เวทนา
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
เวทนา เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งมีการกล่าวถึงในพระพุทธศาสนา หมายถึง การเสวยอารมณ์, ความรู้สึก
เวทนาขันธ์ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของขันธ์ 5 (หรือ เบญจขันธ์ อันได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์)
เวทนา สามารถจัดออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายแบบ เช่น เวทนา 2, เวทนา 3, เวทนา 5 และ เวทนา 6
เวทนา 2
[แก้]เวทนา 2 แบ่งการเสวยอารมณ์ ออกเป็นสองอย่าง คือ
- กายิกเวทนา หมายถึง เวทนาทางกาย การเสวยอารมณ์ทางกาย ความรู้สึกทางกาย
- เจตสิกเวทนา หมายถึง เวทนาทางใจ การเสวยอารมณ์ทางใจ ความรู้สึกทางใจ
เวทนา 3
[แก้]เวทนา 3 แบ่งการเสวยอารมณ์ ความรู้สึก รสของอารมณ์ ออกเป็นสามอย่าง คือ
- สุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม
- ทุกขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม
- อทุกขมสุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุเบกขาเวทนา
เวทนา 5
[แก้]เวทนา 5 แบ่ง การเสวยอารมณ์ ออกเป็นห้าอย่าง คือ
- สุข หมายถึง ความสุข ความสบายทางกาย
- ทุกข์ หมายถึง ความทุกข์ ความไม่สบาย ความเจ็บปวดทางกาย
- โสมนัส หมายถึง ความแช่มชื่น ปลื้มใจ สุขใจ (อันเกิดจากสุขจึงเกิดโสมนัส)
- โทมนัส หมายถึง ความเสียใจ ความเศร้าโศก เศร้าหมอง ทุกข์ใจ (อันเกิดจากทุกข์จึงเกิดโทมนัส)
- อุเบกขา หมายถึง ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
เวทนา 6
[แก้]เวทนา 6 แบ่ง การเสวยอารมณ์ ออกเป็นหกอย่าง คือ
- จักษุสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา
- โสตสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางหู
- ฆานสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก
- ชิวหาสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น
- กายสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางกาย
- มโนสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางใจ
เวทนาเจตสิก
[แก้]ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงเวทนา ในลักษณะที่เป็นเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า เวทนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ จำแนกเป็น เวทนา 3 และ เวทนา 5 (ดังบรรยายไปแล้วข้างต้น)
เวทนาตามหลักปฏิจจสมุปบาท
[แก้]- เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา...
- เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ...
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง
ผู้ที่รู้สึกสุขเวทนา ย่อมเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่
ผู้ที่รู้สึกทุกขเวทนา ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ คร่ำครวญทุ่มอก โกรธ หลง จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่
ผู้ที่รู้สึกอทุกขมสุขเวทนา ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่
ดูเพิ่ม
[แก้]- ปฏิจจสมุปบาท
- ผัสสะ
- อนุสัย
- นอกจากนี้ยังมี เวทนา 18 เวทนา 36 เวทนา 108 อ่านรายละเอียดได้ใน อัฏฐสตปริยายสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 18
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
- ฉฉักกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
- เทศนาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖
- อัฏฐสตปริยายสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘
- "พระอภิธัมมัตถสังคหะ" และ "อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา"