ข้ามไปเนื้อหา

ชาวไท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กลุ่มชาติพันธุ์ไท)
ชาวไท
การกระจายตัวของชาวไท
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศพม่า (ไทใหญ่)
ประเทศลาว
ประเทศไทย
ประเทศเวียดนาม
เอเชียใต้
ประเทศอินเดีย (ไทคำตี้, ไทอาหม, ไทพ่าเก, ไทอ่ายตน, ไทคำยัง และไทตุรุง)
เอเชียตะวันออก
ประเทศจีน (ไท, จ้วง, ปู้อี)
ภาษา
กลุ่มภาษาไท
ศาสนา
พุทธนิกายเถรวาท, ศาสนาอาหม, ศาสนาผี, ฮินดู, อิสลาม, วิญญาณนิยม, เชมัน

ชาวไท เป็นชื่อเรียกโดยรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดกลุ่มภาษาไท[1] กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ รับประทานข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก นิยมปลูกเรือนเสาสูง มีใต้ถุน อาศัยทั้งในที่ราบลุ่ม และบนภูเขา ประเพณีศพเป็นวิธีเผาจนเป็นเถ้าแล้วเก็บอัฐิไว้ให้ลูกหลานบูชา ศาสนาดั้งเดิมเป็นศาสนาผี นับถือบรรพบุรุษและบูชาพญาแถน (ผีฟ้าหรือเสื้อเมือง) มีประเพณีสำคัญคือ ประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีเฉลิมฉลองวสันตวิษุวัต และการขึ้นปีใหม่ ทั้งนี้ คำเรียก ไต เป็นคำที่กลุ่มชนตระกูลไต เช่น ไตแดง ไตดำ ไตขาว ไตเม้ย เป็นต้น และไทใหญ่ใช้เรียกตนเอง ส่วน ไท เป็นคำเดียวกัน แต่เป็นสำเนียงของชาวไทน้อยและไทยสยาม บางครั้ง การใช้คำ ไต-ไท ในวงแคบจะหมายถึงเฉพาะผู้ที่ใช้ภาษาในกลุ่มภาษาไท (ไม่รวมกลุ่มภาษากะได เช่น ลักเกีย คำ ต้ง หลี เจียมาว ฯลฯ)

ประวัติ

[แก้]

ในอดีตเชื่อกันว่าชาวไทอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ต่อมาก็เชื่อว่าอพยพมาจากตอนกลางของประเทศจีน และก็เชื่อกันว่ากำเนิดในบริเวณจีนตอนใต้ เป็นอาณาจักรน่านเจ้า และอพยพลงมาทางตอนใต้สร้างเป็นอาณาจักรโยนกนคร (เชียงแสน) ต่อมาเป็นอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรสุโขทัย ตามลำดับ ส่วนอีกทฤษฎีเชื่อว่าอพยพมาจากทางใต้ จากชวา สุมาตรา และคาบสมุทรมลายู แต่นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันเชื่อกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได อยู่ที่บริเวณจีนตอนใต้ เรื่อยมาจนถึงแอ่งที่ราบลุ่มภาคอีสาน เรื่อยไปยังประเทศลาว รัฐชาน (ประเทศพม่า) และประเทศไทยตอนบน หลังจากนั้นจึงมีการอพยพเพิ่ม เช่นกลุ่มชาวอาหม ที่อพยพข้ามช่องปาดไก่ ไปยังรัฐอัสสัม และ ชาวไตแดงที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณอาณาจักรสิบสองจุไท โดยทั้งหมด มีทฤษฎีอยู่ดังนี้

ทฤษฏีที่ 1 ชาวไทมาจากเทือกเขาอัลไต

ทฤษฎีนี้ หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) (ขณะดำรงบรรดาศักดิ์ ขุน) ให้การสนับสนุน ว่าชาวไทมาจากเทือกเขาอัลไต แล้วมาสร้างอาณาจักรน่านเจ้า แล้วจึงอพยพมาสร้างล้านนาและสุโขทัย โดยเชื่อว่าคำว่าไต ท้ายคำว่า อัลไต (Altai) หมายถึงชาวไท แต่ทฤษฎีนี้ต่อมาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง อีกทั้ง อัลไต เป็นภาษาอัลไตอิก ไม่ใช่ภาษาไท และน่านเจ้า ปัจจุบันได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นอาณาจักรของชาวไป๋

