อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ที่ตั้ง | อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย |
---|---|
ประเภท | นิคม |
พื้นที่ | 4.7 ตารางกิโลเมตร (470 เฮกตาร์) |
ความเป็นมา | |
สร้าง | พุทธศตวรรษที่ 8 |
ละทิ้ง | พุทธศตวรรษที่ 18 |
สมัย | สมัยโบราณ |
วัฒนธรรม | ทวารวดี |
เกี่ยวเนื่องกับ | ชาวมอญ |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ค้นพบ | พ.ศ. 2447 |
ขุดค้น | พ.ศ. 2478 |
ผู้ขุดค้น | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
สภาพ | ฟื้นฟูบางส่วน |
ผู้ถือกรรมสิทธิ์ | สาธารณะ |
ผู้บริหารจัดการ | กรมศิลปากร, จ่ายค่าเข้าชม |
การเปิดให้เข้าชม | ใช่ |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม |
เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
พิกัด | 15°27′59″N 101°09′00″E / 15.46639°N 101.15000°E |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (ii), (iii) |
อ้างอิง | 1662 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2566 (คณะกรรมการสมัยที่ 45) |
พื้นที่ | 866.471 เฮกตาร์ |
พื้นที่กันชน | 3,824.148 เฮกตาร์ |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 232 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ 130 กิโลเมตร ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่บนที่ราบห่างจากแม่น้ำป่าสัก[1] ไปทางทิศตะวันออกราว 4 กิโลเมตร ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60 - 80 เมตร[2]ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ พื้นที่ราว 4.7 ตารางกิโลเมตร (ราว 2,900 ไร่) ประกอบด้วยชุมชนโบราณในลักษณะเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่[1] และกลุ่มโบราณสถานสำคัญที่มีความโดดเด่นทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สามารถติดต่อกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้สะดวก และความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันถึง 3 ยุค ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ยุคทวารวดีจนถึงยุคขอมเรืองอำนาจ[3][1] และในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก[4] ภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง[5]
ด้วยเอกลักษณ์และความสำคัญของเมืองศรีเทพ จึงมีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ทวารวดี หรือเมืองศรีเทพนั้นคือ ทวารวดี ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่เชื่อกันมา[6][7]
ประวัติ
[แก้]เมืองโบราณศรีเทพมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-18 เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในสมัยทวารวดี มีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนาหลายศาสนาและนิกาย ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายาน รวมไปถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในเสาวระนิกาย (นับถือพระสุริยะ) ไวษณพนิกาย (นับถือพระวิษณุ) และไศวนิกาย (นับถือพระศิวะ)[1] มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใกล้เคียงตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดีจากแหล่งอื่น ๆ โดยยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรม สามารถแสดงความเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและการค้า แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่ต่างศาสนาในระยะเวลาเดียวกัน[8]
บริเวณเมืองฯ พบหลักฐานการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องใน 3 สมัย ได้แก่ ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมขอมแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในตอนปลาย ก่อนจะหมดความสำคัญกลายเป็นเมืองร้าง[9]
ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณศรีเทพเป็นชุมชนเกษตรกรรม ประกอบด้วยหมู่บ้านเล็ก ๆ หลายแห่ง แต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ ผู้คนรู้จักการใช้ชีวิตและจัดการตนเองให้อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอย่างดี มีการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการล่าสัตว์และรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีการทอผ้า การทำเครื่องปั้นดินเผา และการถลุงโลหะในชุมชนด้วย ผู้คนอาจเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายหรือโลกหน้าในขณะที่พวกเขาฝังศพผู้ตายด้วยสิ่งของที่ฝังศพหลากหลายชนิด การหาอายุของเรดิโอคาร์บอน AMS ของตัวอย่างฟันมนุษย์จากแหล่งขุดค้นในเขตเมืองใน มีอายุ 1,700 ปี บวกลบไม่เกิน 30 ปี[2]
