ปรางค์กู่ จังหวัดชัยภูมิ
ปรางค์กู่ชัยภูมิ | |
---|---|
Prangkhu | |
ที่ตั้ง | |
หมู่บ้านหนองบัว ถนนบรรณาการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ 15°48′24″N 102°02′40″E / 15.806619°N 102.044578°E |
ปรางค์กู่ เป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่ที่ถนนบรรณาการ บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ มีฐานสี่เหลี่ยม สร้างด้วยศิลาแลงวางซ้อนกันจากฐานถึงยอด ภายในบรรจุพระพุทธรูปดินเผา เชื่อกันว่าเป็นอโรยาศาล (โรงพยาบาล) ในสมัยก่อน
ประวัติ
[แก้]ปรางค์กู่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นอโรคยศาลา หรือโรงพยาบาลประจำชุมชน และมีการประดิษฐาน "พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา" เมื่อ พ.ศ. 1724–1761 หรือ พุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยอาณาจักรขอม ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยสร้างเป็นปรางค์ศิลาแลงทั้งหลัง มีประตูเข้าทางทิศตะวันออก มีกำแพงรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ภายในพระปรางค์กู่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นประดิษฐานอยู่ มีเศียรเทวดาอิทธิพลศิลปะขอม ทับหลังที่กรอบประตูสลักเป็นรูปไตรรัตนมหายาน มีความหมายถึงพระพุทธเจ้าทรงมีความรู้การแพทย์ ทำให้ประชาชนมีความสุขและไม่มีโรค
ปรางค์กู่มีแผนผังและลักษณะแบบเดียวกันกับอาคารที่เชื่อกันว่าเป็นอโรคยาศาล มีข้อความว่าให้อยู่ใต้พระบารมีของพระพุทธเจ้าผู้ทรงการแพทย์ คือ พระไภษชัยคุรุไวฑูรย์ประภา ผู้ประทานความสุขเกษมและความไม่มีโรคให้แก่ประชาชน ปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่สำคัญและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ และยังเป็นที่เคารพของคนในจังหวัดชัยภูมิเป็นอย่างสูงอีกด้วย
ลักษณะทั่วไป
[แก้]ปรางค์กู่เป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง ที่มีแผนผังและลักษณะเหมือนกับโบราณสถานที่ได้พบหลักฐานว่าเป็นอโรคยาศาล ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ก็คือ มีองค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ บรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมด้วยกำแพงซึ่งมีโคปุระเฉพาะด้านหน้าทั้งหมด ก่อด้วยอิฐศิลาแลงยกเว้นกรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง เสาประดับล้วนเป็นหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์มีสระน้ำ 1 สระ ยังคงสภาพสมบูรณ โดยเฉพาะองค์ประธานซึ่งมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านข้างทางซ้ายและขวาจำหลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร กับรูปนางปรัชญาปารมิตา ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกัน สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพเดียวกัน แต่ปัจจุบันลบเลือนมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือยังมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวาราวดี ขนาดสูง 1.75 เมตร หน้าตักกว้าง 7.5 เมตร ประดิษฐานอยู่ 1 องค์ ซึ่งเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
ส่วนประกอบต่าง ๆ ของโบราณสถาน
[แก้]- ซุ้มโคปุระ คือ ที่อยู่ของพาหนะของเทพเจ้าที่รักษาพระองค์ มีเทพประจำ 8 ทิศ
- ปรางค์ประธาน มีพระพุทธรูปปางสมาธิอยู่ด้านใน มีเศียรที่ทำการสร้างขึ้นมาใหม่
- บรรณาลัย เป็นที่เก็บยาอยู่ขวามือของโบราณสถาน มีแท่นรูปเคารพ (แท่นโยนี) อยู่ข้างใน
- กำแพงล้อมปรางค์และประตูซุ้มทางเข้า-ออก
- บ่อน้ำ
หลักฐานที่พบ
[แก้]ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์มีสระน้ำ 1 สระ ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะองค์ประธานซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสองด้านหน้ามีประตูทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์มี 3 ด้าน เป็นประตูหลอก จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเหนือกาล ซึ่อถือพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านข้างทางซ้ายและขวาจำหลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร กับรูปนางปรัชญาปารมิตาด้านหน้ามีทับหลังเช่นกัน สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพเดียวกัน แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือยังมีพระพุทธรูปศิลา ศิลปะแบบทวาราวดี ขนาดสูง 1.75 เมตร หน้าตักกว้าง 7.5 เมตร ประดิษฐานอยู่ 1 องค์ ซึ่งเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
ภาพสลักที่สำคัญของโบราณสถาน
[แก้]- ภาพพระโพธิสัตว์อวโรกิเตศวร 4 กร
- ปรางค์ประธานจะมีหน้ากาล ด้านบนสลักภาพพระพุทธรูปปรางค์สมาธิ
- ทัพหลังมุขด้านทิศเหนือของปราสาทประธาน สันนิษฐานว่าเป็นภาพพระรัตนไตรมหายาน
- ภาพพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกมามหาภิเนษกรมณ์ที่หน้าบันด้านทิศตะวันตกของบรรณาลัย
งานประจำปี
[แก้]จะจัดขึ้นเมื่อตรงกับ ขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยบริเวณที่จัดอยู่ ณ ลานกว้างรอบๆ องค์พระธาตุปรางค์กู่ ในงานจะมีทั้งมหรสพ แสง สี เสียง เครื่องเล่นต่างๆ เป็นต้น
การเดินทาง
[แก้]ตั้งอยู่ที่ถนนบรรณาการ บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเถอเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร จากจังหวัดชัยภูมิมาตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 1 กิโลเมตรจะมีทางแยกเลี้ยวขวาเข้าปรางค์กู่ตามทางหลวงหมายเลข 2158 เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร โดยจะเห็นวัดชื่อว่าวัดปรางค์กู่
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือประวัติชัยภูมิ
- หนังสือประวัติวัดปรางค์กู่