ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนนายสิบทหารบก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนนายสิบทหารบก
Army Non Commissioned Officer School
ชื่อย่อรร.นส.ทบ. / NCO.RTA
ประเภทสถาบันการศึกษาทางทหาร
สถาปนา23 มิถุนายน พ.ศ. 2510; 57 ปีก่อน (2510-06-23)
สังกัดการศึกษากรมยุทธศึกษาทหารบก
ผู้บัญชาการพลตรี พงศักดิ์ เอี่ยมพญา
ที่ตั้ง
เลขที่ 8 ค่ายโยธินศึกษามหามงกุฎ ถนนเพชรเกษม ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77110
สี   สีแดง-เขียว

โรงเรียนนายสิบทหารบก (อังกฤษ: Army Non Commissioned Officer School; ค่ายโยธินศึกษามหามงกุฏ) (อักษรย่อ: รร.นส.ทบ.) เป็นโรงเรียนหลักที่ผลิตนายทหารชั้นประทวนให้กับกองทัพบก โดยรับสมัครผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าโดยจะรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลพลเรือน ทหารกองประจำการ ทหารกองหนุน พลอาสาสมัคร (ประจำการ) และอาสาสมัครทหารพราน เข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารบก หลักสูตร 1 ปี และศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการอีกจำนวน 6 เดือน จึงได้รับการแต่งตั้งยศเป็น"สิบตรี"

โรงเรียนนายสิบทหารบกเดิมตั้งอยู่ภายใน ค่ายธนะรัชต์ หมู่ที่ 3 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77160 ปัจจุบันได้ย้ายไปที่ค่ายโยธินศึกษามหามงกุฎ (ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย เดิม) ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77110 ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ประวัติ

[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับให้การศึกษาแก่ผู้ที่จะเป็นนายร้อย นายสิบ ขึ้นในกรมมหาดเล็ก โดยโรงเรียนทั้งสองแห่งต่างแยกกันดำเนินการ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าการแยกกันดำเนินการทำให้ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน เรียกว่า “โรงเรียนทหารสราญรมย์” และได้ตราข้อบังคับสำหรับโรงเรียนขึ้นเรียกว่า “บัญญัติโรงเรียนทหารสราญรมย์” ข้อบังคับฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดวิชาชีพทหารขึ้นในสังคมไทย และวางรากฐานทางการทหารไว้อย่างมั่นคงนับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนนายสิบ ได้มีการพัฒนาปรับปรุง และปิดอัตรารวมทั้งยุบเลิกหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการทหารของประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2510 กองทัพบกได้อนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนนายสิบทหารบกขึ้นอีกครั้ง โดยให้ขึ้นการบังคับบัญชาต่อ กรมยุทธศึกษาทหารบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายธนะรัชต์ โรงเรียนนายสิบทหารบก จึงยึดถือวันที่ 23 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันสถาปนาของหน่วย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สำหรับการปรับปรุงหลักสูตรนับตั้งแต่การสถาปนาหน่วยขึ้นมานั้นสรุปได้ดังนี้

ปีพ.ศ. 2511 เปิดหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนนายสิบทหารบก เป็นหลักสูตร 2 ปี โดยศึกษารวมกันที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ในชั้นปีที่ 1 และแยกศึกษา ณ โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการ ในชั้นปีที่ 2

ปีพ.ศ. 2525 กองทัพบก ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนนายสิบทหารบก เป็นหลักสูตร 1 ปีศึกษาเฉพาะเหล่าทหารราบ สำหรับเหล่าทหารอื่น โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการ เป็นผู้ดำเนินการจัดการฝึกศึกษาของแต่ละเหล่าเอง

ปีพ.ศ. 2530 โรงเรียนนายสิบทหารบก ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพล เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2530

ปีพ.ศ. 2533 กองทัพบก ได้ปิดการบรรจุกำลังพลโรงเรียนนายสิบทหารบก และแปรสภาพเป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรองกองทัพบก

ปีพ.ศ. 2539 กองทัพบก กำหนดให้เปิดหลักสูตรนักเรียนนายสิบทหารบกอีกครั้ง เป็นหลักสูตร 2 ปี โดยศึกษารวมกันในชั้นปีที่ 1 ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก และแยกศึกษา ณ โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการ ในชั้นปีที่ 2

ต่อมาในปีพ.ศ. 2545 กองทัพบก ได้ปรับปรุงหลักสูตรนักเรียนนายสิบทหารบก เป็นหลักสูตร 1 ปี โดยศึกษา ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก 10 เดือน และศึกษา ณ โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการ 2 เดือน

ปีพ.ศ. 2550 ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานักเรียนสิบทหารบก ศึกษา ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก จำนวน 6 เดือน และศึกษา ณ โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการ จำนวน 6 เดือน โดยแบ่งนักเรียนนายสิบ เข้ารับการศึกษา จำนวน 2 ผลัด

ปีพ.ศ. 2559 ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า "ค่ายโยธินศึกษามหามงกุฏ"

ปีพ.ศ. 2562 ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานักเรียนสิบทหารบก ศึกษา ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก จำนวน 1 ปี และศึกษา ณ โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการ จำนวน 6 เดือน โดยเข้าศึกษาพร้อมกันจำนวน 1,980 นาย โดยไม่มีการแบ่งผลัด

การแยกเหล่า

[แก้]

โรงเรียนนายสิบทหารบกมีโรงเรียนเหล่าสายวิทยาการให้นักเรียนเลือกไปศึกษาจำนวน 13 เหล่า ให้นักเรียนเลือกศึกษาโดยจะเรียงตามคะแนนที่ได้จากการเรียน ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก โดยแต่ละปีจะมีโค้วต้าให้ไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปีการศึกษาละ 20 นาย ส่วนนักเรียนที่คะแนนลดลงมานั้นจะมีเหล่าให้เลือกแต่ละผลัด ดังนี้

เหล่าทหาร ผลัดที่ 1 ผลัดที่ 2
ทหารราบ มี มี
ทหารม้า มี มี
ทหารปืนใหญ่ มี มี
ทหารช่าง มี มี
ทหารสื่อสาร มี มี
ทหารสรรพาวุธ มี มี
ทหารแพทย์ มี ไม่มี
ทหารขนส่ง มี ไม่มี
ทหารพลาธิการ มี ไม่มี
ทหารการข่าว มี ไม่มี
ทหารสารวัตร ไม่มี มี
ทหารการสัตว์ ไม่มี มี
ทหารการเงิน มี มี

ปัจจุบันโรงเรียนนายสิบทหารบก ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานักเรียนสิบทหารบก ศึกษา ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก จำนวน 1 ปี และศึกษา ณ รร.เหล่าสายวิทยาการ จำนวน 6 เดือน *โดยไม่มีการแบ่งผลัด*

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน​

[แก้]

ดอกจัน ที่มีลักษณะเป็นกลีบ ปลายแหลมเชื่อมติดกันเป็นแฉก ชี้ไปทุกทิศทุกทาง หมายถึงนักเรียนนายสิบที่เมื่อสำเร็จออกไปรับราชการ จะออกไปจากโรงเรียนแยกย้ายกันไปทุกทิศทุกทางทั่วประเทศ เพื่อไปรับใช้ชาติ และประชาชน ลักษณะกลีบดอก หมายถึงสถาบันโรงเรียนนายสิบทหารบกที่โอบอุ้ม ผลก็คือนักเรียนนายสิบทหารบก มีความหมายเตือนใจ ไม่ให้ลืมตนว่ามาจากใหน และรำลึกถึงเกียรติยศชื่อเสียงของตนเอง รวมถึงสถาบันด้วย ความหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของดอกจันส่วนใหญ่มี 5 แฉกมีลักษณะคล้ายดาวเป็นเครื่องหมายยศของของนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของผู้ที่จบจากสถาบันแห่งนี้

