ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าเสือ)
สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
พระเจ้าเสือ
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ.2246[1] – พ.ศ. 2251 (5 ปี 3 วัน)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเพทราชา
ถัดไปสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
พระมหาอุปราช
สมุหนายกเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ)
พระราชสมภพพ.ศ. 2204
ตำบลโพธิ์ประทับช้าง เมืองพิจิตร อาณาจักรอยุธยา[2]
สวรรคตพ.ศ. 2251 (47 พรรษา)
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
พระอัครมเหสีสมเด็จพระพันวษา
สนม
พระราชบุตรสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เจ้าฟ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม
เจ้าฟ้าหญิงแก้ว[3]
พระองค์เจ้าทับทิม[4]
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระราชบิดาสมเด็จพระเพทราชา
พระราชมารดานางกุสาวดี

สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (คำให้การชาวกรุงเก่า) หลวงสรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า เดื่อ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชวินิจฉัยพระนามว่าเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่8[5] เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246 — พ.ศ. 2251

ประชาชนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ เพื่อเปรียบว่าพระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ[6] พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบันได้

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ระบุในหนังสือ ศิลปะมวยไทย ถึงพระองค์ในการปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านมาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถชนะนักมวยเอกได้ถึง 3 คน ซึ่งได้แก่ นายกลาง หมัดตาย, นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก[7] ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์เป็นวันมวยไทย[1]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงฝึกเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรผู้เป็นพระราชโอรส ให้มีความสามารถในด้านมวยไทย, กระบี่กระบอง และมวยปล้ำ[8]

พระราชประวัติ

[แก้]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าพระเจ้าเสือเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระเพทราชา[9]

ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนมซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระยาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่[10] โดยคำให้การขุนหลวงหาวัดออกพระนามว่า พระราชชายาเทวี หรือ เจ้าจอมสมบุญ ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า นางกุสาวดี[11] ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวให้แก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง (เจ้ากรมช้าง) โดยในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า มีเนื้อหาสอดคล้องกัน กล่าวคือนางเป็นสนมลับของพระนารายณ์แต่แตกต่างกันเพียงชื่อของนาง และเหตุผลในการพระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชา คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่านางกุสาวดีได้เป็นสนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาทรงพระสุบินว่าเทวดามาบอกว่านางกุสาวดีกำลังตั้งครรภ์พระราชโอรสที่มีบุญมาก แต่พระองค์ได้ปฏิญาณไว้แล้วว่าจะไม่เลี้ยงลูกสนมเนื่องจากเกรงจะก่อกบฏเหมือนพระศรีสิงห์ ทรงนิมนต์พระอาจารย์พรหมมาปรึกษาในพระราชวัง พระอาจารย์พรหมแนะนำว่าควรชุบเลี้ยงไว้เผื่อภายหน้าจะได้สืบราชตระกูล จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เอานางกุสาวดีไปเลี้ยงเป็นภรรยา ถ้าได้ลูกชายให้ถือเป็นลูกของตน ถ้าได้ลูกสาวให้ถวายพระองค์ เจ้าพระยาสุรสีห์ปฏิบัติตามรับสั่ง จนทราบว่านางกุสาวดีคลอดลูกชายก็พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมากแก่กุมารนั้น ภายหลังยังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสรศักดิ์[12]

โดยเหตุผลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระราชโอรสองค์นี้จะคิดกบฏชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ ส่วนคำให้การของขุนหลวงหาวัดว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น[11]

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ระบุว่าพระนามเดิมของพระองค์คือ มะเดื่อ[13][14] ส่วนในหนังสือปฐมวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียกว่า ดอกเดื่อ[15] เนื่องจากประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิตร ขณะพระมารดาเสด็จติดตามออกพระเพทราชาโดยเสด็จสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก

จดหมายเหตุเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2233 ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2233 พระสรศักดิ์ (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนม์ 20 พรรษา[16] แสดงว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2213[11]

ทัศนะ

[แก้]
วัดโพธิ์ประทับช้างจังหวัดพิจิตร สร้างโดยสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี คาดว่าเป็นบ้านเกิด

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิทรงเชื่อว่าหลวงสรศักดิ์จะเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์ ทรงวินิจฉัยว่าในเมื่อหลวงสรศักดิ์รู้อยู่เต็มอกว่าสมเด็จพระนารายณ์คือพระราชบิดา เหตุไฉนจึงร่วมมือกับพระเพทราชาบิดาบุญธรรมปราบดาภิเษกชนกแท้ ๆ ของตน แทนที่จะประจบเอาใจขอราชสมบัติกับพระราชบิดาเมื่อครั้งยังประชวร ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ว่า "พระยาแสนหลวง" เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ที่ตกเป็นเชลยมายังกรุงศรีอยุธยานั้นก็มิได้มีฐานะต่ำต้อยอันใด ซ้ำยังจะดูมีหน้ามีตาเพราะสามารถต่อโคลงกับศรีปราชญ์ กวีในรัชกาลได้ ถ้าหากพระยาแสนหลวงเป็นพระสัสสุระของสมเด็จพระนารายณ์จริง ก็น่าจะเป็นที่ความภาคภูมิมากกว่าอับอาย และยังสามารถใช้การเสกสมรสดังกล่าวเป็นเหตุผลทางการเมืองเข้าครอบครองล้านนาผ่านพระชายาได้[17]

ครองราชย์

[แก้]

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ สมเด็จพระเจ้าเสือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการเป็นที่ โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าเสือ (นายเดื่อมหาดเล็ก) สามารถบังคับช้างพลายซ่อมตัวหนึ่งกำลังตกมันได้สำเร็จ[18][19] ช้างพลายซ่อม (หรือพลายส่อม) เป็นช้างเพชฌฆาตสำหรับฆ่าคนโทษถึงตายร้ายกาจยิ่งนัก แม้ครูช้างผู้ใดขับขี่ช้างเข้มแข็งก็มิอาจขี่ช้างตัวนี้ลงน้ำได้ มีเพียงนายเดื่อมหาดเล็กสามารถนำช้างพลายซ่อมไปลงน้ำแล้วพากลับขึ้นมาผูกไว้ ณ โรงที่เดิม กรมช้างก็เอาเหตุมากราบทูลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ทรงทราบ ทรงปรีดีโสมนัสเห็นว่ามีความสามารถในการบังคับบัญชาช้างถือเป็นวิชาที่สำคัญต่อความเป็นทหารและความเป็นผู้นำ[20] จึงมีดำรัสให้นายเดื่อมหาดเล็กเข้าเฝ้า มีพระราชโองการตรัสว่า "ตัวเอ็งขี่ช้างแกล้วกล้าเข้มแข็งนัก, เอ็งจงเป็นหลวงสรสักดิ์, ไปช่วยราชการบิดาแห่งเอ็งในกรมช้างเถิด"[21] จึงโปรดให้เป็นหลวงสรศักดิ์ รับราชการในกรมพระคชบาล

ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งหวังจะได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเพทราชา แต่สมเด็จพระเพทราชากลับทรงโปรดปรานเจ้าพระขวัญ พระราชโอรสของพระองค์และกรมหลวงโยธาทิพ (บางหลักฐานว่ากรมหลวงโยธาเทพ) แถมมีผู้คนมากมายต่างพากันนับถือ ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ เกิดความหวาดระแวงว่าราชสมบัติจะตกไปอยู่กับเจ้าพระขวัญ จึงเกิดเหตุการณ์นำเจ้าพระขวัญมาสำเร็จโทษด้วยไม้ท่อนจันทร์