นอกจากวัฒนธรรมอินเดีย ขอมและทวารวดีแล้ว ยังปรากฏร่องรอยการเดินทางมาของชาวจีน โดยพบจารึกบนพระพิมพ์เป็นอักษรจีนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 สลักชื่อภิกษุ "เหวินเซียง" อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนและความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว ที่ทำให้คนจากต่างถิ่นต้องมาเยือน[10]
ส่วนวัฒนธรรมขอมในเมืองศรีเทพพบทับหลังที่มีลักษณะเป็นสกุลช่างพิมาย พบภาพแกะสลักคนนุ่งผ้าทรงปีกนกแบบพิมาย ซึ่งเมืองศรีเทพน่าจะมีความสัมพันธ์กับเมืองพิมายและเมืองต่าง ๆ ที่ในเขตที่ราบสูงอีสานด้วย ต่อมาทับหลังชิ้นนี้ได้หายไป เหลือเพียงภาพถ่ายของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศิลปะขอมที่พบในเมืองศรีเทพยุคถัดมาคือศิลปะในช่วงบาปวน-นครวัด (บาปวนร่วมสมัยกับพิมาย) เช่น ทับหลังพระอุมามเหศวรในปรางค์สองพี่น้อง ศิลปะร่วมสมัยกับยุคบาปวน-นครวัด ทำให้ทราบได้ว่าเมืองศรีเทพเปิดรับศาสนาและความเชื่อจากทั่วทุกทิศ และยอมรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทุกนิกายให้สามารถเฟื่องฟูได้ในเมืองศรีเทพไปพร้อม ๆ กับพุทธศาสนาอีกหลาย ๆ นิกายเช่นเดียวกัน
สกุลช่างศรีเทพ
[แก้]ประติมากรรมรูปเคารพของเมืองศรีเทพมีความโดดเด่นแตกต่างจากประติมากรรมอื่นที่ร่วมสมัยในภูมิภาค โดยเฉพาะประติมากรรมสุริยเทพและเทวรูปอื่นในสกุลช่างศรีเทพ การพบประติมากรรมสุริยะเทพนี้มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และคติความเชื่อเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าครั้งหนึ่งชาวเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์และบูชาสุริยเทพเป็นเทพองค์สำคัญ อีกทั้งแสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ เพราะสุริยเทพเป็นเทพแห่งแสงสว่าง การเริ่มต้น ความรุ่งโรจน์หรือรุ่งเรืองตามคติความเชื่อของชาวอินเดียและชาวอารยัน[11] ในส่วนสกุลช่างศรีเทพในทางประติมากรรมนั้น หมายถึง เป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง (ไม่มีการค้ำยันบริเวณศีรษะกับแขนไว้ด้วยกันเพื่อป้องกันการหัก) มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย แสดงอาการเคลื่อนไหว[12]
การค้นพบ
[แก้]เมืองเก่าศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี"[13]: 23 [1] หรือ "เมืองไพศาลี"[14]: 280–281 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมื่อเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์[15]: 255 ครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2447–2448 และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" ตามชื่อเมืองที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สำรวจพบว่าเมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้[16]
หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้ขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478[17] และประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 กระทั่งใน พ.ศ. 2527 เมืองโบราณศรีเทพได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์ โดยการกำกับดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร
สถานที่สำคัญ
[แก้]กรมศิลปากรได้ดำเนินการ สำรวจ ขุดค้น ศึกษา และพัฒนาบรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุในเมืองศรีเทพตั้งแต่ พ.ศ. 2521[15]: 255 ได้ทำการบูรณะและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างให้มั่นคงถาวร และแบ่งพื้นที่สำคัญออกเป็นสองส่วน ได้แก่ เมืองใน และเมืองนอก
- เมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร (1,300 ไร่) ผังเมืองค่อนข้างกลม ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ พบโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 8-18) โบราณสถานที่สำคัญ อาทิ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่ และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง
- เมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 2.83 ตารางกิโลเมตร (1,589 ไร่) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน พบโบราณสถาน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก
นอกจาก เมืองใน และ เมืองนอก ยังพบโบราณสถานอีกกว่า 50 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ อาทิ เขาคลังนอก ปรางค์ฤๅษี กลุ่มเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว และเขาถมอรัตน์ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการฝังศพมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 - 17) และลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16 - 17) อีกด้วย[15]: 255