เมื่อปีพ.ศ. 2510 กองทัพบกได้ดำริให้จัดตั้งโรงเรียนนายสิบทหารบกขึ้นโดยเป็นหน่วยขึ่นตรงกองทัพบกฝากการบังคับบัญชาไว้กับกรมยุทธศึกษาทหารบกมีที่ตั้งในค่ายธนะรัชต์ โดยอยู่ฝั่งทิศเหนือ และศูนย์การทหารราบที่ย้ายมาจากค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาเข้าที่ตั้งใหม่ ค่ายธนะรัชต์เช่นกัน โดยอยู่ทางทิศใต้ เพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพบกที่ต้องการเพิ่มกำลังพล ในการป้องกันภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) โดยให้มีขีดความสามารถในการผลิตนักเรียนนายสิบ ปีละ 2,000 นาย โดยมี พ.อ. สนาน คงพันธ์ เป็นผู้บังคับการในพื้นที่โรงเรียนนายสิบแห่งใหม่ ในค่ายธนะรัชต์ก็ยังคงมีต้นจันขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง อยู่ใกล้โรงเลี้ยงด้านเขาฉลักฉลามให้สืบทอดเป็นตำนาน ต่อมาไม่นานต้นจันต้นนี้ก็ถึงกาลตามอายุขัยได้ตายลงไป หลังจากนั้นก็ปิดการบรรจุอัตราการจัดเฉพาะกิจ 4150 แปรสภาพเป็นโรงเรียนการกำลังสำรอง กรมการกำลังสำรอง ในปีพ.ศ. 2533

ในปีพ.ศ. 2539 พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ดำริให้จัดตั้งโรงเรียนนายสิบทหารบกขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นสถาบันหลักในการผลิตนายทหารชั้นประทวน เพื่อให้เกิดผลดีแก่กองทัพในการที่มีนายทหารชั้นประทวนที่ถือกำเนิดจากสถาบันเดียวกัน โดยผลิตนักเรียนนายสิบรุ่นที่ 1 ในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2540 เพื่อเป็นการสืบสานตำนานดอกจัน และต้นไม้ประจำสถาบัน พ.อ. ศุภฤกษ์ ไม้แก้ว ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับการกรมนักเรียน โรงเรียนนายสิบทหารบก ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่บริเวณรอบ ๆ สนามกลางของโรงเรียนนายสิบทหารบก จำนวน 47 ต้น โดยเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยม เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540 เป็นประธานในการปลูกต้นจัน ต้นจันที่ปลูกขึ้นมาใหม่กำลังเจริญเติบโตงอกงามให้ผลเหลืองอร่ามสวยงาม มีกลิ่นหอมชื่นใจ โรงเรียนนายสิบทหารบกก็ยังคงเป็นสถาบันที่มีประสิทธิภาพให้ผลผลิตคือนายทหารประทวนที่มีความรู้ความสามารถให้กับกองทัพบกเพื่อชาติ และประชาชนต่อไป

การจัดหน่วย

[แก้]
  • กองบัญชาการ
  • กรมนักเรียน
    • กองพันนักเรียนนายสิบที่ 1
    • กองพันนักเรียนนายสิบที่ 2
    • กองพันนักเรียนนายสิบที่ 3
  • กองการศึกษา
  • กองบริการ
  • หน่วยตรวจโรค

การแบ่งกองร้อย

[แก้]

สัญลักษณ์ประจำกองร้อยนักเรียนนายสิบ ในปี พ.ศ. 2540 กองทัพบกได้อนุมัติให้เปิดการเรียน การสอนนักเรียนนายสิบขึ้นใหม่ ทั้งนี้ พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก ดำริว่านายทหารประทวนใน กองทัพบก ควรจะมาจากสถาบันเดียวกัน เพื่อจะได้มีความรักใคร่กลมเกลียวมีรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประสานการปฏิบัติงานอันจะเป็นผลดีแก่กองทัพ

ในการเปิดหลักสูตรนักเรียนนายสิบ ในปีพ.ศ. 2540 อันเป็นรุ่นที่ 1 นั้น กองทัพบก ได้มอบหมายให้ กรมยุทธศึกษาทหารบก และ ศูนย์การทหารราบ ดำเนินการเป็นหน่วยรับผิดชอบ ศูนย์การทหารราบให้การสนับสนุนบุคลากร สถานที่ และยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ หน่วยขึ้นตรงกองทัพบกให้การสนับสนุนกำลังพลมาช่วยราชการเพื่อร่วมกันฝึก นักเรียนนายสิบ รุ่นนี้จนกว่าจะมีการอนุมัติ หน่วยที่มีการจัดรูปแบบอัตราการจัดเฉพาะกิจ (อฉก.) 4150 และบรรจุกำลังพลในปีต่อมา นักเรียนนายสิบ รุ่นที่ 1 มีจำนวน 1,009 นาย (กองทัพบก 1,000 นาย และ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน 9 นาย) มีกรมนักเรียนเป็นหน่วยปกครองบังคับบัญชา ประกอบด้วย กองพันนักเรียนนายสิบที่ 2 กองพัน ๆ ละ 4 กองร้อย รวม 8 กองร้อย หนึ่งกองร้อยมีนักเรียนนายสิบ จำนวน 126 – 127 นาย

พล.ท. ปรีชา แคล้วปลอดทุกข์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก (จก.ยศ.ทบ.) (ยศในขณะนั้น) ได้ให้นโยบายในการปกครองนักเรียนนายสิบ ว่า ควรจะกำหนดสีประจำหน่วย (กองร้อย) พร้อมทั้งกำหนดสัญลักษณ์ไว้เป็นธงประจำกองร้อย เพื่อให้เป็นที่รวมจิตใจ ดำรงความเป็นหน่วย สร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นเป็น ความสามัคคีของกลุ่ม โรงเรียนนายสิบทหารบก จึงได้ดำเนินการจัดทำธงประจำกองร้อยขึ้นมา และกำหนดสัตว์สัญลักษณ์ให้กับกองร้อย นักเรียนนายสิบทั้ง 8 กองร้อย ขึ้น ซึ่งสัตว์ที่กำหนดเป็นสัญลักษณ์ประจำหน่วยดังกล่าว เป็นสัตว์ที่มีลักษณะเด่น เป็นเอกลักษณ์ที่ควรปลูกฝังให้มีในคุณลักษณะทหาร หรือแนวคิดในการต่อสู้ทางยุทธวิธี

ปัจจุบันโรงเรียนนายสิบทหารบก ได้แบ่งกองพันนักเรียน 3 กองพัน กองร้อยนักเรียน 12 กองร้อย และแต่ละกองร้อยจะมีสัตว์ที่เป็นชื่อเรียกกองร้อยแต่ละกองร้อยดังนี้

กองพันนักเรียนนายสิบที่ 1

[แก้]
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 1 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 1 (กองร้อยกระทิง)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 2 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 1 (กองร้อยสิงโต)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 3 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 1 (กองร้อยอินทรี)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 4 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 1 (กองร้อยคชสาร)  

กองพันนักเรียนนายสิบที่ 2

[แก้]
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 1 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 2 (กองร้อยจงอาง)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 2 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 2 (กองร้อยฉลาม)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 3 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 2 (กองร้อยจระเข้)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 4 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 2 (กองร้อยอาชา)  

กองพันนักเรียนนายสิบที่ 3

[แก้]
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 1 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 3 (กองร้อยเสือโคร่ง)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 2 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 3 (กองร้อยเลียงผา)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 3 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 3 (กองร้อยผึ้งหลวง)  
  • กองร้อยนักเรียนนายสิบที่ 4 กองพันนักเรียนนายสิบที่ 3 (กองร้อยหมูป่า)  

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]