ข้ามไปเนื้อหา

สัญญา (ศาสนาพุทธ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สัญญา (พุทธศาสนา))

สัญญา (ภาษาสันสกฤต: สํชญา) แปลว่า จำความได้, ความหมายรู้ได้ คือ ระบบความจำที่สามารถจำคน สัตว์ สิ่งของและเหตูการณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น จำสิ่งที่เห็น จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำชื่อคน จำหนังสือ จำเรื่องในอดีตได้ว่าเป็นสีเขียว ไพเราะ หอม หวานเป็นต้น เรียกภาวะที่มีความจำคลาดเคลื่อน จำผิด ๆ ถูก ๆ หรือมีสติฟั่นเฟือนเหมือนคนบ้าว่า สัญญาวิปลาส

ทางพุทธศาสนา สัญญา คือขันธ์หนึ่งใน 5 ขันธ์ และเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง มี 2 ประเภทคือสัญญา 6 และสัญญา 10 ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าสัญญานั้นย้อนกลับไปได้ไม่สิ้นสุด เช่นเราลองนึกถึงตัวเราในอดีตที่กำลังเศร้ากับการกระทำที่ผิดพลาดของตนในอดีต ในสัญญาของตัวเราในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่ตัวเราในอดีตขณะนั้นมีภาพตัวเราที่เป็นอดีตของอดีตตัวเราทำความผิดพลาดซ้อนอีกดังนั้นสัญญาจะมีลักษณะซ้อนทับกับไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด แต่ที่เราจำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ เพราะอำนาจสติมีกำลังน้อย อีกทั้งที่เราจำชาติก่อนไม่ได้เพราะ กฎแห่งวัฏฏะ คือ

  • เรามีอวิชชา เป็นกิเลสวัฏฏะ
  • ทำให้เกิดมโนกรรมคือมิจฉาทิฏฐิ
  • ทำให้เกิดวิบากกรรมคือจำชาติที่แล้วไม่ได้ เนื่องจากขณะจิตที่ดับจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิ (ไม่รู้ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์คือดับกิเลสและทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์ คือ มรรคมีองค์ 8)

สัญญา 6

[แก้]

หมายถึง ความทรงจำมี 6 คือ

  1. จักขุสัญญา สิ่งที่ทรงจำทางตา (ภาพ)
  2. โสตสัญญา (เสียง) สิ่งที่ทรงจำทางหู
  3. ฆานะสัญญา สิ่งที่ทรงจำทางจมูก (กลิ่น)
  4. ชิวหาสัญญา สิ่งที่ทรงจำทางลิ้น (รสชาติ)
  5. กายสัญญา สิ่งที่ทรงจำทางกาย (ประสาทสัมผัส)
  6. มนสัญญา สิ่งที่ทรงจำทางใจ (มโนสิ่งทรงจำทางใจมี 3 คือ 1. จำเวทนา 2. จำสัญญา 3. จำสังขาร 3 คือ 1. กายสังขาร (การบังคับร่างกาย) 2. วจีสังขาร (ความคิดตรึก ตรอง) 3. จิตตะสังขาร (อารมณ์ที่จรเข้ามาในใจ)

สัญญา 10

[แก้]
  • อนิจจสัญญา พิจารณาว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้เป็นอนิจจัง
  • อนัตตสัญญา พิจารณาว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก 6 ประการเหล่านี้ เป็นอนัตตา
  • อสุภสัญญา พิจารณากายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ ว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้
  • อาทีนวสัญญา พิจารณาว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้
  • ปหานสัญญา ไม่ยินดี ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินดี ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินดี ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินดี ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า ที่เกิดขึ้นแล้ว (พิจารณาเห็นว่าวิตกทั้งสองคือกามวิตก และพยาบาทวิตกคือการจองเวรเป็นเหตุให้จิตยินดีในการเวียนว่ายตายเกิดและอวิหิงสาเป็นเหตุให้รับวิบากกรรมในขณะเวียนว่ายตายเกิด)
  • วิราคสัญญา พิจารณาว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง (อุปธิ = ที่ตั้งแห่งทุกข์) ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (ซึ่งก็คือสภาวะของพระนิพพานที่สัมผัสได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่นั่นเอง )
  • นิโรธสัญญา พิจารณาว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (วิราคะ และนิโรธ ล้วนเป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน โดยวิราคะเน้นที่ความสำรอกกิเลส คือการไม่ปรุงแต่งในสิ่งภายนอกราบเรียบเสมอกัน ส่วนนิโรธเน้นที่ความดับไม่เหลือของกิเลส คือการไม่ยึดติดในสิ่งภายในว่าไม่ใช่ตัวกูของกู)
  • สัพพโลเกอนภิรตสัญญา การกำหนดหมายในความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง ละอุบายและอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิตย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น (การเห็นสิ่งที่ไม่งดงาม แต่สำคัญว่างดงามเพราะจิตเข้าไปปรุงแต่ง)
  • สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา การกำหนดหมายในความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง ความอึดอัด ระอา เกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง (การเห็นสิ่งทั้งปวงมีแต่แตกกระจายไป)
  • อานาปานสติ การนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น

อ้างอิง

[แก้]