ข้ามไปเนื้อหา

ยาโคบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจคอป)
ยาโคบ
ยาโคบกำลังต่อสู้กับทูตสวรรค์ ภาพโดยแร็มบรันต์
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
บุตรลูกชายทั้ง 12 (เผ่าอิสราเอลทั้ง 12)
ดินาห์ (ลูกสาวคนเดียว)
ญาติอิสอัค (พ่อ)
รีเบคคา (แม่)
อับราฮัม (ปู่)
ซาราห์ (ย่า)
อิชมาเอล (ลุง)
อีเซา (พี่ชายฝาแฝด)
ราเชล (ลูกพี่ลูกน้อง, ภรรยา)
เลอาห์ (ลูกพี่ลูกน้อง, ภรรยา)

ยาโคบ เป็นบุตรคนที่สองของอิสอัคกับนางเรเบคาห์ มีพี่ชายฝาแฝดชื่อเอซาว แต่ทั้งสองแตกต่างกัน เอซาว ตัวแดงมีขนทั่วตัว เป็นนายพรานมือแม่น เป็นที่รักของอิสอัค ขณะที่ยาโคบ เป็นเด็กเงียบ ๆ อยู่กับบ้าน แต่เป็นที่รักของนางเรเบคาห์ ผู้เป็นแม่

สิทธิบุตรหัวปี

[แก้]

วันหนึ่ง ขณะที่ยาโคบต้มอาหารอยู่ อีเซากลับมาจากท้องทุ่งและหิวจัด จึงขออาหารจากยาโคบ ยาโคบจึงกล่าวว่า "ขายสิทธิบุตรหัวปีของพี่ให้ฉันก่อนซิ" อีเซาซึ่งกำลังหิวจัดจึงยอมสาบานมอบสิทธิบุตรหัวปีให้แก่ยาโคบ เพื่อแลกกับขนมปังและถั่วแดงต้ม ซึ่งถือได้ว่าอีเซา ได้ดูหมิ่นสิทธิบุตรหัวปี[1] ในสมัยก่อน สิทธิบุตรหัวปีมีความสำคัญ เพราะจะเป็นสิทธิในการรับมรดกทุกอย่างของผู้เป็นบิดา

คำอวยพรของอิสอัค

[แก้]
อิสอัคอวยพรแก่ยาโคบ ภาพโดย โกเวิร์ท ฟลินซ์

เมื่ออิสอัคแก่ตัวลง และตาของท่านก็ขุ่นมัว ท่านจึงเรียกอีเซาให้ไปพบ และบอกให้อีเซาออกไปล่าสัตว์เพื่อทำอาหารมาให้ เพื่ออิสอัคจะได้อวยพรเอซาวต่อหน้าพระเจ้า แต่นางเรเบคาห์ได้ยิน จึงเรียกยาโคบ และให้ยาโคบนำลูกแพะมาให้นางปรุงเป็นอาหาร และให้ยาโคบนำอาหารนั้นไปให้อิสอัครับประทาน โดยนางเรเบคาห์ ได้นำเสื้อผ้าของเอซาวที่นางมีให้ยาโคบสวมใส่ และนำหนังแพะห่อหุ้มมือ และคอของยาโคบไว้ แล้วยาโคบจึงนำอาหารเข้าไปให้อิสอัค แม้อิสอัคจะสงสัยเนื่องจากเสียงพูดที่แตกต่าง แต่ไม่สามารถจับผิดได้เนื่องจากสายตาที่ขุ่นมัว

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ท่านจึงอวยพรให้ยาโคบ ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าว่า "ขอให้ชนชาติทั้งหลายรับใช้เจ้า ขอให้ประชาชาติกราบไหว้เจ้า ขอให้เป็นเจ้านายเหนือพี่น้อง และบุตรชายมารดาเจ้ากราบไหว้เจ้า ผู้ใดสาปแช่งเจ้าก็ขอให้ผู้นั้นถูกสาป และผู้ใดอวยพรเจ้าก็ขอให้ผู้นั้นได้รับพร"[2]

เมื่ออีเซากลับมาจากล่าสัตว์ และเตรียมอาหารนำมาให้บิดา แต่ช้ากว่ายาโคบ จึงไม่ได้รับพรจากบิดา และต้องสูญเสียสิทธิในมรดกทั้งสิ้นของบิดาไป อีเซาจึงโกรธแค้นยาโคบ และวางแผนจะฆ่ายาโคบ ภายหลังจากที่บิดาเสียชีวิต นางเรเบคาห์ทราบเรื่อง จึงได้ส่งยาโคบไปอยู่กับ ลาบัน พี่ชายของนาง ที่เมืองปัดดานอารัม

ยาโคบรับใช้ลาบัน

[แก้]

เมื่อยาโคบเดินทางไปยังบ้านของลาบัน ลุงของตนเอง และยาโคบขอรับใช้ลาบัน เป็นเวลา 7 ปี เพื่อให้ได้ นางราเชล มาเป็นภรรยา ฝ่ายลาบันมีบุตรสาว 2 คน คือ เลอาห์ คนพี่ และ ราเชล คนน้อง รูปร่างสละสลวย และงามน่าดู เมื่อครบกำหนด 7 ปี ลาบันก็ยก เลอาห์ให้เป็นภรรยาของยาโคบ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีธรรมเนียมที่จะยกน้องสาวให้ก่อนพี่หัวปี และให้ครบ 7 วันก่อน จึงจะยกนางราเชลให้ แต่ยาโคบต้องยอมรับใช้ลาบันอีก 7 ปี[3]

เมื่อนางราเชล คลอดโยเซฟ บุตรชายคนที่ 11 ยาโคบก็ขอเดินทางกลับบ้านบิดา และต่อรองค่าจ้าง เป็นแพะ แกะ ที่มีจุด ด่าง และดำ ซึ่งยาโคบได้ใช้ภูมิปัญญาในการผสมพันธุ์แพะ และแกะ ที่เป็นจุด ด่าง และดำ จนมั่งมีมากขึ้น มีฝูงแพะ แกะฝูงใหญ่ ฝูงอูฐฝูงลา คนใช้ชายหญิง เป็นเหตุให้บุตรชายของลาบันไม่พอใจยาโคบมาก เมื่อพระเจ้าทรงสั่งให้ยาโคบกลับไปยังดินแดนของอับราฮัม ยาโคบจึงปรึกษากับ นางราเชล และนางเลอาห์ ซึ่งภรรยาทั้งสอง ก็ยินดีเดินทางไปกับยาโคบ ทั้งหมดจึงพากันเดินทางกลับไปยังเทือกเขากิเลอาด[4]

อิสราเอล

[แก้]

ที่เปนีเอล ริมฝั่งแม่น้ำยับบอก ยาโคบพักแรมจากการเดินทางกลับจากบ้านของลาบัน ระหว่างรอพบเอซาว พี่ชายฝาแฝดของตนเอง ในคืนนั้นมีชายคนหนึ่งมาปล้ำสู้กับยาโคบ ตั้งแต่ดึกจนรุ่งเช้า ก็ไม่ปรากฏผลแพ้ชนะ ชายผู้นั้นจึงแตะที่ข้อต่อสะโพกของยาโคบ และทำให้สะโพกของยาโคบนั้นเคล็ดไป และชายผู้นั้นจึงตั้งชื่อใหม่ให้แก่ยาโคบว่าอิสราเอล ซึ่งแปลว่า ผู้ปล้ำสู้กับพระเจ้า[5]

ยาโคบพบกับเอซาว

[แก้]

เมื่อยาโคบเดินทางกลับจากบ้านของลาบัน ขณะกลับเข้าบ้านเกิด ยาโคบได้ใช้ให้คนไปพบ เอซาว พี่ชายฝาแฝดของตนเพื่อแจ้งข่าว และระหว่างนั้นยาโคบได้แบ่งทรัพย์สมบัติของตนส่วนหนึ่งไว้ให้เป็นของขวัญแก่เอซาว

เอซาวได้นำคนสี่ร้อยคนออกมาต้อนรับยาโคบ และคืนดีกันในวันนั้นเอง เอซาวก็กลับเข้าไปพักอยู่เมืองเสอีร์ ส่วนยาโคบกับครอบครัวพักอยู่ที่สุคคท ต่อมาจึงได้ย้ายไปยังเบธเอล เอฟราธาห์ (เบธเลเฮม) และคีริยาทอารบาเป็นลำดับ ขณะเดินทางจากเบธเอลไปยังเมืองเอฟราธาห์ นางราเชลก็เจ็บท้องคลอดบุตรชายคนสุดท้องชื่อ เบนยามิน แล้วเสียชีวิตลง[6]

บุตรของยาโคบ

[แก้]
  • บุตรที่เกิดจากนางเลอาห์ : รูเบน, สิเมโอน, เลวี, ยูดาห์, อิสสาคาร์, เศบูลุน (และดีนาห์ ผู้เป็นบุตรี)
  • บุตรที่เกิดจากนางบิลฮาห์: ดาน และ นัฟทาลี
  • บุตรที่เกิดจากนางศิลปาห์: กาด และ อาเชอร์
  • บุตรที่เกิดจากนางราเชล: โยเซฟ และเบนยามิน

บุตรของยาโคบทั้งหมด ยกเว้นเบนยามิน เกิดที่เมืองปัดดานอารัม บ้านของลาบัน ลุงของยาโคบนั่นเอง ส่วนเบนยามินนั้น เกิดที่เมืองเอฟราธาห์ และเป็นบุตรชายคนสุดท้องของยาโคบ

ยาโคบได้ไปใช้บั้นปลายชีวิตที่ประเทศอียิปต์ ด้วยเกิดเหตุภัยแล้งยาวนาน และโยเซฟบุตรชายของเขาได้เป็นผู้ปกครองอียิปต์ และยาโคบได้เข้าเฝ้าฟาโรห์แห่งอียิปต์เมื่อมีอายุได้ 130 ปี เมื่อยาโคบอายุได้ 147 ปี ก็เสียชีวิต ก่อนเสียชีวิต ยาโคบได้เรียกโยเซฟมาสั่งเสียว่า "อย่าฝังศพเราไว้ในอียิปต์[7] เมื่อยาโคบเสียชีวิต โยเซฟก็ได้ให้พวกหมออาบศพบิดาใช้เวลาทั้งสิ้น 40 วัน และชาวอียิปต์ก็ไว้ทุกข์ให้ยาโคบเป็นเวลา 70 วัน แล้วโยเซฟก็นำศพของบิดาไปฝังรวมกับบรรพบุรุษ ในถ้ำที่มัคเปลาห์ แผ่นดินคานาอันตามคำสั่งของบิดา[8]

บุตรของยาโคบ ตามชื่อภรรยา (ญ = บุตรสาว)
(ตัวเลขในวงเล็บคือลำดับของการเกิด)
เลอาห์ รูเบน (Reuben) (1) สิเมโอน (Simeon) (2) เลวี (Levi) (3) ดีนาห์ (Dinah) (ญ)
ยูดาห์ (Judah) (4) อิสสาคาร์ (Issachar) (9) เศบูลุน (Zebulun) (10)
ราเชล โยเซฟ (Joseph) (11) เบนยามิน (Benjamin) (12)
เอฟราอิม บุตรโยเซฟ (11.1) มนัสเสห์ บุตรโยเซฟ (11.2)
บิลลาห์
(สาวใช้นางราเชล)
ดาน (Dan) (5) นัฟทาลี (Naphtali) (6)
ศิลปาห์
(สาวใช้นางเลอาห์)
กาด (Gad) (7) อาเชอร์ (Asher) (8)


ในศาสนาอิสลาม

[แก้]

ยาโคบ (อาหรับ: يعقوب, อักษรโรมัน: Ya’qūb อ่านว่า ยะอ์กูบ) เป็นหนึ่งในบรรดานบี 25 ท่าน ซึ่งถูกกล่าวในคัมภีร์กุรอานของอิสลาม เป็นบุตรชายของนบีอิสหาก (อิสอัค) ซึ่งเป็นหลานชายของนบีอิบรอฮีม (อับราฮัม)[9] ท่านได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า อิสรออีล (อิสราเอล)[10] ซึ่งมาจากภาษาฮีบรู (ฮีบรู: ישראל, ยิสราเอล, แอราเมอิก: ܐܝܣܪܐܝܠ, ยิสรออีล อาหรับ: إسراءيل หรือ إسرائيل, อิสรออีล แปลว่า บ่าวของอัลลอฮ์, ผู้ที่อัลลอฮ์ทรงเลือก, พลังแห่งศรัทธา) โดยอัลลอฮ์ทรงมอบชื่อนี้ให้ท่านระหว่างที่ท่านกำลังเดินทางจากเมืองฮัรรอน ในประเทศตุรกีปัจจุบัน สู่เมืองอัลเคาะลีล ในรัฐปาเลสไตน์ ท่านถูกกล่าวในคัมภีร์กุรอาน 16 ครั้ง บุตรชาย 12 คนของท่านถูกเรียกว่า อัลอัสบาฏ บุตรของท่านคนหนึ่งนามว่า ยูซุฟ หรือ โยเซฟ ได้เป็นนบีและเราะสูล และเป็นอัลอะซีซ (ผู้ทรงเดชานุภาพ) แห่งอียิปต์

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือปฐมกาล บทที่ 25 ข้อที่ 27-34
  2. หนังสือปฐมกาล บทที่ 27 ข้อ 1-40
  3. หนังสือปฐมกาล บทที่ 29 ข้อที่ 1-30
  4. หนังสือปฐมกาล บทที่ 30-31
  5. หนังสือปฐมกาล บทที่ 32 ข้อที่ 22-32
  6. หนังสือปฐมกาล บทที่ 32, 33 และ 35
  7. หนังสือปฐมกาล บทที่ 47 ข้อที่ 29-31
  8. หนังสือปฐมกาล บทที่ 49 และ 50
  9. อัลกุรอาน 37:111-112
  10. Qai'm, Mahdi Muntazir (2007). Jesus Through the Qur'an and Shi'ite Narrations (Bilingual ed.). Queens, New York: Tahrike Tarsile Qur'an. p. 26. ISBN 978-1879402140.

ดูเพิ่ม

[แก้]