ลาวดวงเดือน
บทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน มีเนื้อหา รูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม |
ลาวดำเนินเกวียน นิยมเรียกว่า ลาวดวงเดือน เป็นเพลงไทยเดิมพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสพระองค์ที่ 41 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ประเทศสยาม กับเจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2450–2452[1] ระหว่างเสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน ณ หัวเมืองอุบลราชธานี
ความหมาย
[แก้]ชื่อเพลงลาวดวงเดือน หมายถึง พระจันทร์ (The Moon[2]: 152 หรือ Moonlight Serenade[3]) โดยคำว่า ลาว หมายถึง สำเนียงลาวถิ่นล้านนา และถิ่นอีสาน[1][2]: 152 และยังหมายถึง ทำนอง (ทางเพลง)[4] เช่น วิธีดำเนินทำนองเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ระดับเสียง เป็นต้น
คำว่า ดวงเดือน เป็นสำนวนกวีโวหารตั้งแต่สมัยอยุธยาใช้ชมความงามโดยเปรียบเทียบตามขนบ[5] คือ ใช้พรรณาชมความงามของฝ่ายหญิงว่าเปล่งปลั่ง สดใส งดงามดั่งพระจันทร์เต็มดวง[6] สำนวนดังกล่าวพบในวรรณกรรมสำนวนไทยสมัยอยุธยา เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท สังข์ทอง เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ 4–6 ราชสำนักสยามเคยกำหนดให้หัวเมืองเหนือของไทยเรียกว่า หัวเมืองลาวเฉียง[7] และเรียกหัวเมืองแถบอีสานว่า หัวเมืองลาวกาว[8] จึงปรากฏคำว่า ลาว ในชื่อเพลงซึ่งหมายถึงสำเนียงลาวถิ่นล้านนาลาวถิ่นอีสานในสมัยนั้น แต่ไม่ได้หมายถึงประเทศลาวสมัยปัจจุบัน หรือบ่งชี้ว่ามีต้นกำเนิดจากประเทศลาวแต่อย่างใด[9][2]: 197
พระราชดำรัส
[แก้]สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานเล่าเรื่องของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงได้ฟังเพลงลาวดวงเดือนที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมขับร้องกับคณะอาสาสมัคร เมื่อวันก่อนเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ 5–8 มิถุนายน พ.ศ. 2506 ไว้ว่า:–
คืนสุดท้าย ทรงฟังเพลงไทยที่คณะอาสาสมัคร โดยมีสิรินธรรวมอยู่ด้วยเล่นเพลงไทย โอ้ละหนอ ลาวดวงเดือน รู้สึกทรงรักเมืองไทยมาก อันนี้ลา เพราะรุ่งขึ้นท่าน [ รัชกาลที่ 9 ] ก็กลับแล้วไปเมืองจีน[10]
— สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทฯ, (2535).
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงโปรดฟังเพลงลาวดวงเดือนมาก หลังเสวยเสร็จราวสามทุ่มทรงมีพระราชประสงค์ทรงฟังเพลงลาวดวงเดือน ทรงมีรับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขับร้องเพลงลาวดวงเดือน ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงบรรเลงเพลงแล้วให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงฟ้อนรำด้วย ความว่า:–
ชายร้องเพลงลาวดวงเดือนให้แม่ฟังหน่อย ร้องแบบที่แม่ชอบนะ แม่น้อยบรรเลงเพลงเข้า แล้วให้น้องเล็กฟ้อนด้วยนะ...[11]
— สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับการอนุรักษ์มรดกไทย, (2532).
แล้วสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็เสด็จมาประทับหน้าวงดนตรี ทรงมีรับสั่งเบาๆ ว่า คอยบอกเนื้อร้องด้วยจำได้ไม่หมดเนื้อยาวตั้งหลายท่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขับร้องเพลงลาวดวงเดือนสองเที่ยวกลับตามแบบของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงพระนิพนธ์ไว้ขนานแท้[12]
เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดอย่างมาก[11][13] และเป็นเพลงที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีโปรดร้องมากที่สุด[14]
ประวัติ
[แก้]ลาวดวงเดือน (ชื่อเดิม: ลาวดำเนินเกวียน) เป็นเพลงไทยเดิมสำเนียงลาวซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสพระองค์ที่ 41 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระมหากษัตริย์ประเทศสยาม กับเจ้าจอมมารดามรกฎ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2450–2452[1] ขณะรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กำกับการกรมช่างไหม (วาระ พ.ศ. 2447–2451) (ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อกรมช่างไหมเป็นกรมเพาะปลูกเมื่อ พ.ศ. 2451)[15] ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมเพาะปลูก (พ.ศ. 2451–52)[16][17] กระทรวงเกษตราธิการ นับว่าเป็นเพลงไทยที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุด[18]
สมัยรัชกาลที่ 5
[แก้]พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงโปรดการดนตรีไทยเป็นการส่วนพระองค์ และยังทรงเป็นนักประพันธ์เพลงอย่างดี[19]: 45 ด้วยปรากฏว่าระหว่าง พ.ศ. 2450-52 ทรงพระนิพนธ์บทร้องเพลงไว้มากมายซึ่งบทร้องแต่ละเพลงของพระองค์มักเกี่ยวกับเรื่องพระจันทร์อันเนื่องด้วยพระนามเดิมว่า เพ็ญพัฒนพงศ์[19]: 45 และยังทรงมีวงปี่พาทย์ส่วนพระองค์ชื่อ วงพระองค์เพ็ญ[19]: 45 ล้วนมีนักดนตรีที่มีฝีไม้ลายมือเทียดเทียมวงปี่พาทย์วงอื่นในสมัยนั้น อาทิ วงสมเด็จพระบรม (รัชกาลที่ 6) วงวังบูรพา (กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) วงบางขุนพรหม (กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ) เป็นต้น[19]: 45
กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงโปรดทำนองและลีลาเพลงลาวดำเนินทรายที่ประพันธ์บทร้องโดยจ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคม หรือจ่าโคม)[20] น้องชายของพระราชมนู (ทองอยู่) ครูเสภาสมัยรัชกาลที่ 5[21] เป็นเพลงสําเนียงไทยภาคเหนือ (ล้านนา) (เรียกว่า สำเนียงลาว) ที่ไพเราะมากที่อาจารย์ทางดนตรีได้เลียนทำนองมาจากการร้อง สักวาลาวเล็ก เป็นสักวาของเก่าสมัยโบราณ[19]: 45 แล้วพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้นำมาดัดแปลงทางดนตรีขึ้นใหม่[22][23] เพื่อใช้บรรเลงและขับร้องวงเครื่องสายปี่ชวา[20]
เมื่อเดือนมกราคม ร.ศ. 127 (ตรงกับ พ.ศ. 2452 ตามปฏิทินปัจจุบัน)[24] รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเป็นอธิบดีกรมเพาะปลูก และโปรดให้ตั้งโรงเรียนช่างไหม (โรงเรียนเกษตร วังใหม่สระปทุม) กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงสนพระทัยจึงได้ขยายโรงเรียนช่างไหมออกไปยังมณฑลหัวเมืองต่าง ๆ[25] พระองค์จึงเสด็จตรวจราชการเยี่ยมเยียนราษฎรมณฑลอีสาน ณ หัวเมืองอุบลราชธานี ผ่านอำเภอเขื่องใน บ้านชีทวน ปรากฏใน รายงานของปลัดมณฑลจังหวัดอุบล ฯ ถึงท้าวไชยกุมาร ผู้แทนนายอําเภอแลกรมการเมืองมหาชนะไชย เรื่อง การทําไหม (เดือนมกราคมศก ร.ศ. 127-สนอง)[26]
เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการโรงทอผ้าไหม ณ หัวเมืองอุบลราชธานี ระหว่างทางจากเมืองนครราชสีมาไปเมืองอุบลราชธานีซึ่งสมัยนั้นต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ[19]: 45 และทรงประทับแรมอยู่ตามทางเป็นช่วง ๆ แล้วทรงพระนิพนธ์เพลงไทยเดิมสำเนียงลาวขึ้นใหม่เพลงหนึ่งโดยมีลีลาแบบเดียวกับเพลงลาวดำเนินทรายเพื่อให้คู่กันแล้วประทานชื่อเพลงว่า ลาวดำเนินเกวียน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสด็จคราวนั้น[27] เป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น[19]: 47 และใช้หน้าทับลาวตีประกอบจังหวะ[19]: 45 จึงมีรับสั่งให้หลวงอำนาจณรงค์ราญ (ไพฑูรย์ เพ็ญกุล) เป็นผู้ขับร้องบทเพลงของพระองค์เป็นคนแรก[28] บทร้องเพลงลาวดำเนินทรายฉบับที่กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงพระนิพนธ์ ดังนี้:—
โอ้ละหนอ | ดวงเดือนเอย | |
ข้อยมาเว้า | รักเจ้าสาวคำดวง |
โอ้ดึกแล้วหนอ | ข้อยขอลาล่วง | |
อกพี่เป็นห่วง | รักเจ้าดวงเดือนเอย | |
— ประชุมบทเพลงไทยเดิม กรมศิลปากร (คัดเฉพาะบทแรก)[19]: 45 |
เมื่อโปรดให้นำเพลงลาวดำเนินเกวียนออกร้อง ก็ได้รับความนิยมจากวงดนตรีไทยอย่างแพร่หลายแต่ด้วยบทร้องเพลงขึ้นต้นด้วย "โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย" และแต่ละบทมักจบท่อนด้วย "ดวงเดือน" ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงปี่พาทย์วงพระองค์เพ็ญจึงจดจำเพลงมาร้องต่อก็เรียกชื่อเพลงนี้ว่า ลาวดวงเดือน แทน แล้วพากันเรียกชื่อดังนี้ต่อ ๆ กันเรื่อยมาจนชื่อเพลงลาวดวงเดือนฝังติดหูกันไปทั่ว แม้ทรงประทานชื่อเพลงว่า ลาวดำเนินทราย ก็ไม่มีผู้ใดเรียก หากแต่ใครได้ยินเพลงก็เรียกว่าเพลงลาวดวงเดือนกันทั้งนั้นในสมัยนั้นจึงเป็นอันยุติว่าเพลงลาวดำเนินเกวียนนี้คือเพลงลาวดวงเดือน เช่นเดียวกับกรณีเพลงเขมรไทรโยคมีชื่อเดิมว่า เขมรกล่อมลูก แต่ก็ไม่มีใครเรียกตามชื่อตั้งแต่ต้นเลย[19]: 45
หลังทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียนได้ไม่นาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมจึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ขณะมีพระชนมายุได้ 27 ปี
ผศ.สนิท ตั้งทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทย กล่าวว่า เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกสะเทือนใจเป็นที่สุดสําหรับผู้ที่ไม่เคยมีความสมหวังในความรัก[29]
สมัยรัชกาลที่ 7
[แก้]สมัยรัชกาลที่ 7 กรมศิลปากรนำเพลงลาวดวงเดือนมาประยุกต์ประดิษฐ์ให้มีท่ารำตามนาฏศิลป์ไทยเรียกว่า ฟ้อนลาวดวงเดือน โดยจัดแสดงครั้งแรกต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสตรีในราชสำนัก คุณพนักงานนางพระกำนัล นางสนองพระโอษฐ์แสดงในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงปรับปรุงท่าฟ้อนลาวดวงเดือนให้ดียิ่งขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดให้เพิ่มจังหวะ และโปรดให้ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์เล่นเปียโนประกอบการแสดง[30]
สมัยรัชกาลที่ 9
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2494 อาจารย์มนตรี ตราโมทได้นำทำนองเพลงลาวดวงเดือนมาแต่งใหม่ตั้งชื่อเพลงว่าเพลง โสมส่องแสง[19]: 47 โดยขยายเป็นอัตรา 3 ชั้น แล้วตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว เพื่อใช้บรรเลงร่วมกับ 2 ชั้นของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมให้ครบเป็นเพลงเถาโดยยึดสำเนียงลาวตามต้นฉบับไว้ อาจารย์มนตรี ตราโมทยังแก้ไขทำนองร้องเล็กน้อย กล่าวคือ ของเดิมต้นฉบับทำนองเพลงท่อน 3 ใน 4 จังหวะต้น (หน้าทับสองไม้) ทั้งร้องและรับ กำหนดไว้ให้กลับซ้ำเป็น 2 ครั้ง เมื่อนำมาแต่งทำนองเพลงร้องเป็น 3 ชั้น ถ้าจะให้ร้องทำนองตอนนั้นซ้ำเป็น 2 ครั้งอย่างเดิมก็ดูจะยืดยาดไปจึงตัดให้ร้องแต่เพียงครั้งเดียวแล้วดำเนินทำนองตอนท้ายติดต่อไป เมื่อแก้ไขอัตรา 3 ชั้นแล้ว ทำนองร้อง 2 ชั้น และชั้นเดียวก็ต้องให้เป็นไปตามแบบเดิมกันจึงจะเข้าชุดกันเป็นเถาได้ ส่วนทำนองดนตรีที่รับคงซ้ำ 2 ครั้งอย่างเดิมตลอดเถา[19]: 47
เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงแซกโซโฟนบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนส่วนพระองค์ (ดนตรีแจ๊ส) ร่วมกับเบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman ) นักเป่าแคลริเน็ตชาวอเมริกันเจ้าของฉายาราชาแห่งสวิง (King of Swing) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2499[31] ต่อมาพลตำรวจเอก พิชัย กุลละวณิชย์รองอธิบดีกรมตำรวจ จึงชักชวนคณะออร์เคสตราของเบนนี่ กู๊ดแมนร่วมบรรเลงเพลงลาวดวงเดือน (ดนตรีแจ๊ส) กับวงดนตรีประสานมิตร ประเทศไทย โดยมีเจตนา จุลกะเป็นวาทยกร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ณ โรงพยาบาลตำรวจ ปรากฏตาม หนังสือกรมตำรวจ ที่ 18698/56 ลงวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1956[32]
ในการร่วมบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนทั้งสองคณะเบนนี่ กู๊ดแมนเรียกชื่อเพลงว่า เดอะบิวตี้ฟูลมูนออฟลาว (The Beautiful Moon Of Lao) โดยมีสำนักข่าวบริษัทแพร่สัญญาณแห่งชาติ (เอ็นบีซี) สหรัฐอเมริกา ร่วมบันทึกการบรรเลง[33]: 217 ต่อมาได้นำเพลงดังกล่าวออกวางจำหน่ายในรูปแผ่นเสียงไวนิล เมื่อ ค.ศ. 1987 ชื่ออัลบั้มว่า Jazz And Hot Dance In Thailand 1956-1967
เมื่อ พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงแซกโซโฟนร่วมกับคณะของเบนนี่ กู๊ดแมนที่บอสตัน นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ปรากฏตามรายงานข่าวในนิตยสารไทม์ของสหรัฐอเมริกา ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1960[34] โดยมีการบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนส่วนพระองค์ (ดนตรีแจ๊ส) ในครั้งนั้นด้วย[33]: 216
เมื่อ พ.ศ. 2505 กรมศิลปากรนำฟ้อนลาวดวงเดือนมาปรับปรุงเพิ่มเติมโดยมีท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ช่วยปรับปรุงท่ารำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วให้อาจารย์มนตรี ตราโมทนำออกแสดง และออกนำบทร้องเพลงเพื่อใช้ต้อนรับการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[28]
สารคดีเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง รอยพระยุคลบาท บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำรัชกาลที่ 9 กล่าวถึงเพลงลาวดวงเดือนไว้ว่า:–
Queen Ingrid might have been surprised to see the crown prince sing the famous traditional Thai song ‘Lao Duang Duean’ and to hear Princess Sirindhorn play a Thai fiddle and sing traditional Thai songs as well.[35]
(คำแปลไทย): สมเด็จพระราชินีอิงกริดแห่งเดนมาร์กทรงตื่นเต้นพระทัยที่จะได้ทอดพระเนตรพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงขับร้องเพลงไทยเดิมอมตะชื่อว่า “ลาวดวงเดือน” และจะได้ทรงฟังพระสุรเสียงของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงซอด้วง และทรงขับร้องเพลงไทยเดิม
— วสิษฐ เดชกุญชร และคณะ, In His Majesty's Footsteps: A Personal Memoir สารคดีเฉลิมพระเกียรติ "รอยพระยุคลบาท" บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร (แปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษโดยบุษกร สุริยสาร และคริสโตเฟอร์ มัวร์), (2549)
มีการนำฟ้อนลาวดวงเดือนออกแสดงต้อนรับในโอกาสการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการหลายครั้ง เช่น[28]
- เนื่องในวโรกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเจ้าชายฟรีดริช วิลเฮลม แห่งปรัสเซีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ สวนศิวาลัย พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2506
- เนื่องในวโรกาสพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่เจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนะมิยะ พระราชอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และเจ้าหญิงฮานาโกะ พระชายา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2508
- เนื่องในวโรกาสพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่พระสหาย ณ พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2509
มีการจัดแสดงฟ้อนลาวดวงเดือนอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน[28] และมีการใช้เพลงลาวดวงเดือนฟ้อนถวายฯ รัชกาลที่ 9 มากที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2534[36]
เมื่อ พ.ศ. 2527 คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง นำเพลงลาวดวงเดือนมาเรียบเรียง ต่อมาวงดนตรีคุรุสภา (ชื่อเดิม: สมัคยาจารย์สมาคม) จึงได้นำผลงานของท่านออกบรรเลงเป็นครั้งแรก[37]
มูลเหตุ และทัศนะเกี่ยวกับการนิพนธ์เพลง
[แก้]ตำนานความรักเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่
[แก้]เอกสารทั่วไประบุว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จภาคอีสานด้วยเกวียน จึงทรงแต่งเพลงนี้ขึ้น มีทำนองแบบเพลงลาว และประทานชื่อว่า "ลาวดำเนินเกวียน" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการเสด็จคราวนั้น[23][27] แต่เอกสารบางฉบับก็อ้างถึงคำเล่าลือว่า พระองค์ทรงแต่งเพลงนี้ขึ้นเพราะทรงคิดถึงเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ รักแรกที่ไม่สมหวังของพระองค์[38][39]
หนังสือ ร้อยเรียงเวียงวัง ของกิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2543 อ้างว่า ในราว พ.ศ. 2446 กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จไปตรวจการทำไหมในมณฑลอีสาน ทรงคิดถึงหญิงผู้เป็นรักแรก คือ เจ้าหญิงชมชื่น (ณ เชียงใหม่) ธิดาของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (ธรรมลังกา) กับเจ้าหญิงคำย่น ซึ่งถูกรัชกาลที่ 5 พระบิดา คัดค้านการสมรสกันโดยไม่ปรากฏเหตุผล จึงทรงแต่งเพลงนี้ขึ้น ประทานชื่อว่า "ลาวดำเนินเกวียน" เพราะอยู่ระหว่างเสด็จด้วยเกวียน และให้เข้าคู่กันกับเพลง "ลาวดำเนินทราย"[38] กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากการ "เล่ากัน"[38]
บทความ อาศรมมิวสิก: ปลดแอกลาวออกจากเพลง เหลือแค่ดวงเดือนทำนองเมืองเหนือ ซึ่งสุกรี เจริญสุข เขียนเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2564 ว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงพบรักกับเจ้าหญิงชมชื่นแห่งเชียงใหม่ โปรดให้ข้าหลวงมณฑลพายัพเป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอ แต่ไม่เป็นผล เพราะผู้ใหญ่ฝ่ายเชียงใหม่ต้องการรอให้เจ้าหญิงอายุครบ 18 ปีก่อน ส่วนรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ทรงอนุญาต และพระราชวงศ์ที่กรุงเทพฯ ก็ทัดทาน ต่อมาในราว พ.ศ. 2447–8 กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จหัวเมืองอีสานด้วยเกวียน "ด้วยพลังของความคิดถึงหญิงคนรัก" จึงทรงแต่งเพลงนี้ขึ้น ตั้งชื่อว่า "ลาวดำเนินเกวียน" สุกรี เจริญสุข ยังอ้างว่า "ลือกันว่า" ภายหลัง กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมตรอมพระทัยที่ไม่ได้สมหวังกับเจ้าหญิงชมชื่น จนประชวรโรคปอดสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2452 พระชันษาได้ 27 ปี ส่วนเจ้าหญิงชมชื่นเองที่ไปสมรสกับเจ้าน้อยสิงห์คำ ณ ลำพูน นั้น ก็ตรอมใจเสียชีวิตในปีถัดมา คือ พ.ศ. 2453 อายุได้ 23 ปี[39]
ข้อเท็จจริง และทัศนะ
[แก้]ตำนานความรักเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ เป็นมูลเหตุในการนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียนหรือไม่? อาจารย์วรชาติ มีชูบท (นามปากกา V_ Mee ในพันทิป.คอม) เคยวิเคราะห์ไว้ดังนี้
เมื่อคราวกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จไปที่นครเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2445 ปีมะเมียนั้น (สมัยพระองค์เรียกว่า หัวเมืองลาวเฉียง หรือมณฑลพายัพตามระบบแบ่งเขตการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีกระแสพระบรมราชโองการห้ามเจ้านาย และข้าราชการสยามที่ขึ้นไปประจำราชการที่เมืองนครเชียงใหม่รับเจ้านายฝ่ายหญิง หรือสตรีพื้นเมืองเหนือเป็นภรรยาโดยเด็ดขาด จึงเป็นไปไม่ได้ที่กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมจะกล้าขัดกระแสพระบรมราชโองการให้ข้าราชการสยามไปสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น (ณ เชียงใหม่) มาเป็นหม่อมในพระองค์[40]
ระหว่างที่กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมประทับพักแรมที่นครเชียงใหม่ ทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า:–
เมื่อเสด็จถึงนครเชียงใหม่ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2445 ได้ประทับแรมที่จวนข้าหลวงใหญ่ฯ ริมนํ้าปิง แล้วได้เสด็จตรวจที่ว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ ศาลต่างประเทศ โรงตำรวจ เค้าสนามหลวง โรงฆ่าสัตว์ วัด ตลาด และสถานประกอบการหัตถกรรมกับทอดพระเนตรภูมิประเทศในเมืองนครเชียงใหม่เป็นลำดับ
วันที่ 18 มีนาคม เสด็จประพาสดอยสุเทพ รุ่งขึ้นเสด็จลงจากดอยสุเทพกลับมาประทับแรมที่จวนข้าหลวงใหญ่ฯ เข้าวันที่ 20 มีนาคม ทรงม้าเสด็จไปประพาสพระบาทสี่รอยจนถึงวันที่ 26 มีนาคมจึงเสด็จกลับไปประทับแรมที่นครเชียงใหม่อีกครั้ง ครั้นได้เวลาพระฤกษ์วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2445 เวลาบ่าย 1 โมง 30 นาที เสด็จลงเรือเพื่อจะกลับกรุงเทพฯ[40]
— กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรื่อง บอกระยะทางพระองค์เพ็ญเสด็จมณฑลพายัพ (เลขที่ ร.5 ม.2.14/45) (11-29 พฤษภาคม ร.ส. 121)
หลักฐานข้างต้นระบุว่าการเสด็จกลับจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ นั้นเป็นการเสด็จโดยกระบวนเรือล่องลงมาตามลำน้ำปิง ไม่มีหลักฐานบันทึกใด ๆ ระบุว่า กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงเกวียน หรือมีเกวียนร่วมในขบวนเสด็จ เนื่องจากเส้นทางไปหัวเมืองเหนือเต็มไปด้วยป่าเขา ต้องขึ้นเขาลงห้วยอยู่ตลอดเวลาไม่สะดวกที่จะใช้เกวียนเป็นพาหนะ[40]
ดังนั้น เรื่องเล่าว่าทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียนระหว่างเสด็จไปเชียงใหม่นั้นไม่มีมูลความจริงเลย แต่น่าจะทรงพระนิพนธ์เมื่อคราวเสด็จไปมณฑลอีสาน (หัวเมืองลาวกาว) หลังเสด็จกลับจากเชียงใหม่มากกว่า[40]
ทั้งนี้ ชัยพัฒน์ อุดมมะนะ ทายาทรุ่นที่ 5 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม แสดงทรรศนะเพลงลาวดวงเดือนไว้ว่า:–
เรื่องราวเกี่ยวกับความรักระหว่างเสด็จในกรมกับเจ้าหญิงล้านนา จนกลายเป็นเหตุให้เสด็จในกรมต้องทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนนั้นจะจริงหรือไม่ ไม่มีใครสามารถยืนยันได้เพราะในราชสกุลไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวที่ว่านี้แต่อย่างใด[28]
เนื้อร้อง
[แก้]ขจร ปานะนนท์
[แก้]เอกสาร บทร้องเพลงไทยเดิม ของขจร ปานะนนท์ ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2502 ระบุเนื้อร้องเพลงนี้ไว้ ดังนี้[23]
เที่ยวต้น | (1) | โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่นี้เว้าเจ้าสาวคำดวง โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงเจ้าดวงเดือนเอย |
(2) | ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม จะหาไหนมาเทียมเจ้าดวงเดือนเอย | |
(3) | หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย ถึงจะหอมกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย กลิ่นหอมทรามเชยเล่าเนอ | |
เที่ยวกลับ | (1) | โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่นี้รักแสนดังดวงใจ โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย |
(2) | เห็นเดือนแรมเริดร้างเวหา เบิ่งดูฟ้าเล่าหนอ เห็นมืดมนจะทนทุกข์ ทุกข์ทนจะขาดใจเอย | |
(3) | เสียงไก่ขันขาน เสียงหวานเจื้อยแจ้ว มันหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย ถึงจะหวานเสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่แม้นทรามเล่าหนอ |
กรมศิลปากร
[แก้]เอกสาร อธิบายเพลงโสมส่องแสง เถา ของกรมศิลปากร ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2509 ให้เนื้อร้องที่ต่างออกไป ดังนี้[27]
โอ้ละหนอ | ดวงเดือนเอย | |
ข้อยมาเว้า | รักเจ้าสาวคำดวง | |
โอ้ดึกแล้วหนอ | ข้อยขอลาล่วง | |
อกพี่เป็นห่วง | รักเจ้าดวงเดือนเอย | |
ขอลาแล้ว | เจ้าแก้วโกสุม | |
ข้อยนี้รักเจ้าหนอ | ขวัญตาเรียม | |
จะหาไหนมาเทียม | เจ้าดวงเดือนเอย | |
หอมกลิ่นเกสร | เกสรดอกไม้ | |
หอมกลิ่นคล้าย | คล้ายเจ้าสูของเรียมเอย | |
หอมกลิ่นกรุ่นครัน | หอมนั้นยังบ่เลย | |
เนื้อหอมทรามเชย | เราละเหนอ | |
โอ้ละหนอ | นวลตาเอย | |
ข้อยนี้รัก | แสนดังดวงใจ | |
โอ้เป็นกรรม | ต้องจำจากไป | |
อกพี่อาลัย | เจ้าดวงเดือนเอย |
ทำนอง
[แก้]ลาวดวงเดือน เป็นเพลงไทยสำเนียงลาวมีอัตราจังหวะสองชั้น มี 3 ท่อนหน้าทับลาว มีบันไดเสียงของเพลงอยู่ในกลุ่มเสียงทางเพียงออบนที่นิยมใช้กับเพลงไทยสำเนียงลาวทั่วไป คือ กลุ่มเสียงปัญจมูล (ระดับกลาง) ที่ 4 โด เร มี x ซอล ลา x ไม่ปรากฏการเปลี่ยนกลุ่มเสียงระหว่างทำนองเพลง ส่วนลักษณะทำนองเพลงพบว่ามีลักษณะการดำเนินทำนองแบบบังคับทางนอก[28]
วาคภัฎ ศรีวรพจน์ ดุริยางคศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร แสดงทัศนะ อิทธิพล แรงบันดาลใจ และตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเพลงลาวดวงเดือนไว้ว่า:–
ลักษณะทำนองและเสียงของลูกตกรวมถึงกลุ่มเสียงของเพลงลาวดวงเดือนนั้นหากพิจารณาดูแล้วจะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันกับทำนองของเพลงลาวเล่นน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นระบบเสียงของการประพันธ์เพลงไทยสำเนียงลาวโดยทั่วไปที่นิยมกันในยุคสมัยนั้น นอกจากนี้เพลงลาวดวงเดือนยังมีทำนองและเสียงลูกตกของเพลงที่คล้ายกันกับเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) ในดนตรีตะวันตกอีกด้วยด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่าคงเพราะด้วยเสด็จในกรมทรงเป็นนักเรียนนอก จึงอาจทรงเคยฟังการบรรเลงเพลงดนตรีในวัฒนธรรมตะวันตกมาก่อนและเมื่อทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนขึ้น จึงอาจได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจบางประการจากเพลงดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการประพันธ์เพลงลาวดวงเดือน[28]
ส่วน อัจยุติ สังข์เกษม สมาชิกวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (Thai Youth Orchestra, TYO) อธิบายความคล้ายคลึงระหว่างเพลงลาวดวงเดือนกับเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) ว่า:–
เพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) ประพันธ์ทำนองโดยอันโตญีน ดโวชาก (Antonín Dvorak) คีตกวีชาวเช็กเมื่อคริสต์ศักราช 1894 หากพิจารณาทำนองของเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) ในช่วง Theme A กับเพลงลาวดวงเดือนท่อน 1 แล้ว จะพบว่ามีการใช้ลักษณะของการประพันธ์เพลงที่คล้ายคลึงกันตรงที่ประพันธ์ให้โน้ตตัวแรกของเพลงและโน้ตตัวสุดท้ายของท่อนเพลงขึ้นและจบเป็นเสียงโน้ตตัวเดียวกันนอกจากนี้ถ้าหากนำเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) ในช่วง Theme A มาจดบันทึกเป็นโน้ตแบบไทยแล้วเปลี่ยนบันไดเสียง (Transpose) จากนั้นนำมาเทียบกับโน้ตเพลงลาวดวงเดือนแล้วจะพบว่าโน้ตเพลงลาวดวงเดือนนั้นได้ถูกขยายทำนองเพลงขึ้นเป็นอีกเท่าหนึ่งของเพลงฮิวเมอเรสก์ส (Humoresqueop.101 No.7) ในช่วง Theme A อีกด้วย[28]
ในประเทศลาว
[แก้]เพลงลาวดวงเดือนยังเป็นที่นิยมในประเทศลาว เนื่องจากโรงเรียนศิลปะแห่งชาติลาวมีการเปิดสอนเพลงลาวดวงเดือนในรายวิชาสาขาดนตรีพื้นเมืองสำหรับนักเรียนเครื่องปี่พาทย์ของลาว[41]: 53, 55 พบว่ามีการเปิดสอนเพลงพระราชนิพนธ์ของเจ้านายราชวงศ์ของไทยหลายเพลง เช่น เพลงลาวเสี่ยงเทียน เพลงลาวดำเนินทราย เพลงลาวคำหอม เพลงลาวกระทบไม้ เพลงลาวสมเด็จ ฯลฯ[41]: 135
ส่วนต้นกำเนิดเพลงลาวดวงเดือนในประเทศลาว เอกสารเรื่อง วรรณคดีและศิลปะลาว (ลาว: ວັນນະຄະດີ ແລະ ສິລະປະລາວ) โดย สุลัง เดชวงษา อดีตผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติลาว ระบุว่า เพลงลาวดวงเดือนนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งเป็นบทเพลงอมตะ[42] นอกจากนี้ประเทศลาวยังได้นำเพลงลาวดวงเดือนไปดัดแปลงบทร้องใหม่เป็น 2 บท คือ บทสำหรับผู้ชายร้อง และบทสำหรับผู้หญิงร้อง[43]
เนื้อเพลง (สำหรับชาย)
[แก้]ໂອລານໍ ດວງເດືອນເອີຍ |
โอลานอ ดวงเดือนเอีย |
—Lao Heritage Foundation (ລາວດວງເດືອນ ຜູ່ຊາຍ) | —ฉบับปริวรรตอักษรไทย |
เนื้อเพลง (สำหรับหญิง)
[แก้]ໂອລະນໍ ດວງເດືອນເອີຍ |
โอลานอ ดวงเดือนเอีย |
—Lao Heritage Foundation (ລາວດວງເດືອນ ຜູ່ຍິງ) | —ฉบับปริวรรตอักษรไทย |
การจัดแสดง
[แก้]มีการนำเพลง ลาวดวงเดือน ไปจัดแสดงขับร้องในงานแสดง งานเทศกาลดนตรี และการประกวดแข่งขันระดับชาติ และนานาชาติ ดังนี้:–
- พ.ศ. 2531 การขับร้องเพลงลาวดวงเดือนในงานคอนเสิร์ต The Symposium of the International Musicological Society, closing concert จัดขึ้นโดยสมาคมดนตรี ดิ แอสตร้า ชอมเบอร์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2531 เวลา 20.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ขับร้องโดยอนงค์ จันทระเปารยะ และเล่นฆ้องวงประกอบจังหวะโดยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี[44]
- พ.ศ. 2548 การบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนในงาน 2005 World Association of Symphonic Bands and Ensembles (WASBE) ณ เวสท์วินด์ คลับชุมชนบูกิต บาตอก ประเทศสิงคโปร์ โดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์[45]
- พ.ศ. 2549 การบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนโดยวงเดอะ ซันไรส์ สตริง ออร์เครสตรา (SSO) วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ณ ศาลาสุทธสิริโสภา ซอยลาดพร้าว 41 กรุงเทพมหานคร[46]