ทฤษฏีที่ 2 ชาวไทมาจากจากหมู่เกาะทะเลใต้

เบเนดิกส์ เสนอว่า ไทยพร้อมกับพวกฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียอพยพจากหมู่เกาะทะเลใต้ แถบเส้นศูนย์สูตร ขึ้นมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนอุษาคเนย์ และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เบเนดิกส์ ยกเรื่องความเหมือนของภาษามาสนับสนุน เช่น คำว่าปะตาย ในภาษาตากาล็อก แปลว่า ตาย อากู แปลว่า กู คาราบาว แปลว่า กระบือ เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง] ประเด็นนี้นักภาษาศาสตร์ และนักนิรุกติศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับวิธีการของเบเนดิกส์ เพราะเป็นการนำภาษาปัจจุบันของฟิลิปปินส์มาเทียบกับไทย แทนที่จะย้อนกลับไปเมื่อ 1200 ปีที่แล้ว ว่า คำไทยควรจะเป็นอย่างไร และคำฟิลิปปินส์ควรจะเป็นอย่างไร แล้วจึงนำมาเทียบกันได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เชื่อทฤษฎีนี้ ยังใช้เหตุผลทางกายวิภาค เนื่องจากคนไทยและฟิลิปปินส์ มีลักษณะทางกายวิภาค คล้ายคลึงกัน

ทฤษฏีที่ 3 ชาวไทอาศัยอยู่ในบริเวณสุวรรณภูมิอยู่แล้ว

นักวิชาการท่านหนึ่งเสนอว่าชนชาติไท-กะได อาจจะอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยอ้างตามหลักฐานโครงกระดูก ที่บ้านเชียง และ บ้านเก่า แต่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอ้างความเห็นของกอร์แมนว่า โครงกระดูกคนบ้านเชียง มีลักษณะคล้ายกับกระดูกมนุษย์ที่อยู่ตามหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก อีกประการหนึ่ง ทรงอ้างถึงจารึกในดินแดนสุวรรณภูมิ ว่าเป็นจารึกที่ทำในภาษามอญมาจนถึงประมาณ พ.ศ. 1730 ไม่เคยมีจารึกภาษาไทยในช่วงเวลาดังกล่าวเลย

ทฤษฏีที่ 4 ชาวไทอาศัยอยู่บริเวณจีนตอนใต้ และเขตวัฒนธรรมไท-กะได

ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับของนักภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมากที่สุด โดยศาสตราจารย์ เก็ดนีย์ เจ้าของทฤษฎี ให้เหตุผลประกอบด้วยทฤษฏีทางภาษาว่า ภาษาเกิดที่ใด จะมีภาษาท้องถิ่นมากหลายชนิดเกิดขึ้นแถบบริเวณนั้น เพราะอยู่มานานจนแตกต่างกันออกไป แต่ในดินแดนที่ใหม่กว่าภาษาจะไม่ต่างกันมาก โดยยกตัวอย่างภาษาอังกฤษบนเกาะอังกฤษ มีสำเนียงถิ่นมากและบางถิ่นอาจฟังไม่เข้าใจกัน แต่ขณะที่ภาษาอังกฤษในสหรัฐอเมริกา มีสำเนียงถิ่นน้อยมากและพูดฟังเข้าใจกันได้โดยตลอด เปรียบเทียบกับชาวจ้วงในมณฑลกวางสี แม้มีระยะห่างกันเพียง 20 กิโลเมตร แต่ก็แยกสำเนียงถิ่นออกเป็นจ้วงเหนือ และจ้วงใต้ ซึ่งสำเนียงบางคำต่างกันมากและฟังกันไม่รู้เรื่องทั้งหมด ขณะที่ภาษาถิ่นในไทย (ภาษาไทยกลาง) และภาษาถิ่นในลาว (ภาษาลาว) กลับฟังเข้าใจกันได้มากกว่า

ต้นกำเนิดของชาวไท

[แก้]

ในรายงานตีพิมพ์เมื่อปี 2004 นักภาษาศาสตร์ Laurent Sagart ตั้งสมมติฐานว่าภาษาไท-กะไดเริ่มแรกกำเนิดจากภาษาออสโตนีเซียน ซึ่งผู้อพยพนำติดตัวจากไต้หวันไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากนั้นภาษานี้ก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาษาพื้นเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ จีน-ทิเบต, ม้ง-เมี่ยน จนถึงตระกูลภาษาอื่นๆ โดยรับคำศัพท์เข้ามาจำนวนมากและค่อย ๆ กลายโครงสร้างภาษามาคล้ายกัน ปัจจุบันเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มคนบางกลุ่มที่พูดภาษาไทได้อพยพไปทางทิศใต้ผ่านเทือกเขาต่าง ๆ เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะทันทีโดยการมาถึงของชาวจีนฮั่นไปจีนตอนใต้

มรดกทางภาษาไม่ได้เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับมรดกทางพันธุกรรมเนื่องจากการเปลี่ยนภาษาเมื่อประชากรต่าง ๆ เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ชาวไทมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการปรากฏของ Y-DNA Haplogroup O2a สูงมากและอัตราการปรากฏของ O2a1 และ O1 ปานกลาง[ต้องการอ้างอิง], อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่า Y-DNA haplogroup O1 มีความสัมพันธ์กับทั้งผู้ที่พูดภาษาออสโตนีเซียนและผู้ที่พูดภาษาไท, ความแพร่หลายของ Y-DNA haplogroup O1 ในหมู่ผู้ที่พูดภาษาออสโตนีเซียนและผู้ที่พูดภาษาไทยังบ่งบอกถึงบรรพบุรุษร่วมกันกับผู้ที่พูดภาษาซิโน-ทิเบตัน, ออสโต-เอชียติก และม้ง-เมี่ยนเมื่อประมาณ 35,000 ปีก่อนในจีน, Y-DNA haplogroup O2a ถูกพบด้วยอัตราการปรากฏสูงในหมู่คนไทส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่คนไทมีร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยใกล้เคียงนั่นคือผู้ที่พูดภาษาออสโต-เอเชียติกในมณฑลยูนนานของจีนตอนใต้ Y-DNA haplogroups O1 และ O2a เป็นกลุ่มย่อยของ O ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของ K อีกทีซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ซึ่งเชื่อกันว่าได้เกิดขึ้นเมื่อ 40,000 ปีก่อน ณ ที่ใดที่หนึ่งระหว่างอิหร่านกับจีนตอนกลาง[ต้องการอ้างอิง]

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบโครโมโซมแล้วลักษณะร่วมของกลุ่มผู้พูดภาษาตระกูลไท-ไตคือ Y-DNA haplogroup O1a ซึ่งพบมากในแถบจีนตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่โอกาสในทฤษฎีที่กล่าวว่าคนไทมาจากประเทศจีนตอนใต้นั้นมีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้[2]

Projected spatial frequency distribution for haplogroup O2-M95 .[3] แผนภาพแสดงอัตราส่วนความถี่ทางภูมิศาสตร์ของ Y-DNA Haplogroup O2a ซึ่งพบมากในผู้พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก[a]

การแบ่งประเภท

[แก้]

การแบ่งกลุ่มชาวไท ทำได้หลายวิธี เช่น แบ่งตามวัฒนธรรม แบ่งตามภาษาที่ใช้ และแบ่งตามประเทศในปัจจุบัน

แบ่งตามวัฒนธรรม

[แก้]

การแบ่งตามวัฒนธรรม เป็นการแบ่งตามหลักมานุษยวิทยา โดยใช้เกณฑ์ด้านวัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ไทน้อย ไทใหญ่ และไทยสยาม

ไทน้อย

[แก้]

ตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานเดิม อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ประกอบด้วยในลาว จนถึงลุ่มแม่น้ำดำ-แดง ในเวียดนาม แล้วเลยไปจนถึงตอนใต้ของจีน เอกลักษณ์ตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย คือ มีการปลูกเรือนแบบยาวลึกเข้าไป และไม่มีการเล่นระดับที่ซับซ้อนมาก ในสถาปัตยกรรมขั้นสูงมีการประดับตกแต่งที่ค่อนข้างน้อย เน้นความอ่อนช้อยของศิลปะ แต่เสื้อผ้าอาจจะมีเครื่องประดับมากกว่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลนี้ ได้แก่พวก ไทลาว ไทดำ (ภาษาไทยเรียกว่าลาวโซ่ง) ไทขาว ไทแดง ไทพวน (ภาษาไทยมักจะเรียกว่าลาวพวน) ไทฮ่างตง ตูลาว หลี เจียมาว เกลาว ลาติ ลาคัว ลาฮา จาเบียว เบ ไทแสก (ลาวใช้ไทแซก) ลักเกีย คำ สุย มู่หล่าว เมาหนาน ไทญ้อ ภูไท ต้ง จ้วง คัง นุง โท้ เป็นต้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายกว่าไทใหญ่ โดยเฉพาะด้านภาษา ซึ่งมีกลุ่มภาษาทั้ง 3 กลุ่ม รวมถึงภาษากะได ด้วย

ไทใหญ่

[แก้]

ตระกูลชาติพันธุ์ไทใหญ่ หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิม อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เลยไปถึงลุ่มน้ำสาละวิน อิระวดี และพรหมบุตร เอกลักษณ์ของตระกูลชาติพันธุ์ไทใหญ่ คือ มีระบบการปลูกบ้านสร้างเรือนที่ซับซ้อนกว่าไทน้อย โดยบ้านมักจะมีการกั้นห้องแบ่งระดับยกหลังคา ที่สลับซับซ้อนกว่า นอกจากนี้ในสถาปัตยกรรมขั้นสูง มักจะมีการประดับตกแต่งมากกว่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลนี้ ได้แก่พวกไทใหญ่ (ไทใหญ่เรียกตัวเองว่าไตหรือไตโหลง (ไทหลวง) ส่วนคำว่าไทใหญ่นั้นเป็นชื่อในภาษาไทยเท่านั้น ไม่ใช่ชื่อที่เขาเรียกตัวเอง) ไทเหนือ ไทขึน ไทลื้อ ไทยวน(ชาวไทยภาคเหนือ) อาหม อ่ายตน คำยัง คำตี่ พ่าเก นะรา จันหารี และ ตุรุง เป็นต้น

ไทยสยาม

[แก้]

ตระกูลชาติพันธุ์ไทยสยาม หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี เรื่อยไปจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำพุมดวง-ตาปี ที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลา บริเวณจังหวัดเกาะกง (ประเทศกัมพูชา) และบริเวณจังหวัดเกาะสอง (เขตตะนาวศรี ประเทศพม่า) ไทยสยาม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการพูดถึงและถกเถียงเรื่องที่มามากที่สุด โดยมีการเสนอทฤษฎีขึ้นมามากมาย ทั้งมาจากเทือกเขาอัลไต หรือมาจากหมู่เกาะทะเลใต้ ด้วยเชื่อว่า ไทยสยาม เป็นชาติพันธุ์บริสุทธิ์ และเป็นต้นตระกูลของทุกชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได แต่ในปัจจุบัน นักวิชาการส่วนมากยอมรับแล้วว่า ไทยสยามไม่ใช่ชาติพันธุ์บริสุทธิ์ แต่เป็นชาติพันธุ์ที่มีการผสมผสานกัน ทั้งภายในและภายนอก โดยวัฒนธรรมส่วนมากเป็นส่วนผสมระหว่างไทน้อยและไทใหญ่ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาผสมทั้งจาก มอญ อินเดีย มลายู และเขมร อีกด้วย

แบ่งตามกลุ่มภาษา

[แก้]

กลุ่มภาษาไหล-เกยัน

[แก้]

หมายถึงผู้ที่ใช้ภาษาในกลุ่มภาษาไหล และกลุ่มภาษาเกยัน ซึ่งประกอบด้วย หลี เจียมาว เกลาว ลาติ ลาติขาว จาเบียว ลาคัว และ ลาฮา เป็นต้น

กลุ่มภาษาลักเกีย-กัม-สุย

[แก้]

หมายถึงผู้ที่ใช้ภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มภาษากัม-ไท ยกเว้นภาษาไท ซึ่งประกอบด้วย เบ แสก ลักเกีย อ้ายจาม ต้ง คัง มู่หลาม เหมาหนาน และสุย เป็นต้น

กลุ่มภาษาไท

[แก้]

หมายถึงกลุ่มชนที่ใช้ภาษาไท เช่น ไทดำ (ลาวโซ่ง) ไทยวน ไทขาว ไทยสยาม ไทฮ่างตง ไทแดง ไทพวน (ลาวพวน) ตูลาว ไทลาว (ลาว) ไทญ้อ ผู้ไท ไทยอีสาน (ลาว) อาหม อ่ายตน คำตี่ คำยัง พ่าเก ไทขึน ไทใหญ่ (ฉาน) ไทลื้อ ไทเหนือ ปายี ไทถาน ไทยอง ไทหย่า จ้วง นุง ต่าย (โท้) ตุรุง นาง และ ปูยี เป็นต้น

แบ่งตามประเทศในปัจจุบัน

[แก้]

ประเทศไทย

[แก้]

ในประเทศไทย ชาวไทโดยเฉพาะไทยสยาม เป็นประชากรกลุ่มหลักของประเทศ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดประกอบด้วย ไทใหญ่ (ฉาน เงี้ยว) ไทลื้อ ไทขึน ไทยอง ไทยวน ไทดำ (ลาวโซ่ง) ไทยสยาม ภูไท (ญ้อ, โย้ย) ไทโคราช ไทพวน (ลาวพวน) ไทอีสาน (ไทลาว) ลาวแง้ว ไทแสก ลาวครั่ง ไทกลา ไทหย่า ลาวตี้ ลาวเวียง ลาวหล่ม และ คำตี่

ประเทศลาว

[แก้]

ในประเทศลาวก็เช่นเดียวกันกับไทย ที่มีชาวไทเป็นประชากรกลุ่มหลักของประเทศ ประกอบด้วย ไทลาว ลาวตี้ ลาวเวียง (ภาษาลาวเรียกว่าไทเวียงและแค่เป็นคำสำหรับเรียกคนไทลาวที่มาจากเวียงจันทน์ ไม่ใช่ไทอีกกลุ่มหนึ่งอย่างแท้จริง) ลาวหล่ม ผู้ไท ชาวไทขาว ชาวไทดำ (ลาวโซ่ง) ชาวไทแดง ชาวไทเหนือ ชาวผู้เอิน ชาวไทยวน ชาวไทลื้อ ชาวไทพวน (ลาวพวน) ชาวไทกะเลิง ชาวไทญ้อ และ ชาวไทแสก (ลาวใช้ไทแซก)

ประเทศจีน

[แก้]

ชาวไทในประเทศจีน ถือเป็นชาวไทนอกประเทศไทย-ลาว ที่มีจำนวนมากที่สุด โดยมากอาศัยในมณฑลยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง กุ้ยโจว และไหหลำ ประกอบด้วย ชาวจ้วง ไทใหญ่ ชาวหลี ชาวไทลื้อ ชาวไทปายี่ ชาวไทย้อย (จุงเจีย ตุเยน ตุเรน หรือไดออย) ชาวตุลา (ตุเรน) ชาวปูลาจี ชาวปูลุงจี ชาวไทเหนือ (ไทนู้) ชาวไทลาย (ไทน้ำ) ชาวไทหย่า ชาวไทนุง ชาวไทไขหัว ชาวไทชอง ชาวไทเขิน ชาวไทลื้อ ชาวต้ง (อ้ายก๊ำ ปู้ก๊ำ ผู้คำ) ชาวสุย ชาวมู่หล่าว ชาวเมาหนาน ชาวเก๋าหล่าว ชาวไทเอวลาย ชาวปู้ใย่ ชาวโท้ ชาวไทหย่า ชาวอูเอ ชาวไซ ชาวเดาลาว ชาวอี๋ ชาวเอน ชาวฟูมะ ชาวตูเชน ชาวเปเมียว ชาวปาเชน (กลุ่มเลือดผสมจีน) และ ชาวมิงเกีย (กลุ่มเลือดผสมจีน)

ประเทศพม่า

[แก้]

ชาวไทแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนเหนือ และส่วนใต้ โดยส่วนใต้เป็นชาวไทยสยาม ที่อาศัยอยู่ในเขตตะนาวศรี โดยเฉพาะบริเวณชายแดน และจังหวัดเกาะสอง ซึ่งยังเป็นปัญหาชาวไทยพลัดถิ่นอยู่ สำหรับส่วนเหนือ เป็นชาวไทกลุ่มอื่น ๆ และไม่ได้มีปัญหาเรื่องชีวิตบนเส้นแบ่งเขตแดน โดยกลุ่มนี้ประกอบด้วย ชาวไทใหญ่ ชาวไทลื้อ ชาวไทเขิน ชาวไทยอง ชาวไทเมา ชาวไทแลง ชาวไทคำตี่ ชาวไทพ่าเก ชาวไทยโยเดีย ชาวไทผิ่ว ชาวนะรา ไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี

ประเทศเวียดนาม

[แก้]

ส่วนมากอาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำดำ-แดง ประกอบด้วย ชาวปูยี่ ชาวเกี๋ยน ชาวลาว ชาวไทลื้อ ชาวไทดำ ชาวไทขาว ชาวไทแดง ชาวไทนุง (ผู้นุง) ชาวไทใหญ่ (สานเชย์) ชาวถาย ชาวไทย ชาวม่าน ชาวโท้ ชาวเกลาว ชาวลาชิ ชาวละหา ชาวนาง ชาวไทญัง (ไส) ชาวไทไต่ ชาวไทชอง ชาวไทท้าวลาว ชาวไทลักกะ (ละเกีย) ชาวข่าลาว ชาวตูลาว ชาวควาเบียว (จาเบียว) ชาวโต๋ ชาวไทหล้า ชาวไทโส ชาวไทลา ชาวไทเชียง ชาวไทลาย ชาวไทฮ่างตง

ประเทศอินเดีย

[แก้]

ชาวไทในอินเดีย ส่วนมากอาศัยในรัฐอัสสัม และอรุณาจัลประเทศ ได้แก่ ชาวไทอาหม ชาวไทพาเก่ ชาวไทคำตี่ ชาวไทอ่ายตน (ไทอ้ายตน อ้ายตอน) ชาวไทคำยัง ชาวไทตุรง ชาวนะรา และ ชาวไทจันหารี

ชาวไทในส่วนอื่น ๆ

[แก้]

นอกจากนี้ ในกัมพูชา และ มาเลเซีย ยังมีชาวไทอาศัยอยู่ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ก่อนตั้งแต่ก่อนการเสียดินแดน เช่น ในพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เกาะกง ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานู โดยกลุ่มนี้ประกอบด้วย ชาวลาว ไทยวน ไทยสยาม ไทยเกาะกง ไทยกลันตัน ไทยปะลิศ ไทยไทรบุรี ไทยเปรัก ไทยลังกาวี และยังมีชาว SamSam ซึ่งเป็นคนไทยผสมมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม อยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย และทางใต้ของไทย

ในภูมิภาคเอเชียนอกจากเอเชียอาคเนย์
[แก้]

ในภูมิภาคเอเชียใต้ นอกจากในประเทศอินเดียที่มีชาวอาหม ชาวคำตี่ ฯลฯ อาศัยอยู่ ในประเทศปากีสถานก็มีคนปากีสถานเชื้อสายไทย อาศัยอยู่ในเมืองบาตกราม (Batakram) ในประเทศศรีลังกาก็มีชุมชนชาวไทใหญ่ ซึ่งอพยพมาจากอินเดีย ในกลุ่มประเทศภูมิเอเชียตะวันออก อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน ก็มีคนไทยเข้าไปทำอาชีพ และอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก แม้แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ก็มีชาวไทยอาศัยอยู่อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน

ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ
[แก้]

ในสหรัฐ มีกลุ่มชนชาวไทหลายกลุ่มอพยพเข้าไปอาศัยจำนวนมาก อย่างชาวลาว ชาวไทย ชาวไทขาว ชาวไทยอีสาน ชาวไทยใต้ ชาวไทยวน ชาวไทลื้อ ไทดำ ชาวต่าย หรือแม้แต่ชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในประเทศแคนาดาก็มีชาวไทยอยู่ไม่น้อย

ในทวีปยุโรป
[แก้]

มีชาวไทจำนวนมากอาศัยอยู่ในทวีปยุโรป ได้แก่ ชาวลาวในสหราชอาณาจักร ประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ ชาวไทยอีสานส่วนมากอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร และประเทศไอซ์แลนด์ ชาวไทยส่วนมากอาศัยอยู่ในประเทศฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ชาวไทดำ และชาวต่ายอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ส่วนชาวไทยถิ่นใต้ส่วนมากอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร

ในทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย
[แก้]

มีชุมชนชาวไทยจำนวนมากตามเมืองใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย และมีชาวไทยวนอาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์

ในทวีปอเมริกาใต้
[แก้]

มีชุมชนชาวลาวอาศัยอยู่ในประเทศอาร์เจนตินาเป็นจำนวนมาก

ในทวีปแอฟริกา
[แก้]

มีชุมชนชาวไทยในประเทศต่างๆในแอฟริกาอย่างประเทศมาดากัสการ์ แอฟริกาใต้ อียิปต์ และซูดาน

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ชนพื้นเมืองหมู่เกาะนิโคบาร์พบในอัตราส่วน 100%[4] ชาวบาหลีพบในอัตราส่วน 58.6%[5] ชาวมุนดาในอินเดียตะวันออกพบบในอัตราส่วน 53.1%[6](บางแห่งว่า57.2%[7]) ชาวกาสีในรัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย พบในอัตราส่วน 41.3%[8] ชาวฮั่นตอนใต้ในจีนพบในอัตตราส่วน 30%[9] ในขณะที่การพบในหมู่ คนจ้วงมีอัตราส่วนประมาณ 23.5% (Chen 2006) เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ไท (๓๐ มกราคม ๒๕๕๐)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 30 มกราคม 2550. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. Autosomal STRs provide genetic evidence for the hypothesis that Tai people originate from southern China.
  3. O'Rourke, Dennis; Cai, Xiaoyun; Qin, Zhendong; Wen, Bo; Xu, Shuhua; Wang, Yi; Lu, Yan; Wei, Lanhai; Wang, Chuanchao; Li, Shilin; Huang, Xingqiu; Jin, Li; Li, Hui (2011). "Human Migration through Bottlenecks from Southeast Asia into East Asia during Last Glacial Maximum Revealed by Y Chromosomes". PLoS ONE. 6 (8): e24282. doi:10.1371/journal.pone.0024282. ISSN 1932-6203.
  4. Kumar et al(2007)Y-chromosome evidence suggests a common paternal heritage of Austro-Asiatic populations;BMC Evolutionary Biology 2007, 7:47 doi:10.1186/1471-2148-7-47
  5. Karafet, Tatiana M.; Lansing, J. S.; Redd, Alan J.; Watkins, Joseph C.; Surata, S. P. K.; Arthawiguna, W. A.; Mayer, Laura; Bamshad, Michael et al. (2005). "Balinese Y-Chromosome Perspective on the Peopling of Indonesia: Genetic Contributions from Pre-Neolithic Hunter-Gatherers, Austronesian Farmers, and Indian Traders". Human Biology 77 (1): 93–114. doi:10.1353/hub.2005.0030. PMID 16114819.
  6. Sengupta et al(2006);Polarity and temporality of high-resotution Y-chromosome distributions in India indentify both indegenous and exgenous expansions and reveal minor genetic influence of Central Asian pastoralists.Am.J.Hum.Genet.78:202-221
  7. Kumar, Vikrant; Reddy, Arimanda NS; Babu, Jagedeesh P; Rao, Tipirisetti N; Langstieh, Banrida T; Thangaraj, Kumarasamy; Reddy, Alla G; Singh, Lalji; Reddy, Battini M (2007). "Y-chromosome evidence suggests a common paternal heritage of Austro-Asiatic populations". BMC Evolutionary Biology 7: 47. doi:10.1186/1471-2148-7-47. PMC 1851701. PMID 17389048.
  8. Kumar et al(2007)Y-chromosome evidence suggests a common paternal heritage of Austro-Asiatic populations;BMC Evolutionary Biology 2007, 7:47 doi:10.1186/1471-2148-7-47
  9. Hammer MF, Karafet TM, Park H et al. (2006). "Dual origins of the Japanese: common ground for hunter-gatherer and farmer Y chromosomes". J. Hum. Genet. 51 (1): 47–58. doi:10.1007/s10038-005-0322-0. PMID 16328082.

ผลงานที่อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Tai peoples

งานวิจัย

[แก้]
  • วินัย พงศ์ศรีเพียร. 2557. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์. ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร (บก.), ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เล่ม 7 (น. 111-144). งานวิจัยในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2557.

เว็บไซต์

[แก้]