เมื่อสมเด็จพระเพทราชาซึ่งทรงประชวรทรงทราบทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ เป็นอันมากแลตรัสว่าจะไม่ยกราชสมบัติให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงพระกรุณาตรัสเวนราชสมบัติให้ "เจ้าพระพิไชยสุรินทร" พระราชนัดดา หลังจากนั้นสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต เจ้าพระพิไชยสุรินทรทรงเกรงกลัวกรมพระราชวังบวรฯ จึงไม่กล้ารับ และน้อมถวายราชสมบัติแด่กรมพระราชวังบวรฯ

เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ได้ขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 2246 มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) มีพระสมัญญานามว่า “เสือ”[2] ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็น หลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาแล้ว[22]

พระอุปนิสัย

[แก้]

ทรงมีความเด็ดขาดในการมีรับสั่งให้ผู้ที่ปฏิบัติงานใดต้องสำเร็จผลเป็นอย่างดี หากบกพร่องพระองค์จะมีรับสั่งให้ลงโทษ ไม่เฉพาะข้าราชบริพารเท่านั้น แม้พระราชโอรสทั้งสองก็เช่นกัน อย่างเช่น ในการเสด็จไปคล้องช้างที่เมืองนครสวรรค์ มีรับสั่งให้เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรตัดถนนข้าม"บึงหูกวาง" โดยถมบึงส่วนหนึ่งให้เสร็จภายในหนึ่งคืน พระราชโอรสดำเนินงานเสร็จตามกำหนด แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ช้างทรงตกหลุม ทรงลงพระราชอาญาเจ้าฟ้าเพชร แต่ภายหลังก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ[22]

พระองค์มีพระราชโอรสด้วยพระมเหษีใหญ่ ๓ องค์ องค์ที่ ๑ พระนาม สุรินทกุมาร องค์ที่ ๒ พระนามวรราชกุมาร ​องค์ที่ ๓ พระนามว่า อนุชากุมาร ๆ นี้กล้าหาญดุร้ายมาก วัน ๑ รับสั่งให้พวกมหาดเล็กเด็ก ๆ ด้วยกันว่ายข้ามแม่น้ำ พวกมหาดเล็กเกรงอาญาก็พากันว่ายไป ที่มีกำลังน้อยจมตายบ้างก็มี กิติศัพท์ทราบถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาอนุชากุมารไปสำเร็จโทษเสียดังเด็กที่จมน้ำตายนั้น

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า[6]

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพอพระทัยเสวยน้ำจัณฑ์ แล้วเสพสังวาสด้วยดรุณีอิตถีสตรีเด็กอายุ 11-12 ปี ถ้าสตรีใดเสือกดิ้นโครงไป ให้ขัดเคือง จะลงพระราชอาชญาถองยอดอกตายกับที่ ถ้าสตรีใด ไม่ดิ้นเสือกโครงนิ่งอยู่ ชอบพระอัชฌาสัย พระราชทานบำเหน็จรางวัล

"ประการหนึ่ง ถ้าเสด็จไปประพาสมัจฉาชาติฉนากฉลามในชลมารคทางทะเลเกาะสีชังเขาสามมุขแลประเทศที่ใด ย่อมเสวยน้ำจัณฑ์พลาง ถ้าหมู่พระสนมนิกรนางในแลมหาดเล็ก ชาวที่ทำให้เรือพระที่นั่งโคลงไหวไป มิได้มีพระวิจารณะ ปราศจากพระกรุณาญาณ ลุอำนาจแก่พระโทโส ดำรัสสั่งให้เอาผู้นั้นเกี่ยวเบ็ดทิ้งลงไปกลางทะเล ให้ปลาฉนากฉลามกินเป็นอาหาร

"ประการหนึ่ง ปราศจากพระเบญจางคิกศีล มักพอพระทัยทำอนาจารเสพสังวาสกับภรรยาขุนนาง แต่นั้นมาพระนามปรากฏเรียกว่า พระเจ้าเสือ"

ขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมบันทึกไว้ทำนองเดียวกันว่า

"ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤทัยกักขฬะ หยาบช้า ทารุณ ร้ายกาจ ปราศจากกุศลสุจริต ทรงพระประพฤติผิดพระราชประเพณี มิได้มีหิริโอตัปปะ และพระทัยหนาไปด้วยอกุศลลามก มีวิตกในโทสโมหมูลเจือไปในพระสันดานเป็นนิรันดร์มิได้ขาด แลพระองค์เสวยน้ำจัณฑ์ขาวอยู่เป็นนิจ แล้วมักยินดีในการอันสังวาสด้วยนางกุมารีอันยังมิได้มีระดู ถ้าและนางใดอุตส่าห์อดทนได้ ก็พระราชทานรางวัลเงินทองผ้าแพรพรรณต่าง ๆ แก่นางนั้นเป็นอันมาก ถ้านางใดอดทนมิได้ไซร้ ทรงพระพิโรธ และทรงประหารลงที่ประฉิมุราประเทศ [ผ่าอก][23] ให้ถึงแก่ความตาย แล้วให้เอาโลงเข้ามาใส่ศพนางนั้นออกไปทางประตูพระราชวังข้างท้ายสนมนั้นเนือง ๆ และประตูนั้นก็เรียกว่า ประตูผีออก มีมาตราบเท่าทุกวันนี้

"อยู่มาครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยพระชลพาหนะออกไปประพาส ณ เมืองเพชรบุรี และเสด็จไปประทับแรมอยู่ ณ พระราชนิเวศน์ตำบลโตนดหลวง ใกล้ฝั่งพระมหาสมุทร และที่พระตำหนักนี้เป็นที่พระตำหนักเคยประพาสมหาสมุทรมาแต่ก่อนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตรเป็นเจ้านั้น และสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จด้วยพระที่นั่งมหานาวาท้ายรถ แล่นไปประพาสในท้องพระมหาสมุทรตราบเท่าถึงตำบลเขาสามร้อยยอด และทรงเบ็ดตกปลาฉลามและปลาอื่นเป็นอันมาก แล้วเสด็จกลับมา ณ ตำหนักโตนดหลวง และเสด็จเที่ยวประพาสอยู่ดังนั้นประมาณ 15 เวร จึ่งเสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร"

พระราชกรณียกิจ

[แก้]

ด้านศาสนา

[แก้]
  1. ทรงปฏิสังขรณ์มณฑปสวมรอยพระพุทธบาทสระบุรี สร้างมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งทำเป็นยอดเดียวชำรุด โปรดฯ ให้สร้างใหม่เป็น 5 ยอด รวมทั้งปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งอาราม
  2. ปี พ.ศ. 2249 เกิดอัสนีบาตต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตร เครื่องบนมณฑป ทรุดโทรมพังลงมาต้องพระศอพระมงคลบพิตรหัก โปรดฯ ให้รื้อเครื่องบนออก ก่อสร้างใหม่แปลงเป็นมหาวิหาร
  3. เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธฉายและสันนิษฐานว่าค้นพบในสมัยพระองค์
  4. พระราชกรณียกิจที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องเมืองพิจิตร เพื่อเป็นการรำลึกถึงชาติภูมิของพระองค์สมเด็จพระเจ้าเสือได้โปรดให้สร้างวัดโพธิ์ประทับช้างขึ้นที่เมืองพิจิตร โดยสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระมหาเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ มีอาณาบริเวณวัดกว้างขวางใหญ่โต ใช้เวลาสร้าง 2 ปี จึงสำเร็จ เสด็จพระราชดำเนินมาทำการฉลองด้วยพระองค์เอง มีการฉลอง สามวันสามคืน มีมหรสพครึกครื้น และมีผู้คนมากมายมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและ ดูมหรสพ ฉลองเสร็จแล้วทรงพระราชอุทิศถวายเลขข้าพระไว้สำหรับอุปฐากพระอารามถึง 200 ครัวเรือน นับว่าครั้งนั้นวัดโพธิ์ประทับช้างเป็นวัดที่เด่นที่สุดในเมืองพิจิตร
  5. ทรงให้มีการปรับปรุงเส้นทางทางไปพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งคดเคี้ยวให้ตรง และขุดลัดคลองอ้อมเกร็ดให้เดินทางมาสะดวกยิ่งขึ้น[2]
  6. สมเด็จพระเจ้าเสือทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าแตงโมเป็นพระอาจารย์สอนวิชาความรู้แก่พระราชโอรสและพระราชนัดดา

