ข้ามไปเนื้อหา

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ชื่อทางการค้า
กฟภ.
ชื่อท้องถิ่น
Provincial Electricity Authority
ชื่อโรมัน
Kan Faifa Suan Phumiphak
ประเภทรัฐวิสาหกิจ
อุตสาหกรรมการจ่ายไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค
ก่อนหน้า
  • กองไฟฟ้าภูมิภาค
  • องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ก่อตั้ง28 กันยายน พ.ศ. 2503; 64 ปีก่อน (2503-09-28) ในจังหวัดพระนคร ประเทศไทย
สำนักงานใหญ่เลขที่ 200 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร,
จำนวนที่ตั้ง
  • สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 12 แห่ง
  • สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัด/อำเภอ 199 แห่ง
  • สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขา 284 แห่ง
  • สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อย 465 แห่ง
พื้นที่ให้บริการ74 จังหวัดของไทย
บุคลากรหลัก
ผลิตภัณฑ์
บริการ
  • การซ่อมแซม
  • การซ่อมบำรุง
  • การจัดหา
  • การจัดการพลังงาน
รายได้เพิ่มขึ้น 690,041 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
รายได้จากการดำเนินงาน
เพิ่มขึ้น 660,041 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
รายได้สุทธิ
เพิ่มขึ้น 14,574 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
ทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 22,888 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 543,560 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 194,597 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
เจ้าของกระทรวงการคลัง (100 %)
พนักงาน
27,886 คน (พ.ศ. 2566)[1]
บริษัทแม่กระทรวงมหาดไทย
บริษัทในเครือพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล
เว็บไซต์เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
เชิงอรรถ / อ้างอิง
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (อังกฤษ: Provincial Electricity Authority; ตัวย่อ PEA) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่บริการจำหน่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง

สำนักงานใหญ่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งอยู่ที่ 200 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า 465,044.54 ล้านบาท (พ.ศ. 2557) และเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐสูงเป็นลำดับที่ 2 ของรัฐวิสาหกิจไทย ในปี 2565[2]

ประวัติ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีที่มาเริ่มจากการเป็นแผนกไฟฟ้า ในกองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และก่อตั้งไฟฟ้าเทศบาลเมืองนครปฐมเป็นจังหวัดแรก เมื่อ พ.ศ. 2473 ต่อมาใน พ.ศ. 2477 มีการปรับปรุงแผนกไฟฟ้า เป็น กองไฟฟ้า สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น กองไฟฟ้าภูมิภาค ในภายหลัง

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านไฟฟ้า จึงออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งให้ไว้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พุทธศักราช 2497 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2497 ก่อตั้ง องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค[3] มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีการไฟฟ้าอยู่ในความดูแล จำนวน117 แห่ง อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รับการสถาปนาตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2503[4] ณ วันที่ 28 กันยายน 2503 โดยรับช่วงภารกิจต่อจาก องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง ด้วยทุนประเดิมจำนวน 87 ล้านบาทเศษ มีการไฟฟ้าอยู่ในความรับผิดชอบ 200 แห่ง มีผู้ใช้ไฟจำนวน 137,377 ราย และพนักงาน 2,119 คน กำลังไฟฟ้าสูงสุดในปี 2503 เพียง 15,000 กิโลวัตต์(15MW) ผลิตด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลล์ทั้งสิ้น สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าบริการ ประชาชนได้ 26.4 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี และมีประชาชน ได้รับประโยชน์ จากการใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 ล้านคน หรือร้อยละ 5 ของประชาชนที่มีอยู่ทั่วประเทศในขณะนั้น 23 ล้านคน

ภายหลังจากมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2503 ส่งผลให้ มีการแต่งตั้งบุคคลซึ่งไม่ใช่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ โดยบุคคลแรกที่เป็นประธานคณะกรรมการได้แก่นาย ดร.วิญญู อังคณารักษ์[5] ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 อย่างไรก็ตามรายนามประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมักเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง ปัจจุบันประธานกรรมการได้แก่ อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์

ในช่วงปลายทศวรรษ ที่ 1 บวกกับการเริ่มต้นของแผนพัฒนเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่3 (2515-2519) และแรงผลักดันของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาในอัตราที่สูงมากเกือบร้อยละ 30 ต่อปี มีผลให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องเตรียมปรับแผนเพื่อตั้งรับการพัฒนาชนบทด้านไฟฟ้าอย่างแข็งขัน และทันต่อความต้องการของประชาชน

เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการดำเนินการเสริมระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าให้มีความพร้อมสำหรับรองรับการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยก่อสร้างเพิ่มวงจรระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น และเปลี่ยนระบบแรงดัน 11 กิโลโวลต์ เป็น 22 กิโลโวลต์ทั้งหมด ขณะเดียวกันเพื่อลดต้นทุนการผลิตของโรงจักรไฟฟ้าดีเซลซึ่งต้องเผชิญปัญหาราคาน้ำมันแพงขึ้นจึงเชื่อมโยงโรงจักรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งหมดเข้ารับไฟฟ้า

การดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ ทุกโครงการประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2532 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถบริการไฟฟ้าในพื้นที่รับผิดชอบได้ครบทั้ง 70 จังหวัด 642 อำเภอ 81 กิ่งอำเภอ 6,369 ตำบลแล้ว เป็นผลให้ประชาชน ธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาหน่วยราชการ ทั้งทางทหาร ตำรวจ พลเรือนได้ใช้ไฟฟ้าประกอบกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนในหมู่บ้านชนบท 52,446 แห่ง หรือร้อยละ 89 ของหมู่บ้านในชนบททั้งหมด ได้รับบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง กิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขยายตัวเจริญก้าวหน้าอย่างมาก เทียบกับเมื่อก่อตั้งในปี 2503 สินทรัพย์เพิ่มเป็น 43,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 500 เท่า มีผู้ใช้ไฟฟ้าถึง 1,340 แห่ง การใช้ไฟฟ้าพลังสูงสุดเพิ่มเป็น 3,266 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นเป็น 16,178 ล้านหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 220 และ 610 เท่าตัว ตามลำดับ ผลงานต่าง ๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 30 ปีแม้จะถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามเพียงใดก็ตาม แต่ภารกิจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังไม่หยุดยั้ง ยังคงต้องต้องทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มขีดความสามารถ ทั้งด้านเงินลงทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อบริการพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพมั่นคง เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทั่วถึงมากที่สุด

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง ถวิล เปลี่ยนศรี เป็นประธานกรรมการ นับเป็นพลเรือนที่ไม่มียศกองอาสารักษาดินแดนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในเดือน ธ.ค.2562 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 19.36 ล้านราย มีการจ่ายโหลดสูงสุด 21,149 MW(เม.ย. 62) คิดเป็น 70% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ มีอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าประมาณ 4% ต่อปี

คณะกรรมการชุดปัจจุบัน

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2567 แต่งตั้งกรรมการดังต่อไปนี้

  1. อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ประธานกรรมการ
  2. ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  3. ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  5. สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช รองประธานคณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย
  6. อดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2
  7. กรณินทร์ กาญจโนมัย รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
  8. สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  9. เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  10. จิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง
  11. วิรัตน์ เอื้อนฤมิต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
  12. ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น
  13. ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  14. พนิต ธีรภาพวงศ์ กรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

การแบ่งเขตรับผิดชอบ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 4 ภาค แต่ละภาคแบ่งเป็น 3 เขตย่อย

  • ภาคเหนือ
    • กฟน.1 เชียงใหม่ รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำปาง และลำพูน
    • กฟน.2 พิษณุโลก รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์
    • กฟน.3 ลพบุรี รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • กฟฉ.1 อุดรธานี รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร
    • กฟฉ.2 อุบลราชธานี รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และศรีสะเกษ
    • กฟฉ.3 นครราชสีมา รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
  • ภาคกลาง
    • กฟก.1 พระนครศรีอยุธยา รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว
    • กฟก.2 ชลบุรี รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด
    • กฟก.3 นครปฐม รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
  • ภาคใต้
    • กฟต.1 เพชรบุรี รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สมุทรสงคราม และราชบุรี
    • กฟต.2 นครศรีธรรมราช รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา และสุราษฎร์ธานี
    • กฟต.3 ยะลา รับผิดชอบการบริการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา สตูล และพัทลุง

รายนามผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง[6]
1. สาย นิธินันท์ พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2512
2. ทวี อัศวนนท์ พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2517
3. ดร.วีระ ปิตรชาติ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2535
4. สวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2536
5. จุลพงศ์ จุลละเกศ พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2539
6. สุนทร ตันถาวร พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2542
7. วิบูลย์ คูหิรัญ พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2545
8. ไพจิตร เทียนไพฑูรย์ พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2548
9. ประเจิด สุขแก้ว พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2550
10. อดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2553
11. ณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2554
12. นำชัย หล่อวัฒนตระกูล พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2558
13. เสริมสกุล คล้ายแก้ว พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2561
14. สมพงษ์ ปรีเปรม พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2564
15. ศุภชัย เอกอุ่น พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

ดูเพิ่ม