ข้ามไปเนื้อหา

ฟอนต์ความกว้างคงที่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Monospace)
ในภาพนี้ คำว่า Proportional เขียนด้วยฟอนต์ความกว้างแปรผัน แต่คำว่า Monospace เขียนด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่

ฟอนต์ความกว้างคงที่ (อังกฤษ: monospaced บ้างก็เรียก fixed-pitch, fixed-width, หรือ non-proportional font) เป็นฟอนต์ที่กำหนดให้ทุกตัวอักษรและการเว้นวรรค มีความกว้างเท่ากัน [1] [a] ในทางตรงกันข้าม ฟอนต์โดยส่วนใหญ่นั้นมีความกว้างผันแปร นั่นคือตัวอักษรและการเว้นวรรคมีความกว้างต่างกัน

มักใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่กับเครื่องพิมพ์ดีดและการเรียงพิมพ์รหัสต้นทาง

มีการใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่กันอย่างแพร่หลายในคอมพิวเตอร์และ เครื่องเทอร์มินัลคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ ซึ่งมักมีความสามารถด้านกราฟิกที่จำกัดอย่างมาก การควบคุมฮาร์ดแวร์ในยุคนั้นจึงมักทำอย่างเรียบง่ายขึ้นด้วยการตั้งโหมดข้อความ โดยกำหนดให้พื้นที่หน้าจอถูกแบ่งส่วนออกเป็นตาราง และในแต่ละช่องของตารางนี้สามารถตั้งค่าให้แสดงอักขระได้ช่องละหนึ่งตัวอักษร โดยการทำดัชนีลงในแผนที่อักขระของฮาร์ดแวร์ ระบบบางระบบอนุญาตให้แสดงข้อความสีได้โดยการเปลี่ยนสีพื้นหน้าและพื้นหลังของแต่ละช่องตาราง และอาจมีเอฟเฟกต์อื่น ๆ เช่น วิดีโอย้อนกลับและข้อความกะพริบ อย่างไรก็ตาม ระบบในช่วงแรกมักจะแสดงได้แค่ฟอนต์คอนโซลแบบเดียว

แม้ว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์จะสามารถแสดงฟอนต์ได้หลากหลายแบบ แต่สิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จและซอฟต์แวร์โปรแกรมแก้ไขข้อความส่วนใหญ่ยังคงใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่เป็นฟอนต์โดยปริยาย เนื่องจากทำให้รหัสต้นทางอ่านง่ายขึ้น เนื่องจากการอ่านรหัสเหล่านั้นมักจะต้องแยกแยะระหว่างอักษรแต่ละตัวได้เป็นอย่างดี และทำให้ความแตกต่างระหว่างตัวอักษรชัดเจนขึ้นในสถานการณ์อย่างช่องป้อนรหัสผ่าน เนื่องจากไม่สามารถพิมพ์ผิดได้[2] ยังมีการใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่ในโปรแกรมเลียนแบบเทอร์มินัลและการจัดวางข้อมูลในตารางในเอกสารข้อความธรรมดา ในคู่มือทางเทคนิคและทรัพยากรสำหรับภาษาการเขียนโปรแกรม มักใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่เพื่อแยกแยะโค้ดจากข้อความภาษาคน ฟอนต์ความกว้างคงที่ยังใช้โดยเอาท์พุตของตัวถอดรหัสซึ่งทำให้ข้อมูลจัดเรียงในคอลัมน์แนวตั้ง

การจดจำอักขระด้วยแสงมีความแม่นยำมากขึ้นด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่ ตัวอย่างได้แก่ OCR-A และ OCR-B

คำว่า modern (ทันสมัย) ถูกใช้เป็นคำพ้องความหมายกับฟอนต์แบบความกว้างคงที่ในบางกรณี เช่น ในรูปแบบ OpenDocument (ISO/IEC 26300:2006) และ รูปแบบ Rich Text Format คำว่า "modern" ใช้แทนฟอนต์ความกว้างคงที่[3] [4]

ตัวอย่างของฟอนต์ความกว้างคงที่ ได้แก่ เคอเรียร์, Lucida Console, Menlo, Monaco, Consolas, Inconsolata และ Source Code Pro

