ข้ามไปเนื้อหา

ลาวดวงเดือน (เพลงถวายพระพรชัยมงคล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลาวดวงเดือน เป็นเพลงไทยถวายพระพรชัยมงคล รัชกาลที่ 6 เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพลกองทหารบกรถยนต์ การรับทหารกลับจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทวีปยุโรป แต่งโดยนายพันโท หลวงไววิธีทัพ (พล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) เมื่อ พ.ศ. 2462[1]: 444 

ประวัติ

[แก้]
พระราชพิธีเสด็จตรวจแถวทหารเนื่องในการรับทหารกลับจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทวีปยุโรป พ.ศ. 2462

เมื่อวันที่ 21 กันนายน พ.ศ. 2462 กองทหารซึ่งกลับจากราชการสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพร้อมด้วยทหารประจำพระนคร ให้เดินขบวนแห่จากศาลาว่าการกลาโหม (ปัจจุบันคือ กระทรวงกลาโหม) ตามริ้วขบวนลำดับแรก คือ ขนวนแตรวง กรมทหารบกม้า และกองทัพน้อยทหารบกที่ 1 จนถึงริ้วขบวนสุดท้าย คือ ขบวนแตรวง กรมทหารบกราบที่ 3 โดยให้ทหารทุกคนถือโคมรูปดอกบัวสีเขียว สีขาวแดง และสีน้ำเงินสลับสีกันเป็นสีธงชาติไทย แล้วเดินริ้วขบวนมาตั้งแถวหน้าพระที่นั่งไชยชุมพล พระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย พระนคร[1]: 442 

เมื่อเวลา 21.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งไชยชุมพล เมื่อขบวนทหารตั้งแถวพร้อมแล้วนายทหารในกองทหารบกรถยนต์ซึ่งกลับจากราชการสงครามร้องเพลงตำนานย่อของกองทหารบกรถยนต์ และเพลงถวายพระพรชัยมงคลตามลำดับ[1]: 443–5  ดังนี้:–

  1. สระสม (ผู้แต่ง: ว่าที่นายร้อยตรีเจือ ชนะภัย)
  2. ช้างประสานงา
  3. ฝรั่งรำเท้า
  4. ลาวดวงเดือน (ผู้แต่ง: นายร้อยโทพล เสนีวงศ์ ณ อยุธยา)
  5. นางนาค (ผู้แต่ง: ว่าที่นายร้อยตรีเจือ ชนะภัย)

เมื่อร้องจบ 5 เพลงแล้ว ทหารทั้งจึงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายพระพรชัยมงคลแล้วเคลื่อนริ้วขบวนทหารไปที่หน้าสถานทูตอังกฤษ ถนนเจริญกรุง แล้วบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายพระพรชัยพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ[1]: 446  จากนั้นเคลื่อนริ้วขบวนไปที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสบรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศส ลามาร์แซแยซ ตามลำดับ[1]: 448 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์ราชาคณะ 39 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ[1]: 450 

เนื้อร้อง

[แก้]

เนื้อร้องเพลงลาวดวงเดือนถวายพระพรชัยมงคล รัชกาลที่ 6 แต่งโดยนายพันโท หลวงไววิธีทัพ (พล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา)[2]

(1) ข้า ฯ ขอฉลอง ละอองพระบาท จวบสิ้นชีวาดม์ มิคลาดไกล
เพิ่มพูลพระเกียรติ ให้เหยียดแผ่ไป ทั่วโลกว่าไทย-นี้ มิใช่หญิงเอย
(2) ผิวะพระองค์ จะทรงปกาสิต ข้าศึกประชิต แล้วนอ จะขอไป
ฉลองคุณชาติไทย จนวายปราณเอย
(3) ข้า ฯ นี้มิขาม การสงครามเท่าก้อย โปรดใช้ข้าน้อย เพื่อชาติศาสนา
ข้าฯ ขอเคี่ยวขับ มิกลับวาจา จะขอเป็นข้า แต่พระรามาเอย[1]: 444–5 

วาระและโอกาสในการใช้

[แก้]

ระเบียบส่วนราชการไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ มีเพียงประวัติการใช้ในวาระดังนี้

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 กองประวิติศาสต์รทหาร กรมเสนาธิการทหารบก. (2463). ประวัติกองทหารอาสา: ซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเล พระพุทธศักราช ๒๔๖๐-๖๑-๖๒. พิมพ์แจกในงานพระศพ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ วันที่ ๒๔ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๓. พระนคร: ที่ว่าการกรมเสนาธิการทหารบก.
  2. "ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง พระราชทานยศทหาร". (2481, 23 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55 หน้า 412.