- พ.ศ. 2556 การขับร้องประสานเสียงเพลงลาวดวงเดือนของคณะขับร้องประสานเสียงศรีสะเกษวิทยาลัย (Srisaketwittayalai Choir) โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ในการแข่งขันขับร้องประสานเสียงแห่งเอเชียแปซิฟิค มานาโด ครั้งที่ 3 ณ คริสตจักรเกเรจา ทีเบเรียส มานาโด จังหวัดซูลาเวซีเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยนายแพทย์กิตติพร ตันตระรุ่งโรจน์ นายกสมาคมขับร้องประสานเสียงแห่งประเทศไทย และวาทยกรโดยครูประกาศิต สอนแก้ว[47]
- พ.ศ. 2562 การบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย เรียงเรียงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ และวาทยกรโดยอัลฟอนโซ สการาโน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ มหิดลสิทธาคาร โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม
- พ.ศ. 2564 การบรรเลงชุด Theme and Variation on Lao Duang Duan for Trumpet and Wind Ensemble ผลงานโดยไกรศิลป์ โสดานิล ในการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 (ISCFA) วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ณ หอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา[48]
- พ.ศ. 2564 การบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยในงานเทศกาลดนตรีนานาชาติปูซานประจำปี 2021 (BMIMF) ณ ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 26 กันยายน[49]
- พ.ศ. 2565 การบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยในงานเทศกาลดนตรีคลาสสิกลูบลิยานา ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ แคงเกอร์ฮอล ลูบลิยานา ประเทศสโลวีเนีย[50]
ทัศนะ
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2537 อาจารย์เสนีย์ เกษมวัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย และครูหัวหน้าหมวดศิลปศึกษา โรงเรียนจิตรลดา ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 24–30 มกราคม พ.ศ. 2537 และเขียนบันทึกสิ่งที่ได้พบเห็นในระหว่างทัศนศึกษา และบันทึกความกังวลเรื่องเพลงลาวดวงเดือน และดนตรีไทย ตีพิมพ์ในหนังสือ แอบชมลายขอม ไว้ว่า:–
เพลงลาวดวงเดือน เราบรรเลงกันมานานเพราะเป็นพระนิพนธ์ในกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมฯ เจ้านายของฝ่ายไทย วันดีคืนดี (คงต้องเขียนว่าวันไม่ดีคืนไม่ดีจะเหมาะกว่า) ลาวเขาก็เอาไปจดลิขสิทธิ์ว่าเป็นเพลงของเขา คนไทยที่มีหน้าที่ปกป้องสมบัติของชาติก็ทําเฉยอีก เข้าทํานองนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น ถ้าภายหลังไทยเราเกิดบันทึกแผ่น C.D. เพลงลาวดวงเดือนแล้วรัฐบาลลาวทําการยื่นฟ้องไทยในโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อถึงวันนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางดนตรีของไทยจะว่าอย่างไรก็ยากจะเดาถูก ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าการที่ไทยเชิญนักดนตรีของเขมรมาสัมมนาในเชิงวิชาการ เมื่อมีการแอบอ้างแต่ไทยไม่ทักท้วง ถือว่าครั้งนี้เขมรเป็นฝ่ายได้เปรียบมาก เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นฝ่ายได้ใจ และคงบันทึกไว้ว่าไทยมิได้ทักท้วงแต่อย่างไร และเมื่อเราไปเชิญนักดนตรีเขมรกลุ่มอื่น ๆ มาสัมมนาแล้วไม่ทักท้วงอีกก็เหมาเอาว่าเรายอมรับโดยปริยาย เมื่อมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงระหว่างประเทศในภายหลัง เราก็คงต้องตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอีกเป็นแน่แท้[51]
— เสนีย์ เกษมวัฒนากุล, บันทึกทัศนศึกษา ณ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 24–30 มกราคม พ.ศ. 2537
ในวัฒนธรรมประชานิยม
[แก้]เพลงดาวดวงเดือนปรากฏตามวรรณกรรม สื่อ และรายการบันเทิงต่าง ๆ เช่น
ละคร ภาพยนตร์ รายการบันเทิง
[แก้]- วัยอลวน (พ.ศ. 2519)
- รายการจำอวด คุณพระช่วย
- ข้าวนอกนา (พ.ศ. 2533)
- เพชรกลางไฟ
- โหมโรง (พ.ศ. 2547)
- อีเรียมซิ่ง (พ.ศ. 2563) (ขับร้องโดย ราณี แคมเปน)
- ชั่วฟ้าดินสลาย (พ.ศ. 2553)
- MV ลาวดวงเดือน Under The Same Moon (2021) (ขับร้องโดย สิงโต ปราชญา คริส พีรวัส และเอด้า ชุณหวชิร)
- ละครเวทีเรื่อง รอยดุริยางต์ เดอะมิลสิวคัล (พ.ศ. 2558) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
เทคโลโลยีสารสนเทศ
[แก้]- ไวรัสลาวดวงเดือน (Loa Duang virus)[52] เพลงนี้ถูกใช้เป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ซึ่งตรวจพบในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยมุ่งทำลายหน่วยพักความจำในฮาร์ดดิสก์และฟล็อปปีดิสก์ และทุก ๆ ครั้งที่เข้าถึงดิสก์ครบ 128 ครั้ง จะเล่นเพลงนี้ออกทางลำโพง เรียกชื่อว่า "ไวรัสลาวดวงเดือน" ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Loa Duong Virus"[53][54]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 สนอง คลังพระศรี. "ลาวดวงเดือน...ลาวไหนกันแน่," วารสารเพลงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ 1(3)(2537): 71. ISSN 0858-9038
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Miller, Terry and Williams, Sean. (2011). The Garland Handbook of Southeast Asian Music. Hoboken, NJ: Taylor and Francis. p. 152, 197. ISBN 978-113-5-90155-4
- ↑ Patnaik, Srikanta and Li, Xiaolong. (2014). Proceedings of International Conference on Soft Computing Techniques and Engineering Application at ICSCTEA 2013, September 25-27, 2013, Kunming, China. New Delhi: Springer. p. 135. ISBN 978-813-2-21695-7 "The sample songs named one-class rhythm Khae-Bor-Ra-Ted (Thai: แขกบรเทศชั้นเดียว), two-class rhythm Lao-Siang-Tian (Thai: ลาวเสี่ยงเทียน 2 ชั้น), Lao-Kruan (Thai: ลาวครวญ 2 ชั้น), and famous Moonlight Serenade or Lao-Duang-Duen (Thai: ลาวดวงเดือน 2 ชั้น)."
- ↑ สงบศึก ธรรมวิหาร. (2540). ดุริยางค์ไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 60. ISBN 978-974-6-35111-9
- ↑ ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2544). วรรณคดีอยุธยาตอนต้น: ลักษณะร่วมและอิทธิพล (The early Ayudhya Poetry: Characteristics and Influence). กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 189. ISBN 978-974-3-46930-5
- ↑ Renard, Ronald D. "The Image of Chiang Mai: The Making of a Beautiful City," Journal of the Siam Society 87(1-2)(1999): 93.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. (2566). ประวัติศาสตร์ล้านนา. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 213. ISBN 978-616-3-98905-5
- ↑ สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2546). รายงานวิจัย โครงการวิจัยเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน 2488-2544. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์. หน้า 44. ISBN 978-974-9-15973-6
- ↑ Miller, Terry E., Chonpairot, Jarernchai, and Center for Southeast Asian Studies, Northern Illinois University. "A History of Siamese Music Reconstructed from Western Documents," Crossroads: An Interdisciplinary Journal of Southeast Asian Studies 8(2)(1994): 155. JSTOR i40038845 :- "It is not Lao in origin, but rather "samniang lao" or in Lao accent."
- Williams, Sean. (2006). The Ethnomusicologists' Cookbook: Complete Meals from Around the World. New York, NY: Routledge. p. 107. ISBN 978-041-5-97819-4 LCCN 2006-4799 :- "Within the world of Thai classical music, composers have shown the general Thai fascination with the exotic by creating pieces/songs written in “foreign accents” (called samniang): Lao, Khmer, Burmese, Malaysian, Javanese, Vietnamese, Chinese, Mon, and Western. Each samniang is usually expressed through the percussion instruments along with invocations of musical stereotype. Therefore, the Thai music spectrum, like the culinary one, is eclectic and international."
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง. (2535). ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2520 จนถึงเดือนสิงหาคม 2535. จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง. หน้า 73.
- ↑ 11.0 11.1 สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2532). สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับการอนุรักษ์มรดกไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย. หน้า 162. ISBN 978-974-7-90311-9
- ↑ "สมเด็จฯ ทรงโปรดเพลงลาวดวงเดือนมาก เคยรับสั่งให้พระบรมฯ ทรงขับร้อง พระเทพฯ ทรงดนตรี และโปรดให้ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ทรงฟ้อน". (2559, 13 พฤศจิกายน). Tnews. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2567.
- ↑ อักษรบัณฑิต. (2520). ประมวลพระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชประวัติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา. กรุงเทพฯ: อักษรบัณฑิต. หน้า 26.
- ↑ จำลอง สาลีสังข์ และคณะ, มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. (2533). สามฟ้าหญิงแห่งราชวงศ์ราชันย์ (Three Princess of the Royal Family). กรุงเทพฯ: เจริญรัฐการพิมพ์. หน้า 16. OCLC 934583993
- ↑ พูนพิศ อมาตยกุล. (1981). สยามสังคีต: รวมเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีไทย วิจิตรพิศดารและลํ้าค่าที่สุด. กรุงเทพฯ: เจ้าพระยา. หน้า 71. ISBN 978-974-8-35014-1
- ↑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2453). ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ. พระนคร: ม.ป.พ. หน้า 80. OCLC 880646653
- ↑ ชนินทร์ เจริญพงศ์. (2543). สถานภาพและทิศทางอนาคตว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา. กรุงเทพฯ: ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. หน้า 18. ISBN 978-974-7-36046-2
- ↑ พูนพิศ อมาตยกุล, พิชิต ชัยเสรี, อารดา กีระนันทน์, วชิราภรณ์ วรรณดี, ประพจน์ อัศววิรุฬหการ และจรวยพร สุเนตรวรกุล. (2532). นามานุกรมศิลปินเพลงไทยในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. โดยการสนับสนุนในการจัดพิมพ์จากเงินทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 190. ISBN 978-974-5-76800-0
- ธำมรงค์ บุญราช. (2565, 19 กันยายน). "โอ้ะ! พี่เป็นห่วงนัก เจ้าดวงเดือนเอย...,". (เรียบเรียงฉลองพระเดชพระคุณเนื่องในวาระคล้ายวันประสูติ
- ↑ 19.00 19.01 19.02 19.03 19.04 19.05 19.06 19.07 19.08 19.09 19.10 19.11 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา, และมนตรี ตราโมท. (2512). ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับเกร็ดความรู้เรื่องดนตรีไทย และประชุมบทเพลงไทยเดิม ภาคหนึ่ง ภาคสอง และภาคสาม. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางแปลก รัตนจักร์ (อัมระปาล) ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2512. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. OCLC 880771521
- ↑ 20.0 20.1 กฤษฎา สุขสำเนียง. "“ลาวดำเนินทราย” การเปลี่ยนแปลงที่ยังธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และคุณค่าในตัวเอง," วารสารวิพิธพัฒนศิลป์บัณฑิตศึกษา 2(2)(พฤษภาคม–สิงหาคม 2565): 19. ISSN 2730-3640 doi:10.14456/wipit.2022.7
- ↑ กรมศิลปากร. (2482). "ว่าด้วยหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน," เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เล่ม ๑. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวละออ หลิมเซ่งท่าย ต.ม. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. หน้า 36.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2468). ตำนานเสภา. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย. หน้า 67.
- ↑ เจริญชัย ชนไพโรจน์. (2513) ประวัตินักดนตรีไทย. เอกสารทางวิชาการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2513 วิทยาลัยครูมหาสารคาม และวิทยาลัยการศึกษามหาสารคาม. ขอนแก่น: โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์. หน้า 208.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 "ประวัติและบทขับร้องเพลงไทยบางบท". (2522). ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงลมุน บุรกรรมโกวิท ณ เมรุวัดธาตุทอง สุขุมวิท พระโขนง กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2522 (หน้า 11–12). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล.
- ↑ เติม วิภาคย์พจนกิจ. (2542). ประวัติศาสตร์อีสาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 474. ISBN 9789745716896
- ↑ วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2531). ผ้าไทย. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 30. ISBN 978-974-0-05026-1
- ↑ สนอง คลังพระศรี. "ลาวดวงเดือน...ลาวหรือไทย...ใครแต่งกันแน่," ศิลปวัฒนธรรม 18(7)(2540): 175.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 กรมศิลปากร. (2509). "อธิบายเพลงโสมส่องแสง เถา". ใน เกร็ดความรู้ เรื่อง ดนตรีไทย (หน้า 59–66). พระนคร: โรงพิมพ์อำพลพิทยา. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายพิษณุ แช่มบาง ณ เมรุวัดระฆังโฆษิตาราม ธนบุรี วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2509).
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 28.5 28.6 28.7 "โอ้ะ! พี่เป็นห่วงนัก เจ้าดวงเดือนเอย...". สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2567.
- ↑ สนิท ตั้งทวี. (2534). วรรณคดีและวรรณกรรมไทยเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 8.
- ↑ อมรา กล่ำเจริญ, วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. (2526). สุนทรียนาฏศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 191. ISBN 9789742758394
- ↑ Grossman, Nicholas et al. (2009). "King plays jass with Benny Goodman," Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946. Singapore: Editions Didier Millet ; Tien Wah Press. p. 89. ISBN 978-981-4217-12-5
- ↑ "Letter to Benny Goodman. MSS 53, the Benny Goodman Papers, Box 111, Folder 18". Irving S. Gilmore Music Library, Yale University Library. Retrieved on 19 October 2024.
- ↑ 33.0 33.1 Connor, Donald Russell. (1988). Benny Goodman: Listen to His Legacy. Metuchen, NJ: Scarecrow Press and the Institute of Jazz Studie. pp. 216–217. ISBN 978-081-0-82095-1
- ↑ Gray, Denis D. (2016, October 28). His Majesty King Bhumibol Adulyadej was jazz musician, artist & inventor. Pattaya Mail. Retrieved on 19 October 2024.
- ↑ Dejkunjorn Vasit, Suriyasarn Busakorn, and Moore Christopher. (2006). In His Majesty's Footsteps: A Personal Memoir. Bangkok: Heaven Lake Press; distributed in Thailand by Asia Document Bureau. p. 154. ISBN 978-974-9-41258-9
- ↑ บวร ยสินทร และคณะ, บริษัท บี.เอส. โปรโมชั่น จำกัด. (2534). โบแดง: ปรากฏการณ์แรกในวงการหนังสือ บันทึกที่สุดของเมืองไทย 2534. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ ; ฉบับพิมพ์ซ้ำโดย เคล็ดไทย. หน้า 420.
- ↑ ชิ้น ศิลปบรรเลง และมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง). (2534). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ท.จ. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2534. กรุงเทพฯ: มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง). หน้า 52.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. (2543). ร้อยเรียงเวียงวัง. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า. ISBN 974-690-162-1. หน้า 153–156.
- ↑ 39.0 39.1 สุกรี เจริญสุข. (2564). อาศรมมิวสิก: ปลดแอกลาวออกจากเพลง เหลือแค่ดวงเดือนทำนองเมืองเหนือ. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2564 จาก Link
- ↑ 40.0 40.1 40.2 40.3 วรชาติ มีชูบท. "ตำนานรักมะเมีย เรื่องราวความรักของผู้ใด?," ศิลปวัฒนธรรม 36(4)(กุมภาพันธ์ 2558): 84-85. อ้างใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เรื่อง บอกระยะทางพระองค์เพ็ญเสด็จมณฑลพายัพ (เลขที่ ร.5 ม.2.14/45) (11-29 พฤษภาคม ร.ส. 121)
- ↑ 41.0 41.1 ยงยุทธ เอี่ยมสอาด. (2563). การฟื้นฟูและการพัฒนาทำนองเพลงดนตรีลาวเดิมของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (The Revival Of Development Of Lao Classical Music Of The Lao People's Democratic Republic). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (มานุษยดุริยางควิทยา). คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพมหานคร. หน้า 53, 55, 135.
- ↑ Soulang Dejvongsa. (1990). Lao Literature and Arts: Written Language and Arts in General ວັນນະຄະດີ ແລະສິລປະລາວ: ວັນນະຄະດີຂຽນ ແລະສິລປະໂດຍທົ່ວໄປ (in Lao). Lao Program Research for Minneapolis Public School, Minnesota, USA). Minnesota, USA: Lao Program Research. p. 14.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 Lao Heritage Foundation. Laoduangduen Phuying ລາວດວງເດືອນ ຜູ່ຍິງ (in Lao). Music Sheets in Grid Form. Retrieved on 21 October 2024 from https://lhfus.org/songs-sheets.
- ↑ Hair, Greta Mary, and Smith, Robyn E. (2016). Songs of the dove and the nightingale : sacred and secular music c.900-c.1600. LONDON: Routledge. p. 250. ISBN 978-113-4-31425-6
- Astra Concert Program 2 September 1988: Symposium of the International Musicological Society, closing concert. The Astra Chamber Music Society, Old Customs House. Retrieved on 17 October 2024.
- ↑ West Winds Band of the Bukit Batok Community Club". Standford Libraries, Stanford University, Stanford, California. Retrieved on 19 October 2024.
- ↑ Talisman Asia. "Metro Beat: Traditional Music," Bangkok 101 (Oct 2016): 11.
- ↑ INTERKULTUR and Provincial Government of North Sulawesi and ROYALINDO Convention International, Jakart. (2013). Program book "Asia Pacific Choir Games" MANADO, NORTH SULAWESI INDONESIA, OCTOBER 8–18, 2013. Frankfurt: INTERKULTUR. p. 62.
- ↑ Thaksin University, Faculty of Fine and Applied Arts. (2021). International Symposium on Creative Fine and Applied Arts (ISCFA) 2021. Songkhla: Thaksin University. p. 25.
- ↑ "Thailand Phil is one of four international orchestras selected to have video performances screened at the 2021 Busan Maru International Music Festival in South Korea". (2022, June 27). General Administration Division, Mahidol University. Retrieved on 19 October 2024.
- ↑ ณรงค์ ปรางค์เจริญ และกณิศอันน์ มโนพิโมกษ์. (2565, 7 พฤศจิกายน). "ก้าวสำคัญของดนตรีคลาสสิกไทย … ที่กระหึ่มในเทศกาลดนตรีระดับโลก". กองบริหารงานทั่วไป วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2567.
- ↑ เสนีย์ เกษมวัฒนากุล และอังกาบ บุญยัษฐิติ, ท่านผู้หญิง. (2539). แอบชมลายขอม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง. หน้า 139. ISBN 978-974-8-36485-8
- ↑ Feudo, Christopher V. (1992). The computer virus desk reference. Homewood, IL: Business One Irwin. p. 241. ISBN 978-155-6-23755-3
- "[Loa Duong Virus]". Patricia Hoffman's September 1998 edition of VSUM, online. Retrieved on 16 October 2024.
- Klongnaivai, Sanya. "ไวรัสคอมพิวเตอร์ [Computer Virus," NECTEC Technical Journal 1(6)(Jan – Feb, 2000): 237. ISSN 1513-2145
- ↑ Patricia Hoffman. (n.d.). "Loa Duong Virus". Virus Information Summary List. Retrieved 10 October 2021 from Link
- ↑ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะศึกษาศาสตร์, ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา. (ม.ป.ป.). ไวรัสคอมพิวเตอร์. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2564 จาก Link[ลิงก์เสีย]