ข้ามไปเนื้อหา

เทศบาลเมืองเพชรบุรี

พิกัด: 13°06′42″N 99°56′45.5″E / 13.11167°N 99.945972°E / 13.11167; 99.945972
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตำบลคลองกระแชง)
เทศบาลเมืองเพชรบุรี
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันThetsaban Mueang Phetchaburi
ทัศนียภาพบนพระเจดีย์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี
ทัศนียภาพบนพระเจดีย์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี
ทม.เพชรบุรีตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี
ทม.เพชรบุรี
ทม.เพชรบุรี
ที่ตั้งของเทศบาลเมืองเพชรบุรี
ทม.เพชรบุรีตั้งอยู่ในประเทศไทย
ทม.เพชรบุรี
ทม.เพชรบุรี
ทม.เพชรบุรี (ประเทศไทย)
พิกัด: 13°06′42″N 99°56′45.5″E / 13.11167°N 99.945972°E / 13.11167; 99.945972
ประเทศ ไทย
จังหวัดเพชรบุรี
อำเภอเมืองเพชรบุรี
จัดตั้ง
  •  • 2473 (สุขาภิบาลเมืองเพ็ชรบุรี)
  •  • 7 ธันวาคม 2478 (ทม.เพชรบุรี)
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีกิตติพงษ์ เทพพานิช
พื้นที่
 • ทั้งหมด5.4 ตร.กม. (2.1 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)[1]
 • ทั้งหมด20,827 คน
 • ความหนาแน่น3,856.85 คน/ตร.กม. (9,989.2 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.04760102
ที่อยู่
สำนักงาน
ถนนราชวิถี ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 76000
เว็บไซต์www.phetchaburicity.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เทศบาลเมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีอันเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนล่างของประเทศ โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร โดยใจกลางจะมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน

ประวัติ

[แก้]
การค้าขายในแม่น้ำเพชรบุรี
สะพานจอมเกล้า
แม่น้ำเพชรในอดีต

การประกาศจัดตั้ง

[แก้]

เทศบาลเมืองเพชรบุรีเป็นหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี โดยเริ่มแรกจัดตั้งเป็น "สุขาภิบาลเมืองเพ็ชรบุรี มณฑลราชบุรี" [2] ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองเพชรบุรี พ.ศ. 2478 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2478[3] ต่อมา ปี พ.ศ. 2491 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่เทศบาล [4]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

เทศบาลเมืองเพชรบุรีมีพื้นที่ครอบคลุมในตำบลคลองกระแชงและตำบลท่าราบ โดยมีพื้นที่ 5.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,375 ไร่ ทิศใต้ติดตำบลต้นมะม่วง ทิศตะวันออกตำบลช่องสะแก ทิศเหนือติดตำบลหนองโสน ตำบลบ้านกุ่ม และตำบลธงชัย ทิศตะวันตกติดตำบลไร่ส้ม

ตราสัญลักษณ์

[แก้]

เทศบาลเมืองเพชรบุรีมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปพระปรางค์ห้ายอด หมายถึง พระปรางค์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุวัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดเพชรบุรี จำลองแบบมาจากนครวัดสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในแหลมสุวรรณภูมิ ล้อมด้วยพระระเบียงคด ที่หน้าบันพระวิหารหลวงประดับปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยา

ประชากร

[แก้]

จากหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองเพชรบุรีทะเบียนภาค สาขาจังหวัดเพชรบุรี ปรากฏข้อมูลจำนวนประชากรและครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ดังนี้

จำนวนประชากรรวม
  • จำนวนประชากรรวม 20,827 คน
  • จำนวนครัวเรือนรวม 10,329 หลังคาเรือน
ประชากรฝั่งตำบลท่าราบ
  • ชาย 5,305คน
  • หญิง 6,175 คน
  • รวม 11,480 คน
  • จำนวนครัวเรือน 5,710 ครัวเรือน
ประชากรฝั่งตำบลคลองกระแชง
  • ชาย 4,613 คน
  • หญิง 4,734 คน
  • รวม 9,347 คน
  • จำนวนครัวเรือน 4,619 ครัวเรือน

ชุมชน

[แก้]

สถานที่สำคัญ

[แก้]
  • พระนครคีรี - คือพระราชวังที่ตั้งอยู่บนเขาสามยอดของเขามไหศวรรย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเขาวัง ในการสร้างพระนครคีรีนี้ ได้สร้างพระราชวังบนยอดเขาทั้ง 3 ยอด โดยนำสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิค มาเป็นแบบอย่างในการก่อสร้าง แต่ฝีมือช่างปั้นมีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจีนปรากฏออกมา เช่น การปั้นสันหลังคา และกระเบื้องกาบกล้วย เป็นต้น การก่อสร้างเริ่มจากบนยอดกลาง ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของวัดอินทคีรี มีเจดีย์เก่าทรุดโทรมมาก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหม่ทับองค์เดิมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร ยอดเขาด้านทิศตะวันออก เดิมมีศาลาไม้ของวัดสมณะซึ่งชำรุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดประจำพระราชวังบนพระนครคีรี คือวัดพระแก้ว มีพระอุโบสถประดับด้วยหินอ่อน หลังคามุงกระเบื้องสี ใบระกาช่อฟ้า บราลีประดับกระจกฝีมือช่างหลวง หน้าบันปูนปั้นเป็นตราพระมหาพิชัยมงกุฏ ซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 บริเวณวัดพระแก้วยังมีพระสุทธเสลเจดีย์ หอระฆัง ศาลาและพระปรางค์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "เจดีย์แดง" ยอดเขาด้านตะวันตก เป็นส่วนที่ใช้ก่อสร้างพระราชวังซึ่งเป็นที่ประทับ มีหมู่พระที่นั่งหลายองค์ และอาคารต่างๆ ได้แก่พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรงมหรสพ หรือโรงโขน ศาลาลูกขุน และอาคารอื่นๆ อีก
  • พระปรางค์ 5 ยอด - คือปรางค์ห้ายอด ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี
  • ปราสาทศิลาแลง - เป็นปราสาทศิลาแลงที่ได้รับมาตามอารยธรรมขอม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี
  • ท้องพระโรงสมัยกรุงศรีอยุธยา - เป็นท้องพระโรงจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่หลงเหลือเพียง 1 เดียวในสยามประเทศที่รอดพ้นจากการเผาของพม่า โดยท้องพระโรงนี้ได้รื้อถวายวัดมาในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระสุวรรณมุนี (แตงโม) ปัจจุบันอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร

ศาสนสถาน

[แก้]

วัดมหาสมณาราม

[แก้]
  • วัดมหาสมณาราม หรือที่รู้จักกันในนาม วัดเขาวัง ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาวัง บริเวณไหล่ทางเขาวังทางทิศตะวันออก เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างพระนครคีรี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผนวช ได้เสด็จจาริกไปประทับที่วัดแห่งนี้อยู่เสมอ ครั้นเมื่อโปรดเกล้าให้สร้างพระนครคีรี จึงโปรดให้บูรณะและสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ และพระราชทานนามว่าวัดมหาสมณาราม

วัดมหาสมณารามมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงไทยขนาดกลาง หลังคาซ้อนสองชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ที่งดงามและมีชื่อเสียง โดยขรัวอินโข่ง เป็นผู้ร่างแบบ เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่ใช้วิธีเขียนภาพแบบ Perspective และแบบ Bird's-eye view ลักษณะจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น เรื่องราวที่เขียนภาพเป็นการไปนมัสการโบราณสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ พระพุทธบาทสระบุรี พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น ทั้งยังมีภาพขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่เกิดจนตาย ในแต่ละตอนศิลปินได้สอดแทรกวิถีชีวิตไว้อย่างน่าชม

วัดพระพุทธไสยาสน์

[แก้]

วัดพระพุทธไสยาสน์ หรือ วัดพระนอน ตั้งอยู่เชิงเขาวังทางด้านทิศใต้ ค่อนมาทางทิศตะวันออก ติดกับวัดสระบัว มีถนนคีรีรัถยาตัดผ่านหน้าวัด เป็นวัดที่น่าศึกษาและน่าเที่ยวชมวัดหนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมนั้นองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง และได้มีการสร้างวิหารครอบองค์พระในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดพระพุทธไสยาสน์มีพระพุทธรูปที่น่าสนใจชื่อ "พระพุทธไสยาสน์" เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน มีพุทธลักษณะงดงาม พระพักตร์ พระเกตุมาลา พระหัตถ์ ตลอดจนลวดลายปูนปั้นที่พระเขนยงามอวบอิ่ม รูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย องค์พระมีขนาดยาว 21 วา 1 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ และที่ฝ่าพระบาทได้เขียนลายทอง เป็นภาพปราสาท พระพรหม ฉัตรพระมหามงกุฏ บาตร คนโฑ น้ำ สังข์ พระขรรค์ ช้าง ปลา ถาดทอง พัดใบตาล พัดหางนกยูงดอกบัวแก้ว

ในอดีตอยู่กลางแจ้ง ตำนานเล่าว่ามีความพยายามสร้างวิหารเพื่อให้มีหลังคาคลุมพระนอน สร้างไม่สำเร็จ ให้มีเหตุ จนกระทั่งก่อสร้างครั้งที่ 3 ได้มีชีปะขาว นุ่งขาวห่มขาวเข้าร่วมในพิธีก่อสร้าง จึ้งได้สำเร็จ ชีปะขาวผู้นั้นก็ได้หายไปโดยที่ไม่มีผู้ใดทราบว่ามาจากที่ใด

วัดสระบัว

[แก้]

วัดสระบัว ตั้งอยู่เชิงเขาวังทางด้านทิศตะวันออก ริมถนนคีรีรัถยา ใกล้กับวัดพระนอน เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โบราณสถานบริเวณวัดยังคงสภาพเดิมแต่แรกสร้าง โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นโบราณอันงดงาม จึงมีผู้กล่าวว่าหากต้องการชมปูนปั้นสมัยอยุธยาต้องมาที่วัดสระบัว

วัดสระบัวมีพระอุโบสถที่มีขนาดกะทัดรัดฐานแอ่นโค้ง ผนังมีเสาอิงประดับ หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดับลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงอสูร ประกอบด้วยลายกนกช่อพุ่มหางโต ลักษณะลายปูนปั้นคล้ายกับลายปูนปั้นหน้าบันพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ภายในมีภาพจิตรกรรมและพระประธานสมัยอยุธยา

นอกจากนี้ยังมีพัทธสีมารอบพระอุโบสถทำจากศิลาทรายแดงจำหลักลาย ตั้งซ้อนกัน 2 ใบ บริเวณฐานเสมามีปูนปั้นรูปยักษ์และคน 12 ชาติ แบกใบพัทธสีมาทั้งสี่ทิศ ฝีมือสกุลช่างสมัยอยุธยาที่ยังสมบูรณ์ ถัดขึ้นไปปั้นเป็นครุฑ ชั้นที่สามปั้นเป็นรูปลายกระจังแบบดั้งเดิมอ่อนช้อนงดงาม ชั้นที่สี่ปั้นเป็นรูปดอกบัว จัดว่าเป็นศิลปะปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามที่สุดและหลงเหลือให้เห็นแห่งเดียวในเพชรบุรี

วัดมหาธาตุวรวิหาร

[แก้]

วัดมหาธาตุวรวิหาร อยู่ใกล้กับแม่น้ำเพชรบุรี ด้านข้างติดกับถนนนอก ด้านหน้าติดถนนดำเนินเกษม เป็นวัดที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใดสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีโบราณสถาน โบราณวัตถุอันทรงคุณค่ามากมาย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเพชร ตามคติโบราณถือว่าเมืองใดมีวัดมหาธาตุอยู่ใจกลางเมืองถือเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญ จึงเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

วัดมหาธาตุวรวิหารมีพระปรางค์ห้ายอด สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเทวาลัยในสมัยขอม สร้างด้วยศิลาแลง ภายหลังได้ร้างไป และกลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา จึงได้มีการบูรณะขึ้น ปัจจุบันได้มีการ ก่ออิฐ ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยฝีมืออันปราณีต ประกอบด้วยปรางค์องค์ใหญ่สูง 42 เมตร ล้อมรอบทั้งสี่ทิศด้วยปรางค์เล็กสี่องค์ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุในสถูปกะไหล่ทอง ในหนึ่งปีทางวัดจะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะเฉพาะช่วงสงกรานต์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีพระวิหารหลวง ประดิษฐานพระประธานทรงเครื่องสมัยอยุธยา เป็นพระวิหารที่สวยงามแปลกตาเนื่องจากไม่มีไขราหน้าบัน ส่วนช่อฟ้าและหางหงส์เป็นปูนปั้นเทพชุมนุม มีภาพใบหน้ายักษ์คั่นกลาง ใบระกาเป็นลายกนก ปูนปั้นที่หน้าบันทำเป็นสองตอน ตอนบนเป็นภาพนารายณืสี่กรทรงครุฑ ประกอบด้วยลายกนกก้านขด ออกช่อเป็นครุฑร่ายรำตอนล่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว มีภาพเทพพนมนั่งเรียงกันเป็นแถว ซุ้มประตูปั้นเป็นภาพเทวดา ยักษ์และสัตว์หิมพานต์ ส่วนซุ้มหน้าต่างแต่ละซุ้มมีลวดลายไม่ซ้ำกัน ภายในมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นเต็มผนังทั้งสี่ด้าน สีสันแจ่มชัด เป็นฝีมือการเขียนภาพของศิลปินเมืองเพชรที่มีชื่อเสียง 3 ท่าน ได้แก่ ครูหวน ตาลวันนา, ครูเลิศ พ่วงพระเดช และนายพิณ อินฟ้าแสง นอกจากนี้บริเวณลานด้านหน้าพระวิหารหลวง ในบางโอกาสอาจได้ยินเสียงปี่พาทย์ เสียงตีกรับ และเสียงบอกบทของละครชาตรี ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

วัดพลับพลาชัย

[แก้]

วัดพลับพลาชัย เตั้งอยู่ถนนดำเนินเกษม ใกล้กับวัดมหาธาตุ ป็นวัดเก่าที่น่าชมอีกวัดหนึ่ง อยู่ติดกับวัดมหาธาตุและแม่น้ำเพชรบุรี สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เล่ากันว่าแต่เดิมวัดนี้เคยเป็นที่ตั้งของกองทัพทหาร และมรพลับพลาของพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี และภายหลังได้มีการสร้างวัดจึงได้ตั้งชื่อวัดว่า พลับพลาชัย อันเป็นนามมงคล

สิ่งที่น่าสนใจของวัดพลับพลาชัยคือ บานประตูและบานหน้าต่างพระอุโบสถสร้างจากไม้แกะสลัก เป็นฝีมือช่างเมืองเพชรที่แกะลวดลายไว้อย่างวิจิตรงดงาม บานประตูด้านหน้าของพระอุโบสถทางทิศเหนือเป็นผลงานการแกะสลักของ นายเลิศ พ่วงพระเดช แกะเป็นรูปชาดก บานประตูด้านทิศใต้เป็นผลงานของนายบัว และ พระภิกษุผ่าน แกะเป็นลายกนกก้านขดสองชั้น บานประตูด้านหลังและด้านเหนือ เป็นผลงานของนายหวาน หอมมาลัย เป็นนิยายปรัมปราในป่าหิมพานต์ และอีกบานเป็นผลงานของนายหล้า แกะเป็นลายกนกเถาสองชั้น

งานปูนปั้นซุ้มประตูพระอุโบสถเป็นฝีมือของนายแป๋ว บำรุงพุทธ ช่างครูท่านหนึ่งของเมืองเพชร ปั้นเป็นภาพเรื่องราวตอนต่างๆ ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ มีความอ่อนช้อยงดงามทั้งรูปแบบ ลวดลาย และชัดเจนด้วยเนื้อหาของภาพ

นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ หนังใหญ่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในจำนวนหนังใหญ่กว่า 200 ตัว ของหลวงพ่อฤทธิ์อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย แกะเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ จัดได้ว่าเป็นตัวหนังที่มีความปราณีต งดงาม ปัจจุบันจัดแสดงตัวหนังใหญ่เกือบ 40 ตัว ไว้ในพระวิหารซึ่งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ

วัดใหญ่สุวรรณาราม

[แก้]

วัดใหญ่สุวรรณาราม ตั้งอยู่ริมถนนพงษ์สุริยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1.5 กิโลเมตร ชาวเมืองเพชรนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดใหญ่" เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะเห็นได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างต่างๆเช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ ฯลฯ ซึ้งล้วนเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ซึ่งเล่าขานเป็นตำนานสืบต่อมาจนทุกวันนี้

วัดใหญ่สุวรรณารามมีพระอุโบสถที่มีพระระเบียงคตล้อมรอบ เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยก่ออิฐ ถือปูน ด้านหน้ามีช่องประตู 3 บาน มีภาพเขียนทวารบาลที่อ่อนช้อยงดงามผนังด้านข้างก่อทึบไม่มีช่องหน้าต่าง ตัวพระอุโบสถยกพื้นสูงเป็นฐาน 2 ชั้น ฐานอาคารภายนอกยกมุมฐานให้งอนขึ้นแบบฐานทรงสำเภา พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอยุธยาอีกองค์หนึ่งเป็นพระคันธารราษฎร์ สมัยอยุธยา นั่งขัดสมาธิเพชร และมีรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) สันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรมรูปเหมือนคนจริงชิ้นแรกของประเทศไทย ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมุชุม 5 ชั้นซึ่งมีความงดงามมากนอกจากนี้งานปูนปั้นหน้าบันถือได้ว่างดงามนัก เป็นที่ชื่นชอบของนักประวัติศาสตร์ศิลป์โดยเฉพาะหน้าบันด้านหลังซึ่งอยู่ใกล้กับศาลาการเปรียญ ปั้นเป็นรูปพระนารายณ์เหยียบอสูร ประกอบด้วยลายช่อพุ่มหางโต แตกช่ออ่อนพริ้วสวยงามมาก

พระระเบียงคต มีทั้งหมดแปดหลัง หลังคาเป็นจตุรมุขล้อมรอบพระอุโบสถ และหน้าบันทุกด้านประลายเครื่องเถา มีเลขห้าไทย วางพาดเหนือพระขรรค์อยูใต้พระมหาพิชัยมงกุฏ เบื้องบนเป็นแฉกรัศมี อันหมายถึงสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งโปรดปรานวัดใหญ่ฯ และมีพระราชโองการประกาศให้วัดให้สุวรรณารามเป็นพระอารามหลวง ตั้งแต่ ร.ศ.128 (พ.ศ. 2452)

ศาลาการเปรียญ เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง หลังคาแบบมุขประเจิด ตามตำนานกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าเสือ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้พระราชทานแด่สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) พระองค์ทรงมีศรัทราเลื่อมใสโดยได้รื้อแล้วนำมาประกอบเป็นศาลาการเปรียญที่วัดใหญ่แห่งนี้ งานศิลปกรรมที่น่าชมได้แก่ หน้าบัน เป็นลายกนกช่อหางโต ที่มุขประเจิดประดับด้วยสาหร่ายรวงผึ้งหัวนาค แสดงถึงบารมีของผู้สร้าง ทวย ทำจากไม้ทั้งแผ่น จำหลักลายงดงาม เรียกว่าทวยหน้าตั๊กแตน และบานประตูขนาดใหญ่จำหลักลายก้านขดหางโต สอดแทรกด้วยลายพรรณพฤกษา บานหนึ่งมีรอยแตก ซึ่งเล่ากันว่าถูกทหารพม่าฟันด้วยขวานจนเนื้อไม้หายไป

วัดกำแพงแลง

[แก้]

วัดกำแพงแลง ตั้งอยู่ถนนพระทรงมีถนนโพธิ์การ้องตัดผ่านด้านทิศตะวันออกของวัด เป็นที่ตั้งของโบราณสถานแบบขอมและเก่าแก่ที่สุดในเมืองเพชรบุรี สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1720-1780) ที่แผ่อำนาจเข้ามาสู่ดินแดนทางภาคกลางของประเทศไทยและเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองสุดท้ายที่แผ่อิทธิพลมาถึง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และการตั้งชุมชนมาแล้วอย่างยาวนาน

วัดกำแพงแลงมีสิ่งที่น่าสนในได้แก่ปราสาทแบบขอม เป็นเทวสถานขอมสมัยบายน ประกอบด้วยหมู่ปราสาทหรือปรางค์ห้าหลัง สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ติดกัน มีซุ้มประตูที่เรียกว่าโดปุระทั้งสองด้าน โดยมีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางสิ่งที่น่าสนใจคือ บนผนังศิลามีร่องรอยงานปูนปั้นให้เห็นเป็นฝีมือของช่างพื้นเมือง ซึ่งมีลักษณะต่างจากปราสาทขอมที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือจะจำหลักหินเป็นลวดลายต่างๆ ส่วนปรางค์ทางด้านตะวันออก มีซุ้มประตูทางเข้าสี่ทิศ และปรางค์ด้านใต้มีซุ้มประตูทางเข้าสองด้าน ส่วนอีกสองด้านมีรูปปูนปั้นพระพุทธรูปยืน ซึ่งเชื่อได้ว่าปรางค์วัดกำแพงแลงเคยเป็นปรางค์ทางพุทธศาสนามาก่อน

วัดเพชรพลี

[แก้]
เสาชิงช้า วัดเพชรพลี

วัดเพชรพลี ตั้งอยู่บนถนนเพชรพลี ใกล้กับวัดสนามพราหมณ์ ตามตำนานเล่าว่าวัดนี้อยู่เมืองพริบพลีเก่า เป็นเรื่องที่เล่าขานมาพร้อมตำนานเมืองเพชรบุรี บริเวณดังกล่าวสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของพราหมณ์ เพราะปรากฏหลักฐานของเทวสถานวิหาร โบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้าตั้งอยู่มุมกำแพงวัด

วัดเพชรพลีมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์วชิระปราสาท เป็นอาคารทรงไทยสองชั้น สร้างด้วยคอนกรีต และมียอดปราสาทอยู่ตรงกลาง ลักษณะคล้ายกับพระปฐมเจดีย์ ซึ่งพระครูพิศิษฎ์ ศิลปาคม เป็นผู้ออกแบบการก่อสร้าง ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปสมัยต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สมัยทราวดี ศรีวิชัย เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระพุทธรูปแบบสุวรรณภูมิรูปแบบงดงาม สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งได้แก่ พระพุทธรูปจำหลักด้วยหยก และแท่งหยก และแท่งแก้วอัญมณี นอกจากนี้ยังมีบุษบกธรรมาสน์สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และส่วนล่างของพิพิธภัณฑ์เป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ 3 องค์ ทำด้วยหยกแก้วสีแดง สีเขียว และสีเทา ลักษณะพระพักตร์อวบอิ่ม งดงามมาก

วัดเกาะสุทธาราม

[แก้]

วัดเกาะสุทธาราม ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดเกาะ ตั้งอยู่ถนนบริพัตร ใกล้กับหัวถนนพานิชเจริญ หากมาจากสะพานนเรศซุ้มประตูทางเข้าวัดอยู่ทางซ้ายมือ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) แต่เดิมมีแม่น้ำไหลผ่านโดยรอบ อาณาเขตของวัดจึงมีสภาพเป็นเกาะ ภายในวัดมีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่น่าสนใจมากมาย

พระอุโบสถมีขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน ฐานโค้ง ไม่เจาะช่องหน้าต่าง บัวปลายเสากลีบยาว เพดานพระอุโบสถ ลดชันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพดานมีดาวจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีการจารึกปีที่เขียนไว้ว่า ปี 2277 เป็นภาพเขียนสีฝุ่น สภาพยังสมบูรณ์ ตอนบนเขียนเป็นรูปหมู่นักสิทธิ์วิทยาธรประนมหัตถ์ถือดอกไม้ แต่งกายอย่างคนต่างชาติ ตอนกลางเขียนเป็นรูปเจดีย์บรรจุในโครงรูปสามเหลี่ยมหยักฟันปลา มีรูปฉัตรคั่น ใต้ฉัตรเขียนเป็นรูปพุทธประวัติ ส่วนผนังด้านด้านทิศใต้เขียนเป็นภาพสถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ตอนล่างของภาพเขียนเป็นรูปชาวตะวันตกขี่ม้า พระญี่ปุ่น และคนจีน แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องในขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวต่างประเทศในสมัยอยุธยาขณะนั้น

