ข้ามไปเนื้อหา

ยุทธการที่เกเต๋ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่เกเต๋ง
ส่วนหนึ่งของ การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งแรก

ภาพวาดยุคราชวงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์การประหารชีวิตม้าเจ๊ก
วันที่ป. กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ค.ศ. 228[1]
สถานที่
ผล วุยก๊กชนะ
คู่สงคราม
วุยก๊ก จ๊กก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เตียวคับ ม้าเจ๊ก โทษประหารชีวิต
อองเป๋ง
กำลัง
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
ยุทธการที่เกเต๋ง
อักษรจีนตัวเต็ม街亭之戰
อักษรจีนตัวย่อ街亭之战

ยุทธการที่เกเต๋ง (จีน: 街亭之戰) เป็นการรบระหว่างรัฐวุยก๊กและจ๊กก๊ก ใน ค.ศ. 228 ในยุคสามก๊ก ของจีน ยุทธการเกเต๋งเป็นส่วนหนึ่งของการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกที่นำโดยจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งจ๊กก๊กเพื่อโจมตีวุยก๊ก ยุทธการสิ้นสุดด้วยชัยชนะอย่างเด็ดขาดของวุยก๊ก

เปิดศึก

[แก้]

ในขั้นต้นจูกัดเหลียงส่งขุนพลเตียวจูล่งและเตงจี๋นำกองกำลังรบล่อไปยังหุบเขากิก๊ก (箕谷 จีกู่) แสร้งจะเข้าโจมตีอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ผ่านหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของทัพหลักของวุยก๊ก ส่วนตัวจูกัดเหลียงนำทัพด้วยตนเองไปยังเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาโดยรอบอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) โจจิ๋นนำกำลังทหารไปต้านเตียวจูล่ง ในขณะที่สามเมืองภายใต้การปกครองของวุยก๊กได้แก่ ลำอั๋น (南安 หนานอาน; อยู่บริเวณอำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน), เทียนซุย (天水 เทียนฉุ่ย; อยู่บริเวณนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และฮันเต๋ง (安定 อานติ้ง; อยู่บริเวณอำเภอเจิ้นยฺเหวียน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) แปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊ก[2][3]

ผู้คนในวุยก๊กมองว่าเล่าปี่เป็นวีรบุรุษคนสำคัญของจ๊กก๊ก ภายหลังการสวรรคตของเล่าปี่ ดินแดนด้านตะวันตกของวุยก๊กก็สงบสุขไประยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ได้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ร้ายกาจเช่นนี้่[4] เมื่อโจยอยจักรพรรดิแห่งวุยก๊กทรงทราบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียภูมิภาคกวนต๋งแห่งจ๊กก๊ก จึงเสด็จไปยังเตียงฮันด้วยพระองค์เองและรวบรวมกองกำลังรองให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเตียวคับในการโจมตีจูกัดเหลียง จูกัดเหลียงเลือกขุนพลม้าเจ๊กเป็นแม่ทัพหน้าโดยมีอองเป๋งเป็นผู้ช่วยไปสกัดเตียวคับ แทนที่จะเลือกนายทหารผ่านศึกอย่างอุยเอี๋ยนและงออี้ที่มีผู้เสนอมา[5][6]

ยุทธการ

[แก้]
การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงเพื่อรบกับวุยก๊กครั้งแรกและครั้งที่สอง

เกเต๋งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนเส้นทางลำเลียงเสบียง จูกัดเหลียงจึงส่งม้าเจ๊กและอองเป๋งไปรักษาเกเต๋ง ม้าเจ๊กไปพร้อมกับอองเป๋ง แต่ม้าเจ๊กไม่ฟังคำแนะนำเรื่องการศึกของอองเป๋ง ม้าเจ๊กอาศัยเพียงตำราพิชัยสงครามเลือก "ยึดพื้นที่สูง" และตั้งมั่นอยู่บนเขาแทนที่จะเป็นในตัวเมืองตามคำสั่งของจูกัดเหลียง เพิกเฉยต่อคำแนะนำของอองเป๋งที่ให้ตั้งค่ายในหุบเขาที่มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม อองเป๋งสามารถโน้มน้าวม้าเจ๊กให้แบ่งกำลังทหารส่วนหนึ่งมาให้ตนบัญชาการ แล้วอองเป๋งก็แยกไปตั้งค่ายใกล้กับค่ายของม้าเจ๊กเพื่อคอยช่วยเหลือเมื่อม้าเจ๊กตกอยู่ในอันตราย[7][8]

เนื่องด้วยความผิดพลาดทางยุทธวิธีของม้าเจ๊ก ทัพวุยก๊กที่นำโดยเตียวคับจึงเข้าล้อมเนินเขาและตัดทางน้ำของกำลังทหารฝ่ายจ๊กก๊กจึงตีฝ่ายจ๊กก๊กแตกพ่าย[9] มีบันทึกว่าระหว่างชุลมุน ม้าเจ๊กลอบหนีไปทิ้งกำลังทหารที่ไม่มีผู้บังคับบัญชา[10] อองเป๋งรวบรวมกำลังทหารของม้าเจ๊กที่กระจัดกระจาย และใช้กำลังทหารที่เหลือไม่มากนี้หาทางล่าถอยได้อย่างเป็นระเบียบ อองเป๋งสั่งให้ทหารตีกลองเสียงดังเพื่อทำให้ฝ่ายวุยก๊กเข้าใจว่ากำลังเสริมกำลังมาถึง เตียวคับเชื่อว่าอาจเป็นสัญญาณการซุ่มโจมตีจึงไม่ได้ไล่ตามไป[11] เมื่อจูกัดเหลียงยกมาถึงก็พยายามจะเอาชนะเตียวคับแต่ไม่สำเร็จจึงถอยกลับไปฮันต๋ง[12]

แม้ว่าม้าเจ๊กจะรอดชีวิตจากยุทธการ แต่กองกำลังของม้าเจ๊กก็เสียหายอย่างหนัก (อองเป๋งสามารถรวบรวมกำลังทหารของม้าเจ๊กที่เหลืออยู่ขึ้นใหม่และรวบรวมเสบียงของทัพจ๊กก๊กที่กระจัดกระจาย) ในเวลาต่อมาไม่นานม้าเจ๊กก็ถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิตโดยจูกัดเหลียงผู้ฝืนใจออกคำตัดสินทั้งหลั่งน้ำตา[13][a]

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

ขุนพลของจ๊กก๊กจำนวนมากถูกลงโทษ ม้าเจ๊กถูกจูกัดเหลียงตัดสินโทษประหารชีวิตเพื่อปลอมประโลมมวลชน[14] จาง ซิว (張休) และหลี่ เชิ่ง (李盛) ก็ถูกประหารชีวิตเช่นกัน[15] จิ้นชูระบุว่าบิดาของตันซิ่ว[b]พลอยติดร่างแหและถูกตัดสินโทษคุน (髡) ซึ่งเป็นการลงโทษด้วยการโกนศีรษะ[16] เอี่ยงลองถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้าเลขานุการเพราะเอี่ยงลองไม่ได้รายงานว่าม้าเจ๊กหนีเพราะเห็นแก่ความเป็นเพื่อนกับม้าเจ๊ก[17] หฺวาง สี (黃襲) และขุนพลคนอื่น ๆ ถูกจูกัดเหลียงปลดจากอำนาจบัญชาการทหาร ในขณะที่อองเป๋งได้รับการเลื่อนยศเป็นขุนพลปราบโจร (討寇將軍 เถ่าโค่วเจียงจวิน) จากความพยายามในการลดความเสียหายให้น้อยที่สุดและจากความพยายามในการป้องกันการกระทำของม้าเจ๊ก ตัวจูกัดเหลียงเองถวายฎีกาถึงจักรพรรดิเล่าเสี้ยนขอให้ลดตำแหน่งตนเองเพื่อรับผิดชอบความพ่ายแพ้ที่เกเต๋ง[18]

ก่อนที่ม้าเจ๊กจะถูกประหารชีวิตได้เขียนจดหมายถึงจูกัดเหลียงว่า "ท่านผู้ปราดเปรื่องมองข้าพเจ้าดั่งบุตรชายและตัวข้าพเจ้าเองก็มองท่านดั่งบิดา ข้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่คือความชอบธรรมในการประหารชีวิตกุ่นซึ่งนำไปสู่ความรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอวี่ ขอให้ความสัมพันธ์ทั้งชีวิตของเราไม่ลดลงไปกว่านี้ แม้ว่าข้าพเจ้าจะตาย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่มีความแค้นเคืองต่อแผ่นดินเหลือง"[19] เวลานั้นทหารหลายคนร้องไห้ให้กับการเสียชีวิตของม้าเจ๊ก[20]

จากการเสียเกเต๋งทำให้สถานการณ์ด้านเสบียงในทัพจูกัดเหลียงเลวร้ายลง จูกัดเหลียงจึงต้องล่าถอยไปยังฐานทัพหลักที่เมืองฮันต๋ง ในขณะที่ทัพวุยก๊กภายใต้การบัญชาการของโจจิ๋นและเตียวคับถือโอกาสนี้เข้าปราบกบฏในสามเมืองคือลำอั๋น เทียนซุย และฮันเต๋งจนกลับมาสงบ ความพ่ายแพ้ที่เกเต๋งทำให้การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งแรกประสบความล้มเหลว[21]

สถานที่

[แก้]

ตำแหน่งที่แน่นอนของยุทธการที่เกเต๋งไม่ทราบแน่ชัด จากการวิจัยโดยหนังสือพิมพ์กานซู่จิงจี้รื่อเป้า [zh] (甘肃经济日报; แปลว่า "เศรษฐกิจกานซู่รายวัน") มีสถานที่ที่เป็นเป็นได้หลายแห่ง ได้แก่:[22]

อนุสรณ์สถานของยุทธการที่ตั้งอยู๋ที่เมืองหล่งเฉิง หลักฐานทางภูมิประเทศและอาวุธที่ค้นพบช่วยสนับสนุนว่าเมืองหล่งเฉิงเป็นสถานที่ที่เป็นไปได้มากที่สุด แม้จะยังไม่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ[22]

ในนิยายสามก๊ก

[แก้]

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ม้าเจ๊กถูกประหารชีวิตโดยจูกัดเหลียงที่ออกคำสั่งประหารทั้งหลั่งน้ำตาและเป็นผู้ประเมินสติปัญญาของม้าเจ๊กไว้สูงมาโดยตลอดจึงตัดสินโทษประหารอย่างไม่เต็มใจอย่างยิ่ง เหตุการณ์นี้ได้ถูกนำมาแสดงในการแสดงงิ้วด้วย สุภาษิตจีนที่ว่า "หลั่งน้ำตาฆ่าม้าเจ๊ก" (挥泪斩马谡; 揮淚斬馬謖; Huī Lèi Zhán Mǎ Sù) อ้างถึงเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ มีความหมายว่า "การลงโทษบุคคลหนึ่งฐานกระทำความผิดโดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์หรือความสามารถของบุคคลนั้น" สุภาษิตญี่ปุนที่เทียบเท่าคือ "ประหารม้าเจ๊กทั้งน้ำตา" (泣いて馬謖を斬る, Naite Bashoku wo kiru)

ในนวนิยาย การพ่ายแพ้ที่เกเต๋งกลายเป็นการเผยตำแหน่งของจูกัดเหลียงในเวลานั้นคือเสเสีย (西城 ซีเฉิง) ที่ไร้การป้องกัน จูกัดเหลียงจึงใช้กลยุทธ์เมืองว่างป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้ามาโจมตีก่อนจะล่าถอย

ในหลากหลายเรื่องเล่ารวมถึงนวนิยาย สุมาอี้มีส่วนร่วมในยุทธการในฝ่ายวุยก๊ก แต่ตามชีวประวัติของสุมาอี้ในสามก๊กจี่ เป็นไปไม่ได้ที่สุมาอี้จะมีส่วนร่วมในยุทธการ มอสส์ โรเบิตส์ (Moss Roberts) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเล่มที่ 4 ของสามก๊ก ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษของตน (หน้าที่ 2,179 ในหมายเหตุของตอนที่ 95 ย่อหน้าที่ 4 และย่อหน้าสุดท้ายของหมายเหตุของตอน) ว่า:

สุมาอี้ตามประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่แนวรบด้านตะวันตกขณะเกิดกรณี "อุบายเมืองว่าง" แต่อยู่ที่แนวรบด้านใต้ที่มีความสำคัญกว่าเพื่อต้านแดนใต้ [ง่อก๊ก] สุมาอี้ไม่ได้มาที่แนวรบด้านตะวันตกจนกระทั่งการบุกของขงเบ้ง [จูกัดเหลียง] ครั้งที่ 4 [ยุทธการที่เขากิสาน] ประเพณีนิยมในบันเทิงคดีมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับความขัดแย้งระหว่างวุยก๊กและจ๊กก๊กมากกว่าระหว่างวุยก๊กและง่อก๊ก เรื่องสามก๊กจึงสร้างเรื่องราวความเป็นคู่ศึกระหว่างขงเบ้งและสุมาอี้และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในปี ค.ศ. 228 [23]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. แม้ว่าบันทึกในสามก๊กจี่จะระบุเพียงว่าม้าเจ๊กเสียชีวิต ("อู้กู้"; 物故) แต่ก็บ่งบอกความหมายอย่างชัดเจนว่าม้าเจ๊กถูกประหารชีวิต
  2. ตัวตนของบิดาของตันซิ่วไม่ทราบแน่ชัด

อ้างอิง

[แก้]
  1. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 71.
  2. (諸葛亮圍祁山,南安、天水、安定三郡反應亮。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  3. (六年春,揚聲由斜谷道取郿,使趙雲、鄧芝為疑軍,據箕谷,魏大將軍曹真舉衆拒之。亮身率諸軍攻祁山,戎陣整齊,賞罰肅而號令明,南安、天水、安定三郡叛魏應亮,關中響震。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  4. (《魏略》曰:始,國家以蜀中惟有劉備。備既死,數歲寂然無聲,是以略無備預;而卒聞亮出,朝野恐懼,隴右、祁山尤甚,故三郡同時應亮。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  5. (建興六年,亮出軍向祁山,時有宿將魏延、吳壹等,論者皆言以為宜令為先鋒,而亮違眾拔謖,統大眾在前,) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  6. (諸葛亮出祁山。加郃位特進,遣督諸軍,拒亮將馬謖於街亭。謖依阻南山,不下據城。郃絕其汲道,擊,大破之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 17.
  7. (与魏將張邰戰于街亭,為邰所破,士卒离散。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  8. (建興六年,屬參軍馬謖先鋒。謖舍水上山,舉措煩擾,平連規諫謖,謖不能用,大敗於街亭。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
  9. (諸葛亮出祁山。加郃位特進,遣督諸軍,拒亮將馬謖於街亭。謖依阻南山,不下據城。郃絕其汲道,擊,大破之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 17.
  10. (朗素與馬謖善,謖逃亡,朗知情不舉,亮恨之,免官還成都。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 41.
  11. (眾盡星散,惟平所領千人,鳴鼓自持,魏將張郃疑其伏兵,不往偪也。於是平徐徐收合諸營遺迸,率將士而還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
  12. (亮進無所据,退軍還漢中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  13. (謖下獄物故,亮為之流涕。良死時年三十六,謖年三十九。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  14. ((亮)戮謖以謝眾。) (แปลว่า (จูกัด) เหลียงประหาร (ม้า) เจ๊กเพื่อขอขมาต่อมวลชน) ตันซิ่ว. สามก๊กจี่, เล่มที่ 35, ชีวประวัติจูกัดเหลียง
  15. (丞相亮既誅馬謖及將軍張休、李盛,奪將軍黃襲等兵,平特見崇顯,加拜參軍,統五部兼當營事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
  16. (壽父為馬謖參軍,謖為諸葛亮所誅,壽父亦坐被髡,諸葛瞻又輕壽。壽為亮立傳,謂亮將略非長,無應敵之才,言瞻惟工書,名過其實。) จิ้นชู เล่มที่ 82.
  17. (朗素與馬謖善,謖逃亡,朗知情不舉,亮恨之,免官還成都。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 41.
  18. (丞相亮既誅馬謖及將軍張休、李盛,奪將軍黃襲等兵,平特見崇顯,加拜參軍,) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
  19. (襄陽記曰:謖臨終與亮書曰:「明公視謖猶子,謖視明公猶父,原深惟殛鯀興禹之義,使平生之交不虧於此,謖雖死無恨於黃壤也。」) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ใน สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  20. (於時十萬之眾為之垂涕。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ใน สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  21. (帝遣真督諸軍軍郿,遣張郃擊亮將馬謖,大破之。安定民楊條等略吏民保月支城,真進軍圍之。條謂其衆曰:「大將軍自來,吾願早降耳。」遂自縛出。三郡皆平。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  22. 22.0 22.1 "街亭之战位在何处" [Where was the Battle of Jieting?]. Gansu Financial Daily [zh] (ภาษาจีน). 2 September 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-16. สืบค้นเมื่อ 5 May 2023.
  23. Roberts, Moss (1976). Three Kingdoms Volume IV. Beijing: Foreign Languages Press. p. 2179. ISBN 978-7-119-00590-4.

บรรณานุกรม

[แก้]