ข้ามไปเนื้อหา

กระดูกไหปลาร้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระดูกไหปลาร้า
(Clavicle)
ภาพวาดกระดูกไหปลาร้าด้านซ้าย แสดงจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็น มุมมองจากด้านบน (รูปบน)
ภาพวาดกระดูกไหปลาร้าด้านซ้าย แสดงจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็น มุมมองจากด้านล่าง (รูปล่าง)
ตัวระบุ
MeSHD002968
TA98A02.4.02.001
TA21168
FMA13321
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก

ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ กระดูกไหปลาร้า (อังกฤษ: Clavicle) เป็นกระดูกแบบยาว (long bone) ชิ้นหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกส่วนไหล่ (shoulder girdle) ชื่อของกระดูกไหปลาร้าในภาษาอังกฤษ Clavicle เป็นคำที่มาจากภาษาลาติน clavicula ซึ่งแปลว่า กุญแจเล็กๆ เนื่องจากกระดูกชิ้นนี้จะมีการหมุนรอบแกน ในแนวนอนคล้ายกับการไขกุญแจ ขณะที่แขนกางออก กระดูกไหปลาร้ายังเป็นกระดูกที่สามารถมองเห็น แนวของกระดูกได้จากภายนอกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเพศหญิงซึ่งมีไขมันในบริเวณรอบๆกระดูกน้อยกว่า

นอกจากในมนุษย์แล้ว กระดูกไหปลาร้ายังพบในสัตว์สี่ขา (tetrapods) ชนิดอื่นๆ แต่อาจมีรูปร่างเล็กกว่าหรืออาจไม่พบเลย กระดูกไหปลาร้าจะเจริญในสัตว์ที่ใช้ส่วนรยางค์หน้าในการหยิบจับ แต่จะไม่เจริญมากนักในสัตว์ที่ใช้รยางค์หน้าในการรองรับน้ำหนักหรือการวิ่ง

กระดูกไหปลาร้าเปรียบเสมือนไม้ค้ำ ประคองแขนทั้งสองข้างไว้ ทำให้แขนสามารถเคลื่อนไหว ได้อย่างเป็นอิสระอยู่บนลำตัว

กระดูกชิ้นนี้อยู่ในตำแหน่ง ที่ง่ายต่อการกระแทก บาดเจ็บ และรับแรงกระแทกที่ส่งผ่านมาจาก แขนไปสู่ลำตัว กระดูกไหปลาร้าจึงเป็นกระดูกชิ้นที่หักบ่อยที่สุดในร่างกาย โดยมักจะหักเนื่องจาก ล้มหรือตกจากที่สูง โดยลงกระแทกบริเวณไหล่ หรือกระแทกในท่าแขนที่เหยียดออก แรงจะส่งผ่านไปตามแขน ไหล่ ไปสู่กระดูกไหปลาร้า และจะหักในส่วนที่อ่อนแอที่สุด (คือรอยต่อระหว่าง 1/3กลาง กับ 1/3ด้านนอก) หลังจากหักจะถูกกล้ามเนื้อและน้ำหนักของแขนดึงให้ผิดรูปไป

กายวิภาคศาสตร์

[แก้]

กระดูกไหปลาร้าด้านขวา มุมมองจากด้านบน (รูปบน) และมุมมองจากด้านล่าง (รูปล่าง)

ลักษณะทั่วไป

[แก้]

กระดูกไหปลาร้าเป็นกระดูกแบบยาวที่มีแนวโค้งสองแนว ทำให้มีรูปร่างคล้ายตัว S และเชื่อมระหว่างส่วนลำตัวและส่วนแขนของร่างกาย เราจึงแบ่งส่วนของกระดูกไหปลาร้าได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ตามปลายทั้งสองด้านของกระดูก ได้แก่

พื้นผิวและจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็น

[แก้]

พื้นผิวบนกระดูกไหปลาร้าที่สำคัญได้แก่พื้นผิวทางด้านบน (superior surface) พื้นผิวทางด้านล่าง (inferior surface) ขอบด้านหน้า (anterior border) และขอบด้านหลัง (posterior border) ซึ่งจะมีจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆที่เป็นส่วนประกอบของบริเวณไหล่ ดังตารางสรุปด้านล่าง


พื้นผิวบนกระดูกไหปลาร้า กล้ามเนื้อ/เอ็น บริเวณที่เกาะบนกระดูก
พื้นผิวด้านบนและขอบด้านหน้า กล้ามเนื้อเดลทอยด์ (Deltoid muscle) ปุ่มเดลทอยด์ (deltoid tubercle) ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของปลายด้านกระดูกสะบัก
พื้นผิวด้านบน กล้ามเนื้อทราพีเซียส (Trapezius muscle) ปลายทางด้านกระดูกสะบัก เยื้องไปทางด้านหลัง
พื้นผิวด้านล่าง กล้ามเนื้อใต้ไหปลาร้า (Subclavius muscle) ร่องใต้ไหปลาร้า (Subclavian groove)
พื้นผิวด้านล่าง เอ็นโคนอยด์ (Conoid ligament) ซึ่งเป็นเอ็นด้านแนวกลางของเอ็นคอราโคคลาวิคิวลาร์ ปุ่มโคนอยด์ (conoid tubercle)
พื้นผิวด้านล่าง เอ็นทราพีซอยด์ (Trapezoid ligament) ซึ่งเป็นเอ็นด้านข้างของเอ็นคอราโคคลาวิคิวลาร์ แนวทราพีซอยด์ (trapezoid line)
ขอบด้านหน้า กล้ามเนื้อเพคทอราลิส เมเจอร์ (Pectoralis major muscle) ปลายด้านกระดูกอก
ขอบด้านหลัง ปลายส่วนกระดูกไหปลาร้าของกล้ามเนื้อสเตอร์โนไคลโดมาสตอยด์ (Sternocleidomastoid muscle) ทางด้านบนของส่วนกลางของกระดูก
ขอบด้านหลัง กล้ามเนื้อสเตอร์โนไฮออยด์ (Sternohyoid muscle) ทางด้านล่างของส่วนกลางของกระดูก
ขอบด้านหลัง กล้ามเนื้อทราพีเซียส (Trapezius muscle) ปลายทางด้านกระดูกสะบัก

หน้าที่การทำงาน

[แก้]

กระดูกไหปลาร้ามีหน้าที่หลายประการ อาทิ

  • เป็นโครงร่างค้ำจุนในส่วนไหล่ที่สำคัญ และทำให้ส่วนแขนอยู่ห่างจากส่วนอกมากพอที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของแขนที่มากที่สุด
  • ทำหน้าที่ป้องกันช่องทางของหลอดเลือดและเส้นประสาทต่างๆจากส่วนคอไปยังบริเวณรักแร้ ไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือนจนฉีกขาด
  • ถ่ายเทแรงและการกระแทกจากส่วนแขนไปยังแกนกลางลำตัว

อย่างไรก็ตาม กระดูกไหปลาร้าเป็นกระดูกที่ค่อนข้างทึบแน่น และไม่มีไขกระดูกมากนัก จึงไม่ได้มีหน้าที่สำคัญในการผลิตเม็ดเลือดเช่นในกระดูกแบบยาวชนิดอื่นๆ

รูปประกอบเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.
  • Clinical Anatomy for Medical Students Richard S.Snell,M.D.,Ph.D.