ข้ามไปเนื้อหา

ส่วนกลางของกระดูกอัลนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนกลางของกระดูกอัลนา
(Body of ulna)
มุมมองด้านหน้าของกระดูกปลายแขนข้างซ้าย
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินcorpus ulnae
TA98A02.4.06.007
TA21237
FMA33760
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก

ส่วนกลางของกระดูกอัลนา หรือ ตัวกระดูกอัลนา ส่วนบนมีลักษณะคล้ายแท่งปริซึมสามเหลี่ยม และโค้งนูนด้านหลังและทางด้านข้าง ส่วนกลางมีลักษณะตรง และส่วนล่างมีลักษณะกลม เรียบ และโค้งงอไปทางด้านข้างเล็กน้อย กระดูกนี้มีลักษณะเรียวลงจากด้านบนลงด้านล่าง ส่วนกลางของกระดูกอัลนาประกอบด้วยพื้นผิวสามด้าน และขอบสามขอบ ซึ่งจะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ

ขอบกระดูก

[แก้]

ขอบด้านฝ่ามือ (volar border) หรือ ขอบด้านหน้า (anterior border) (ละติน: margo volaris) ด้านบนเริ่มจากมุมด้านใกล้กลางของโคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process) และสิ้นสุดด้านล่างที่ด้านหน้าของสไตลอยด์ โพรเซส (styloid process) ส่วนบนซึ่งมีลักษณะเป็นขอบแหลมเด่นชัด และส่วนกลางซึ่งมีลักษณะเรียบและกลมเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส (flexor digitorum profundus) ส่วนล่าง 1/4 เป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ ควอดราตัส (pronator quadratus) ขอบด้านฝ่ามือนี้ทำหน้าที่แบ่งพื้นผิวด้านฝ่ามือและพื้นผิวด้านใกล้กลางของกระดูกอัลนา

ขอบด้านหลัง (dorsal border หรือ posterior border) (ละติน: margo dorsalis) ด้านบนเริ่มจากยอดพื้นผิวรูปสามเหลี่ยมที่ด้านหลังของโอเลครานอน (olecranon) และสิ้นสุดด้านล่างที่ด้านหลังของสไตลอยด์ โพรเซส ด้านบน 3/4 มีลักษณะเป็นสันเด่นชัดซึ่งเป็นจุดเกาะของเอ็นแผ่ (aponeurosis) ซึ่งให้เป็นจุดเกาะต้นร่วมของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (flexor carpi ulnaris) , กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (extensor carpi ulnaris) , และกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส (flexor digitorum profundus) ส่วนด้านล่าง 1/4 มีลักษณะเรียบและกลม ขอบด้านหลังมือนี้ทำหน้าที่แบ่งพื้นผิวด้านใกล้กลางและพื้นผิวด้านหลังของกระดูกอัลนา

สัน หรือขอบด้านเยื่อระหว่างกระดูก หรือ ขอบด้านนอก (interosseuous border or crest หรือ external border) (ละติน: crista interossea) ด้านบนเกิดจากการบรรจบกันของเส้น 2 เส้นซึ่งเป็นส่วนปลายของรอยเว้าเรเดียส (radial notch) ซึ่งเส้นทั้งสองนี้อยู่รอบด้านข้างของที่ว่างรูปสามเหลี่ยมอันเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์ (Supinator) ด้านล่างสิ้นสุดลงที่ปุ่มหัวกระดูกอัลนา (head of the ulna) ส่วนบนของขอบด้านนี้มีลักษณะแหลม ส่วนล่าง 1/4 มีลักษณะเรียบและกลม สันดังกล่าวให้เป็นจุดเกาะของเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก (interosseous membrane) สันนี้ทำหน้าที่แบ่งพื้นผิวด้านฝ่ามือและพื้นผิวด้านหลังมือของกระดูกอัลนา

พื้นผิว

[แก้]

พื้นผิวด้านฝ่ามือ (volar surface) หรือ พื้นผิวด้านหน้า (anterior surface) (ละติน: facies volaris) ส่วนบนมีลักษณะกว้างกว่าส่วนล่าง ด้านบน 3/4 มีลักษณะเว้าและเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส (flexor digitorum profundus) ด้านล่าง 1/4 มีลักษณะเว้าถูกปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ ควอดราตัส (pronator quadratus) ระหว่างด้านบน 3/4 และด้านล่าง 1/4 ถูกแบ่งด้วยสันซึ่งวิ่งในแนวเฉียงไปด้านล่างและด้านใกล้กลาง ซึ่งเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ ควอดราตัส ที่รอยต่อระหว่างด้านบน 1/3 และส่วนกลาง 1/3 ของกระดูกนี้มีช่องสารอาหาร (nutrient canal) ซึ่งวิ่งในแนวเฉียงขึ้น

พื้นผิวด้านหลัง (dorsal surface หรือ posterior surface) (ละติน: facies dorsalis) มีทิศทางไปทางด้านหลังและด้านข้าง ด้านบนมีลักษณะกว้างและเว้า ตรงกลางนูนและบางครั้งคอดเข้า ส่วนด้านล่างแคบ เรียบ และกลม บริเวณส่วนบนมีสันเฉียงวิ่งจากปลายด้านหลังของรอยเว้าเรเดียส (radial notch) ลงมายังขอบด้านหลัง (dorsal border) โดยพื้นผิวรูปสามเหลี่ยมเหนือสันนี้เป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อแอนโคเนียส (Anconæus) ในขณะที่ส่วนบนของสันนี้เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์ ส่วนล่างของพื้นผิวนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยสันแนวนอน (บางครั้งอาจเรียกว่า เส้นตั้งฉาก (perpendicular line)) ได้แก่ ส่วนใกล้กลางมีลักษณะเรียบ ปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (extensor carpi ulnaris) และส่วนด้านข้างซึ่งมีลักษณะกว้างและขรุขระกว่า เป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อต่างๆ เรียงจากด้านบนลงล่างดังนี้ กล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์, กล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส ลองกัส (abductor pollicis longus) , กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ พอลิซิส ลองกัส (extensor pollicis longus) และกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ อินดิซิส (extensor indicis proprius)

พื้นผิวด้านใกล้กลาง (medial surface) หรือ พื้นผิวด้านใน (internal surface) (ละติน: facies medialis) ด้านบนมีลักษณะกว้างและเว้า ด้านล่างมีลักษณะแคบและนูน ส่วนบน 3/4 เป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส แต่ส่วนล่างอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง

ภาพอื่นๆ

[แก้]