ใช้ในงานศิลปะ

[แก้]

มีรูปแบบศิลปะที่สร้างขึ้นมาด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่ของคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งตัวอักษรที่ n ของแต่ละบรรทัดจะเรียงกันในแนวตั้ง (บางครั้งกลุ่มอักขระดังกล่าวเรียกว่าคอลัมน์) ด้านล่างนี้เป็นภาพการจำลองการวาดเส้นของศิลปะ ANSI โดยใช้ฟอนต์ความกว้างผันแปรเทียบกับฟอนต์ความกว้างคงที่

ฟอนต์ความกว้างผันแปร ฟอนต์ความกว้างคงที่

┌─┐ ┌┬┐
│ │ ├┼┤
└─┘ └┴┘

┌─┐ ┌┬┐
│ │ ├┼┤
└─┘ └┴┘

เนื่องจากฟอนต์ความกว้างผันแปรไม่สามารถสร้างรูปกล่องดังแสดงได้ จึงใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่ในการสร้างและการดูงานศิลปะ ASCII และ ANSI แทน บทกวีบางบทที่แต่งขึ้นโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์ยังพึ่งพิงการจัดแนวแนวตั้งของคอลัมน์อักขระด้วย บทกวีของ E. E. Cummings มักถูกพิมพ์ในฟอนต์ความกว้างคงที่ด้วยเหตุผลนี้[ต้องการอ้างอิง] วิดีโอเกมคลาสสิกบางเกม (เช่น Rogue และ NetHack) และเกมเลียนแบบสไตล์เดียวกัน (เช่น Dwarf Fortress) จะใช้ตารางตัวอักษรเป็นฟอนต์ความกว้างคงที่เพื่อแสดงสถานะเกมให้ผู้เล่นเห็น เชื่อกันว่า เกม Quiz Show (พ.ศ. 2519) เป็นวิดีโอเกมแรกที่ใช้ "ฟอนต์อาร์เคด" แบบความกว้างคงที่ขนาด 8×8 ตัวอักษร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในเกมคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น

ตัวเลขความกว้างคงที่

[แก้]
ตัวเลขความกว้างผันแปร (ซ้าย) และความกว้างคงที่ (ขวา) ในไทป์เฟซ Hepta Slab โดยสามารถเลือกชุดตัวเลขได้จากการตั้งค่า font-variant-numeric ใน แคสเคดดิงสไตล์ชีตส์
ตัวเลขความกว้างผันแปร (บน) และความกว้างคงที่ (ล่าง) ในฟอนต์ปาลาติโน (Palatino)

ฟอนต์ความกว้างผันแปรจำนวนมาก จะมีตัวเลขที่มีความกว้างคงที่ (อาจเรียกว่า เลขตาราง หรือ Tabular figures)[5][6] เนื่องจากความกว้างคงที่ทำให้ตัวเลขทั้งหมดที่มีจำนวนหลักเท่ากันมีความกว้างเท่ากัน จึงใช้ระยะห่างดังกล่าวในการเรียงพิมพ์เอกสาร เช่น รายการราคาสินค้า รายการหุ้น และผลรวมในตำราเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งในเอกสารทั้งหมดนี้ การเปรียบเทียบจะทำได้ง่ายขึ้นหากตัวเลขเรียงกันเป็นคอลัมน์[7] ความกว้างคงที่ยังเป็นคุณลักษณะทั่วไปของอุปกรณ์การพิมพ์ที่เรียบง่าย เช่น เครื่องบันทึกเงินสดและตราประทับวันที่[8] แบบอักษรที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับมืออาชีพในเอกสาร เช่น รายงานทางธุรกิจ อาจกำหนดให้ตัวเลขตัวหนาใช้ความกว้างเท่ากับตัวเลขในรูปแบบปกติ ความสอดคล้องระหว่างรูปแบบต่างๆ นี้เรียกว่า "duplexing" [9]

