ข้ามไปเนื้อหา

ศรีปราชญ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศรีปราชญ์
อาชีพนักประพันธ์
ภาษาภาษาไทย
ช่วงเวลากรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ผลงานที่สำคัญยังเป็นที่ถกเถียง
ข้อความบนสมุดไทยดำ: กำศวรศรีปราชร้าง แรมสมร / เสาะแต่ปางนคร ลํ่แล้ว / ไป่ภบไป่พานกลอน โคลงท่าน จบนา / จวบแต่ต้นปลายแค้ลว หนึ่งน้อยยืมถวาย ๚ะ๛
สำเนา กำสรวลศรีปราชญ์ สมุดไทยดำต้นรัตนโกสินทร์

ศรีปราชญ์ เป็นบุคคลซึ่งเอกสารพม่าและมอญที่เขียนจากคำบอกเล่าระบุว่า เป็นข้าราชสำนักสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชและถูกเจ้าเมืองประหาร ก่อนตายแช่งเจ้าเมืองให้ตายด้วยดาบเดียวกัน และภายหลังก็เป็นไปตามนั้น[1][2] เรื่องราวของเขาได้รับการดัดแปลงและขยายความอย่างมากในเวลาต่อมา โดยระบุว่า เป็นข้าราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี มีความสามารถทางร้อยกรอง และไปเสียชีวิตที่นครศรีธรรมราชเหมือนในเอกสารเดิม เขายังได้รับการนำเสนอว่า เป็นกวีเอกและบุคคลสำคัญของชาติไทย[3]

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์เห็นว่า เขาไม่มีตัวตนจริง เพราะปราศจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้[3] เขายังน่าจะเป็นเพียงตัวละครเอกในเรื่องเล่าขานของชาวบ้าน ทำนองเดียวกับศรีธนญชัย โดยทั้งศรีปราชญ์และศรีธนญชัยน่าจะรับมาจากนิทานอินโดนีเซียหรือเปอร์เซีย ศรีปราชญ์เป็นตัวแทนความซื่อตรง ศรีธนญชัยเป็นตัวแทนความคดโกง[4]

อนึ่ง เดิมเชื่อว่า เขาเป็นผู้ประพันธ์ร้อยกรองเรื่อง กำสรวลศรีปราชญ์ นอกเหนือไปจากเรื่องอื่น ๆ แต่ปัจจุบันมีข้อเสนอว่า เป็นพระนิพนธ์ของพระบรมราชาที่ 3 พระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[3]

เรื่องราว

[แก้]

เอกสารพม่ามอญ

[แก้]

เรื่องราวของศรีปราชญ์ปรากฏในเอกสารพม่าซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้มาจากหอพระสมุดแห่งมัณฑะเลย์เมื่อ พ.ศ. 2454 ทรงเชื่อว่า เขียนขึ้นจากการสอบปากคำชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกจับไปเป็นเชลยเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จึงให้แปลออกเป็นภาษาไทยและใช้ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า[5] เอกสารนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์เป็นบุคคลที่พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ทรงชุบเลี้ยงไว้ เพราะเขารอบรู้ทางศาสนาและโหราศาสตร์ ทั้งยังเก่งทางโคลงกลอน เขาแต่งร้อยกรองถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเป็นที่พอพระทัยเสมอ แต่เขาแอบแต่งเพลงยาวหาสนมนางหนึ่งของพระองค์ เมื่อทรงจับได้ ก็มิได้ฆ่า เพราะเสียดายความสามารถ ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน แต่ศรีปราชญ์เป็นคนเจ้าชู้ ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งเพลงยาวหาภรรยาเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้ฆ่า คนทั้งหลายห้ามไว้เจ้าเมืองก็ไม่ฟัง ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด" ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงรำลึกถึงศรีปราชญ์ ทรงให้เรียกตัวกลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว ก็มีท้องตราออกไปให้ประหารเจ้าเมืองด้วยดาบเดียวกับที่ใช้ประหารศรีปราชญ์[1]

เอกสารอีกฉบับที่ปรากฏเรื่องศรีปราชญ์ คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่า มีที่มาเดียวกับ คำให้การชาวกรุงเก่า แต่ คำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นภาษามอญ และรัชกาลที่ 4 ทรงให้แปลออกเป็นภาษาไทย[6] เอกสารนี้ระบุว่า พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดมหาดเล็กคนหนึ่งเพราะมีฝีมือทางร้อยกรอง จึงประทานนามให้ว่า ศรีปราชญ์ แต่ศรีปราชญ์แต่งโคลงหานางใน จึงทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งโคลงหาอนุภรรยาของเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้เอาไปฆ่า ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "เรานี้เป็นปราชญ์หลวง แล้วก็เป็นลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เป็นเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องหน้าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด" แล้วเขียนโคลงแช่งลงพื้นดินไว้ให้ประจักษ์ ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงให้เรียกตัวเขากลับ แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารเสียแล้ว ก็มีรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารศรีปราชญ์นั้นประหารเจ้าเมืองตามไป[2]

การขยายความ

[แก้]
หน้าปก ตำนานศรีปราชญ์ (พ.ศ. 2462) ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)

เรื่องราวของศรีปราชญ์ได้รับการดัดแปลงและขยายความเป็นอันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในงานเขียนของพระยาตรัง กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และงานเขียนของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 6[3]

เรื่องราวที่ดัดแปลงนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชื่อเดิมว่า ศรี เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี เกิดราว พ.ศ. 2196 ประมาณ 3 ปีก่อนสมเด็จพระนารายณ์ทรงขึ้นครองราชย์[7] วันหนึ่งในราว พ.ศ. 2205 สมเด็จพระนารายณ์ทรงนิพนธ์โคลงค้างไว้ 2 บาทว่า[7][8][9]

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ (บางฉบับว่า ลอบย้ำ)

แล้วทรงให้พระโหราธิบดีกลับไปแต่งต่ออีก 2 บาทให้เต็มบท พระโหราธิบดีคิดไม่ออก ศรีจึงแต่งต่อว่า[7][8][9]

ผิวชนแต่จะกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

พระโหราธิบดีนำขึ้นถวาย สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยมาก จึงโปรดให้ศรีเข้าเป็นมหาดเล็ก พระโหราธิบดีรู้ว่า ลูกชายเป็นคนอุกอาจ จึงทูลขอพระราชทานโทษไว้ว่า วันใดลูกชายทำผิดถึงตาย ขออย่าได้ทรงประหาร เป็นแต่เนรเทศก็พอ สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดให้ตามนั้น[10][11]

ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์เสด็จประพาสป่าแก้ว ฝูงลิงร่วมประเวณีอยู่บนต้นไม้ ตรัสถามศรีว่า ลิงทำอะไรกัน ศรีทูลด้วยโวหารว่า "นั้นคือเสียงมักกโฏ...มันทำสมัครสังวาสผิดประหลาดกว่าธรรมดา" บางฉบับก็ว่า ลิงในป่าแก้วถ่ายมูลรดศีรษะขุนนางผู้ใหญ่ ทุกคนหัวเราะจนสมเด็จพระนารายณ์ตื่นบรรทม ทรงถามว่า เกิดอะไรขึ้น ศรีทูลด้วยโวหารว่า "พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยาเดโช" สมเด็จพระนารายณ์เห็นว่า ศรีมีสติปัญญา จึงพระราชทานนามให้โดยตรัสว่า "ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้"[11][12]

ต่อมา พระแสนหลวง เจ้านครเชียงใหม่ เสด็จลงมากรุงศรีอยุธยา ได้พบศรีปราชญ์ และประลองปัญญาโต้ตอบกันเป็นโคลงดังนี้[11][12]

พระแสนหลวง: ศรีเอยพระเจ้าฮื่อ ปางใด
ศรีปราชญ์: ฮื่อเมื่อเสด็จไป ป่าแก้ว
พระแสนหลวง: รังสีบ่สดใส สักหยาด
ศรีปราชญ์: ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ

เรื่องราวที่ได้รับการขยายความนี้มีอีกหลายแห่งที่กล่าวถึงความสามารถของศรีปราชญ์ในการเจรจาเป็นร้อยกรอง เช่น ระบุว่า ศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานแหวน เดินผ่านประตูวัง และนายประตูทัก จึงโต้ตอบกันดังนี้[13]

นายประตู: แหวนนี้ท่านได้แต่ ใดมา
ศรีปราชญ์: เจ้าพิภพโลกา ท่านให้
นายประตู: ทำชอบสิ่งใดนา วานบอก
ศรีปราชญ์: เราแต่งโคลงถวายไท้ ท่านให้รางวัล

ต่อมา ศรีปราชญ์ล่วงเกินนางในคนหนึ่ง โดยนางแต่งโคลงต่อว่าเขาว่า[13]

หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหางกระสัน ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อยเดียรฉาน

และเขาแต่งตอบว่า[14]

หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นดินเดียว

เรื่องราวดังกล่าวระบุว่า นางในคนนั้น คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) สนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ โดยเชื่อมโยงกับ กำสรวลศรีปราชญ์ ที่เชื่อว่า เขาแต่งให้หญิงนาม ศรีจุฬาลักษณ์[15][16] การล่วงละเมิดนางในเป็นความผิดถึงตาย แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน ตามที่ทรงรับปากไว้กับบิดาของเขา[15][16] เขาถูกเนรเทศไปในเดือนยี่[15]

ที่นครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ถูกกล่าวหาว่า มีสัมพันธ์กับอนุภรรยาของเจ้าเมือง และถูกประหารชีวิตใน พ.ศ. 2226[17][18] ก่อนตายเขาเขียนโคลงสาปแช่งไว้บนพื้นดินว่า[17][18][19]

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง

บางแหล่งระบุ 2 บาทแรกของโคลงดังกล่าวไว้แตกต่างออกไปดังนี้[18]

ธรณีภพนี้เพ่ง ทิพญาณ หนึ่งรา
เราก็ลูกอาจารย์ หนึ่งบ้าง

ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์ทรงรำลึกถึงเขา จึงรับสั่งให้เรียกตัวเขากลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว จึงรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารเขานั้นประหารเจ้าเมืองตายตกตามกันสมดังคำสาปแช่งของเขา[17][18][19]

มีผู้เชื่อว่า ที่ประหารศรีปราชญ์ ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช "ณ นครอุทิศ" และสระล้างดาบที่ใช้ประหารนั้น ปัจจุบันคือ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช[17][18]

การนำเสนอ

[แก้]

เรื่องราวของศรีปราชญ์ได้รับการผลิตซ้ำในฐานะกวีเอกและบุคคลสำคัญของชาติไทย[3][20] ทั้งยังปรากฏในแบบเรียน จนเหมือนเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์[3]

มุมมองทางประวัติศาสตร์

[แก้]

นักประวัติศาสตร์เห็นว่า เรื่องราวของศรีปราชญ์เป็น "จินตนาการ" มากกว่าเป็นความจริง เพราะไม่เคยมีการบันทึกที่น่าเชื่อถือได้[3]

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เอกสารพม่ามอญข้างต้นมีหลายส่วนที่เลอะเทอะคลาดเคลื่อน รับสั่งว่า "วิเคราะห์ดูเนื้อเรื่องตอนพงศาวดารเข้าใจว่า คงจะเป็นคำให้การตามที่พวกไทยจำได้คนละเล็กละน้อยช่วยกันปะติดปะต่อ ไม่ได้มีหนังสือพงศาวดารไทยติดไปด้วย อีกประการหนึ่ง จะเป็นด้วยพวกไทยที่ถูกพม่าถามประสงค์จะรักษาเกียรติมิให้พม่าข้าศึกรู้เรื่องอันใดจึงจะเป็นเหตุให้หมิ่นประมาทชาติไทย ไม่ได้ตั้งใจจะแสดงเรื่องราวในพระราชพงศาวดารแม้ที่จำได้ให้แก่พม่าทุกอย่างไป เรื่องพงศาวดารตามคำให้การนี้จึงเคลื่อนคลาดนัก"[21]

เช่นเดียวกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า "คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นหนังสือคำให้การของเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาหลายคนที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปเมื่อคราวกรุงแตก พ.ศ. 2310 แล้วให้การเป็นภาษาไทย แต่แปลเป็นภาษามอญและพม่า แล้วถ่ายกลับมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เรื่องราวต่าง ๆ จึงเลอะเลือน 'ใส่สีใส่ไข่' จนสับสนไปหมด"[22]

สุจิตต์ยังเห็นว่า เรื่องของศรีปราชญ์เป็นเพียงนิทานเล่าขานทำนองเดียวกับศรีธนญชัย โดยศรีปราชญ์เป็นตัวแทนของความกล้าหาญ ซื่อตรง แข็งกร้าว และรักความเป็นธรรม ส่วนศรีธนญชัยเป็นตัวแทนของความกะล่อน ปลิ้นปล้อน เจ้าเล่ห์ ขี้โกง และเอารัดเอาเปรียบ[4] สุจิตต์เสนอว่า เรื่องทั้งของศรีปราชญ์และศรีธนญชัยน่าจะได้รับมาจากวัฒนธรรมอินโดนีเซียหรือเปอร์เซียไว้เล่าสู่กันฟังคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวันตามระบอบจารีตประเพณี[4]

ผลงาน

[แก้]

กำสรวลศรีปราชญ์

[แก้]

เดิมเชื่อว่า ศรีปราชญ์เป็นเจ้าของบทประพันธ์เรื่อง กำสรวลศรีปราชญ์[3][4][19] เพราะเริ่มด้วยโคลงบทนี้[3]

กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง แรมสมร
เสาะแต่ปางนคร ล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอน โคลงท่าน จบแฮ
จวบแต่ต้นปลายแคล้ว หนึ่งน้อยยืมถวาย

แต่ลักษณะทางภาษาที่เก่าแก่ รูปแบบคำประพันธ์ ตลอดจนเนื้อหาที่บรรยาย เช่น เส้นทางล่องเรือ ศิลปกรรม สถานที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประพันธ์กับผู้ที่กล่าวถึงในคำประพันธ์ ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันเห็นว่า กำสรวลศรีปราชญ์ ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ใช่ตอนปลายอันเป็นยุคของศรีปราชญ์ และไม่ใช่ผลงานของศรีปราชญ์ที่ไม่น่ามีตัวตนจริง[3][4]

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดีแล้วเสนอเมื่อ พ.ศ. 2502 ว่า กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นผลงานของพระบรมราชาที่ 3 พระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[4] ที่ทรงประพันธ์ถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สตรีสูงศักดิ์แห่งอาณาจักรสุโขทัย ในคราวที่ต้องจากกัน เพราะท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต้องตามเสด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไปพิษณุโลก เมืองหลวงของอาณาจักรสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2006 ส่วนพระบรมราชาต้องทรงรั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่อาจติดตามขึ้นไปด้วย[3][Note 1]

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ยังเสนอให้เรียก กำสรวลศรีปราชญ์ ว่า กำสรวลสมุทร เพราะน่าจะเป็นชื่อที่ถูกต้องกว่า ทั้งนี้ กำสรวลสมุทร เป็นชื่อที่อ้างถึงในตำรา จินดามณี[3]

อื่น ๆ

[แก้]

ยังมีผลงานอื่น ๆ ที่เชื่อกันว่า เป็นฝีมือของศรีปราชญ์ เช่น อนิรุทธ์คำฉันท์ และ นิราศลำน้ำน้อย[19] แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นงานของเขาจริงหรือไม่ สืบเนื่องจากทฤษฎีที่ว่า เขาไม่น่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์[18]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

เรื่องของศรีปราชญ์จัดทำเป็นภาพยนตร์ชื่อ ศรีปราชญ์ เมื่อ พ.ศ. 2500 ผู้กำกับ คือ ประทีป โกมลภิส นักแสดงนำ คือ ปัญจะ สุทธรินทร์ และดรุณี สุขสาคร[23]

