ข้ามไปเนื้อหา

ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)

ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์) (อักษรโรมัน: Thanon Sukhumvit 71 (Pridi Banomyong)) เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากถนนสุขุมวิทที่ทางแยกสุขุมวิทในแขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา มุ่งไปทางทิศเหนือ เมื่อถึงปากซอยปรีดี พนมยงค์ 26 (พัฒนเวศม์) จึงเริ่มเป็นเส้นแบ่งพื้นที่การปกครองระหว่างแขวงพระโขนงเหนือกับแขวงคลองตันเหนือ จนกระทั่งผ่านปากซอยปรีดี พนมยงค์ 25 (เจริญมิตร) จึงเข้าแขวงคลองตันเหนือ ไปทางทิศเดิม ข้ามคลองตันเข้าพื้นที่แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง และไปสิ้นสุดที่ทางแยกคลองตัน ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนเพชรบุรีและถนนพัฒนาการ โดยมีถนนที่ตรงต่อเนื่องต่อไปคือถนนรามคำแหง

ถนนนี้เดิมคือซอยสุขุมวิท 71 สร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2485-2486 เทศบาลนครกรุงเทพได้รับมอบมาจากแขวงการทางกรุงเทพ (หน่วยงานของกรมทางหลวง) เมื่อปี พ.ศ. 2503[1] โดยกรมทางหลวงเรียกซอยนี้ว่า "ทางสายพระโขนง-คลองตัน (ซอยปรีดี)" และต่อมาคณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย และสะพานได้ตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนสุขุมวิท 71 เมื่อปี พ.ศ. 2513[1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 สำนักงานเขตวัฒนาโดยคณะกรรมการพิจารณาตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย และสะพานในพื้นที่เขตวัฒนาได้มีมติให้ตั้งชื่อถนนสุขุมวิท 71 ว่า ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)[1] เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และผู้นำพลเรือนในคณะราษฎร เพื่อสดุดีเกียรติคุณของท่านในฐานะบุคคลสำคัญของชาติ และในวาระที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่าน และในฐานะที่ปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งการให้สร้างถนนเส้นนี้ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกรุงเทพมหานครได้อนุมัติให้ใช้ชื่อดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2545[1]

สถานที่สำคัญบนถนนเส้นนี้ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย และโรงพยาบาลพัฒนเวช

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 392-393.