หีบแห่งพันธสัญญา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
บัญญัติ 10 ประการ |
---|
บทความที่เกี่ยวข้อง |
หีบแห่งพันธสัญญา[1][2] หรือ หีบแห่งพระบัญญัติ (อังกฤษ: Ark of the Covenant; ฮีบรู: אָרוֹן הַבְּרִית ʾĀrôn Habbərît, ออกเสียง อะรอน ฮะบริท; กรีก: Κιβωτός της Διαθήκης; อาหรับ: تابوت العهد) เป็นหีบที่กล่าวถึงใน หนังสืออพยพ[3] บรรจุแผ่นศิลาพระโอวาทที่ได้สลักบัญญัติ 10 ประการเอาไว้ และใน จดหมายถึงชาวฮีบรู[4] ระบุว่า "หีบพันธสัญญาหุ้มด้วยทองคำทุกด้าน ภายในนั้น มีโถทองคำบรรจุมานา มีไม้เท้าของอาโรนที่ออกดอกตูม และมีแผ่นศิลาจารึกพันธสัญญา" อย่างไรก็ตาม ใน หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 ได้บันทึกไว้ว่า ในยุคของมหากษัตริย์ซาโลมอน หีบแห่งพันธสัญญาบรรจุไว้แค่ แผ่นศิลาพระบัญญัติจำนวนสองแผ่นเท่านั้น[5] หนังสืออพยพ ยังอธิบายว่า หีบแห่งพันธสัญญาสร้างขึ้นรูปแบบที่พระยาห์เวห์ทรงชี้แนะต่อโมเสสที่ภูเขาซีนาย[6] โมเสสสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้จากพลับพลานมัสการซึ่งบรรจุหีบใบนี้ โดยพระเจ้าจะทรงประทับบนพระที่นั่งกรุณาที่ทั้งสองข้างมีเครูบกางปีกปกไว้[7]
คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า ราวหนึ่งปีภายหลังชนชาวอิสราเอลได้อพยพจากอียิปต์ ก็ได้สร้างตัวหีบขึ้นตามรูปแบบที่พระเจ้าตรัสไว้ผ่านโมเสสในระหว่างที่พวกเขาตั้งค่ายที่เชิงเขาซีนาย (ตรงกับ 1513 ปีก่อนคริสตกาล) ต่อมา ปุโรหิตเผ่าเลวีหามหีบแห่งพันธสัญญานำขบวนอพยพของชนชาวอิสราเอลทิ้งระยะห่าง 2,000 ศอก[8] ทันทีที่เท้าของปุโรหิตผู้หามหีบแตะผิวน้ำของแม่น้ำจอร์แดนซึ่งอยู่ในฤดูน้ำหลาก สายน้ำก็แยกออกจากกันจนเหลือพื้นแห้งให้ขบวนอพยพเดินทางข้ามไปได้[9] เมื่อการมหัศจรรย์นี้แพร่กระจายออกไป ทำให้เหล่ากษัตริย์ชาวอาโมไรต์ทั้งหมดทางฟากตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนและกษัตริย์ชาวคานาอันทั้งหมดตามชายฝั่งทะเลต่างเกรงกลัวในอำนาจของพระเจ้า ประตูเมืองเยรีโคถูกสั่งปิดตายเนื่องจากเกรงกลัวชาวอิสราเอล พระเจ้าตรัสกับโยชูวาให้ปุโรหิตหามหีบเดินขบวนรอบเมืองวันละหนึ่งรอบเป็นเวลาหกวัน และหามวนเจ็บรอบในวันที่เจ็ดพร้อมเป่าเขาแกะ[10] เมื่อครบเจ็ดรอบ ชาวอิสราเอลก็ส่งเสียงโห่ร้องและกำแพงของเมืองเยรีโคก็พังทลายลงมา กองทัพของชาวอิสราเอลบุกเข้าเมือง เข่นฆ่าทุกคนไม่เว้น ชาย หญิง คนชรา เด็ก สัตว์เลี้ยง และเผาเมืองจนพินาศสิ้น[11]
ลักษณะ
[แก้]ในหนังสืออพยพ บทที่ 25 พระเจ้าทรงบัญชาโมเสสว่า "ให้พวกเขาทำหีบใบหนึ่ง ด้วยไม้กระถินเทศยาว 110 เซนติเมตร กว้าง 66 เซนติเมตร และสูง 66 เซนติเมตร เจ้าจงหุ้มหีบนั้นด้วยทองคำบริสุทธิ์ทั้งด้านในและด้านนอก แล้วจงทำขอบด้วยทองคำล้อมรอบหีบนั้น เจ้าจงหล่อห่วงทองคำสี่ห่วงสำหรับหีบนั้นติดไว้ที่มุมทั้งสี่ ด้านนี้สองห่วงและด้านนั้นสองห่วง ให้ทำคานหามด้วยไม้กระถินเทศหุ้มด้วยทองคำ แล้วสอดคานหามเข้าที่ห่วงข้างหีบสำหรับใช้ยกหามหีบนั้น ไม้คานหามให้สอดไว้ในห่วงของหีบ ห้ามถอดออก เจ้าจงเก็บพระโอวาทที่เราจะให้แก่เจ้าไว้ในหีบนั้น แล้วเจ้าจงทำพระที่นั่งกรุณาด้วยทองคำบริสุทธิ์ยาว 110 เซนติเมตร กว้าง 66 เซนติเมตร เจ้าจงทำเครูบทองคำสองรูป โดยใช้ค้อนเป็นเครื่องมือทำและตั้งไว้ที่ปลายทั้งสองข้างของพระที่นั่งกรุณา เจ้าจงทำเครูบไว้ที่ปลายพระที่นั่งกรุณาข้างละรูป และให้เครูบติดเป็นเนื้อเดียวกับปลายทั้งสองข้างของพระที่นั่งกรุณา ให้เครูบกางปีกขึ้นสูงปกพระที่นั่งกรุณาไว้ และให้หันหน้าเข้าหากัน โดยหน้าของเครูบมองตรงมายังพระที่นั่งกรุณา แล้วจงตั้งพระที่นั่งกรุณานั้นไว้บนหีบ จงเก็บพระโอวาทซึ่งเราจะให้แก่เจ้าไว้ในหีบนั้น เราจะพบกับเจ้า ณ ที่นั้น คือที่เหนือพระที่นั่งกรุณาระหว่างกลางเครูบ ซึ่งอยู่บนหีบแห่งสักขีพยาน และเราจะบอกกับเจ้าทุกสิ่งที่เราจะสั่งเจ้าให้ประกาศแก่ชนชาติอิสราเอล"[12]
หายสาบสูญ
[แก้]มีสมมติฐานว่าหีบแห่งพันธสัญญาที่จริงนั้นมีอยู่สองใบ คือ ใบดั้งเดิม กับใบที่สร้างขึ้นทีหลัง พระราชินีแห่งชีบาเป็นมเหสีของซาโลมอน โอรสของพระนางจะต้องกลับไปครองเอธิโอเปีย ตำนานว่าโอรสของพระนางได้นำหีบใบหนึ่งกลับไปด้วย กษัตริย์ซาโลมอนอาจสร้างหีบแห่งพันธสัญญาขึ้นมาอีกใบในเหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่อาจทราบว่า หีบใบที่เจ้าชายเมเนเลกนำไปยังเอธิโอเปียนั้น เป็นหีบใบจริงหรือใบที่สร้างขึ้นมาทีหลัง
อย่างไรก็ตาม 587 ปีก่อนคริสตกาล ในคราวที่กองทัพบาบิโลเนียบุกเข้าทำลายเยรูซาเลมและวิหารซาโลมอนอันเป็นที่ประดิษฐานของหีบแห่งพันธสัญญา ในหนังสือพงศ์กษัตริย์นั้น มีบัญชีสิ่งของที่พวกบาบิโลนนำกลับออกไปด้วยอยู่ ก็ไม่ปรากฏว่ามีหีบใบนี้อยู่ในบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด[13][14] แม้แต่พงศาวดารอิสราเอลอื่น ๆ ก็ไม่ระบุถึงหีบในเหตุการณ์นี้เช่นกัน แต่เรื่องของหีบนี้กลับไปปรากฏอยู่ในหนังสือเอสดราส ฉบับที่ 1[15]ของกรีก ซึ่งระบุไว้ว่า
- "...แลพวกเขาก็ยึดเอาบรรดาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่เสียหมดสิ้น พร้อมทั้งภาชนะหีบแห่งพระเจ้าตลอดจนทรัพย์สมบัติ แลเอาไปยังบาบิโลน"
- —หนังสือเอสดราส ฉบับที่ 1 บรรทัดที่ 54
- "...แลพวกเขาก็ยึดเอาบรรดาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่เสียหมดสิ้น พร้อมทั้งภาชนะหีบแห่งพระเจ้าตลอดจนทรัพย์สมบัติ แลเอาไปยังบาบิโลน"
อย่างไรก็ตาม มีนักโบราณคดีและนักวิชาการบางส่วนเห็นว่า เป็นไปได้ยากที่จะไม่หลงเหลือหลักฐานใดเลยหากหีบถูกนำไปยังบาบิโลนจริง ดังนั้นหีบน่าจะถูกนำออกจากเยรูซาเลมไปแล้วก่อนเมืองถูกโจมตี โดยผ่านอุโมงค์ใต้เยรูซาเลมออกไปนอกกำแพงเมือง ทั้งนี้ มีการพบบันทึกพาไพรัสในอียิปต์ ซึ่งเขียนราว ๆ 400 ปีก่อนคริสกาล ในบันทึกระบุว่า มีการสร้างวิหารสำหรับพระเจ้าของพวกยิวในเกาะทางภาคใต้ของอียิปต์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เหล่าปุโรหิตสามารถนำหีบหนีออกมาได้ถึงเกาะนี้ และวิหารแห่งนี้สร้างเพื่อเก็บรักษาหีบ ถ้าเป็นเช่นนั้น หีบอาจจะเคยอยู่ที่อียิปต์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในอียิปต์จะทำให้ชาวยิวเหล่านี้ต้องออกจากอียิปต์ และจุดหมายปลายทางที่พวกเขาน่าจะเดินทางต่อไปคือเอธิโอเปียซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระราชินีแห่งชีบา มเหสีของกษัตริย์ซาโลมอน โดยการล่องเรือทวนแม่น้ำไนล์ ซึ่งก็มีการพบชุมชนชาวคริสต์เก่าแก่บริเวณทะเลสาบต้นสาขาของแม่น้ำไนล์ในเอธิโอเปีย และในบรรดาสมบัติเก่าแก่ก็พบเครื่องใช้โบราณของอิสราเอลที่มีอายุกว่าสองพันปี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หนังสืออพยพ 25:10-22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 1 บทที่ 4, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสืออพยพ 25:10-22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ จดหมายถึงชาวฮีบรู 9:4, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือพงศ์กษัตริย์ 8:9, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสืออพยพ 25:10-16, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสืออพยพ 25:22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือกันดารวิถี 4:5-6, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือโยซูวา 3:15-16,4:7-18, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือโยซูวา 6:4-20, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสือโยซูวา 6:4-21, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ หนังสืออพยพ 25:10-22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ↑ 2 พงศ์กษัตริย์ 25:13-17
- ↑ 1 พงศ์กษัตริย์ 8:6
- ↑ หนังสือเอสดราส ฉบับที่ 1, คัมภีร์สารบบที่สอง, คัมภีร์ไบเบิลออร์ทอดอกซ์
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Detailed reconstruction of the Ark of the Covenant[ลิงก์เสีย]
- Portions of this article have been taken from the Jewish Encyclopedia of 1906. Ark of the Covenant
- Initial text from Easton's Bible Dictionary, 1897. Ark of the Covenant
- The Catholic Encyclopedia, Volume I. Ark of the Covenant