และยังมีหมู่กุฏิเรือนไทยและศาลาการเปรียญ กล่าวกันว่าฝาประกนลูกฟักของหมู่กุฏิเรือนไทยวัดเกาะมีความสวยงามมาก เป็นผลงานของท่านอธิการโฉม พระครูผู้มีชื่อเสียงด้านช่างไม้ และภายในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์แกะสลักอย่างงดงาม มีภาพจิตรกรรมที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีความสมบูรณ์และงดงามเช่นกัน

ศิลปวัฒนธรรม

[แก้]

งานศิลปในเพชรบุรีส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เกี่ยวกับศาสนาและวัดเรียกได้ว่าถ้าวัดใดมีพระภิกษุผู้มีความรู้ในงานช่างก็จะดูแลและรักษางานศิลปกรรมของเก่าไว้ได้ดีและสร้างสมงานศิลปกรรมในสมัยของตนเพิ่มขึ้นทำให้วัดนั้นๆกลายเป็นแหล่งศิลปกรรมที่มีชื่อเสียง งานศิลปกรรมของเพชรบุรีมีจำนวนมากในที่นี้จะกล่าวถึงศิลปกรรมที่มีชื่อเสียงในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี

  • งานจิตรกรรม ที่ปรากฏในเพชรบุรีมีทั้งที่เป็นงานสมัยอยุธยาสืบเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ภาพเขียนในยุคหลังนี้ยังคงรักษาคติการเขียนภาพแบบไทยประเพณีไว้ และมีเทคนิคของตะวันตกเข้ามาปะปนบ้าง โดยมีช่างเขียนหลวง ขรัวอินโข่ง เป็นผู้บุกเบิกการเขียน งานจิตรกรรมลักษณะดังกล่าวไว้ที่พระอุโบสถวัดมหาสมณาราม สำหรับภาพจิตรกรรมเก่าแก่สมัยอยุธยาและได้รับการขนานนามว่างดงามที่สุดอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ในอดีตช่างเมืองเพชรที่มีความถนัดในการเขียนภาพจิตรกรรมมีอยู่มากมายทั้งช่างพระและช่างฆราวาส เช่น หลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย หลวงพ่อเป้า วัดพระทรง ครูหวน ตาลวันนา ครูเลิศ พ่วงพระเดช เป็นต้น
  • งานประติมากรรม ที่สำคัญและมีชื่อเสียงของเพชรบุรีส่วนมากมักเป็นพระพุทธรูปและรูปเคารพ
  • งานสถาปัตยกรรม ที่งดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะของเพชรบุรีมีจำนวนมาก ส่วนมากได้แก่ พระสถูปเจดีย์ พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ตามวัดต่างๆของเพชรบุรีก็เป็นแบบอย่างของเรืองไทยที่งดงามตามแบบฉบับของเรือนไทยเพชรบุรีที่น่าชมน่าศึกษาทั้งสิ้น
    • เรือนไทยเมืองเพชร ชาวเพชรบุรีโดยเฉพาะตั้งแต่อำเภอเขาย้อย บ้านแหลมเรื่อยไปจนถึงอำเภอเมือง บ้านลาด ท่ายาง ชะอำ นิยมปลูกเรือนไทย อีกทั้งยังมีช่างไม้ฝีมือดีอยู่ตามท้องที่ต่างๆเกือบทั้งจังหวัด เรือนไทยนั้นถือว่าเป็นงานหัถกรรมที่แฝงอยู่ในงานสถาปัตยกรรมโดยแท้ โดยแบ่งเป็น เรือนเครื่องพุก และเรือนเครื่องสับ และเรือนไทยเมืองเพชรนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งนับได้ว่าหาดูได้ยากเต็มที
    • เครื่องเรือนไม้โมก เพชรบุรีมีเครื่องเรือนไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีราคาแพง สวยงาม ทำยาก แต่ยังเป็นที่นิยมของผู้ชื่นชอบของเก่านั่นคือ เครื่องเรือนไม้โมก ซึ่งต้องอาศัยความถนัดทางเชิงช่างเป็นอันมากเพราะมีวิธีการทำที่ซับซ้อนโดยต้องใช้ไม้สักทำเป็นโครงเครื่องแล้วฝังไม้โมกลงไปตามจุดต่างๆเช่นลิ้นชัก หน้าบานตู้ จากนั้นจึงเขียนลายหรือแบบที่สวยงามเหมาะสมกับพื้นที่ที่ต้องการฝัง งานเครื่องเรือนไม้โมกที่ออกมาจึงดูประณีตบรรจงเป็นมาก
  • งานช่างสิบหมู่ ในเพชรบุรียังมีวัฒนธรรมทางด้านศิลปะอีกแขนงที่น่าสนใจนั่นคืองานช่างสิบหมู่ซึ่งมีมากมายหลายสาขาที่จะกล่าวถึงเป็นงานช่างสิบหมู่ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในเพชรบุรี
    • เครื่องทองเมืองเพชร ถือเป็นอีกแขงหนึ่งของงานช่างสิบหมู่ที่มีชื่อเสียงของเพชรบุรีมาช้านาน เครื่องทองหรือทองรูปพรรณเมืองเพชรนับเป็นงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าทางศิลปะและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนได้รับการยกย่องว่าเป็นสกุลช่างทองสายหนึ่ง งานช่างทองเมืองเพชรเริ่มต้นที่นายช่างทองหวน ตาลวันนา หรือครูหวน แต่เมื่อครูหวนวายชนม์ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดในสายสกุลสืบทอดวิชาทำทองต่อ ตระกูลช่างทองรุ่นต่อมามีสองตระกูลใหญ่คือ สุวรรณช่าง และทองสัมฤทธิ์ โดยทั้งสองตระกูลเริ่มทำทองมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 การทำทองรูปพรรณของทั้งสองตระกูลมีกรรมวิธีเดียวกัน รวมทั้งรูปแบบของงานก็ไม่ต่างกัน ชิ้นงานที่โดดเด่นของเครื่องทองเมืองเพชรมีหลายอย่าง เช่นสร้อยเสาจี้ประดับพลอยหลากสี ปะวะหล่ำ กระดุม ลูกสน เต่าร้างซึ่งรูปแบบและลวดลายอันวิจิตรของเครื่องทองชิ้นเล็กๆ ถือเป็นเสน่ห์ของเครื่องทองเมืองเพชร ปัจจุบันเครื่องทองรูปพรรณสกุลช่างเมืองเพชรหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ทองโบราณ นั้นยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
    • ปูนปั้นเมืองเพชร งานปูนปั้นของจังหวัดเพชรบุรีเป็นงานช่างที่โดดเด่น ละเอียด สวยงาม เพราะปูนปั้นเมืองเพชรเป็นปูนโบราณและมีกรรมวิธีการตำปูนรวมถึงส่วนผสมต่างๆมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว งานปูนปั้นในเพชรบุรีสามารถแบ่งออกได้เป็นสองยุคสมัยคือ สมัยอยุธยากับรัตนโกสินทร์
      • งานปูนปั้นในสมัยอยุธยาได้แก่ หน้าบันอุโบสถวัดเขาบันไดอิฐด้านทิศตะวันออก จัดว่าเป็นหน้าบันที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง หน้าบันอุโบสถวัดสระบัว ลายปูนปั้นฐานเสมาซึ่งนับว่ามีชื่อเสียง เป็นต้น
      • งานปูนปั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ได้แก่ หน้าบันพระวิหารหลวงรูปนารายณ์ทรงครุฑเหยียบบนหนุมาน วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรีหน้าบันซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารหลวงทั้งสองซุ้ม เป็นต้น[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักบริหารทะเบียนราษฎร์ www.bora.dopa.go.th เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ ใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาล ตำบลท่าราบ ตำบลคลองกระแชง ตำบลบ้านหม้อ ตำบลหน้าพระลาน ตำบลต้นมะม่วง และตำบลหนองโสน อำเภอคลองกระแชง จังหวัดเพชรบุรี มณฑลราชบุรี ประกาศ ณ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เล่มที่ ๔๗ ตอน ๐ ก หน้า ๒๑๗
  3. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พุทธศักราช ๒๔๗๘ ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เล่มที่ ๕๒ ตอน ๐ก หน้าที่ ๑๗๐๘
  4. พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๔๙๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๕ ตอนที่ ๓๖ ก ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๑ หน้าที่ ๔๔๗
  5. หนังสือเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]