ศรีปราชญ์ยังเป็นตัวละครในนวนิยายเรื่อง บุพเพสันนิวาส ของรอมแพง พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2552 โดยเป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี และเป็นพี่ชายของขุนศรีวิสารวาจา ตัวเอกฝ่ายชายของเรื่อง[24] ในการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์เมื่อ พ.ศ. 2561 ผู้รับบทศรีปราชญ์ คือ กันต์ดนัย ชื่นหิรัญ[24]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ^ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ว่า "ศักราช 825 มะแมศก (พ.ศ. 2006) สมเด็จพระบรมใตรโลกเจ้าไปเสวยราชสมบัติเมืองพีดณูโลก แลตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จบรมราชา"[25]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, 2553: 545–546.
  2. 2.0 2.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, 2553: 741–742.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 ปิยะนัย เกตุทอง, 2561: ออนไลน์.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2561: ออนไลน์.
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, 2553: 429.
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, 2553: 693–694.
  7. 7.0 7.1 7.2 สัมพันธ์ ก้องสมุทร, 2527: 134.
  8. 8.0 8.1 สำนวน แสงเพ็ง, 2527: 138.
  9. 9.0 9.1 ธนากิต, 2545: 116.
  10. สัมพันธ์ ก้องสมุทร, 2527: 135–136.
  11. 11.0 11.1 11.2 ธนากิต, 2545: 116–117.
  12. 12.0 12.1 สัมพันธ์ ก้องสมุทร, 2527: 136–137.
  13. 13.0 13.1 ธนากิต, 2545: 118.
  14. ธนากิต, 2545: 119.
  15. 15.0 15.1 15.2 สัมพันธ์ ก้องสมุทร, 2527: 141.
  16. 16.0 16.1 ธนากิต, 2545: 119–120.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 สัมพันธ์ ก้องสมุทร, 2527: 142.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 ธนากิต, 2545: 120.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 สำนวน แสงเพ็ง, 2527: 139.
  20. สัมพันธ์ ก้องสมุทร, 2527: 133.
  21. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, 2553: 434.
  22. สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2540: 30.
  23. "ศรีปราชญ์ (2500)": ม.ป.ป.: ออนไลน์.
  24. 24.0 24.1 "พลิกปูม 'ศรีปราชญ์' กวีเอกของขุนหลวงนารายณ์...", 2561: ออนไลน์.
  25. ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542: 216.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ธนากิต (2545). วีรบุรุษ วีรสตรี และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: ปิรามิด. ISBN 974-298-102-7.
  • ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2542. ISBN 9744192151.
  • ปิยะนัย เกตุทอง (2561-03-12). "นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชี้ชัด ศรีปราชญ์ มหากวีเอกผู้โด่งดัง ไม่มีตัวตนจริง". tnews.co.th. กรุงเทพฯ: Tnews.co.th. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา. 2553. ISBN 978-616-7146-08-9.
  • "พลิกปูม 'ศรีปราชญ์' กวีเอกของขุนหลวงนารายณ์ พี่ชายของ 'คุณพี่หมื่น'". khaosod.co.th. กรุงเทพฯ: ข่าวสด. 2561-04-04. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • "ศรีปราชญ์ (2500)". library.mju.ac.th. กรุงเทพฯ: กลุ่มภารกิจเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  • สัมพันธ์ ก้องสมุทร (2527). วีรบุรุษ–วีรสตรี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. ISBN 974-275-883-2.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540). ท้าวศรีสุดาจันทร์ 'แม่หยั่วเมือง' ใครว่าหล่อนชั่ว?. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 974-7311-70-4.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ (2561-03-12). "ศรีปราชญ์ไม่มีจริง แต่เป็นนิทานคู่กับศรีธนญชัย". matichon.co.th. กรุงเทพฯ: มติชน. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • สำนวน แสงเพ็ง (2546). บันทึกกรุงศรีอยุธยาในสายตาฝรั่ง. กรุงเทพฯ: แม็ค. ISBN 974-9610-77-6.

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • คมทวน คันธนู (2530). วิเคราะห์วรรณกรรม วิจารณ์วรรณกร: วิเคราะห์กำสรวล (ศรีปราชญ์)ฯ : ศึกษา 200 ปีสุนทรภู่จากผลงาน. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.
  • ล้อม เพ็งแก้ว (2549). สุจิตต์ วงษ์เทศ (บ.ก.). กำสรวลสมุทร หรือกำสรวลศรีปราชญ์ เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 978-974-323-608-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]