อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย | |
---|---|
Phimai Historical Park | |
ชาลาทางเดินและองค์ประธาน | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | ปราสาทหิน |
สถาปัตยกรรม | ขอมแบบบาปวน (ยุคแรก) ขอมแบบนครวัด (ยุคต่อเติม) |
เมือง | อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา |
ประเทศ | ประเทศไทย |
พิกัด | 15°12′5″N 102°30′27″E / 15.20139°N 102.50750°E |
เริ่มสร้าง | ราวพุทธศตวรรษที่ 16 (ผู้สร้าง พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1) |
ปรับปรุง | ราวพุทธศตวรรษที่ 17 (ผู้บูรณะ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7) |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
พื้นที่ | 115 ไร่ กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
เป็นที่รู้จักจาก | เป็นปราสาทหินที่มีปรางค์ประธานสูงที่สุดในประเทศไทย คือมีความสูงจากฐานสู่ยอด 28 เมตร[1] |
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นปราสาทหินทรงขอมโบราณแบบบาปวน ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยปราสาทหินในสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ และเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน ในเวลาต่อมา
ปราสาทหินพิมาย สร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์ และโลกมนุษย์ ลักษณะผังของปราสาทหินพิมายนั้นสร้างขึ้นคล้ายเขาพระสุเมรุ มีองค์ปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ใจกลางของเทวสถาน เป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์[2] ปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอพิมาย และจังหวัดนครราชสีมา[3]
ประวัติปราสาทพิมาย
[แก้]เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะขอม มีลักษณะเป็นเวียงสี่เหลี่ยม ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7[4]
เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยอาณาจักรสุโขทัย
ที่ตั้งปราสาทพิมาย
[แก้]ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล และอยู่ในจังหวัด นครราชสีมา อ.พิมาย บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมือง พระนคร เมืองหลวงในสมัยนั้นของอาณาจักรเขมร ซึ่งเข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้[5]
สิ่งก่อสร้างภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
[แก้]พลับพลา
[แก้]ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกกันว่า "คลังเงิน" จากตำแหน่งที่ตั้งสันนิษฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่าง ๆ จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด เป็นเหตุให้เรียกกันว่า "คลังเงิน"
สะพานนาคราช
[แก้]ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 4 ม. ยาว 31.70 ม. ยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินีถือสืบกันมาในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
[แก้]ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว อยุ่ในแนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ-ใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออก-ตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบของซุ้มประตูจะมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า
ชาลาทางเดิน
[แก้]ก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้
ซุ้มประตูและระเบียงคต
[แก้]เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคตมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูพบจารึกภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651–1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนามมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1
ปราสาทประธาน
[แก้]เป็นส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16–17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่น ๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ พื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร
ปรางค์หินแดง
[แก้]สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของปรางค์ประธาน มีมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ มีทับหลังหินทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ ตอนอรชุนล่าหมูป่า ส่วนกรอบประตูด้านอื่นคงเหลือร่องรอยเฉพาะเสาประดับกรอบประตูศิลปะแบบเขมรประดับอยู่
หอพราหมณ์
[แก้]เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับปรางค์หินแดง ในปี พ.ศ. 2493 ได้ค้นพบศิวลึงค์ สลักด้วยหินทรายจำนวน 7 ชิ้นอยู่ภายในหอพราหมณ์ เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้คงเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ แต่จากรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งเดิมคงเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยมากกว่า
ปรางค์พรหมทัต
[แก้]ลักษณะของปรางค์องค์นี้ สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ด้านหน้าของ สันนิษฐานว่าเป็นรูปจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปเป็นรูปสตรีนั่งคุกเข่าสลักด้วยหินทราย ส่วนศีรษะและแขนหักหายไป เชื่อกันว่าเป็นรูปของพระนางชัยราชเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย
บรรณาลัย
[แก้]ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่องรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัยคือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินทรายสีขาว". phanomrungpuri.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015.
- ↑ "ครอบครัวข่าว 3 พาเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย หรือ ปราสาทหินพิมาย พุทธสถานในนิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา". news.ch3thailand.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2019.
- ↑ "จัดเต็ม แสง สี เสียง ที่ปราสาทหินใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ในงาน 'เที่ยวพิมาย นครราชสีมา'". mgronline.com. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2019.
- ↑ "ปราสาทหินพิมาย". RakKorat.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มกราคม 2019. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2021.
- ↑ "อุทยานประวัติศาสตร์ ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย". สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย". กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กันยายน 2007.
- "หอมรดกไทย". tv5.co.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กันยายน 2006. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2006.
- "ปราสาทหินพิมาย อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009.
- "อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย Pimai Historical Park". 7 มกราคม 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2009.
- "เทศบาลตำบลพิมาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-23. สืบค้นเมื่อ 2022-04-25.