กระดูกสะบัก
กระดูกสะบัก (scapula) | |
---|---|
พื้นผิวด้านหน้าของกระดูกสะบักข้างซ้าย | |
พื้นผิวด้านหลังของกระดูกสะบักด้านซ้าย | |
ตัวระบุ | |
MeSH | D012540 |
TA98 | A02.4.01.001 |
TA2 | 1143 |
FMA | 13394 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก |
ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ กระดูกสะบัก (อังกฤษ: scapula) เป็นกระดูกแบบแบน (flat bone) ชิ้นหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกส่วนไหล่ (shoulder girdle) โดยมีส่วนที่ติดต่อกับกระดูกไหปลาร้า (clavicle) และกระดูกต้นแขน (humerus) นอกจากนี้ยังเป็นที่ยึดเกาะของเอ็นเพื่อประกอบเป็นข้อต่อไหล่ (shoulder joint) และมีกล้ามเนื้อหลายมัดที่มีพื้นผิวบนกระดูกสะบักเป็นจุดเกาะต้น (origin) และจุดเกาะปลาย (insertion) อีกด้วย ดังนั้นกระดูกสะบักจึงเป็นกระดูกที่มีความสำคัญยิ่งในการเคลื่อนไหวของแขนรอบข้อต่อไหล่
ลักษณะทางกายวิภาคทั่วไป
[แก้]กระดูกสะบักเป็นกระดูกที่เป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีขอบด้านข้างแบนราบ ดังนั้นบนกระดูกนี้จึงมีพื้นผิวสองด้าน ขอบสามด้าน และมุมสามด้าน ซึ่งได้แก่
- พื้นผิวด้านหน้า (Costal/Anterior surface)
- พื้นผิวด้านหลัง (Dorsal surface)
- ขอบด้านบน (Superior border)
- ขอบด้านข้าง (Lateral/Axillary border)
- ขอบแนวกลาง (Medial/Vertebral border)
- มุมด้านบน (Superior angle)
- มุมด้านข้าง (Lateral angle)
- มุมด้านล่าง (Inferior angle)
ที่มุมด้านข้างของกระดูกสะบัก จะพบรอยบุ๋มขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกว่า แอ่งกลีนอยด์ (glenoid fossa) ซึ่งแอ่งนี้ทำหน้าที่เป็นเบ้าให้กับส่วนหัวของกระดูกต้นแขน เพื่อประกอบเป็นข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (glenohumeral joint) ซึ่งเป็นข้อต่อหลักของการเคลื่อนไหวของส่วนต้นแขน เหนือและใต้ต่อแอ่งนี้จะมีปุ่มเล็กๆ ชื่อว่า ปุ่มเหนือแอ่งกลีนอยด์ (supraglenoid tubercle) และปุ่มใต้แอ่งกลีนอยด์ (infraglenoid tubercle) ซึ่งก็จะเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อของต้นแขน
พื้นผิวและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องของกระดูกสะบัก
[แก้]พื้นผิวบนกระดูกสะบักจะมีสองด้าน คือพื้นผิวด้านหน้าและพื้นผิวด้านหลัง ทั้งสองพื้นผิวจะมีกล้ามเนื้อต่างๆ ทั้งของส่วนหลัง ไหล่ และแขนเข้ามายึดเกาะมากมาย
พื้นผิวด้านหน้า
[แก้]พื้นผิวด้านหน้า (Costal/Anterior surface) เป็นด้านของกระดูกสะบักที่หันไปทางด้านกระดูกซี่โครง จะมีลักษณะเป็นแอ่งขนาดใหญ่ แอ่งนี้เรียกว่าแอ่งใต้กระดูกสะบัก (subscapularis fossa) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอ่งนี้จะเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อใต้กระดูกสะบัก (subscapularis muscle) นอกจากนี้ ที่มุมด้านล่างของพื้นผิวด้านหน้ายังเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเซอร์ราตัส แอนทีเรียร์ (Serratus anterior) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีจุดเกาะปลายที่กระดูกซี่โครง ดังนั้นจึงช่วยในการเคลื่อนไหวของช่องอกขณะหายใจ นอกจากนี้ยังช่วยดึงกระดูกสะบักไม่ให้เอียงไปทางด้านหลังมากเกินไปอีกด้วย
พื้นผิวด้านหลัง
[แก้]พื้นผิวด้านหลัง (Dorsal surface) จะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยแนวยื่นของกระดูกซึ่งเรียกว่า แนวสันกระดูกสะบัก (scapular spine) ซึ่งจะมีจุดที่กระดูกยื่นออกมามากที่สุด เรียกว่า ทูเบอร์ สแคปูลี (tuber scapulae) ซึ่งจุดนี้จะอยู่เยื้องมาทางด้านแนวข้างของแนวสันกระดูกสะบัก ปลายสุดของแนวสันนี้จะมีลักษณะยื่นออกไปเป็นพิเศษ ซึ่งเรียกว่า อโครเมียน (acromion) นอกจากนี้ ยังมีส่วนของกระดูกที่ยื่นออกมาจากขอบทางด้านข้าง (lateral border) ของกระดูกสะบัก และงอคล้ายตะขอ ซึ่งเรียกว่า โคราคอยด์ โพรเซส (coracoid process) ทั้งอโครเมียนและโคราคอยด์ โพรเซส เป็นจุดเกาะที่สำคัญของกล้ามเนื้อและเอ็นที่เป็นส่วนประกอบของไหล่ แนวสันของกระดูกสะบักบนพื้นผิวด้านหลังนี้ จะแบ่งบริเวณด้านหลังของกระดูกสะบักออกเป็นสองแอ่ง ได้แก่
- แอ่งเหนือแนวสันกระดูกสะบัก (supraspinous fossa) เป็นแอ่งขนาดเล็ก พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อซุปปราสไปนาตัส (supraspinatus muscle) นอกจากนี้ที่ขอบด้านบนเหนือแอ่งนี้ จะมีรอยเว้าเล็กๆ ซึ่งเรียกว่า รอยเว้าเหนือแนวสันกระดูกสะบัก (supraspinous notch) ซึ่งจะเป็นทางผ่านของหลอดเลือดซุปปราสไปนาตัส (supraspinatus artery) และเส้นประสาทเหนือกระดูกสะบัก (suprascapular nerve) ซึ่งมาเลี้ยงกล้ามเนื้อดังกล่าว
- แอ่งใต้แนวสันกระดูกสะบัก (infraspinous fossa) เป็นแอ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าและเว้าเข้าไปทางด้านหน้ามากกว่า พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้ออินฟราสไปนาตัส (infraspinatus muscle) ขณะที่ขอบทางด้านข้างของแอ่งนี้จะเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้ออีกสองมัด คือกล้ามเนื้อเทเรส เมเจอร์ (teres major muscle) และกล้ามเนื้อเทเรส ไมเนอร์ (teres minor muscle) กล้ามเนื้อทั้งสองนี้มีหน้าที่หลักในการเคลื่อนไหวของแขนเข้าหาลำตัว หรือการหุบแขน (arm adduction) นั่นเอง นอกจากนี้ ขอบทางด้านแนวกลางของแอ่งนี้ยังเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อจากส่วนหลัง ซึ่งได้แก่ กล้ามเนื้อรอมบอยด์ เมเจอร์ (rhomboid major muscle) และกล้ามเนื้อรอมบอยด์ ไมเนอร์ (rhomboid minor muscle) อีกด้วย
บนแนวสันกระดูกสะบักก็ยังมีจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเดลทอยด์ (deltoid muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหลักของไหล่ ขณะเดียวกันก็มีจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อทราพีเซียส (trapezius muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อจากบริเวณหลัง และช่วยในการยกไหล่
รูปประกอบเพิ่มเติม
[แก้]-
ภาพถ่ายพื้นผิวด้านหน้าของกระดูกสะบักข้างซ้าย
-
ภาพถ่ายพื้นผิวด้านหลังของกระดูกสะบักข้างซ้าย
-
ด้านหน้าของกระดูกส่วนไหล่
-
ภาพวาดแสดงส่วนประกอบของข้อต่อไหล่ของมนุษย์
-
ภาพวาดแสดงส่วนประกอบของข้อต่อไหล่ของมนุษย์
-
กล้ามเนื้อของพื้นผิวด้านหลังของกระดูกสะบัก และด้านหลังของต้นแขน
-
มุมมองทางด้านข้างของกระดูกสะบักด้านซ้าย
-
กระดูกสะบักและระบบหลอดเลือดแดงในบริเวณใกล้เคียง
-
มุมมองด้านข้างของกระดูกส่วนอกและไหล่ จะเห็นกระดูกสะบักที่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง
อ้างอิง
[แก้]- Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
- Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.