สโมสรฟุตบอลพีทีที ระยอง
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลพีทีที ระยอง | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | พลังเพลิง | |||
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2526 (ในชื่อ สโมสรฟุตบอลปตท.) พ.ศ. 2553 (ในชื่อ สโมสรฟุตบอลปตท.ระยอง) พ.ศ. 2558 (ในชื่อ สโมสรฟุตบอลพีทีที ระยอง) | |||
ยุบ | พ.ศ. 2562 | |||
สนาม | พีทีทีสเตเดียม | |||
ความจุ | 11,000 ที่นั่ง | |||
เจ้าของ | กลุ่ม ปตท. | |||
ประธาน | พล.อ.อ.บุญสืบ ประสิทธิ์ | |||
ผู้จัดการ | ดนัย สุขุมวาท | |||
ผู้ฝึกสอน | ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
|
สโมสรฟุตบอลพีทีที ระยอง (อังกฤษ: PTT Rayong F.C.) เป็นอดีตสโมสรฟุตบอลอาชีพในจังหวัดระยอง โดยมีทาง กลุ่ม ปตท. เป็นบอร์ดบริหาร สโมสรฯ เคยคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศ ไทยลีกดิวิชัน 2 ฤดูกาล 2550 และคว้าตำแหน่งชนะเลิศ ไทยลีก 2 ฤดูกาล 2561 ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไทยลีกในปี 2562 โดยจบอันดับที่ 11 ของตารางและได้ประกาศพักทีมตั้งแต่ฤดูกาล 2563 เป็นต้นไป[1]
ประวัติสโมสร
[แก้]ยุคแรก
[แก้]สโมสรฟุตบอล ปตท. ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดยเป็นทีมของพนักงาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มส่งเข้าร่วมการแข่งขันของ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ
เข้าร่วมดิวิชั่น 2
[แก้]ในปี 2549 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เริ่มจัดการแข่งขัน ไทยลีกดิวิชั่น 2 โดยเป็นการแข่งขันฟุตบอลลีกระดับสาม ของไทย ฤดูกาลแรก ซึ่งเข้ามาแทนที่ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. มีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขัน 11 สโมสร โดย สโมสรฟุตบอล ปตท. ได้สิทธิ์เข้าร่วมจากการเป็นทีมใน ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. ประจำปี 2548 ทำให้สโมสรได้เข้าร่วมการแข่งขัน ไทยลีกดิวิชัน 2 ฤดูกาล 2549
เลื่อนชั้นไปดิวิชั่น 1
[แก้]ใน ไทยลีกดิวิชัน 2 ฤดูกาล 2550 ซึ่งถือเป็นการแข่งขันฤดูกาลที่ 2 ของทีม โดย สโมสรฟุตบอล ปตท. ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการเบียดแย่งแชมป์กับ เมืองทอง-หนองจอก ยูไนเต็ด ได้อย่างสูสีแต่ก็เป็นทาง เมืองทอง-หนองจอก ยูไนเต็ด ที่ทำได้ดีกว่าและคว้าแชมป์ไปได้โดยทำแต้มทิ้งห่างไป 4 แต้มทำให้ สโมสรฟุตบอล ปตท. จบด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศ และคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นไปแข่งขันใน ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2551
ความท้าทายใหม่ในดิวิชั่น 1
[แก้]การแข่งขัน ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2551 ซึ่งถือเป็นฤดูกาลแรกของ สโมสรฟุตบอล ปตท. ในลีกรอง ซึ่งสโมสรทำผลงานได้อย่างน่าพอใจโดยจบอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 16 ทีม แข่ง 30 นัดมี 41 คะแนน ทำให้ไม่ต้องหนีตกชั้น
ย้ายรังเหย้าออกจากกรุงเทพ
[แก้]ในปี พ.ศ.2552 สโมสรฟุตบอล ปตท. ได้ย้ายสนามเหย้ามาที่ สนาม สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี เนื่องจากในขณะนั้น กรุงเทพมหานคร มีสโมสรฟุตบอลอยู่มากมาย และด้วยการแข่งขันที่มีมาตรฐานที่สูงมากขึ้น ทำให้สโมสรต้องหาสนามเหย้าแห่งใหม่เลยได้ตัดสินใจย้ายมาที่จังหวัดชลบุรี โดยในการแข่งขัน ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2552 สโมสรฟุตบอล ปตท. ต้องดิ้นรนหนีตกชั้น และอยู่รอดปลอดภัยใน ไทยลีกดิวิชั่น 1 โดยจบอันดับที่ 10 ด้วยผลงานแข่ง 30 นัด มี 36 แต้ม อยู่เหนือโซนตกชั้นแค่ 6 คะแนนเท่านั้น
ย้ายถิ่นฐานมาระยอง
[แก้]ในการแข่งขัน ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2553 สโมสรฟุตบอล ปตท. ยังคงใช้ สนาม สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี เป็นสนามเหย้าในครึ่งฤดูกาลแรก ก่อนที่ในเลกสอง สโมสรจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาที่ จังหวัดระยอง โดยสโมสรฯ ได้เปลื่ยนชื่อเป็น สโมสรฟุตบอล ปตท. ระยอง จากการตั้งถิ่นฐานของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในตำบลมาบตาพุด จึงได้ร่วมมือกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินกิจกรรมกีฬา ให้สอดคล้องกับแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่ม ปตท. ที่เล็งเห็นว่ากีฬาสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้ ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีทีมฟุตบอลลงแข่งขันมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทาง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ได้จัดตั้งทีมฟุตบอลเพื่อส่งเสริมให้ชาวจังหวัดระยองเห็นประโยชน์ของฟุตบอลและปรับปรุงชื่อเสียงของจังหวัดระยอง โดยใช้สนามเหย้าที่อยู่ภายใน สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้ชื่อสนามว่า สนาม ปตท. มาบข่า ระยอง โดยในฤดูกาลนั้น สโมสรฟุตบอล ปตท. ระยอง จบอันดับที่ 11 จาก 16 ทีมด้วยผลงานแข่ง 30 นัด มี 38 คะแนน อยู่เหนือโซนตกชั้นแค่ 3 คะแนน
ย้ายบ้านชั่วคราวและยกระดับทีม
[แก้]หลังจาก สโมสรฟุตบอล ปตท. ระยอง ย้ายถิ่นฐานมาอยู่จังหวัดระยองในปี พ.ศ. 2553 ก็ได้มีการยกระดับทีมเพื่อให้เป็นทีมของชาวระยอง โดยมีการประชาสัมพันธ์สโมสรและจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ของสโมสรฯ และชาวระยอง โดยในเลกแรกของ ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2554 สโมสรได้ย้ายสนามเหย้ามาที่ สนามกีฬากลางจังหวัดระยอง เป็นการชั่วคราวเนื่องจาก สนาม พีทีทีสเตเดียม กำลังดำเนินการก่อสร้างสนามใหม่อยู่ ก่อนที่เลกที่สองจะย้ายสนามเหย้ากลับมาที่เดิม
เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด
[แก้]หลังจากโลดแล่นอยู่ใน ไทยลีกดิวิชั่น 1 อยู่หลายปี โดยพลาดการเลื่อนชั้นไปอย่างน่าเสียดายหลายครั้ง ในที่สุด ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2556 สโมสรฟุตบอล ปตท. ระยอง ซึ่งต้องลุ้นเลื่อนชั้นจนถึงนัดสุดท้ายกับ สโมสรฟุตบอลบางกอก ที่เผอิญโคจรมาเจอกันในสุดท้ายอย่างพอดิบพอดี โดยผลการแข่งขันครั้งนั้น สโมสรฟุตบอล ปตท. ระยอง เปิดบ้านเสมอกับ สโมสรฟุตบอลบางกอก ไปอย่างสุดมันส์ 2-2 ทำให้ สโมสรฯ สามารถเลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยพรีเมียร์ลีก ด้วยการจบอันดับที่ 3 มี 64 คะแนนมากกว่า สโมสรฟุตบอลบางกอก อยู่ 2 คะแนน
ตกชั้นในปีเดียว
[แก้]ในการแข่งขัน ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2557 ที่มีทีมลงทำการแข่งขัน 20 ทีม ซึ่งเป็นปีแรกของ สโมสรฟุตบอล ปตท. ระยอง โดยในฤดูกาลนี้ ไทยพรีเมียร์ลีก ต้องการลดทีมบนลีกสูงสุดจาก 20 เหลือ 18 ทีม ทำให้ในฤดูกาลนี้มีทีมต้องตกชั้นไป ดิวิชัน 1 ถึง 5 ทีมด้วยกันซึ่งเป็นงานยากของทีมในโซนตกชั้น โดยในปีนี้สโมสรฯ ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่บนลีกสูงสุดปีแรก โดยลงแข่งขันไป 38 นัด มีเพียง 42 คะแนน และแพ้ไปถึง 16 นัดจบอันดับที่ 17 ตกชั้นไป ดิวิชัน 1 ในปีเดียว
เปลี่ยนชื่อทีมสู่ความเป็นสากล
[แก้]หลังจาก สโมสรฟุตบอล ปตท. ระยอง ตกชั้นมาจาก ไทยพรีเมียร์ลีก สโมสรก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น สโมสรฟุตบอล พีทีที ระยอง เพื่อความเป็นสากลมากขึ้นของสโมสรฯ
ล้มรุกคลุกคลานในลีกรอง
[แก้]หลังจากตกชั้นมาจาก ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2557 ต้องกลับมาแข่งขันใน ดิวิชัน 1 อีกครั้งสโมสรก็ตั้งเป้าเลื่อนชั้นกลับไปเล่นในลีกสูงสุดทุกฤดูกาล แต่ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จบในอันดับกลางตารางและทำได้ดีที่สุดแค่อันดับที่ 5 ในการแข่งขัน ไทยลีก 2 ฤดูกาล 2560 เท่านั้น
กลับสู่ไทยลีกและแชมป์ลีกรอง
[แก้]ในการแข่งขัน ไทยลีก 2 ฤดูกาล 2561 สโมสรฟุตบอล พีทีที ระยอง ภายใต้การนำทัพของ "โค้ชโจ" ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น ที่คุมทีมต่อเนื่องมาจาก ฤดูกาล 2560 ก็สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการพาทัพ "พลังเพลิง" คว้าแชมป์ ไทยลีก 2 ฤดูกาล 2561 ด้วยการบุกไปเอาชนะ สโมสรฟุตบอลระยอง ไปด้วยสกอร์ 0-2 ทำให้จบอันดับที่ 1 มี 56 คะแนน นำอันดับ 2 อย่าง สโมสรฟุตบอลตราด อยู่ 2 คะแนน คว้าแชมป์ไปครอง ซึ่งถือเป็นแชมป์แรกอย่างเป็นทางการของสโมสรฯ นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรในปี พ.ศ. 2526 และคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นไปเล่นใน ไทยลีก ได้เป็นครั้งที่ 2
ไทยลีกอีกครั้งและจุดจบของสโมสร
[แก้]หลังจากเลื่อนชั้นกลับมาเล่นใน ไทยลีก ฤดูกาล 2562 โดยเป็นการกลับมาเล่นในลีกสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยครั้งนี้สโมสรมีบทเรียนจากการลงแข่งขันในไทยลีกครั้งก่อน ทำให้สโมสรมีการวางแผนที่รอบคอบมากขึ้นเน้นใช้นักเตะแกนหลักจากชุดที่พาทีมคว้าแชมป์ไทยลีก 2 และเสริมนักเตะเกรดสูงเพื่อเข้ามายกระดับทีมเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาทีมสปิริตเอาไว้ โดยสโมสรมีเป้าหมายคือต้องรอดตกชั้นในปีนี้
ในเลกแรกสโมสรทำผลงานได้ตามเป้าด้วยการอยู่ในอันดับเลขตัวเดียว โดยในช่วงจบเลกแรกมีข่าวหนาหูว่าสโมสรจะยุบทีมหลังจบฤดูกาลนี้แต่ยังไม่มีใครออกมายืนยันอย่างแน่ชัด หลังจากเริ่มเลกสองข่าวการยุบทีมก็หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ โดยในตอนจบฤดูกาลสโมสรทำได้ตามเป้าหมายคืออยู่รอดปลอดภัยบนลีกสูงสุดจบอันดับที่ 11 แข่ง 30 นัดมี 35 แต้ม ห่างโซนตกชั้น 5 คะแนน
ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งโต๊ะแถลงอย่างเป็นทางการว่าจะยุติการทำทีม พีทีที ระยอง ชั่วคราวแบบไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่า กลุ่ม ปตท. ไม่มีความสามารถมากพอที่จำทำทีมฟุตบอลอาชีพ รวมถึงการทำทีมที่ตัวเลขขาดทุนทุกปีทำให้บอร์ดบริหารของ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) มีการปรับโครงสร้างองค์กรณ์ใหม่ โดยในโครงสร้างมีการพักทีม พีทีที ระยอง และจะหันไปสนับสนุนการสร้างนักเตะเยาวชนภายในจังหวัด โดยใช้ชื่อว่า พีทีที อะคาเดมี่ ซึ่งเป็นอะคาเดมี่เดิมของ สโมสรพีทีที ระยอง และยังให้เหตุผลทิ้งท้ายว่าจังหวัดระยองยังมีอีกทีมให้ร่วมเชียร์และให้แฟนบอลย้ายไปเชียร์ทีมอีกทีมในระยองอย่าง สโมสรฟุตบอลระยอง แทน สิ้นสุดประวัติศาสตร์อันยาวนานของสโมสรไว้ที่ 37 ปี
ที่ตั้งสโมสรและสนามเหย้า
[แก้]พิกัด | ที่ตั้ง | สนามเหย้า | ความจุ | ปี |
---|---|---|---|---|
13°50′16″N 100°32′48″E / 13.837817°N 100.546556°E | กรุงเทพฯ | ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ | ? | 2550-2551 |
13°45′01″N 100°34′02″E / 13.750398°N 100.567119°E | สนามจรัญ บุรพรัตน์ (สโมสรพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พระราม 9) | ? | 2551 | |
13°24′41″N 100°59′37″E / 13.411302°N 100.993618°E | ชลบุรี | สนามสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี | 12,000 | 2552 |
12°40′49″N 101°14′08″E / 12.680236°N 101.235436°E | ระยอง | สนามกีฬากลางจังหวัดระยอง | 10,000 | 2553-2554 |
12°46′02″N 101°09′54″E / 12.767314°N 101.165002°E | พีทีที สเตเดียม | 12,161 | 2554-2562 |
ผลงานของสโมสรในแต่ละฤดูกาล
[แก้]ฤดูกาล | ลีก | เอฟเอคัพ | ลีกคัพ | ผู้ทำประตูสูงสุด | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ระดับ | แข่ง | ชนะ | เสมอ | แพ้ | ได้ | เสีย | คะแนน | อันดับ | ชื่อ | ประตู | |||
2550 | ดิวิชั่น 2 | 22 | 14 | 4 | 4 | 41 | 16 | 46 | รองชนะเลิศ | – | - | — | |
2551 | ดิวิชั่น 1 | 30 | 10 | 11 | 9 | 38 | 29 | 41 | อันดับ 6 | – | – | เดวิด บายีฮา | 11 |
2552 | ดิวิชั่น 1 | 30 | 9 | 9 | 12 | 53 | 49 | 36 | อันดับ 10 | รอบสาม | – | — | |
2553 | ดิวิชั่น 1 | 30 | 9 | 11 | 10 | 47 | 51 | 38 | อันดับ 11 | รอบสอง | รอบสาม | รชานนท์ ศรีนอก | 10 |
2554 | ดิวิชั่น 1 | 34 | 17 | 8 | 9 | 54 | 28 | 59 | อันดับ 4 | รอบสาม | รอบแรก | อดิศักดิ์ ศรีกำปัง | 21 |
2555 | ดิวิชั่น 1 | 34 | 19 | 5 | 10 | 61 | 33 | 62 | อันดับ 5 | รอบสี่ | รอบแรก | อดิศักดิ์ ศรีกำปัง | 11 |
2556 | ดิวิชั่น 1 | 34 | 17 | 13 | 4 | 44 | 27 | 64 | อันดับ 3 | รอบก่อนรองชนะเลิศ | รอบสาม | พิพัฒน์ ต้นกันยา | 9 |
2557 | ไทยลีก | 38 | 10 | 12 | 16 | 49 | 60 | 42 | อันดับ 17 | รอบสี่ | รอบก่อนรองชนะเลิศ | Amadou Ouattara | 11 |
2558 | ดิวิชั่น 1 | 38 | 14 | 12 | 12 | 62 | 60 | 54 | อันดับ 7 | รอบสอง | รอบแรก | Yves Desmarets | 12 |
2559 | ดิวิชั่น 1 | 26 | 10 | 5 | 11 | 42 | 43 | 35 | อันดับ 8 | รอบแรก | รอบสอง | Leandro | 5 |
2560 | ไทยลีก 2 | 32 | 14 | 8 | 10 | 54 | 50 | 50 | อันดับ 5 | รอบก่อนรองชนะเลิศ | รอบสอง | เดนนิส มูริลโล่ | 18 |
2561 | ไทยลีก 2 | 28 | 17 | 5 | 6 | 54 | 32 | 56 | ชนะเลิศ | รอบสอง | เพลย์ออฟ คัดเลือก | เดนนิส มูริลโล่ | 14 |
2562 | ไทยลีก | 30 | 9 | 8 | 13 | 33 | 46 | 35 | อันดับ 11 | รอบ 64 ทีม | รอบ 32 ทีม | อาเรียล โรดรีเกซ | 9 |
ชนะเลิศ | รองชนะเลิศ | อันดับที่สาม | เลื่อนชั้น | ตกชั้น |
ผู้เล่น
[แก้]ผู้เล่นชุดฤดูกาล 2562
[แก้]หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
เกียรติประวัติ
[แก้]- ชนะเลิศ (1) 2561
- รองชนะเลิศ (1) 2550
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เปิดเหตุผล! พีทีที ระยอง ประกาศพักทีม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-29. สืบค้นเมื่อ 2019-11-19.