ตัวเลขแบบ "duplexed" ในฟอนต์ Concorse โดย Matthew Butterick โดยตัวเลขทั้งหมดจะมีความกว้างที่เท่ากัน ไม่ว่าจะตัวหนาแค่ไหนก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม ฟอนต์ที่มีตัวเลขความกว้างผันแปร จะวางตัวเลขให้ชิดกันมากขึ้น เพื่อลดพื้นที่ว่างในเอกสาร และเชื่อว่าจะช่วยให้ตัวเลขกลมกลืนกับข้อความมากขึ้น[10] ฟอนต์สมัยใหม่ที่ใช้รูปแบบ TrueType หรือ OpenType สามารถมีทั้งตัวเลขความกว้างผันแปรและตัวเลขความกว้างคงที่ในไฟล์ฟอนต์เดียวกันได้ และเลือกรูปแบบดังกล่าวได้โดยใช้การตั้งค่าตัวเลือกแบบอักษรในแอปพลิเคชัน เช่น โปรแกรมประมวลผลคำหรือเว็บเบราว์เซอร์[11][12][13]

การใช้ประโยชน์อื่น ๆ

[แก้]

ในชีวเคมี มักแสดงลำดับกรดนิวคลีอิกและโปรตีนด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่ เนื่องจากฟอนต์เหล่านี้รับประกันได้ว่าการแสดงนิวคลีโอไทด์หรือกรดอะมิโนแต่ละตัวจะใช้พื้นที่เท่ากัน การเรียงตำแหน่งของตัวอักษรในฟอนต์ความกว้างคงที่ช่วยให้เปรียบเทียบลำดับต่างๆ ได้ชัดเจนกว่า

มักพิมพ์บทภาพยนตร์และบทละครเวทีด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่เพื่อให้ประเมินได้ง่ายว่าบทภาพยนตร์จะมีความยาวเท่าไรจากจำนวนหน้า มาตรฐานอุตสาหกรรมคือเคอเรียร์ขนาด 12 point โดยเป็นที่เข้าในกันว่า บทภาพยนตร์ที่พิมพ์แบบนี้เป๊ะๆ เต็มหนึ่งหน้า จะใช้เวลาแสดง/ฉายบนจอหนึ่งนาที[14]

มักใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่ในเอกสารดนตรี tablature สำหรับกีตาร์และกีตาร์เบส โดยในเอกสารเหล่านั้น แต่ละบรรทัดในตารางจะแสดงถึงสายกีตาร์ ซึ่งต้องกดคอร์ดที่เล่นบนหลายสายตามลำดับแนวตั้ง ซึ่งสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อตัวอักษรมีความกว้างคงที่

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. This definition does not apply to fonts with CJK support; see Duospaced font § In CJK typography.

อ้างอิง

[แก้]
  1. Rosendorf, Theodore (2009). The Typographic Desk Reference. New Castle, Delaware: Oak Knoll Press. p. 12. ISBN 978-1-58456-231-3.
  2. Spolsky, Joel (24 October 2001). "User Interface Design For Programmers". Joel On Software. สืบค้นเมื่อ 17 November 2014.
  3. OpenDocument v1.1 specification (PDF), สืบค้นเมื่อ 2010-05-01.
  4. Microsoft Corporation (June 1992), Microsoft Product Support Services Application Note (Text File) – GC0165: RICH-TEXT FORMAT (RTF) SPECIFICATION (TXT), สืบค้นเมื่อ 2010-03-13.
  5. "A New Face for Adobe". Typekit Blog. Adobe. สืบค้นเมื่อ 8 January 2016.
  6. Shinn, Nick. "Shinntype Modern Suite specification" (PDF). Shinntype. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 February 2021. สืบค้นเมื่อ 16 October 2015.
  7. Strizver, Elaine. "Proportional vs. Tabular Figures". fonts.com. Monotype Imaging. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
  8. "Revenue". Hoefler & Frere-Jones. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
  9. "Gotham Numerics". Hoefler & Frere-Jones. สืบค้นเมื่อ 27 September 2014.
  10. "Gotham: Numerics". Hoefler & Frere-Jones. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
  11. Butterick, Matthew. "Alternate figures: consider the context". Butternick's Practical Typography.
  12. Saller, Carol. "Old-Style Versus Lining Figures". Chronicle of Higher Education. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
  13. Bergsland, David. "Using numbers in the proper case". Design & Publishing Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2007. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
  14. August, John (22 March 2006). "How accurate is the page-per-minute rule?". สืบค้นเมื่อ 17 November 2014.