี พ.ศ. 2427[ต้องการอ้างอิง]

พระราชินีนาถผู้มัวหมอง

[แก้]

ใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา และเอกสารอื่น ๆ มักเสนอด้านลบของพระองค์เม็ญ เป็นต้นว่า สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ต้องให้ความสำคัญกับพระองค์เม็ญและฝ่ายญวนเพื่อนำเจ้านายผู้หญิงคืนแผ่นดินเขมร รวมทั้งติเตียนการปกครองของพระองค์เม็ญที่ทำให้สูญเสียสัญญาทาส และระบุอีกว่าราชสำนักเขมรยอมให้พระองค์เม็ญเสวยราชสมบัติ ก็เพื่อรอให้นักองค์อิ่มหรือนักองค์ด้วงมาครองราชย์ในภายหลัง รวมทั้งข่าวลือว่าพระองค์เม็ญเป็นอนุภริยาของเจือง มิญ สาง หรือเอกสารไทยเรียก องเตียนกุน ชาวญวนผู้เข้ามาปกครองพนมเปญ แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ยืนยันเรื่องราวดังกล่าว[55] และมีการกล่าวถึงพระองค์เม็ญว่า "หญิงงามผู้มิได้ขายเรือนร่าง หากแต่ขายชาติแก่พวกญวน"[56]

ในช่วงวิกฤตการณ์การสืบราชสันตติวงศ์กัมพูชา พระองค์เม็ญพยายามหาทางออกอย่างสันติ ทรงลักลอบติดต่อกับนักองค์ด้วง ด้วยทรงปรารถนาว่าพระราชวงศ์เขมรจะกลับมาพร้อมหน้าด้วยกันอย่างสันติสุข ส่วนเอกสารของฝ่ายเวียดนามระบุว่า ในวันเสวยราชสมบัติพระองค์เม็ญเป็นพระยุวราชนารีผู้ชาญฉลาด[57] แต่จากการที่พระองค์ถูกญวนคุมเป็นองค์ประกันไปไซ่ง่อนและเว้ รวมทั้งการปลงพระชนม์นักองค์แบน พระเชษฐภคินี ทำให้พระองค์เม็ญแสดงพฤติกรรมเปลี่ยนไป พระองค์ไม่เป็นมิตรกับผู้อื่น และในช่วงท้ายของรัชกาล มีรายงานว่าพระองค์มีพระสัญญาวิปลาส[58]

พระองค์เม็ญตกเป็นแพะรับบาปของประวัติศาสตร์กัมพูชา[59] เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในรัชสมัยของพระองค์เม็ญ ซึ่งครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน พระมหากษัตริย์และพระชนกผู้มีนโยบายโอนอ่อนต่อราชสำนักเว้ และพิธีราชาภิเษกของพระองค์เม็ญก็ถูกจัดโดยขุนนางญวน เอกราชและวัฒนธรรมของกัมพูชาแทบสูญสลายไปภายใต้การปกครองของเวียดนาม[60]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 242
  2. 2.0 2.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 212
  3. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 114
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 166
  5. 5.0 5.1 5.2 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 239
  6. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 98
  7. បញ្ជី​ព្រះនាម​ព្រះមហាក្សត្រ​ខ្មែរ​ពី​សតវត្ស​ទី​១ ដល់​បច្ចុប្បន្ន
  8. Female Heads of State of Cambodia
  9. 9.0 9.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 233
  10. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 251
  11. 11.0 11.1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 192
  12. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 239
  13. 13.0 13.1 เขมร "ถกสยาม", หน้า 100
  14. 14.0 14.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 221
  15. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 214-215
  16. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 222
  17. 17.0 17.1 17.2 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 184
  18. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 113-114
  19. 19.0 19.1 19.2 เขมร "ถกสยาม", หน้า 99
  20. Sexual Culture in the east Asia pp, 127–155
  21. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 238
  22. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 214-215
  23. 23.0 23.1 ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร, หน้า 40-41
  24. ศิลปะเขมร, หน้า 21
  25. Gender in election, p. 7
  26. A Comparation analysis of traditional and contemporary of female house hold p 48 by Andrey Riffaund
  27. Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history by Trudy Jacobsen, p. 112
  28. 28.0 28.1 ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร, หน้า 42
  29. Fieldnote, 2005, 2006
  30. Violent against woman in Asian society 2003, p. 107
  31. David P. Chandler, A History of Cambodia,pp. 124 - 127
  32. Cambodian people by Sipar, p. 29
  33. Phnom Penh: a cultural and literary history By Milton Osborne, p. 51
  34. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา, หน้า 17
  35. "Ayutthaya, Capital of a Kingdom, Part 19". www.Chiangmai-Chiangrai.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 August 2017. สืบค้นเมื่อ 6 August 2017.
  36. "Siam, Cambodia, and Laos 1800-1950 by Sanderson Beck". www.san.Beck.org. สืบค้นเมื่อ 6 August 2017.
  37. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 240
  38. Trudy Jacobsen, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, p. 113
  39. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 241
  40. Chandler 2008, pp. 159.
  41. Chandler 2008, pp. 161.
  42. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 244
  43. Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history By Trudy Jacobsen, p.114
  44. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 245
  45. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 249-250
  46. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 242
  47. ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร, หน้า 43
  48. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 296
  49. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 185
  50. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 305-306
  51. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 258
  52. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 307
  53. River Road to China: The Search for the Source of the Mekong, 1866-73 By Milton Osborne p.26
  54. WOMEN IN POWER 1800-1840
  55. Khmer woman on the move, p.113
  56. River Road to China: The Search for the Source of the Mekong, 1866-73 By Milton Osborne p.25
  57. Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history By Trudy Jacobsen p. 117
  58. "Andy's Cambodia: www.andybrouwer.co.uk: Jacobsen rewrites history". www.AndyBrouwer.co.uk. สืบค้นเมื่อ 6 August 2017.
  59. Phnom Penh Post, 20 December 2002 – 2 January 2003, p 14
  60. Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history By Trudy Jacobsen p.116
บรรณานุกรม
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560. 360 หน้า. ISBN 978-616-514-575-6
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 500 หน้า. ISBN 978-616-514-661-6
  • ธิบดี บัวคำศรี. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. 188 หน้า. ISBN 978-974-7727-58-6
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 232 หน้า. ISBN 978-974-02-1324-6
  • ศานติ ภักดีคำ. เขมร "ถกสยาม". กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 208 หน้า. ISBN 978-974-02-0418-3
  • ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 224 หน้า. ISBN 978-974-02-1147-1
  • ศานติ ภักดีคำ. ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 288 หน้า. ISBN 978-974-02-1342-0
  • Chandler, David P. (2008). A history of Cambodia (4th ed.). Westview Press. ISBN 0813343631.
ก่อนหน้า พระองค์เม็ญ ถัดไป
สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี พระมหากษัตริย์กัมพูชา
(พ.ศ. 2377–2383)
สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี