ข้ามไปเนื้อหา

กระดูกฝ่ามือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระดูกมือข้างซ้าย มุมมองจากด้านหลังมือ

ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ กระดูกฝ่ามือ (อังกฤษ: Metacarpal bones/Metacarpus) เป็นกลุ่มของกระดูกมือที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกข้อมือ (Carpus) และกระดูกนิ้วมือ (Phalanges) โดยจะมีจำนวน 5 ชิ้น เพื่อรองรับกระดูกนิ้วมือทั้ง 5

ลักษณะทั่วไปของกระดูกฝ่ามือ

[แก้]

กระดูกฝ่ามือแต่ละชิ้นจะมีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยจะมีลักษณะเป็นกระดูกแบบยาว ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนหัวกระดูก (head/distal extremity) ซึ่งอยู่ทางปลายด้านนิ้วมือ ส่วนกลางกระดูก (body) และส่วนฐานกระดูก (base/carpal extremity) ที่อยู่ติดกับกระดูกข้อมือ

ส่วนฐานกระดูก

[แก้]

ส่วนฐานของกระดูกนิ้วมือจะมีลักษณะหนาตัวขึ้นจนมีรูปร่างคล้ายลูกบาศก์ และจะแบนออกทางด้านหลังมือ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การงอมือไปทางด้านหลังมือมีองศาที่น้อยกว่าการงอมือไปทางด้านฝ่ามือ ปลายด้านนี้จะติดต่อกับกระดูกข้อมือในแถวหลัง และยังมีบางส่วนที่ติดต่อกับกระดูกฝ่ามือที่อยู่ติดกัน

ส่วนกลางกระดูก

[แก้]

ส่วนกลางของกระดูกฝ่ามือจะมีลักษณะคล้ายปริซึม และมีความโค้งนูนออกไปทางด้านหลังมือเล็กน้อย พื้นผิวทางด้านแนวข้างของส่วนกลางของกระดูกจะเป็นจุดเกาะของกลุ่มกล้ามเนื้ออินเตอร์ออสเซียสด้านฝ่ามือ (Palmar interosseus muscles) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ยึดกระดูกฝ่ามือแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ส่วนพื้นผิวทางด้านหลังมือจะมีเอ็นจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยืดมือวางพาดอยู่ และยังมีแนวจุดเกาะของกล้ามเนื้ออินเตอร์ออสเซียสด้านหลังมือ (Dorsal interosseus muscles) อีกด้วย

ส่วนหัวกระดูก

[แก้]

ส่วนหัวของกระดูกฝ่ามือจะมีลักษณะเว้าเข้ามาเล็กน้อยและแบนออกด้านข้างเพื่อรองรับกับกระดูกนิ้วมือส่วนต้น (Proximal phalanges) ทางด้านข้างของด้านหัวกระดูกนี้จะนูนออกมาเล็กน้อยเพื่อเป็นจุดเกาะของเอ็นรอบข้อต่อระหว่างฝ่ามือกับนิ้วมือ (Metacarpophalangeal joints)

กายวิภาคของกระดูกฝ่ามือแต่ละชิ้น

[แก้]

ในการระบุชื่อของกระดูกฝ่ามือแต่ละชิ้น จะเริ่มนับจากกระดูกฝ่ามือที่อยู่ด้านนิ้วหัวแม่มือเป็นชิ้นที่ 1 จนถึงด้านนิ้วก้อยเป็นชิ้นที่ 5

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1 (Metacarpus I)

[แก้]
กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1 เป็นกระดูกที่รองรับนิ้วหัวแม่มือ โดยลักษณะสำคัญคือจะสั้นและกว้างกว่ากระดูกฝ่ามือชิ้นอื่นเล็กน้อย และมีความโค้งเข้าหาตัวฝ่ามือ ขอบทางด้านข้างจะเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อออพโพเนนส์ พอลิซิส (Opponens pollicis muscle) ขณะที่ขอบทางด้านที่ติดกับนิ้วชี้จะให้เป็นจุดเกาะด้านหนึ่งของกล้ามเนื้ออินเตอร์ออสเซียสด้านหลังมือ (Dorsal interosseus muscles) ที่ยึดระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ทางด้านฐานกระดูกจะเป็นรอยเว้าที่รองรับกับกระดูกทราพีเซียม ขณะที่ทางด้านหัวกระดูกจะมีลักษณะโค้งนูนน้อยกว่ากระดูกฝ่ามือชิ้นอื่น และมีความกว้างในทางด้านข้างมากกว่า

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2 (Metacarpus II)

[แก้]
กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2 เป็นกระดูกที่รองรับนิ้วชี้ ซึ่งมีความยาวที่สุดในบรรดากระดูกฝ่ามือ ที่ด้านฐานกระดูกจะมีรอยเล็กๆซึ่งเป็นจุดเกาะกับกระดูกข้อมือที่อยู่ถัดลงไป ได้แก่ กระดูกทราพีเซียม กระดูกทราพีซอยด์ และกระดูกแคปปิเตต และยังมีรอยที่ติดต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 3 ที่พื้นผิวด้านหลังมือของกระดูกชิ้นนี้ จะเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ เรเดียลิส ลองกัส (Extensor carpi radialis longus muscle) ส่วนทางด้านตรงข้ามคือด้านฝ่ามือ จะเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ คาร์ไพ เรเดียลิส (Flexor carpi radialis muscle) กล้ามเนื้อทั้งสองนี้จะทำงานตรงกันข้ามกันในการเคลื่อนไหวของฝ่ามือ

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 3 (Metacarpus III)

[แก้]
กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 3

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 3 จะรองรับนิ้วกลาง และมีขนาดเล็กกว่ากระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2 เล็กน้อย ที่พื้นผิวด้านหลังมือของฐานของกระดูกนี้จะมีส่วนที่ยื่นลงมาประกอบกับกระดูกแคปปิเตต และจะมีจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ เรเดียลิส เบรวิส (Extensor carpi radialis brevis muscle) นอกจากนี้ที่บริเวณฐานของกระดูกจะมีรอยต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2 และ 4 ด้วย

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 (Metacarpus IV)

[แก้]
กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 เป็นกระดูกที่รองรับนิ้วนาง ที่ฐานของกระดูกจะมีรอยต่อกับกระดูกแคปปิเตต และกระดูกฮาเมต และยังมีรอยต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 3 และ 5 ด้วย

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 5 (Metacarpus V)

[แก้]
กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 5

กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 5 เป็นกระดูกที่รองรับนิ้วก้อย โดยที่ฐานของกระดูกจะมีรอยต่อขนาดใหญ่กับกระดูกฮาเมตและกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 ทางด้านข้างของกระดูกจะมีปุ่มที่เป็นจุดเกาะปลายของ กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (Extensor carpi ulnaris muscle)

รูปประกอบเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.