ข้ามไปเนื้อหา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เจ้าสามพระยา
แผนที่
ก่อตั้ง26 ธันวาคม พ.ศ. 2504
ที่ตั้งถนนโรจนะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
ภัณฑารักษ์ กรมศิลปากร
เว็บไซต์www.thailandmuseum.com/chawsampraya/history.htm
เศียรพระประธานวัดธรรมิกราชภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนปรีดีพนมยงค์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งแรกของไทยที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ

ประวัติ

[แก้]

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 มีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า “โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่

ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้สร้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้นเพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และโบราณวัตถุพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เงินบริจาคจากประชาชนและผู้บริจาคได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์ และเมื่อสร้างเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504

โบราณวัตถุที่สำคัญ อาทิ พระแสงดาบทองคำ ขนาด ยาว 115 ซม. กว้าง 5.5 สมัยอยุธยา ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระเต้าทักษิโณทกทองคำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.7 ซม. สูง 18.5 ซม. สมัยอยุธยา ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ช้างทรงเครื่องทองคำ ขนาด ยาว 15.5 ซม. สูง 12 ซม. สมัยอยุธยา ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

นอกจากนี้จัดแสดงในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในแหล่งอนุสรณ์สถาน คือ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน ซึ่งจัดแสดง 3 อาคาร ซึ่งได้จัดแสดง เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องถ้วย เงินตรา จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่พบในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา รัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบ ฯลฯ

การให้บริการ 1.ให้บริการบรรยายนำชมแก่ สถานศึกษา โรงเรียน สถาบันต่างๆ ทั้งในและนอกสถานที่ 2.ให้บริการจำหน่ายหนังสือ โปสการ์ด สิ่งพิมพ์ และของที่ระลึก เวลาทำการ 9.00-16.30 น. เปิดให้เข้าชมวันอังคารถึงวันอาทิตย์ หยุดวันจันทร์​ ไม่เว้นหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ถนนโรจนะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000 โทรศัพท์ : 0-3524-1587 แฟกซ์ 0-3524-4570

การเข้าชม

[แก้]
  • เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ หยุดวันจันทร์​ ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.
  • หมายเลขโทรศัพท์ 035 241587
  • หมายเลขโทรสาร 035 244570

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]