รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์
รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ | |
---|---|
แม่ทัพภาคที่ 3 | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2529 | |
ก่อนหน้า | พลโท เทียบ กรมสุริยศักดิ์ |
ถัดไป | พลโท ชัยชนะ ธารีฉัตร |
ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2524 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2525 | |
ก่อนหน้า | พลตรี พร้อม ผิวนวล |
ถัดไป | พลตรี ศิริ ทิวะพันธุ์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 23 เมษายน พ.ศ. 2469 จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 4 มกราคม พ.ศ. 2556 (86 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | วิไล ไชยโกมินทร์ |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
สังกัด | กองทัพบกไทย |
ยศ | ![]() |
บทความชีวประวัตินี้เขียนเหมือนประวัติสมัครงาน |
พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ (23 เมษายน พ.ศ. 2469 - 4 มกราคม พ.ศ. 2556) อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่ปรึกษาทางด้านประวัติศาสตร์แก่กองทัพบก เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์การศึกสงครามไทย จนได้รับฉายาว่านายพลนักประวัติศาสตร์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ (ประวัติศาสตร์) เมื่อปี พ.ศ. 2531
ประวัติ
[แก้]พล.ท. รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2469 ที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 3 ของนายอยู่ ไชยโกมินทร์ และนางอ้อน ไชยโกมินทร์ มีพี่น้องชายและหญิงรวมทั้งสิ้น 7 คน เริ่มเข้าศึกษาในชั้นมูลที่โรงเรียนวัดบ้านทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาจนจบที่โรงเรียนประถมศึกษาวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จากนั้นจึงได้ศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ที่โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปีพ.ศ. 2485
เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว พล.ท. รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์เดินทางเข้าศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจจะเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก ปีแรกสอบเข้าไม่ได้ แต่ปีต่อมาสามารถสอบเข้าได้ตามประสงค์ และได้เรียนในรุ่นเตรียม มท.บ.รุ่นที่ 7 ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2492 จากโรงเรียนนายร้อยทหารบก กรุงเทพมหานคร และท่านยังได้ศึกษาหลักสูตรของกองทัพบกที่สำคัญหมดทุกหลักสูตรและได้ศึกษาต่อในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. รุ่นที่ 23 ณ ต่างประเทศ และได้ศึกษาวิชาการรบในป่าที่มลายู และวิชาการกระโดดร่มที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
พล.ท.รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ได้สมรสกับคุณวิไล สุวารี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 5 คน เมื่อมีเวลาว่าง ท่านจะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เมืองกาญจนบุรีเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้นตอนที่มารดาได้รับการยกย่องจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยให้เป็นแม่ตัวอย่างที่มีความกล้าหาญ เนื่องจากบุตรของท่านได้รับราชการเป็นทหารอากาศ ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจและพลเรือน หลังจากเกษียณอายุราชการ ได้กลับมาทำไร่ที่บ้านเกิด ที่ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ชื่อ "ไร่ห้าเหล่า"
พล.ท.รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2556 ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สิริรวมอายุ 86 ปี[1] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
การรับราชการทหาร
[แก้]- พ.ศ. 2492 ได้รับการบรรจุเป็นว่าที่ร้อยตรี ตำแหน่งผู้บังคับหมวด กรมทหารราบที่ 13 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี
- พ.ศ. 2494 ถูกย้ายมาอยู่ที่ศูนย์กลางทหารราบ จังหวัดลพบุรี และได้ไปทำราชการสงคราม ตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนกลหนัก ณ ประเทศเกาหลี
- พ.ศ. 2496 ได้สมัครเข้าเป็นทหารพลร่ม ซึ่งเป็นรุ่นแรกของกองทัพบก และได้ศึกษาจนจบหลักสูตรโดดร่มและจู่โจม จนได้รับการคัดเลือกเป็นครูฝึกกระโดดร่มของกองทัพบกที่ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นจึงย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย กองพันพลร่มป่าหวาย จังหวัดลพบุรี และยึดอาชีพทหารพลร่มนานถึง 24 ปี
- พ.ศ. 2520 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 จังหวัดพิษณุโลก
- พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการทหารบก จังหวัดเชียงใหม่
- พ.ศ. 2524 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 จังหวัดพิษณุโลก
- พ.ศ. 2525 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก
- พ.ศ. 2528 ดำรงตำแหน่งเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก
- พ.ศ. 2529 ปลดเกษียณเป็นข้าราชการบำนาญ
รางวัล
[แก้]พล.ท. รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถมาก จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ในสถาบันต่าง ๆ มากมายทั้งด้านการเมือง การปกครอง การศึกษาและวัฒนธรรม นอกจากนี้แล้ว ท่านเป็นประธาน ชมรมประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี เป็นที่ปรึกษาประวัติศาสตร์กองทัพบก ที่ปรึกษามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ฯลฯ ต่อมาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงาน คณะกรรมการวัฒนธรรม (ปัจจุบันคือกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ (ประวัติศาสตร์) ประจำปี พ.ศ. 2531
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2529 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[2]
- พ.ศ. 2526 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[3]
- พ.ศ. 2512 –
เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.)[4]
- พ.ศ. 2495 –
เหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี (ช.ส.)[5]
- พ.ศ. 2529 –
เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)[6]
- พ.ศ. 2504 –
เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[7]
- พ.ศ. 2527 –
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-11.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๒๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๙, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ เก็บถาวร 2022-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๔ ง หน้า ๓๖๗๗, ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน เก็บถาวร 2022-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๒๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๐๘, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗
- หนังสือ สงครามประวัติศาสตร์ ของท่าน พล.ท.รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์
- หนังสือ สงครามเก้าทัพที่ระลึกวันสถาปนา กองพลทหารราบที่ 4 ครบรอบปีที่ 49 วันที่ 2 ธันวาคม 2543
- หนังสือ 100 ปี วิสุทธรังษี 1 มิถุนายน 2547
- ศูนย์ประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก