ข้ามไปเนื้อหา

วิบูลย์ คูหิรัญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นาย วิบูลย์ คูหิรัญ
ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2545
สมาชิกวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
12 เมษายน พ.ศ. 2554 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
สภาปฏิรูปแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 6 กันยายน พ.ศ. 2558
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 (83 ปี)
ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสรวีพร คูหิรัญ

นายวิบูลย์ คูหิรัญ (Vibulya Kuhirun) สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 10 สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 11 คณะกรรมการกลั่นกรองงานฯ มูลนิธิโครงการหลวง ประธานกรรมการมูลนิธิ โรงพยาบาลโพธาราม เป็นอดีตผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค[1] และอดีตสมาชิก วุฒิสภา แบบสรรหา[2] และอดีตสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ[3]

ประวัติ

[แก้]

เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ที่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรคนโตของนายสมชาย และนางสุภา คูหิรัญ มีพี่น้องอีก 3 คน คือ

  • น้องชายคนที่ 1 นายวิศิษฎ์ คูหิรัญ จบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เสียชีวิตแล้ว)
  • น้องสาวคนที่ 2 รศ.มุกดา คูหิรัญ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เสียชีวิตแล้ว)
  • น้องสาวคนที่ 3 ดร.กาญจนา เอกะวิภาต อดีตผู้อำนวยการโครงการครูต้นแบบ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ต่อมาได้โอนมาทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเกษียณในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับ 11

ในด้านครอบครัว นายวิบูลย์ คูหิรัญ สมรสกับ ดร.รวีพร คูหิรัญ อดีต คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และอดีตรองผู้ว่าการ (นักบริหารระดับ 10) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีบุตรร่วมกัน 1 คน คือ รศ.ดร.วรฐ คูหิรัญ จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2537, M.S. (Electrical Engineering) Pennsylvania State University, USA ปี 2541, Ph.D. (Electrical Engineering) Pennsylvania State University USA ปี 2546 และ M.M. (Management) College of Management Mahidol University ปี 2551 ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การศึกษา/ฝึกอบรม

[แก้]

ในด้านการฝึกอบรม เคยผ่านการฝึกอบรมและหลักสูตรพิเศษจากทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้

  • อบรมวิศวกรรมไฟฟ้ากับ Westinghouse สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2513
  • อบรมไฟฟ้าชนบท ที่สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2516
  • อบรมการปฏิบัติการจิตวิทยาความมั่นคง ฝ่ายอำนวยการ รุ่นที่ 34 พ.ศ. 2524
  • อบรมการบริหารโครงการด้านสาธารณูปโภค ที่ Economic Development Institute (EDI) ของ ธนาคารโลก สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2524
  • อบรมการวางแผนพัฒนาชนบทที่เยอรมัน พ.ศ. 2530 และที่อิสราเอล พ.ศ. 2531
  • วิทยาลัยการทัพบก หลักสูตรหลัก วทบ. ชุดที่ 34 พ.ศ. 2532
  • ปริญญาบัตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 37 (พ.ศ. 2537)
  • อบรมการบริหารกิจการไฟฟ้าระดับสูงที่ Georgia Power Company สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2537
  • หลักสูตรผู้บริหารระดับ 9 รุ่นที่ 6 ของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2541
  • ประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ป.ป.ร.) รุ่นที่ 5 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2544

การทำงาน

[แก้]

หลังจากจบการศึกษาได้เป็นอาจารย์ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2509-2510 จากนั้น พ.ศ. 2510-2511 เข้าทำงานที่ การไฟฟ้ายันฮี (ปัจจุบันคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ตำแหน่งนายช่าง และได้เข้าทำงานที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระหว่างปี พ.ศ. 2511-2545

การทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

[แก้]

การทำงานที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่สำนักงานไฟฟ้าชนบท เพื่อช่วยเร่งรัดการจ่ายไฟให้ชนบททั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2516-2535 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท ระหว่างปี พ.ศ. 2530-2535 และดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (รวมทั้งเป็นกรรมการ และกรรมการบริหาร) ระหว่าง พ.ศ. 2542-2545

เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นายวิบูลย์ คูหิรัญ ถือเป็นผู้ที่ได้รับความศรัทธาและการยกย่องจากผู้บริหาร พนักงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก เมื่อคราวได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยอาวุโสสูง ด้วยความรู้ความสามารถที่โดดเด่น และด้วยความมีวิสัยทัศน์ยาวไกลทางด้านการพัฒนาสังคมและบุคลากร เนื่องจากได้ประกอบคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์ต่องานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประเทศชาติมาอย่างมากมาย ตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมานานกว่า 34 ปี โดยเฉพาะงานพัฒนาไฟฟ้าชนบทของประเทศ ซึ่งได้เข้าร่วมงานกับ ดร.จุลพงศ์ จุลละเกศ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ผู้เริ่มงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบทสำหรับประเทศไทยตามพระราชปรารภเมื่อปี พ.ศ. 2513) เริ่มตั้งแต่การ ระดมสมอง ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมจัดวางระบบการทำงาน และการบริหารโครงการ ลงมือก่อสร้างการปฏิบัติการจ่ายไฟ การติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามโครงการครบถ้วน ตามกระบวนการจัดทำและบริหารโครงการที่เป็นระบบแบบสากลเป็นครั้งแรกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ครอบคลุมงานทางด้านพัฒนาชนบทและการพัฒนาสังคมพร้อมกันไป

งานพัฒนาไฟฟ้าชนบทในประเทศไทยที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับผิดชอบตามภาระหน้าที่ที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 ได้รับการดูแลให้ขยายตัวและก้าวหน้าทันกับความต้องการของประชาชนในระดับที่น่าพอใจ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตของจำนวนหมู่บ้านที่ได้รับการจ่าย กระแสไฟฟ้าในแต่ละปีที่สูงมากในช่วงระยะเวลาโครงการระหว่าง พ.ศ. 2518-2538 โดยมีหลักฐานอ้างอิงได้จากสถิติจำนวนหมู่บ้านในชนบทที่มีไฟฟ้าเพียงร้อยละ 9 เมื่อปี 2513 ในขณะนั้นมีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 45,000 หมู่บ้าน ก่อนเริ่มแผนงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท (แผนแม่บท) การขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในอีก 10 ปีต่อมา (พ.ศ. 2523) จากนั้นการขยายการจ่ายไฟเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 93 ใน พ.ศ. 2533 จนถึง เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2542 หมู่บ้านทั่วประเทศมีไฟฟ้าใช้แล้วถึงร้อยละ 99 ซึ่งคิดเป็นจำนวนหมู่บ้านมากกว่า 67,000 หมู่บ้าน

นายวิบูลย์ คูหิรัญ ทำงานกับสำนักงานไฟฟ้าชนบทอยู่นานถึง 19 ปี โดยได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาตามลำดับและได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท รวมทั้งได้เป็นผู้อำนวยการโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท ระยะที่ 2 (Accelerated Rural Electrification Project-Stage 2) ควบกับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก (Mini Hydro) ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นงานจ่ายกระแสไฟฟ้าให้หมู่บ้านชนบทที่อยู่ห่างไกลในป่าเขาและมีแหล่งน้ำตกที่สามารถพัฒนาให้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ การที่ประเทศไทยมีกระแสไฟฟ้าใช้ทั่วถึงกันแล้วคิดเป็น ร้อยละ 99 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ ได้สร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมทั่วโลกว่าประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จในการพัฒนาไฟฟ้าชนบทอย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งเงินกู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญที่ตัดสินใจให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกู้เงินมาลงทุนในโครงการขยายไฟฟ้าสู่ชนบทเป็นครั้งแรกได้แก่ ธนาคารโลก (IBRD) ได้ยกเอาประเทศไทยเป็นตัวอย่างในการพัฒนาไฟฟ้าชนบทแก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคนี้ หรือแม้แต่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) เอง ก็ยกย่องประเทศไทยและยกให้เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาไฟฟ้าชนบทให้กับประเทศกำลังพัฒนาในทุกภูมิภาคของโลก และได้ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคช่วยจัดการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่จากประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มโครงการไฟฟ้าชนบทด้วย

