ข้ามไปเนื้อหา

ส่วนต้นของกระดูกอัลนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนต้นของกระดูกอัลนา
(Upper extremity of ulna)
ส่วนต้นของกระดูกอัลนา มุมมองทางด้านข้าง
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก

ส่วนต้นของกระดูกอัลนา เป็นส่วนของกระดูกอัลนาที่ลักษณะใหญ่และมีส่วนยื่นของกระดูกที่มีลักษณะโค้งเห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ โอเลครานอน โพรเซส (olecranon) และโคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process) และยังมีส่วนเว้าซึ่งเป็นเบ้ารับกับปลายของกระดูกต้นแขนและหัวของกระดูกเรเดียสอีกสองจุด คือรอยเว้าเซมิลูนาร์ (Semilunar notch) และรอยเว้าเรเดียส (Radial notch)

โอเลครานอน โพรเซส

[แก้]

โอเลครานอน โพรเซส (olecranon process) เป็นส่วนยื่นที่มีลักษณะโค้ง ขนาดใหญ่และหนา ตั้งอยู่ที่ด้านบนและด้านหลังของกระดูกอัลนา ที่ยอดมีลักษณะโค้งไปทางด้านหน้าเป็นจะงอยรับเข้ากับแอ่งโอเลครานอน (olecranon fossa) ของกระดูกต้นแขนเมื่อปลายแขนอยู่ในท่าเหยียดตรง ส่วนฐานของโอเลครานอน โพรเซสเป็นคอคอดเชื่อมกับส่วนกลางของกระดูกอัลนา นับว่าเป็นส่วนคอดที่สุดของปลายบนของกระดูกอัลนา

พื้นผิวด้านหลังของโอเลครานอน โพรเซสชี้ไปทางด้านหลัง มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียบ อยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous) และถูกปกคลุมด้วยถุงลดเสียดสี (bursa)

พื้นผิวด้านบนมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านหลังมีรอยประทับขรุขระซึ่งเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ เบรคิไอ (triceps brachii) ส่วนด้านหน้าใกล้กับขอบกระดูกมีร่องตื้นๆ ในแนวขวางซึ่งเป็นจุดเกาะของส่วนของเอ็นด้านหลังของข้อศอก

พื้นผิวด้านหน้ามีลักษณะเรียบ เว้า และสร้างเป็นส่วนบนของรอยเว้าเซมิลูนาร์ (semilunar notch) ขอบของโอเลครานอน โพรเซสเป็นส่วนต่อของร่องบนขอบของพื้นผิวด้านบนซึ่งให้เป็นจุดเกาะของเอ็นต่างๆ ดังนี้

ขอบด้านใกล้กลางเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (flexor carpi ulnaris) ส่วนขอบด้านข้างเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อแอนโคเนียส (Anconæus)

โคโรนอยด์ โพรเซส

[แก้]

โคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process; ละติน: processus coronoideus) เป็นสันนูนรูปสามเหลี่ยมชี้ไปทางด้านหน้า อยู่บริเวณด้านบนและด้านหน้าของกระดูกอัลนา ฐานของโคโรนอยด์ โพรเซสต่อเนื่องกับส่วนกลางของกระดูกอัลนาและมีความแข็งแรงมาก ยอดมีลักษณะแหลมค่อนข้างโค้งไปทางด้านบน และเมื่ออยู่ในท่างอปลายแขน ส่วนของโคโรนอยด์ โพรเซสนี้จะรับกับแอ่งโคโรนอยด์ (coronoid fossa) ของกระดูกต้นแขน

พื้นผิวด้านบนของโคโรนอยด์ โพรเซสมีลักษณะเรียบ เว้า และสร้างเป็นส่วนล่างของรอยเว้าเซมิลูนาร์

พื้นผิวด้านหน้าและด้านล่างมีลักษณะเว้า และมีรอยประทับขรุขระซึ่งเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเบรเคียลิส (brachialis) ที่รอยต่อของพื้นผิวด้านนี้และส่วนหน้าของตัวกระดูกอัลนาเป็นส่วนยื่นขรุขระ เรียกว่า ปุ่มนูนอัลนา (tuberosity of the ulna) ซึ่งเป็นจุดเกาะปลายของส่วนของกล้ามเนื้อเบรเคียลิส และมีออบลีก คอร์ด (oblique cord) มายึดเกาะที่ขอบด้านข้างของปุ่มนูนอัลนา

พื้นผิวด้านข้างมีลักษณะคอด รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นรอยเว้าซึ่งเป็นข้อต่อกับกระดูกอื่น เรียกว่า รอยเว้าเรเดียส (radial notch)

พื้นผิวด้านใกล้กลางเป็นขอบอิสระซึ่งให้เป็นจุดเกาะของส่วนของเอ็นอัลนาคอลแลทเทอรัล (ulnar collateral ligament) ส่วนหน้าของพื้นผิวด้านนี้เป็นส่วนยื่นรูปกลมขนาดเล็กซึ่งเป็นจุดเกาะต้นของปลายจุดเกาะหนึ่งของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม ซุเปอร์ฟิเชียลิส (Flexor digitorum sublimis) ด้านหลังของส่วนยื่นเป็นรอยเว้าสำหรับส่วนของจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรุม โปรฟันดัส (flexor digitorum profundus) ส่วนล่างของส่วนยื่นนี้เป็นสันซึ่งให้เป็นจุดเกาะต้นของปลายจุดเกาะหนึ่งของกล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ เทเรส (pronator teres) บ่อยครั้งที่จะพบใยกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ พอลิซิส ลองกัส (flexor pollicis longus) เกาะกับส่วนล่างของโคโรนอยด์ โพรเซส

รอยเว้าเซมิลูนาร์

[แก้]

รอยเว้าเซมิลูนาร์ (semilunar notch หรือ greater sigmoid cavity; ละติน: incisura semilunaris) เป็นรอยเว้าขนาดใหญ่ที่เกิดจากโอเลครานอน โพรเซส (olecranon) และโคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process) และทำหน้าที่เป็นบริเวณรองรับกับโทรเคลียร์ (trochlea) ของปลายกระดูกต้นแขน

ประมาณตรงกลางของรอยเว้านี้เป็นรอยขรุขระแบบฟันเลื่อยซึ่งเป็นบริเวณรอยต่อของโอเลครานอนและโคโรนอยด์ โพรเซส

รอยเว้านี้เว้าในแนวบนลงล่างและแบ่งออกเป็นส่วนใกล้กลางและส่วนด้านข้างโดยสันตื้นซึ่งวิ่งจากยอดของโอเลครานอนไปยังยอดของโคโรนอยด์ โพรเซส โดยส่วนใกล้กลางจะมีขนาดใหญ่กว่าและค่อนข้างเว้าในแนวขวาง และส่วนด้านข้างจะนูนในด้านบนและค่อนข้างเว้าในด้านล่าง

รอยเว้าเรเดียส

[แก้]

รอยเว้าเรเดียส (radial notch หรือ lesser sigmoid cavity; ละติน: incisura radialis) เป็นรอยเว้าแคบๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่อยู่ทางด้านข้างของโคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process) ซึ่งจะรับกับส่วนต้นของกระดูกเรเดียสเพื่อประกอบเป็นข้อต่อเรดิโออัลนาส่วนต้น (Proximal radioulnar joint) ซึ่งเกี่ยวข้องการการพลิกและการหมุนของปลายแขน รอยเว้านี้มีลักษณะเว้าจากด้านหน้าไปด้านหลัง และมีส่วนยื่นซึ่งให้เป็นจุดเกาะของเอ็นแอนนูลาร์ (annular ligament)