วรรณกรรมในรัชกาล

[แก้]
  • โคลงกำสรวล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทานตรัสอธิบายว่าแต่งในสมัยพระเจ้าเสือ[24] โดยกวีผู้มีราชทินนามว่าศรีปราชญ์เป็นผู้แต่ง แต่มิใช่ศรีปราชญ์บุคคลที่เป็นบุตรของพระโหราธิบดี[25]
  • เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชี้ว่าสมเด็จพระเจ้าเสือทรงนิพนธ์ครั้งยังเป็นออกหลวงสรศักดิ์[26][27] ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ว่าร่องรอยในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาไม่มีทางที่พระมหากษัตริย์พระองด์ใดของอยุธยาจะทรงทำนายความวิบัติของแผ่นดินพระองค์เอง เชื่อว่าเพลงยาวนี้อาจใช้เพื่อปลุกระดมไพร่พลของอยุธยา[28] ส่วนคำให้การของขุนหลวงหาวัด และคำให้การของชาวกรุงเก่า กล่าวว่า เพลงยาวพยากรณ์เป็นคำพยากรณ์ของพระเจ้าเสือ[29] แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏความท้ายบทเพลงยาวว่า "พระนารายณ์เป็นเจ้าลพบุรีทำนายกรุง"[30] เนื้อหาเพลงยาวเป็นคำทำนายชะตาบ้านเมือง[31] ถูกเปิดเผยไว้ตามกำแพงวัดและหมู่บ้านในกรุงศรีอยุธยาคล้ายกับใบปลิว[32] คำทำนายถูกแปลไว้ว่า[33]

"ลุแผ่นดินที่ ๓๖ แห่งกรุงศรีอยุทธยา จักเกิดกลียุคครั้งใหญ่ คนชั่วจักนั่งเมือง คนดีจักหายน่าเข้ากล้าจักล้มตาย ทั่วปถพีจักประสพความยากแค้นแสนเขญ โจรผู้ร้ายออกเข่นฆ่าปล้นชิงอาณาประชาราษฎร์ ที่สุดจักเกินมหาสงครามล้างบ้านผลาญเมืองจนพินาศวอดวาย โดยมีเหตุมาแต่หนอนบ่อนไส้ผู้เหนแก่อามิสชักนำศึกเข้าบ้าน แผ่นดินอยุทธยาจักเสียแก่อังวะ จนฉิบหายล่มจมอย่างมิอาจฟื้นฟูกลับคืนมาได้อีก"

สวรรคต

[แก้]

ทรงพระประชวร

[แก้]

สาเหตุที่ทรงพระประชวรแม้ในพงศาวดารไม่ได้มีกล่าวไว้ แต่พอสันนิษฐานได้ดังนี้

มูลเหตุที่ 1

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) กล่าวว่า :-

ศักราช ๑๐๗๗ ปีมะแม สัปตศก เสด็จขึ้นไปฉลองพระพุทธบาท ๗ เวนทรงพระประชวร เสด็จทรงพระที่นั่งสุวรรณราเชนทร์เสด็จลงมาถึงกรุง ขึ้นพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ได้ ๗ เวนประชวรหนักลง แปลงสถานลงมาพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์เพลาเช้า...[34]: 226 

พื้นที่พระพุทธบาทเมืองลพบุรีในสมัยอยุธยาเป็นพื้นที่ป่ารกชัฏขนาดใหญ่ เดิมเรียกว่า ดงพญาไฟ (เปลี่ยนชื่อเป็น ดงพญาเย็น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากทรงพระราชดำริว่าชื่อไม่เป็นมงคล) เต็มไปด้วยอันตรายจากสิงสาราสัตว์ และไข้ป่ามาลาเรีย[35]: 122, 137:เชิงอรรถ ๑๔  การเสด็จประพาสของพระเจ้าเสือครั้งนั้นอาจติดเชื้อไข้ป่าเป็นเหตุให้ทรงพระประชวรลง

มูลเหตุที่ 2

เกิดจากพระอุปนิสัยของพระเจ้าเสือนั้นทรงโปรดการเสด็จประพาสล้อมช้างเถื่อนในป่า[36]: 221  การประพาสล้อมช้างเถื่อนครั้งล่าสุด พระเจ้าเสือเสด็จประพาสล้อมช้างในป่าเมืองนครสวรรค์[36]: 221  เป็นฤดูฝนตกชุกมีอันตรายด้วยไข้ป่ามาก ทรงตั้งพลับพลาประทับแรมอยู่นานจนล้อมจับช้างเถื่อนได้ 100 เชือกเศษแล้วเสด็จกลับพระนคร พระองค์อาจได้รับเชื้อมา เมื่อพระสังขารและพระวรกายอ่อนแอเพราะทรงพอพระทัยเสวยน้ำจัณฑ์เป็นนิจ เปิดโอกาสให้เชื้อกำเริบ ในที่สุดพระองค์ก็ทรงพระประชวรลง แพทย์หลวงจึงได้วินิจฉัยพระโรคของพระเจ้าเสือว่า เนื่องจากพระองค์ได้ทรงตรากตรำทรงช้างทรงม้าพระที่นั่งประพาสป่าล้อมช้างเถื่อนอยู่เนือง ๆ อาจจะติดเชื้อไข้ป่า พระสังขารและพระพลังมีต้านทานไม่พอ ก็ต้องทรงพระประชวรลง[36]: 221 

พระเจ้าเสืออยู่ในราชสมบัติเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2246 – 2251 เป็นเวลา 5 ปี สวรรคตเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2251 พระชนมายุ 47 พรรษา[1]

การพระบรมศพ

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2251 (นับปีแบบปัจจุบัน) สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ภายหลังได้สำเร็จโทษพระองค์เจ้าดำแล้ว พระองค์มีพระราชดำริจัดการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี เมื่อวันพฤหัสบดี ศักราช 1069 ปีกุนนพศก (พ.ศ. 2250)[37]: 293:เชิงอรรถที่ ๕  มีรับสั่งให้ช่างพนักงานจัดการพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ขื่อ 7 วา 2 ศอก สูง 2 เส้น 11 วาศอกคืบ (สูง 102.75 เมตร หรือเท่าอาคารสูง 27 ชั้น)[38]: 155:เชิงอรรถที่ ๘, ๙  ใช้เวลา 11 เดือนจึงเสร็จ แล้วให้เชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระมหาพิไชยราชรถจึงแห่ขบวนเสด็จโดยรัถยาราชวัติเข้าสู่พระเมรุมาศตามราชประเพณี ให้ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ มีงานมหรสพและดอกไม้เพลิงต่างๆ โปรดให้มีพระสงฆ์สดัปกรณ์ 10,000 รูป คำรพ 7 วันแล้วจึงถวายพระเพลิง เมื่อดับพระเพลิงแล้วโปรดให้พระสงฆ์สดัปกรณ์ 400 รูป แล้วนำพระอัฐิใส่พระโกศน้อยขึ้นพระราชยานแห่ขบวนมายังพระราชวังแล้วอัญเชิญพระโกศบรรจุท้ายจระนำพระมหาวิหาร ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน กล่าวว่า :-

ลุศักราช ๑๐๖๙ ปีกุน นพศก สมเดจ์พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำหรัสสั่งให้ช่างพนักงานจับการทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ขื่อเจ็ดวาสองศอก สูงสองเส้นสิบเบจ์วาศอกคืบ แลการพระเมรุทังปวงนั้น ๑๑ เดือนจึ่งสำเหรจ์ ครั้นถึงผคุณมาศ ศุกรปักขดิฐี ณ วันอันได้มหาพิไชยฤกษ จึ่งพระบาทสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทังสองพระองค์ ก็ให้อัฐเชีญพระบรมโกฎิขึ้นประดิษฐาน เหนือพระมหาพิไชยราชรถแล้วแห่เปนขบวนไปโดยรัฐ์ยาราชวัถ เข้าสู่พระเมรุมาสตามหย่างแต่ก่อน แล้วให้ทิ้งทานต้นกามพฤกษ แลมีงานมหรรศภแลดอกไม้เพลีงต่างๆ แลทรงสดัลพระกรณพระสงฆ ๑๐๐๐๐ คำรพเจ็ดวัน แล้วถวายพระเพลีง ครั้นดับพระเพลีงแล้วแจงพระรูป ทรงสลดับพระกรณพระสงฆอีก ๔๐๐ รูป แล้วเก็บพระอัษฐิใส่พระโกฎิน้อยอัญเชีญขึ้นพระราชยาน แห่เป็นขบวนเข้ามายังพระราชวัง จึ่งให้อัญเชีญพระบรมโกฎพระอัษฐิเข้าบันจุะไว้ ณะ ท้ายจรนำพระมหาวิหาร วัดพระศรีสรรเพชญดาราม ๚ะ๛[37]: 293 

พระบรมราชานุสรณ์

[แก้]

สถานที่อันเนื่องด้วยพระนาม

[แก้]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

มีการนำพระราชประวัติของพระเจ้าเสือมาสร้างเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงหลายครั้ง อาทิ

ภาพยนตร์

[แก้]

ละครโทรทัศน์

[แก้]