ส่วนงานด้านส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถของวิศวกรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ริเริ่มให้มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ การจัดทำโครงการฝึกอบรมวิศวกรในการส่งและจ่ายไฟขั้นสูง (Advanced Power Engineering) ที่สหรัฐอเมริกาและอบรมวิศวกรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามโครงการวิศวกรเชี่ยวชาญ เฉพาะเรื่องร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ Pennsylvania State University (PSU) สหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างวิศวกรให้มีความสามารถทางการวิเคราะห์วิจัยและการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งและจ่ายกระแสไฟฟ้ารวมทั้งให้เป็นผู้บรรยายและเขียนตำราเพื่อการพัฒนาวิศวกรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและภายนอกหน่วยงานต่อไปอีก นอกจากนี้ยังริเริ่มโครงการจัดทำ Transformer Load Management ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาการบริหารการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าในระบบจำหน่ายให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุดและอายุการใช้งานยาวและโครงการติดตั้งระบบ ศูนย์สั่งการจ่ายไฟโดยนำคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารควบคุมจากระยะไกล (SCADA) เพื่อเพิ่มคุณภาพการจ่ายไฟและความรวดเร็วในการแก้ไขกระแสไฟฟ้าขัดข้องโดยเป็นผู้อำนวยการโครงการระยะที่ 1 ตอนเริ่มโครงการ และเป็นผู้ขอความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่าจาก Trade Development Agency (TDA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วนำมาว่าจ้างบริษัท KEMA-ECC เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการและจัดทำรายงานของโครงการ SCADA ระยะที่ 2 ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งได้เป็นผู้ไปลงนามสัญญาเงินให้เปล่าจาก TDA ใช้จ้างบริษัท Southern Electric International (SEI) ศึกษาขั้นตอนการแปรรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (Privatization) หลังสุดได้เจรจาและลงนามสัญญาเงินให้เปล่าจาก TDA จ้างบริษัท KEMA-ECC เพื่อศึกษาจัดทำรายละเอียดในการนำ Optical Fiber มาใช้กับ SCADA Computer Network GIS และสื่อสาร ฯลฯ และลงนามรับเงินให้เปล่าจาก TDA ใช้ทำการศึกษา Computer Network เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

นายวิบูลย์ คูหิรัญ ยังได้เป็นผู้ก่อตั้ง “ชมรมพัฒนาชนบทการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยรวบรวมความช่วยเหลือทางการเงินจากพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ปฏิบัติงานในโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท รวมกับความช่วยเหลือที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถานทูต สมาคม ชมรม บุคคล บริษัท ห้างร้าน และเพื่อน ๆ จำนวนมาก เพื่อจัดกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนในชนบทให้มีน้ำดื่มสะอาดไว้บริโภค ด้วยการนำไปจัดซื้อวัสดุก่อสร้างมอบให้ชาวบ้าน ครูและนักเรียน ช่วยกันออกแรงงานสร้างถังเก็บ น้ำฝนคอนกรีตเก็บกักน้ำฝน เริ่มกิจกรรมปี พ.ศ. 2522 จนถึงปี พ.ศ. 2545 ได้ช่วยเหลือโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 750 แห่ง โดยรวม “โครงการอาหารกลางวัน” ให้โรงเรียนต่าง ๆ ด้วย รวมถึงจัดสิ่งของที่จำเป็นแก่สุขภาพของนักเรียน ได้แก่ อุปกรณ์ ห้องปฐมพยาบาล เครื่องกีฬา เครื่องชั่งน้ำหนัก ไม้วัดส่วนสูง มอบให้ทุกโรงเรียนที่ได้รับถังน้ำฝนและโครงการอาหารกลางวัน ในการดำเนินกิจกรรมทั้งสองนี้มีวัตถุประสงค์ให้พี่น้องในชนบท ได้เรียนรู้และรับทราบเทคนิคในการก่อสร้างถังน้ำคอนกรีต จากการที่ได้ร่วมกันก่อสร้างถังน้ำที่ชมรมฯ จัดหาสิ่งของให้ และได้เชิญผู้ชำนาญการมาคอยให้คำแนะนำด้วยก่อให้เกิด ความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน ถังน้ำคอนกรีตนี้เมื่อก่อสร้างเสร็จได้ใช้เก็บน้ำฝนให้เด็กนักเรียนและประชาชนที่อยู่ใกล้โรงเรียนได้ใช้ดื่มในส่วนโครงการอาหารกลางวันทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะจากการ ได้ร่วมกันประกอบอาหารโดยมีครูให้การควบคุมและก่อให้เกิด ความรักใคร่สามัคคีมีระเบียบวินัยของนักเรียนที่จะแบ่งหน้าที่ กันทำงาน และร่วมรับประทานอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของนักเรียนทุกคน

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับและเหรียญพิเศษที่ได้รับพระราชทาน

[แก้]
  • ได้รับพระราชทาน เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้น 4 (ภ.ป.ร. 4) (เหรียญส่วนพระองค์) จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2526 ในโอกาสที่ได้สนองพระเดชพระคุณในงานขยายไฟฟ้าสู่ชนบทในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ตามโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบทระยะที่ 1 และโครงการไฟฟ้าหมู่บ้าน 3 จังหวัดภาคใต้ [5]
  • รางวัลเกียรติยศที่สังคมยกย่องจากการอุทิศตัวเพื่อส่วนรวมคือได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาพัฒนาชนบท เมื่อปี พ.ศ. 2532 จากการช่วยเหลือสังคมของชมรมพัฒนาชนบทของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมกับ นายธนินทร์ เจียวรานนท์ และ เขาทราย แกแล็คซี่
  • ได้รับพระราชทาน เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 ปี พ.ศ. 2537
  • รางวัลเกียรติยศ “นักบริหารดีเด่น” สาขา นักบริหาร-พัฒนาบริการสาธารณูปโภค ประจำปี พ.ศ. 2542
  • ประกาศเกียรติคุณ “วิศวจุฬาดีเด่นประจำ ปี 2542”
  • รางวัล “จิตวิทยาความมั่นคงดีเด่น” ด้านการเมืองการปกครอง สาขาการพัฒนาสังคมดีเด่น ของมูลนิธิ พ.อ.ดร.ชินวุธ สุนทรสีมะ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543
  • รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นแห่งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประจำปี 2545
  • เกียรติบัตร "คนดีศรีสวนฯ" ประจำปี 2564 จากสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบสรรหา

[แก้]

ในเมษายน พ.ศ. 2554 นายวิบูลย์ คูหิรัญ ได้รับเลือกเป็นสมาชิก วุฒิสภา (ส.ว.) แบบสรรหาตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยระหว่างดำรงตำแหน่ง ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน (พ.ศ. 2557) และประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา วุฒิสภา (ระหว่าง พ.ศ. 2556-2557)

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

[แก้]

หลังการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 นายวิบูลย์ คูหิรัญ ได้รับเลือกเป็นสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โดยระหว่างดำรงตำแหน่ง ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน (พ.ศ. 2557-2558) และที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) (พ.ศ. 2557-ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน)

การดำรงตำแหน่งอื่น ๆ

[แก้]

นอกจากนี้ วิบูลย์ คูหิรัญ ยังดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งในองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา และมูลนิธิต่างๆ เช่น ที่ปรึกษา มูลนิธิโครงการหลวง [พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน 2561)], ประธานกรรมการมูลนิธิ โรงพยาบาลโพธาราม (หลายวาระตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-ปัจจุบัน), นายกสมาคมศิษย์เก่าผู้ปกครองและครู โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี (หลายวาระ พ.ศ. 2542-2550, 2557-ปัจจุบัน) ซึ่งได้ผลักดันการสร้างหอสมุด Electronics “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บรมราชินีนาถ” ให้นักเรียนโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีและชุมชนใช้ สำเร็จใน พ.ศ. 2560 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเปิดเมื่อ 10 พฤษภาคม 2561[6], และประธานกองทุนผู้ว่าการวิบูลย์ คูหิรัญ (พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน)

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง ประธานชมรมพัฒนาชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พ.ศ. 2522-2545), ประธานชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน ซึ่งมี 40 รัฐวิสาหกิจเป็นสมาชิกในช่วงเกิดวิกฤตของประเทศ (พ.ศ. 2543-2544), กรรมการ สภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิแห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2544-2546)[7], นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2544-2545 และอนุกรรมการใน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) (พ.ศ. 2551-2554)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ทำเนียบอดีตผู้ว่าการเว็บไซต์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สืบคืนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2561
  2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
  3. พระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, ราชกิจจานุบกษา, 13 ตุลาคม 2557
  4. เอกสาร 'นักบริหารดีเด่น ประจำปี 2542 สาขา นักบริหาร-พัฒนาการสาธารณูปโภค'.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.). 2542
  5. เอกสาร 'วิบูลย์ คูหิรัญ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)'.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.).2543
  6. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดหอสมุดอิเล็กทรอนิกส์ "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บรมราชินีนาถ” ณ โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี จ.ราชบุรี[ลิงก์เสีย], สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 10 พฤษภาคม 2561
  7. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นายวิบูลย์ คูหิรัญ แทน นายพิจิตต รัตตกุล ซึ่งลาออก)[ลิงก์เสีย], ราชกิจจานุเบกษา, 3 มกราคม 2545
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๔, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒๘, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2015-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๒ ข หน้า ๒๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๐ ข หน้า ๕๓, ๓ มิถุนายน ๒๕๓๗
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๒๗ มกราคม ๒๕๒๗

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]