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ
[แก้]อยู่ห่างจากประตูทางเข้าเล็กน้อยทางด้านซ้ายมือ ศาลเจ้าพ่อศรีเทพไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3)
ปรางค์ศรีเทพ
[แก้]เป็นสถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมขอมโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17[13]: 106 หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก[1] แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมขอมทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17[1] ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย
สระแก้วสระขวัญ
[แก้]สระแก้วสระขวัญมีเนื้อประมาณ 10 ไร่ สระแก้วจะอยู่นอกเมืองไปทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน[18][19]
โบราณสถานเขาคลังใน
[แก้]เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า "เขาคลัง"[13]: 95 การก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14[13]: 83 [20]: 11 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดีมีลักษณะศิลปะแบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูบัว โบราณสถานบ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี จะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมือง ลักษณะทางผังเมืองจะคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่น ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัวที่ราชบุรี และจากรายละเอียดปูนปั้นบุคคลหรือลวดลาย แบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูคล้าย
ปรางค์สองพี่น้อง
[แก้]ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่[1] หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียวและจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู[13]: 97 ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17[13]: 97 [1] เป็นศิลปะขอม สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยบาปวน - นครวัด[21]: 39 [13]: 97 [1] และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระหว่างองค์ปรางค์ทั้งสองแห่งคือปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพจะมีกำแพงล้อมรอบ และมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย
เขาคลังนอก
[แก้]เขาคลังนอกเป็นมหาสถูปในวัฒนธรรมทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขุดสำรวจเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2555 มีลักษณะหลงเหลือเป็นสิ่งก่อสร้างสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร ใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลัก ๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร[22] แต่ละทิศมีเจดีย์เล็ก ๆ รายรอบ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้และชวากลางคล้ายบรมพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย
เขาถมอรัตน์และถ้ำ
[แก้]เขาถมอรัตน์ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกนอกของเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 17-20 กิโลเมตร[13]: 125 [23]: 57 เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ มีความสูง 584 เมตร[24] เป็นที่ตั้งของถ้ำถมอรัตน์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำหินปูนธรรมชาติ ถ้ำกว้าง 10 เมตร ลึกถึงก้นถ้ำ 23 เมตร เพดานถ้ำสูง 12 เมตรกลางถ้ำมีหินใหญ่เป็นแกนย้อนจากเพดานถ้ำลงมา[25]: 60 โดยพบประติมากรรมสลักนูนต่ำทางด้านตะวันออกของแกนมีสภาพไม่สมบูรณ์จากการถูกสกัดพระพักตร์และพระหัตถ์[25]: 60 ดังนี้ พระพุทธรูปประทับยืนบนฐานดอกบัว ปางแสดงธรรม พระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปปางสมาธิ ปางประทานพร ปางประทานอภัย (หรือปางเสด็จลงจากดาวดึงส์)[26]: 267 ปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ (วิตรรกะมุทรา) พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท (แบบยุโรป) ปางแสดงธรรม พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ พระพุทธรูปปางปรินิพพาน[27] รวมทั้งหมด 11 องค์เป็นศิลปะทวาราวดี ลักษณะของภาพแกะสลักนั้นคล้ายกับศิลปะขอมแบบกำแพงพระ คาดว่าสร้างตามคติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14[13]: 125 [28]
ราว พ.ศ. 2505 หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 3 กรมศิลปากรได้รับแจ้งว่ามีการทำลายและขโมยชิ้นส่วนของพระพุทธรูปแกะสลักไปจากถ้ำ ได้แก่พระเศียรและพระหัตถ์[25]: 60 ภายหลังสืบทราบว่าอยู่ภายใต้การครอบครองของนายจิม ทอมป์สัน[25]: 60 หลังเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เดินทางไปตรวจสอบก็พบว่าพระพุทธรูปจำหลักที่มีอยู่จำนวน 11 องค์ ถูกสกัดเอาเศียรและมือไปจนหาที่สมบูรณ์ไม่ได้ จึงเข้าแจ้งความต่อนายอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์[25]: 60 สุดท้ายหลังการต่อรองและเข้าเจรจาต่อหลายครั้งนายทอมป์สันยินยอมคืนสมบัติรวม 28 ชิ้นแก่กรมศิลปากร หนึ่งในนั้นคือเศียรพระโพธิสัตว์ศรีอารยเมตไตรย ซึ่งถูกโจรกรรมจากถ้ำเขาถมอรัตน์[25]: 70 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[25]: 70
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
[แก้]จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2531
โบราณสถานอื่น ๆ
[แก้]นอกจากโบราณสถานหลักแล้วยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ทิศใต้ของเขาคลังใน พบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง พบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงเห็นได้ว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดีและมีการสร้างสถาปัตยกรรมขอมในระยะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ไม่สำเร็จ และทางทิศตะวันตกของเขาคลังนอก พบกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นกำแพงอิฐล้อม ซึ่งกำลังดำเนินการขุดค้น ณ ต้นปี 2565[29] เป็นต้น
ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
-
จารึกโบราณสถานหมายเลข 0996 พบในพื้นที่เมืองโบราณฯ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เนื้อหากล่าวถึงหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนาเรื่อง โพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ[30]
-
ประติมากรรมพระสุริยะเมืองศรีเทพ สูงราว 42 เซนติเมตร เป็นเทวรูปศิลปะแบบอินเดียสมัยจักรวรรดิคุปตะในท่าประทับยืนตรง สวมหมวกทรงกระบอกสี่เหลี่ยม สวมกุณฑล [ตุ้มหู] ทรงกลมและกรวยศอ เบื้องหลังพระเศียรมีประภามณฑลทรงกลม พระกรทั้งสองข้างและพระบาทหัก มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10[31]
-
ปูนปั้นรูปคนแคระแบกที่เขาคลังใน เป็นรูปมารซึ่งใช้บ่าและท่อนแขนตอนบนค้ำจุนรองรับฐานเจดีย์[32]: 44
-
ปูนปั้นรูปช้างที่เขาคลังในไม่ทราบลักษณะ[32]: 48
-
ปูนปั้นรูปสิงห์ที่เขาคลังใน เป็นสิงห์ราวบันไดหรือสิงห์ประดับฐานสถาปัตยกรรม[32]: 48
การยกย่อง
[แก้]นประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Award) ประจำปี 2543 จำนวน 2 รางวัลคือ รางวัลประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยมและรางวัลสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านอินเทอร์เน็ตดีเด่น
รัฐบาลไทยได้เสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562
เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งมรดกโลก
[แก้]อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโก เป็นแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 4 ในประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments)[5] ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย[4] เนื่องจากผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์พิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้
- (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
- (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
การเดินทาง
[แก้]การเดินทาง เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 232 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ถนนคชเสนีย์ (สระบุรี-หล่มสัก)[13]: 13 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร[13]: 13 จะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี กรมศิลปากร[13]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 อารีรัตน์ งามขำ. (2558). "บทที่ ๔ วัฒนธรรมการสร้างปราสาทหิน: ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง", ใน เขมรัฐนคร. กรุงเทพฯ: วายุ. 466 หน้า.
- ↑ 2.0 2.1 The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments
- ↑ ‘ศรีเทพ’ สู่ ‘มรดกโลก’ แหล่งอารยธรรม 3 ยุค
- ↑ 4.0 4.1 "เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย กับ "จิ๊กซอว์" ประวัติศาสตร์ที่ถูกโจรกรรมไป". บีบีซีไทย. 19 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 5.0 5.1 "เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (แหล่งวัฒนธรรม)". สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2023-09-23. สืบค้นเมื่อ 2023-09-26 – โดยทาง ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกโลกในประเทศไทย.
- ↑ สำรวจ ‘ศรีเทพ’ เยือนมหาสถูปแห่งลุ่มน้ำป่าสัก พิสูจน์ศูนย์กลางทวารวดี?
- ↑ ทวารวดี : ‘ศรีเทพ’ ไม่ใช่‘นครปฐม’?
- ↑ ครม.เห็นชอบ เสนอเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลก
- ↑ เฟสบุค เพจ อนุสาร อ.ส.ท.
- ↑ จารึกบนพระพิมพ์พบที่เมืองศรีเทพ
- ↑ ประติมากรรมสุริยเทพ เมืองโบราณศรีเทพ
- ↑ รู้จัก “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ก่อนเป็นมรดกโลก
- ↑ 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 กรมศิลปากร, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี. (2550). อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. เก็บถาวร 2023-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗). 204 หน้า. ISBN 978-974-417-857-2
- ↑ กรมศิลปากร. (2516). ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร เก็บถาวร 2023-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 552 หน้า.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 กรมศิลปากร. (2549). นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. 400 หน้า. ISBN 978-974-4-25049-0
- ↑ ประวัติที่มาและความสำคัญ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร
- ↑ ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ. (๒๔๗๘, ๘ มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๕๒. หน้า ๓,๖๙๓.
- ↑ มนู นันทมนตรี. (2536). จดหมายจากเชียงราย: สิ่งน่ารู้ของเชียงรายและเมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา. 217 หน้า. หน้า 92.
- ↑ โมทยากร. (2514). นำเที่ยวแผ่นดินของไทย ๗๒ จังหวัด. กรุงเทพฯ: พิทยาคาร. 408 หน้า. หน้า 86.
- ↑ สันติ เล็กสุขุม. (2557). งานช่าง คำช่างโบราณ: ศัพท์ช่าง และข้อคิดเกี่ยวกับงานช่างศิลป์ไทย. พิมพิ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน. 283 หน้า. ISBN 978-974-0-21278-2
- ↑ กรมศิลปากร. (2548). วารสารศิลปากร, 48(4-6). (มิถุนายน - พฤศจิกายน 2548).
- ↑ เจาะเรื่องเขาคลังนอก…มหาสถูปเมืองศรีเทพ ข้อมูลจากปากคนในเมื่อครั้งอนุรักษ์พัฒนา
- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2537). ความยอกย้อนของอดีต: พิพิธนิพนธ์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี. กรุงเทพฯ: งานกราฟฟิค. 309 หน้า. ISBN 978-974-8-90108-4
- ↑ UNESCO World Heritage Centre. (2023). EXECUTIVE SUMMARY: The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments. pp 7–8. 22 September 2023. Retrieved 22 Sep 2023.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 25.5 25.6 กรมศิลปากร. (2511). วารสารศิลปากร, 12(3) เก็บถาวร 2023-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (กันยายน, 2511).
- ↑ นิคม มูสิกะคามะ. (2515). "อาณาจักรทวารวดี", ใน แผ่นดินไทยในอดีต เล่ม 1: เอกสารการค้นคว้าและวิจัยโบราณคดี. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 296 หน้า.
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2547, สิงหาคม). ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์. 296 หน้า. ISBN 974-7383-65-9
- ↑ โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์
- ↑ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. (2022, 25 กุมภาพันธ์). ภาพขณะดำเนินการขุดศึกษาเนินโบราณสถาน ค.น.9/2. [โพสต์และรูปภาพประกอบ]. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2565 จาก Facebook @อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
- ↑ จารึกโบราณสถานหมายเลข 0996 ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย
- ↑ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, สถาบันทักษิณคดีศึกษา. (2529). สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 6 พ.ศ. 2529. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. 2,574 หน้า.
- ↑ 32.0 32.1 32.2 สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. (2537). ศรีทวารวดีถึงศรีรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 414 หน้า. ISBN 974-7367-28-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ↑ ธิดา สาระยา. (2532). (ศรี) ทวารวดี: ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 279 หน้า.
- ↑ อาทร จันทวิมล. (2546). ประวัติของแผ่นดินไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อักษรไทย. 445 หน้า. ISBN 974-917-970-6