มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ราชมงคล | |
ชื่อย่อ | มทร. / RMUT [1] |
---|---|
คติพจน์ | ราชมงคลสร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี |
ประเภท | รัฐ |
สถาปนา | 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 (วิทยาลัย) 15 กันยายน พ.ศ. 2532 (สถาบัน) 18 มกราคม พ.ศ. 2548 (มหาวิทยาลัย) |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (อังกฤษ: Rajamangala University of Technology) เป็นระบบมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย เดิมสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2518 ในชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548
ในปี 2549 ได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดย สกอ. ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีเด่นในด้านการเรียนการสอน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับการจัดอันดับดีเด่นในด้านการเกษตร
ประวัติ
[แก้]มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ถือกำเนิดขึ้นจากการเรียกร้องของนักเรียนอาชีวศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518 ซึ่งถูกสังคมมองว่าเป็นนักเรียนชั้นสองของสังคม จัดการศึกษาได้เพียงแค่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และการก้าวสู่ระดับปริญญาตรี จะต้องผ่านการสอบแข่งขันกับนักเรียนสายสามัญ ประกอบทั้ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้งสามแห่ง (ลาดกระบัง พระนครเหนือ และ บางมด) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เน้นการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ย้ายสังกัดจาก กระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งเน้นรับเฉพาะนักเรียนสายสามัญ และการจัดการสอบแข่งขันที่ยากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษา อาทิ โรงเรียนเพาะช่าง ตั้งอยู่ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ตั้งอยู่ที่ ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ วิทยาลัยพณิชยการพระนคร วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ วิทยาลัยช่างกลพระนครเหนือ ฯลฯ รวมตัวกันเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้ถึงระดับปริญญา
การจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษา
[แก้]ต่อมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี ให้การศึกษาทางด้านอาชีพทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพ เทคโนโลยีและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ในช่วงแรกที่เปิดทำการเรียนการสอนวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา มีปัญหาอุปสรรคนานัปการ อาทิ ขาดอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน บุคลากร ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศให้โอนบุคลากร ทรัพย์สิน สถาบันการอาชีวศึกษาที่สังกัด กรมอาชีวศึกษา 30 แห่ง ย้ายมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยเปลี่ยนจากวิทยาลัยมาเป็น "วิทยาเขต" ดังต่อไปนี้
ลำดับ | วิทยาลัย/โรงเรียน | ลำดับ | วิทยาลัย/โรงเรียน |
---|---|---|---|
1 | เทคนิคกรุงเทพฯ | 16 | เทคนิคขอนแก่น (เทคนิคไทย-เยอรมัน) |
2 | พณิชยการพระนคร | 17 | พาณิชยการพระนครศรีอยุธยา |
3 | ช่างกลพระนครเหนือ | 18 | เทคนิคตาก |
4 | ครูอาชีวศึกษา | 19 | เกษตรกรรมบางพระ จังหวัดชลบุรี |
5 | อาชีวศึกษาพระนครใต้ | 20 | เกษตรกรรมนครศรีธรรมราช |
6 | ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ | 21 | เกษตรกรรมจันทบุรี |
7 | โชติเวช | 22 | เกษตรกรรมลำปาง |
8 | บพิตรพิมุข จักรวรรดิ | 23 | เกษตรกรรมพิษณุโลก |
9 | จักรพงษภูวนารถ | 24 | เกษตรกรรมสุรินทร์ |
10 | อุเทนถวาย (โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) | 25 | เกษตรกรรมกาฬสินธุ์ ปัจจุบัน แยกไปควบรวมเป็น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ |
11 | เพาะช่าง | 26 | เกษตรกรรมสกลนคร |
12 | เทคนิคภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ | 27 | เกษตรกรรมปทุมธานี |
13 | เทคนิคภาคใต้ จังหวัดสงขลา | 28 | เกษตรและการประมง จังหวัดตรัง |
14 | เทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา | 29 | ช่างกลนนทบุรี |
15 | เกษตรกรรมพระนครศรีอยุธยา | 30 | เกษตรกรรมน่าน |
การจัดตั้ง "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล"
[แก้]ในปี พ.ศ. 2531 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อนักเรียนอาชีวศึกษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีหมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ถือเอาวันที่ 15 กันยายนของทุกปีเป็นวันราชมงคล
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงมีภารกิจหลักคือ จัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี (ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้ทำการเรียนการสอนควบคู่กับทำการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เรื่อยมา อีกทั้งยังทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดตั้งวิทยาเขต จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครพนม[2] จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดปัตตานี[3] แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. 2542 มีการแบ่งส่วนราชการขึ้นใหม่ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ประกอบด้วย
|
การยกฐานะ 9 มหาวิทยาลัย
[แก้]สืบเนื่องจากแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ การบริหารจัดการสู่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินการโดยบริหารจัดการได้โดยอิสระ และมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของสภาการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้นเพื่อให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและยกระดับสถานะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งสามารถจัดการศึกษาได้ถึงระดับสูง ปริญญาโท เอก จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่งขึ้น โดยมีการรวมวิทยาเขตที่อยู่ใกล้เคียงกันจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง
จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเดิม ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2518 ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งเก้าแห่งดังต่อไปนี้
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]-
ตราสัญลักษณ์ประติมากรรม
ตราสัญลักษณ์ประติมากรรม
[แก้]ประติมากรรมรูปดอกบัวนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งความคิดความรู้สึกร่วมกันในอันที่จะช่วยกันพัฒนาการศึกษาด้านวิชาชีพให้เจริญก้าวหน้าสืบไป รูปดอกบัวซ้อนกันขึ้น 3 ชั้น สื่อความหมายเพื่อให้เกิดความรู้สึกโปร่งเบามีกลีบบัว 8 เส้น เส้นทั้ง 8 หมายถึง มรรค 8 ประการ ส่วนยอดแหลมแทรกขึ้นสู่ฟ้า หมายถึง ผู้จะพบความสำเร็จได้จะต้องใช้ความพยายาม อย่างสูงสุด ในการผ่านแต่ละขั้นตอนการเรียนรู้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้รับพระราชทานนามสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อีกทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตอัญเชิญตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 พร้อม พระมหาพิชัยมงกุฎ มาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ทั้งนี้คณาจารย์และนักศึกษาต่างสำนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้
สีประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]แต่เดิม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้กำหนดให้สีเหลืองและสีน้ำเงินเป็นสีประจำสถาบัน
- สีเหลือง ( ) เป็นสีวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- สีน้ำเงิน ( ) เป็นสีสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์
สืบเนื่องจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลมีการปรับโครงสร้างตาม พรบ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งจึงได้กำหนดสีประจำมหาวิทยาลัยดังนี้
- สีน้ำเงิน ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- สีเขียว ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- สีม่วง ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- สีแดงเลือดนก ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- สีน้ำเงินเทอร์ควอยส์ (น้ำเงินทะเล) ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- สีทอง ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- สีน้ำตาลทอง ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- สีเหลือง ( ) เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- สีแสด ( )เป็นสีประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
เพลง
[แก้]สดุดีราชมงคล เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งเก้าแห่ง ผู้แต่งคำร้องคือ คุณสมชาย จินดานนท์ แต่งทำนองโดยคณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพลงสดุดีราชมงคล เป็นเพลงประจำสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเดิม เมื่อสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งเก้าแห่ง เพลงสดุดีราชมงคล ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งเก้าแห่งตามไปด้วย
อันดับมหาวิทยาลัย
[แก้]- ตามการจัด อันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จาก สกอ. ในปี 2549 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้รับการจัดอันดับที่โดดเด่น ดังนี้
- อันดับ 5 ในประเทศไทยในด้านการเกษตร - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- อันดับ 5 ในประเทศไทยในด้านการเรียนการสอน - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- ผลการจัดอันดับ 4,000 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกโดย Webometrics ประจำเดือน มกราคม พ.ศ. 2559[4]
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อันดับ 2,452 ของโลก - อันดับ 26 ของไทย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อันดับ 2,517 ของโลก - อันดับ 28 ของไทย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อันดับ 3,087 ของโลก - อันดับ 35 ของไทย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อันดับ 3,100 ของโลก - อันดับ 36 ของไทย
บุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
[แก้]- สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปิน (เพาะช่าง)
- สมเศียร พานทอง (ชาย เมืองสิงห์) ศิลปิน (เพาะช่าง)
- เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ช่างหลวงประจำพระองค์ (ศิลปกรรมเพาะช่าง)
- วสันต์ โชติกุล ศิลปิน (เพาะช่าง)
- พิง ลำพระเพลิง ศิลปิน (เพาะช่าง)
- อุดม แต้พานิช ศิลปิน (เพาะช่าง)
- ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- วินัย พันธุรักษ์ (ดิ อิมพอสซิเบิ้ล) ศิลปิน (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- ยุรนันท์ ภมรมนตรี (แซม) ดารา (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- สุรักษ์ สุขเสวี นักแต่งเพลง (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- กุ้งนาง ปัทมสูต นักแสดง นักร้อง (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- นรีกระจ่าง คันธมาส (จุ๋ม โคโค่แจ๊ส) ศิลปิน (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- กกกร เบญจาธิกุล (โกโก้) (เจ๊เปีย สตรีเหล็ก) ดารา (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- เศกพล อุ่นสำราญ (โก้ มิสเตอร์แซกแมน) ศิลปิน (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- เกียรติกมล ล่าทา (ตุ้ย เอเอฟ 3) นักร้อง (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- สุธน บู่สามสาย (ตั้ม เดอะสตาร์ 10) นักร้อง (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- ภูษณุ วงศาวณิชชากร (ยุ่น) ดารา (พณิชยการพระนคร มทร.พระนคร)
- วิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (วข.บพิตรพิมุข)
- ตะวัน ศรีปาน นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติ (วข.นนทบุรี)
- จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินคำเมือง (วข.ภาคพายัพ)
- มนัสวิน นันทเสน มีชื่อเดิมว่า ศิริศักดิ์ นันทเสน หรือ ติ๊ก ชีโร่ ศิษย์เก่าแผนกวิชาศิลปกรรม (นักร้อง) (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
- พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ศิลปินนักร้อง (วข.ขอนแก่น)
- อิศรา อนันตทัศน์ (สีเผือก คนด่านเกวียน) ศิลปินนักร้อง ศิษย์เก่าแผนกวิชาช่างกลเกษตร (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
- ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิษย์เก่าสาขาวิชาสถาปัตยกรรม (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
- ธนพล อินทฤทธิ์ (เสือ) ศิลปินนักร้อง ศิษย์เก่าแผนกวิชาสถาปัตยกรรม (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
- มงคล อุทก (หว่อง คาราวาน) ศิลปินนักร้อง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
- ทองกราน ทานา (อืด คาราวาน) ศิลปินนักร้อง ศิษย์เก่าแผนกวิชาศิลปกรรม (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
- พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (น้าหมู) ศิลปินนักร้อง ศิษย์เก่าแผนกวิชาศิลปกรรม (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
- ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม Miss Thailand Universe (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี)
- เกียรติศักดิ์ ส่องแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี (อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มทร.ธัญบุรี)
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
[แก้]จากคำกล่าวของท่าน ศาสตราจารย์สวาสดิ์ ไชยคุณา อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาคนแรก เป็นผู้บุกเบิกสถาบันฯ อย่างแท้จริง ได้กล่าวถึงการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของสถาบันไว้ว่า
ล้นเกล้าฯพระปิยมหาราชปลดปล่อยทาสให้เป็นไทยฉันใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงปลดปล่อยนักเรียนอาชีวศึกษาจากที่ถูกสังคมมองว่าเป็นเป็นนักเรียนชั้นสองให้เป็นไทฉันนั้น
นับจากปีแรกที่ได้เริ่มสถาปนาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษารุ่นแรก การได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด มีโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกับพระหัตถ์พระองค์เอง ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร นำความปลื้มปิติยินดีมาสู่เหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา ผู้ปกครองบัณฑิต เป็นล้นพ้น และอีกสามครั้งคือ ในปี พ.ศ. 2527 ปี พ.ศ. 2530 ในปี พ.ศ. 2531 เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลแล้วได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ในปี พ.ศ. 2533 รวมเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง 4 ครั้ง
ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2534 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ครั้งแรกถึงปัจจุบัน
ลำดับเหตุการณ์สำคัญพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
[แก้]- พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
- พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพร้อมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 2 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
- พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 3 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
- พ.ศ. 2533 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 4 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ในนามสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และมีการเปลี่ยนมาใช้ชุดครุยวิทยฐานะของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลแทนชุดครุยเดิม
- พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพะราชดำเนินแทนพระองค์ฯ เป็นครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ มา ซึ่งเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 5 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
- พ.ศ. 2535 สภาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ทูลเกล้าถวายปริญญาคหกรรมศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- พ.ศ. 2540 ย้ายสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร มาที่ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
- พ.ศ. 2548 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 19 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งเป็นครั้งแรก
- พ.ศ. 2550 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 21 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พิธีพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมเพรียงกันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปลี่ยนมาใช้ชุดครุยวิทยฐานะแทนครุยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- พ.ศ. 2551 (รับในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552) พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 22 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แต่ละมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(กรุงเทพ พระนคร อีสาน สุวรรณภูมิ ตะวันออก)เปลี่ยนมาใช้ครุยวิทยะฐานะของตนเอง ยกเว้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ล้านนา และรัตนโกสินทร์(ยังใช้ครุยสถาบันเดิมอยู่) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แยกออกไปจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทูลเกล้าถวายปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นครั้งแรก
- พ.ศ. 2552 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 23 ประจำปีการศึกษา 2551 ในวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2552 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
- พ.ศ. 2553 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 24 ประจำปีการศึกษา 2552 ในวันที่ 15 - 17 พฤศจิกายน 2553 ทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
- พ.ศ. 2555 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 25 ประจำปีการศึกษา 2553 ในวันที่ 23 - 25 เมษายน 2555 ทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
- พ.ศ. 2556 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 27 ประจำปีการศึกษา 2555 ในวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2556 ทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
- พ.ศ. 2557 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 28 ประจำปีการศึกษา 2556 ในวันที่ 15-19 ธันวาคม 2557 ทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ครั้งนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิต แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- พ.ศ. 2559 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 29 ประจำปีการศึกษา 2557 ในวันที่ 5-9 กันยายน 2559 ทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
- พ.ศ. 2560 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 30 ประจำปีการศึกษา 2558 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 8 แห่ง วันที่ 20 - 24 มีนาคม 2560
- พ.ศ. 2560 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 31 ประจำปีการศึกษา 2559 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 8 แห่ง วันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2560
- พ.ศ. 2561 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 32 ประจำปีการศึกษา 2560 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 8 แห่ง วันที่ 27-31 สิงหาคม 2561
- พ.ศ. 2562 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 33 ประจำปีการศึกษา 2561 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 8 แห่ง วันที่ 19 - 23 สิงหาคม 2562
- พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน แยกออกไปจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาจัดงานพระราชปริญญาบัตร ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดการเดิมจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2564 แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด 19) ในประเทศไทย ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จัดงานพระราชปริญญาบัตร ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 จึงมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่รับพระราชปริญญาบัตร ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เหลือเพียง 6 แห่งในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกเท่านั้น โดยกำหนดการเดิม พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 ประจำปีการศึกษา 2562 จะจัดขึ้นในวันที่ 19-23 สิงหาคม 2563 แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด 19) ในประเทศไทย โดยมีการจัดในปี พ.ศ. 2565 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 ประจำปีการศึกษา 2562 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 6 แห่ง วันที่ 7-10 มีนาคม 2565
- พ.ศ. 2565 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 35 ประจำปีการศึกษา 2563 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 6 แห่ง วันที่ 21-24 มีนาคม 2565
- พ.ศ. 2566 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 36 ประจำปีการศึกษา 2564 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 6 แห่ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 1-3 มีนาคม 2566
- พ.ศ. 2566 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 37 ประจำปีการศึกษา 2565 (6 มทร.) กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20- 23 พฤศจิกายน 2566
นายกสภามหาวิทยาลัย
[แก้]นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งในยุคแรก คือ นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเดิม ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2532 คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะดำรงตำแหน่ง นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลด้วย เช่น ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ระหว่างปี 2543-2548 ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง (ในช่วงระหว่างการจัดตั้งมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548-2549)
สืบเนื่องจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปรับเปลี่ยนสถานะเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง มีผลให้เกิดสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งมาตามลำดับ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออก ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-04. สืบค้นเมื่อ 2019-05-04.
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งวิทยาเขตนครพนม สังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งวิทยาเขต สังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- ↑ "Rank of Universities of Thailand". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-03. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๓๒
- พระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๘
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ (จำนวน ๙ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)