ละครเวที

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 "6 กุมภาพันธ์ "วันมวยไทย" เทิดไท้ "พระเจ้าเสือ"". พีพีทีวี. 5 Feb 2016. สืบค้นเมื่อ 9 Sep 2016.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 "ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ - จังหวัดพิจิตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-23. สืบค้นเมื่อ 2016-05-23.
  3. ราชอาณาจักรสยาม[ลิงก์เสีย]
  4. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?. กรุงเทพฯ:มติชน, 2548, หน้า 70
  5. ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช, หน้า 42-59
  6. 6.0 6.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ, หน้า 328
  7. "ประวัติความเป็นมาของมวยไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-21. สืบค้นเมื่อ 2016-04-04.
  8. "ประวัติมวยไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-04. สืบค้นเมื่อ 2016-04-04.
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น หน้า 318, 333
  10. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 239-240
  11. 11.0 11.1 11.2 สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับพระนารายณ์". ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30 ฉบับที่ 11 กันยายน 2552 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2552. หน้า 109
  12. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 528
  13. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ. เล่ม 2. กรุงเทพฯ:องค์การค้าของคุรุสภา, 2504. หน้า 91-94
  14. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ. เล่ม 2. กรุงเทพฯ:องค์การค้าของคุรุสภา, 2504. หน้า 183
  15. ปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ, ในอภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ:มิตชน, 2545, หน้า 68
  16. เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ เขียน, อัมพร สายสุวรรณ แปล. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร, 2545, หน้า 64
  17. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (17 กุมภาพันธ์ 2555). "พระปีย์ vs พระเจ้าเสือ ใครคือโอรสลับของพระนารายณ์?". มติชนสุดสัปดาห์. 32:1644, หน้า 76
  18. วิบูล วิจิตรวาทการ. เรื่องสนุกในแผ่นดินพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ: ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง. กรุงเทพฯ : หมึกจีน, 2538. 166 หน้า. หน้า 8-9.
  19. ศิรินันท์ บุญศิริ. เมืองพิจิตร. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2533. 78 หน้า. หน้า 38.
  20. เพลิง ภูผา. วิกฤตการณ์วังหน้า เหตุทุรยศบนแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ : ไพลินบุ๊คเน็ต, 2544. 320 หน้า. หน้า 161. ISBN 978-616-4413-24-5
  21. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่มที่ ๒. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2485. หน้า 363.
  22. 22.0 22.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย เก็บถาวร 2003-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สกุลไทย ฉบับที่ ...2...ท 47 ประจำวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2544
  23. พนิดา สงวนเสรีวานิช. (2542). "เซ็กซ์ในสยาม", ศิลปวัฒนธรรม, 20(4): 85. (กุมภาพันธ์ 2542). ISSN 0125-3654
  24. พ.ณ. ประมวลมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี). กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์. พระนคร : แพร่พิทยา, 2511. 415 หน้า. หน้า 102
  25. สายวรุณ น้อยนิมิตร. นวทัศน์แห่งวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ : ชย อิมเปคอินเตอร์เนชั่นแนล, 2541. 155 หน้า. หน้า 86.
  26. นิธิ เอียวศรีวงศ์. (ต่าง) คิดในคอก (ตน) :ว่าด้วยวัฒนธรรมและวิธีคิด. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546. 175 หน้า. หน้า 27. 978-974-3228-74-2
  27. กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 336 หน้า. หน้า 165. ISBN 978-974-0217-17-6
  28. โบชอง, พันตรี (แต่ง), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 100 หน้า. หน้า 15. ISBN 978-974-0211-11-2
  29. สนิท ตั้งทวี. วรรณคดีและวรรณกรรมไทยเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2528. 447 หน้า. หน้า 62. ISBN 974-275-362-6
  30. เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ. เล่าเรื่องกรุงศรีฯ ลำดับความตามพระราชพงศาวดาร. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2553. 224 หน้า. หน้า 220. ISBN 978-616-7110-03-5
  31. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 120 หน้า. หน้า 86. ISBN 978-974-02-1313-0
  32. กองบรรณาธิการ. (2550). ศิลปวัฒนธรรม, 28(7-9):105.
  33. วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง. คนจรดาบ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565. 548 หน้า. หน้า 155-156. ISBN 978-974-02-1771-8
  34. "พระราชพงศาวดารกรุงเก่า", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๘ (ประชุมพงศาวดารภาค ๗ และภาค ๘). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. 267 หน้า.
  35. กำพล จำปาพันธ์. (2563). "จากลูกหลานหนุมานถึงลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ: ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของลิงในชุมชนเมืองลพบุรี", ศิลปวัฒนธรรม, 41(7). (พฤษภาคม 2563).
  36. 36.0 36.1 36.2 ประยูร พิศนาคะ. (2513). สมเด็จพระเจ้าเสือ. วรรณกรรมทางอากาศ ณ 01 ภาคพิเศษ ออกอากาศ โดย อาคม ทันนิเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอสมุดกลาง 09. 455 หน้า.
  37. 37.0 37.1 ศานติ ภักดีคำ (บก.) และคณะ. (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1
  38. เกรียงไกร เกิดศิริ. (2560). งานพระเมรุ. ศิลปสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. 413 หน้า. ISBN 978-974-0-21576-9 อ้างใน สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. "พระเมรุมาศ : ตารางเปรียบเทียบความสูงพระเมรุมาศ สมัยสมเด็จพระนเรศวร ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว", ศิลปวัฒนธรรม 6(6): 64. (เมษายน 2528).
  39. สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. ข้อมูลทำเนียบท้องที่. ณ วันที่ 1 กันยายน 2565.
บรรณานุกรม


ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ถัดไป
สมเด็จพระเพทราชา
(พ.ศ. 2231-2246)

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ. 2246-2251)
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9
(พ.ศ. 2251-2275)
สมเด็จพระนารายณ์
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลแห่งกรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2231-2246)
เจ้าฟ้าเพชร